ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
             [๒๑๗] ปัญญาในความเป็นผู้มีความชำนาญ ด้วยความเป็นผู้ประกอบ
ด้วยพละ ๒ ด้วยความระงับสังขาร ๓ ด้วยญาณจริยา ๑๖ และด้วยสมาธิจริยา
๙ เป็นนิโรธสมาปัตติญาณอย่างไร ฯ
             คำว่า ด้วยพละ ๒ ความว่า พละ ๒ คือสมถพละ ๑ วิปัสสนาพละ ๑ ฯ
             [๒๑๘] สมถพละเป็นไฉน ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน
ด้วยสามารถแห่งเนกขัมมะ ด้วยสามารถแห่งความไม่พยาบาท ด้วยสามารถ
แห่งอาโลกสัญญา ด้วยสามารถแห่งความไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ ด้วยสามารถแห่งการ
พิจารณาเห็นความสละคืนหายใจออก ด้วยสามารถแห่งการพิจารณาเห็นความ
สละคืนหายใจเข้า เป็นสมถพละแต่ละอย่างๆ ฯ
             [๒๑๙] คำว่า สมถพลํ ความว่า ชื่อว่าสมถพละ เพราะอรรถ
ว่ากระไร ฯ
             ชื่อว่าสมถพละ เพราะอรรถว่า ไม่หวั่นไหวเพราะนิวรณ์ ด้วยปฐมฌาน
ไม่หวั่นไหวเพราะวิตกวิจาร ด้วยทุติยฌาน ไม่หวั่นไหวเพราะปีติ ด้วยตติยฌาน
ไม่หวั่นไหวเพราะสุขและทุกข์ ด้วยจตุตถฌาน ไม่หวั่นไหว เพราะรูปสัญญา
ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา ด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ ไม่หวั่นไหวเพราะ
อากาสานัญจายตนสัญญา ด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ไม่หวั่นไหวเพราะ
อากิญจัญญายตนสัญญา ด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ไม่หวั่นไหว
ไม่กวัดแกว่งไม่คลอนแคลน เพราะอุทธัจจะ เพราะกิเลสอันสหรคตด้วยอุทธัจจะ
และเพราะขันธ์ นี้ชื่อว่าสมถพละ ฯ
             [๒๒๐] วิปัสสนาพละเป็นไฉน อนิจจานุปัสนา ทุกขานุปัสนา
อนัตตานุปัสนา นิพพิทานุปัสนา วิราคานุปัสนา นิโรธานุปัสนา ปฏินิสสัคคา-
*นุปัสนา การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในรูป ฯลฯ การพิจารณาเห็นความสละ
คืนในรูป ฯลฯ ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ การพิจารณาเห็น
ความไม่เที่ยงในจักษุ ฯลฯ ในชราและมรณะ ฯลฯ การพิจารณาเห็นความสละ
คืนในชราและมรณะ เป็นวิปัสสนาพละแต่ละอย่างๆ ฯ
             [๒๒๑] คำว่า วิปสฺสนาพลํ ความว่า ชื่อว่าวิปัสสนาพละ เพราะ
อรรถว่ากระไร ฯ
             ชื่อว่าวิปัสสนาพละ เพราะอรรถว่า ไม่หวั่นไหวเพราะนิจจสัญญา
ด้วยอนิจจานุปัสนา ไม่หวั่นไหวเพราะสุขสัญญา ด้วยทุกขานุปัสนา ไม่หวั่นไหว
เพราะอัตตสัญญา ด้วยอนัตตานุปัสนา ไม่หวั่นไหวเพราะความเพลิดเพลิน ด้วย
นิพพิทานุปัสนา ไม่หวั่นไหวเพราะความกำหนัด ด้วยวิราคานุปัสนา ไม่หวั่นไหว
เพราะสมุทัย ด้วยนิโรธานุปัสนา ไม่หวั่นไหวเพราะความถือมั่น ด้วยปฏินิสสัคคานุ-
*ปัสนา ไม่หวั่นไหว ไม่กวัดแกว่ง ไม่คลอนