ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
๒. โสณนันทชาดก
เรื่องพระราชาไปขอขมาโทษโสณดาบส
[๑๓๔] พระผู้เป็นเจ้าเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นท้าวสักกปุรินททะ หรือว่า เป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์ ข้าพเจ้าทั้งหลายจะรู้จักพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร. [๑๓๕] อาตมภาพไม่ใช่เป็นเทวดา ไม่ใช่เป็นคนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกปุรินททะ อาตมภาพเป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์ ดูกรภารถะ มหาบพิตรจงทราบอย่างนี้. [๑๓๖] ความช่วยเหลืออันมิใช่น้อยนี้ เป็นกิจที่พระผู้เป็นเจ้ากระทำแล้ว คือ เมื่อฝนตก พระผู้เป็นเจ้าก็ได้ทำไม่ให้มีฝน แต่นั้น เมื่อลมจัดและแดด ร้อน พระผู้เป็นเจ้าก็ได้ทำให้มีเงาบังร่มเย็น แต่นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ ทำการป้องกันลูกศรในท่ามกลางแห่งศัตรู แต่นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทำ บ้านเมืองอันรุ่งเรืองและชาวเมืองเหล่านั้นให้ตกอยู่ในอำนาจ ของข้าพเจ้า แต่นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทำกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ให้เป็นผู้ติดตามของ ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอขอบคุณ พระผู้เป็นเจ้ายิ่งนัก พระผู้เป็นเจ้าจะ ปรารถนาสิ่งที่จะให้จิตชื่นชม คือ ยานอันเทียมด้วยช้าง รถอันเทียม ด้วยม้า และสาวน้อยทั้งหลายที่ประดับประดาแล้ว หรือรมณียสถานอัน เป็นที่อยู่อาศัยอันใด ขอพระผู้เป็นเจ้าจงเลือกเอาสิ่งนั้นตามประสงค์เถิด ข้าพเจ้าขอถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า หรือว่าพระผู้เป็นเจ้าจะปรารถนาแคว้น อังคะหรือแคว้นมคธ ข้าพเจ้าก็ขอถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า หรือว่าพระผู้ เป็นเจ้าปรารถนาแคว้นอัสสกะหรือแคว้นอวันตี ข้าพเจ้าก็มีใจยินดีขอ ถวายแคว้นเหล่านั้นให้แก่พระผู้เป็นเจ้า หรือแม้พระผู้เป็นเจ้าปรารถนา ราชสมบัติกึ่งหนึ่งไซร้ ข้าพเจ้าก็ขอถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระคุณเจ้า มีความต้องการด้วยราชสมบัติทั้งหมด ข้าพเจ้าก็ขอถวาย พระคุณเจ้า ปรารถนาสิ่งใด ขอพระคุณเจ้าบอกมาเถิด. [๑๓๗] อาตมภาพไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ บ้านเมือง ทรัพย์หรือแม้ ชนบท อาตมภาพไม่มีความต้องการเลย. [๑๓๘] ในแว่นแคว้นอาณาเขตของมหาบพิตร มีอาศรมอยู่ในป่า มารดาและบิดา ทั้งสองท่านของอาตมภาพอยู่ในอาศรมนั้น อาตมภาพอยู่ในอาศรมนั้น อาตมภาพไม่ได้เพื่อทำบุญ ในท่านทั้งสอง ผู้เป็นบูรพาจารย์นั้น อาตมภาพขอเชิญมหาบพิตรผู้ประเสริฐยิ่ง ไปขอขมาโทษโสณดาบส เพื่อสังวรต่อไป. [๑๓๙] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าจะขอทำตามคำที่พระคุณเจ้ากล่าวกะข้าพเจ้า ทุกประการ ก็แต่ว่า บุคคลผู้จะอ้อนวอนขอโทษมีประมาณเท่าใด ขอ พระคุณเจ้าจงบอกบุคคลมีประมาณเท่านั้น. [๑๔๐] ชาวชนบทมีประมาณหนึ่งร้อยเศษ พราหมณ์มหาศาลก็เท่ากัน กษัตริย์ผู้ เป็นอภิชาตผู้เรืองยศเหล่านี้ทั้งหมด ทั้งมหาบพิตรซึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้ามโนชะ บุคคลผู้จะอ้อนวอนขอโทษประมาณเท่านี้ก็พอแล้ว ขอ ถวายพระพร. [๑๔๑] เจ้าพนักงานทั้งหลายจงเตรียมช้าง จงเตรียมม้า นายสารถีท่านจง เตรียมรถ ท่านทั้งหลายจงถือเอาเครื่องผูก จงยกธงชัยขึ้นที่คันธงทั้ง หลาย เราจะไปยังอาศรมอันเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบส. [๑๔๒] ก็ลำดับนั้น พระราชาพร้อมด้วยจาตุรงคเสนา ได้เสด็จไปยังอาศรมอัน น่ารื่นรมย์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบส. [๑๔๓] ไม้คานอันทำด้วยไม้กระทุ่มของใคร ผู้ไปเพื่อหาบน้ำ ลอยมายังเวหาส มิได้ถูกบ่า ห่างประมาณ ๔ องคุลี. [๑๔๔] ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพชื่อว่าโสณะ เป็นดาบสมีวัตรอันสมาทานแล้ว มิได้เกียจคร้านเลี้ยงดูมารดาบิดาอยู่ทุกคืนทุกวัน ดูกรมหาบพิตรผู้เป็น เจ้าแห่งทิศ อาตมภาพระลึกถึงอุปการคุณที่ท่านทั้งสองได้กระทำแล้ว ใน กาลก่อน จึงนำผลไม้ป่าและเผือกมันมาเลี้ยงดูมารดาบิดา. [๑๔๕] ข้าพเจ้าทั้งหลาย ปรารถนาจะไปยังอาศรมซึ่งเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบส ข้าแต่ท่านโสณะ ขอท่านได้โปรดบอกทางจะไปยังอาศรมนั้นแก่ข้าพเจ้า ทั้งหลายเถิด. [๑๔๖] ดูกรมหาบพิตร ทางนี้เป็นทางสำหรับเดินคนเดียว ขอเชิญมหาบพิตร เสด็จไปยังป่าอันสะพรั่งไปด้วยต้นทองหลาง มีสีเขียวชะอุ่มดังสีเมฆ โกสิยดาบสอยู่ในป่านั้น. [๑๔๗] โสณมหาฤาษีครั้นกล่าวคำนี้แล้ว ได้พร่ำสอนกษัตริย์ทั้งหลาย ณ กลาง หาว แล้วรีบหลีกไปยังสระอโนดาต แล้วกลับมาปัดกวาดอาศรมแต่ง ตั้งอาสนะแล้ว เข้าไปสู่บรรณศาลาแจ้งให้ดาบสผู้เป็นบิดาทราบว่า ข้า แต่ท่านมหาฤาษี พระราชาทั้งหลายผู้อภิชาตเรืองยศเหล่านี้เสด็จมาหา ขอ เชิญบิดาออกไปนั่งนอกอาศรมเถิด มหาฤาษีได้ฟังคำของโสณบัณฑิตนั้น แล้วรีบออกจากอาศรมมานั่งที่ประตูของตน. [๑๔๘] โกสิยดาบสได้เห็นพระเจ้ามโนชะนั้น ซึ่งมีหมู่กษัตริย์ห้อมล้อมเป็น กองทัพ ประหนึ่งรุ่งเรืองด้วยเดช เสด็จมาอยู่ จึงกล่าวคาถานี้ความว่า กลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ และมโหระทึก ยังพระราชาผู้เป็นจอมทัพ ให้ร่าเริงอยู่ดำเนินไปแล้วข้างหน้าของใคร หน้าผากของใครสวมแล้ว ด้วยแผ่นทองอันหนามีสีดุจสายฟ้า ใครกำลังหนุ่มแน่นผูกสอดด้วยกำ ลูกศร รุ่งเรืองด้วยสิริ เดินมาอยู่ อนึ่งหน้าของใครงามผุดผ่อง ดุจ ทองคำอันละลายคว้างที่ปากเบ้ามีสีดังถ่านเพลิง ใครหนอรุ่งเรืองด้วยสิริ กำลังเดินมาอยู่ ฉัตรพร้อมด้วยคันหน้ารื่นรมย์ใจ สำหรับกั้นแสงอาทิตย์ อันบุคคลกางแล้วเพื่อใคร ใครหนอรุ่งเรืองด้วยสิริกำลังเดินมาอยู่ ชน ทั้งหลายถือพัดวาลวีชนีเครื่องสูง เดินเคียงองค์ของใคร ผู้มีบุญอัน ประเสริฐมาอยู่โดยคอช้างเศวตรฉัตรม้าอาชาไนย และทหารสวมเกราะ เรียงรายอยู่โดยรอบของใคร ใครหนอรุ่งเรืองด้วยสิริกำลังเดินมาอยู่ กษัตริย์ ๑๐๑ พระนครผู้เรืองยศ เป็นอนุยนต์เดินแวดล้อมตามอยู่ โดยรอบของใคร ใครหนอ รุ่งเรืองด้วยสิริกำลังเดินมาอยู่ จาตุรงคเสนา คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้าเดินแวดล้อมตามอยู่ โดยรอบใคร ใครหนอ รุ่งเรืองด้วยสิริกำลังเดินมาอยู่ เสนาหมู่ใหญ่นี้ นับไม่ถ้วน ไม่มีที่สุดดุจคลื่นในมหาสมุทร กำลังห้อมล้อมตามหลัง ใครมา. [๑๔๙] กษัตริย์ที่กำลังเสด็จมานั้น คือ พระเจ้ามโนราชาธิราชเป็นเพียงดัง พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เข้าถึงความเป็นบริษัทของ นันทดาบส กำลังมาสู่อาศรมอันเป็นที่ประพฤติพรหมจรรย์ เสนาหมู่ใหญ่ นี้นับไม่ถ้วน ไม่มีที่สุด ดุจคลื่นในมหาสมุทร กำลังตามหลังพระเจ้า มโนชะนั้นมา. [๑๕๐] พระราชาทุกพระองค์ ทรงลูบไล้ด้วยจันทน์หอม ทรงผ้ากาสิกพัสตร์ อย่างดี ทุกพระองค์ทรงประคองอัญชลีเข้าไปยังสำนักของฤาษีทั้งหลาย. [๑๕๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญไม่มีโรคาพาธหรือ พระคุณเจ้าสุขสำราญดีอยู่หรือ พระคุณเจ้ายังอัตภาพให้เป็นไปสะดวกด้วยการแสวงหามูลผลาหารแล หรือ เหง้ามันและผลไม้มีมากแลหรือ เหลือบ ยุงและสัตว์เลื้อยคลาน มีน้อยแลหรือ ในป่าอันเกลื่อนกล่นไปด้วยพาฬมฤค ไม่มีมาเบียดเบียน บ้างหรือ. [๑๕๒] ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพทั้งหลายไม่มีโรคาพาธ มีความสุขสำราญดี เยียวยาอัตภาพได้สะดวกด้วยการแสวงหามูลผลาหาร ทั้งมูลมันผลไม้ก็ มีมาก เหลือบ ยุงและสัตว์เลื้อยคลานมีน้อย ในป่าอันเกลื่อนกล่นไป ด้วยพาฬมฤคไม่มีมาเบียดเบียนอาตมภาพ เมื่ออาตมภาพได้อยู่ในอาศรม นี้หลายปีมาแล้ว อาตมภาพไม่รู้สึกอาพาธอันไม่เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจเกิด ขึ้นเลย ดูกรมหาบพิตร พระองค์เสด็จมาดีแล้ว และพระองค์ไม่ได้ เสด็จมาร้าย พระองค์ผู้เป็นอิสระเสด็จมาถึงแล้ว ขอจงตรัสบอกสิ่งที่ ทรงชอบพระหฤทัยซึ่งมีอยู่ ณ ที่นี้เถิด ขอเชิญมหาบพิตรเสวยผล มะพลับ ผลมะหาด ผลมะทรางและผลหมากเม่า อันเป็นผลไม้มีรส หวานน้อยๆ เชิญเลือกเสวยแต่ผลที่ดีๆ เถิด น้ำนี้เย็นนำมาแต่ ซอกเขา ขอเชิญมหาบพิตรดื่มเถิด ถ้าพระองค์ทรงปรารถนา. [๑๕๓] สิ่งใดที่พระคุณเจ้าให้ ข้าพเจ้าขอรับสิ่งนั้น พระคุณเจ้ากระทำให้ถึงแก่ ข้าพเจ้าทั้งปวง ขอพระคุณเจ้าจงเงี่ยโสตสดับคำของนันทดาบสที่ท่านจะ กล่าวนั้นเถิด ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นบริษัทของนันทดาบส มาแล้วสู่สำนัก ของพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าโปรดสดับคำของข้าพเจ้า ของนันทดาบส และของบริษัทเถิด. [๑๕๔] ชาวชนบทร้อยเศษ พราหมณ์มหาศาลประมาณเท่านั้น กษัตริย์อภิชาติผู้ เรืองยศทั้งหมดนี้ และพระเจ้ามโนชะผู้เจริญจงเข้าใจคำของข้าพเจ้า ยักษ์ ทั้งหลายภูตและเทวดาทั้งหลายในป่า เหล่าใด ซึ่งมาประชุมกันอยู่ใน อาศรมนี้ ขอจงฟังคำของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอกระทำความนอบน้อมแก่ เทวดาทั้งหลายแล้วจักกล่าวกะฤาษีผู้มีวัตรอันงาม ข้าพเจ้านั้น ชาวโลก สมมติแล้วว่าเป็นชาวโกสิยโคตรร่วมกับท่าน จึงนับว่าเป็นแขนขวาของ ท่าน ข้าแต่ท่านโกสิยะผู้มีความเพียร เมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้ประสงค์จะเลี้ยง ดูมารดาบิดาของข้าพเจ้า ฐานะนี้ชื่อว่าเป็นบุญ ขอท่านอย่าได้ห้ามข้าพเจ้า เสียเลย จริงอยู่ การบำรุงมารดาบิดานี้ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว ขอท่านจงอนุญาตการบำรุงมารดาบิดานี้แก่ข้าพเจ้า ท่านได้กระทำกุศลมา แล้วสิ้นกาลนาน ด้วยการลุกขึ้นทำกิจวัตรและการบีบนวด บัดนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาจะทำบุญในมารดาและบิดา ขอท่านจงให้โลกสวรรค์แก่ ข้าพเจ้าเถิด ข้าแต่พระฤาษี มนุษย์ทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในบริษัทนี้ ทราบ บทแห่งธรรมในธรรมว่าเป็นทางแห่งโลกสวรรค์ เหมือนดังท่านทราบ ฉะนั้น การบำรุงมารดาบิดาด้วยการอุปัฏฐากและการบีบนวดชื่อว่านำ ความสุขมาให้ ท่านห้ามข้าพเจ้าจากบุญนั้น ชื่อว่าเป็นอันห้ามทางอัน ประเสริฐ. [๑๕๕] ขอมหาบพิตรผู้เจริญทั้งหลาย ผู้เป็นบริษัทของน้องนันทะ จงสดับถ้อย คำของอาตมภาพ ผู้ใดยังวงศ์ตระกูลแต่เก่าก่อนให้เสื่อม ไม่ประพฤติ ธรรมในบุคคลผู้เจริญทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมเข้าถึงนรก ดูกรท่านผู้เป็นใหญ่ ในทิศ ส่วนชนเหล่าใดเป็นผู้ฉลาดในธรรมอันเป็นของเก่า และถึง พร้อมด้วยจารีต ชนเหล่านั้นย่อมไม่ไปสู่ทุคติ มารดา บิดา พี่ชาย น้อง ชาย พี่สาว น้องสาว ญาติและเผ่าพันธุ์ ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมเป็น ภาระของพี่ชายใหญ่ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด มหาบพิตร ดูกร มหาบพิตรผู้เป็นจอมทัพ ก็อาตมภาพเป็นพี่ชายใหญ่ จึงต้องรับภาระอัน หนัก ทั้งสามารถจะปฏิบัติท่านเหล่านั้นได้เหมือนนายเรือรับภาระอันหนัก สามารถจะนำเรือไปได้โดยสวัสดี ฉะนั้น เหตุนั้น อาตมภาพจึงไม่ละ ลืมธรรม. [๑๕๖] ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ไปแล้วในความมืด วันนี้ข้าพเจ้าทั้งหลายเกิดความรู้ ขึ้นแล้ว ท่านโกสิยฤาษีได้แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายเหมือนส่อง แสงอันรุ่งเรืองจากไฟ ฉะนั้น พระอาทิตย์เป็นเทพเจ้าแห่งแสง มีรัศมี เจิดจ้า เมื่ออุทัยย่อมแสดงรูปดีและรูปชั่วให้ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ฉันใด ท่านโกสิยฤาษีก็แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือน กัน. [๑๕๗] ถ้าพี่จะไม่รับอัญชลีของข้าพเจ้าผู้วิงวอนอยู่อย่างนี้ ข้าพเจ้าก็จักดำเนินไป ตามถ้อยคำของพี่ จักบำรุงบำเรอพี่ผู้อยู่ด้วยความไม่เกียจคร้าน. [๑๕๘] ดูกรนันทะ เธอรู้แจ้งสัทธรรมที่สัตบุรุษทั้งหลายแสดงแล้วเป็นแน่ เธอ เป็นคนงาม มีมารยาทอันงดงาม พี่ชอบใจเป็นยิ่งนัก พี่จะกล่าวกะ มารดาบิดาว่า ขอท่านทั้งสองจงฟังคำของข้าพเจ้า ภาระนี้หาใช่เป็นภาระ เพียงชั่วครั้งชั่วคราวของข้าพเจ้าไม่ การบำรุงที่ข้าพเจ้าบำรุงแล้วนี้ ย่อม นำความสุขมาให้แก่มารดาบิดาได้ แต่นันทะย่อมกระทำการขอร้อง อ้อนวอนเพื่อบำรุงท่านทั้งสองบ้าง บรรดาท่านทั้งสองผู้สงบระงับ ผู้ ประพฤติพรหมจรรย์ หากว่าท่านใดปรารถนา ข้าพเจ้าจะบอกกะท่านนั้น ขอให้ท่านทั้งสองผู้หนึ่งจงเลือกนันทะตามความปรารถนาเถิด นันทะจะ บำรุงใครในท่านทั้งสอง. [๑๕๙] ดูกรพ่อโสณะ เราทั้งสองอาศัยเจ้าอยู่ ถ้าเจ้าอนุญาต แม่ก็จะพึงได้ จุมพิตลูกนันทะผู้ประพฤติพรหมจรรย์ที่ศีรษะ. [๑๖๐] ใบอ่อนของต้นอัสสัตถพฤกษ์ เมื่อลมรำเพยพัดต้องแล้วย่อมหวั่นไหว ไปมา ฉันใด หัวใจของแม่ก็หวั่นไหว เพราะนานๆ จึงได้เห็นลูก นันทะ ฉันนั้น เมื่อใด เมื่อแม่หลับแล้วฝันเห็นลูกนันทะมา แม่ก็ดี ใจอย่างล้นเหลือว่าลูกนันทะของแม่นี้มาแล้ว แต่เมื่อใด ครั้นแม่ตื่น ขึ้นแล้ว ไม่ได้เห็นลูกนันทะของแม่มา ความเศร้าโศกและความเสียใจ มิใช่น้อย ก็ทับถมยิ่งนัก วันนี้ แม่ได้เห็นลูกนันทะผู้จากไปนานกลับ มาแล้ว ขอลูกนันทะจงเป็นที่รักของบิดาเจ้าและของแม่เอง ขอลูกนันทะ จงเข้าไปสู่เรือนของเราเถิด ดูกรพ่อโสณะลูกนันทะเป็นที่แสนรักของ บิดา ลูกนันทะยังไม่ได้เข้าไปสู่เรือนใด ขอให้ลูกนันทะจงได้เรือนนั้น ขอลูกนันทะจงบำรุงแม่เถิด. [๑๖๑] ดูกรฤาษี มารดาเป็นผู้อนุเคราะห์ เป็นที่พึ่งและเป็นผู้ให้ขีรรสแก่เราก่อน เป็นทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า มารดาเป็นผู้ให้ขีรรสก่อน เป็นผู้เลี้ยงดูเรามา เป็นผู้ชักชวนเราในบุญกุศล เป็นทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า. [๑๖๒] มารดาหวังผลคือบุตร จึงนอบน้อมแก่เทวดา และไต่ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย เมื่อมารดานั้นมีระดู ความก้าวลงแห่งสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ก็ย่อมมี เพราะสัตว์เกิดในครรภ์นั้นมารดาจึงแพ้ท้อง เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่าเป็นผู้มีใจดี มารดาบริหารครรภ์อยู่หนึ่งปี หรือหย่อนกว่าปีแล้วจึงคลอด เหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า ชนยนตีและชเนตตี ผู้ยังบุตรให้เกิด มารดาย่อมปลอบบุตรผู้ร้องไห้อยู่ ให้รื่นเริง ด้วยการให้ดื่มน้ำนมบ้าง ด้วยการขับกล่อมบ้าง ด้วยการอุ้ม แนบไว้กับอกบ้าง เหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า ปลอบบุตร ให้รื่นเริง ต่อแต่นั้น มารดาเห็นบุตรผู้ยังเป็นเด็กอ่อน ไม่รู้จักเดียงสา เล่นอยู่ท่ามกลางสายลมและแสงแดดอันกล้าก็เข้ารับขวัญ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า โปเสนตี ผู้เลี้ยงดูบุตร มารดาย่อม คุ้มครองทรัพย์แม้ทั้งสองฝ่าย คือ ทรัพย์ของมารดาและทรัพย์ของบิดา เพื่อบุตรนั้น ด้วยตั้งใจว่า ทรัพย์ทั้งสองฝ่ายพึงเป็นของบุตรแห่งเรา มารดายังบุตรให้ศึกษาดังนี้ว่า อย่างนี้ซิลูกอย่างโน้นซิลูก ย่อมลำบาก เมื่อบุตรกำลังรุ่นหนุ่มคะนอง มารดาย่อมคอยมองดูบุตรผู้หลงเพลิดเพลิน ในภรรยาผู้อื่น จนพลบค่ำก็ยังไม่กลับมา ย่อมเดือดร้อนด้วยประการ ฉะนี้ บุตรผู้อันมารดาเลี้ยงดูมาแล้ว ด้วยความลำบากอย่างนี้ ไม่บำรุง มารดา บุตรนั้นชื่อว่าประพฤติผิดในมารดา ย่อมเข้าถึงนรก บุตรผู้ อันบิดาเลี้ยงมาด้วยความลำบากอย่างนี้ ไม่บำรุงบิดา บุตรนั้นชื่อว่า ประพฤติผิดในบิดา ย่อมเข้าถึงนรก เราได้สดับมาว่า เพราะไม่บำรุง มารดา แม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาทรัพย์ย่อมฉิบหาย หรือบุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้น เราได้สดับมาว่า เพราะไม่บำรุง บิดา แม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาทรัพย์ย่อมฉิบหาย หรือ บุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้น ความรื่นเริง ความบันเทิง และความ หัวเราะเล่นหัวกันทุกเมื่อ บัณฑิตผู้รู้แจ้งพึงได้เพราะการบำรุงมารดา ความรื่นเริงความบันเทิง และความหัวเราะเล่นหัวกันทุกเมื่อ บัณฑิตผู้ รู้แจ้งพึงได้เพราะการบำรุงบิดา สังคหวัตถุ ๔ ประการนี้คือทาน การให้ ๑ ปิยวาจา เจรจาคำน่ารัก ๑ อัตถจริยา การประพฤติ ประโยชน์ ๑ สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลาย ตามสมควร ในที่นั้นๆ ๑ ย่อมมีในโลกนี้ เหมือนเพลารถย่อมมี แก่รถที่กำลังแล่นไป ฉะนั้น ถ้าว่าสังคหวัตถุเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้ มารดา ก็จะไม่พึงได้รับความนับถือหรือการบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร หรือ บิดาก็จะไม่พึงได้ความนับถือหรือการบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร ก็เพราะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมพิจารณาเห็นสังคหวัตถุนี้ ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมถึงความเป็นผู้ประเสริฐ และเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์พึงสรรเสริญ มารดาและบิดาบัณฑิตเรียกว่าเป็นพรหมของบุตร เป็นบุรพาจารย์ของ บุตร เป็นผู้ควรรับของคำนับของบุตร และว่าเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร เพราะเหตุนั้นแล บุตรผู้เป็นบัณฑิต พึงนอบน้อมและสักการะมารดา บิดาทั้ง ๒ นั้นด้วย ข้าว น้ำ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน การขัดสี การ ให้อาบน้ำ และการล้างเท้า บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุตรนั้น ด้วยการบำรุงในมารดาบิดาในโลกนี้ ครั้นบุตรนั้นละโลกนี้ไปแล้ว ย่อม บันเทิงในสวรรค์.
จบ โสณนันทชาดกที่ ๒
-----------------------------------------------------
รวมชาดกในสัตตตินิบาตนั้น มี ๒ ชาดก คือ กุสชาดก ๑ โสณนันทชาดก ๑ ชาดกทั้งสองนี้ปรากฏอยู่ในสัตตตินิบาต.
จบ สัตตตินิบาตชาดก.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ บรรทัดที่ ๙๔๓-๑๑๕๗ หน้าที่ ๓๘-๔๖. http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=28&A=943&Z=1157&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/english/r.php?B=28&A=943&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=28&siri=7              ศึกษาอรรถกถาชาดกได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=134              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=28&A=1159              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=3626              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=28&A=1159              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=3626              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja532/en/francis

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]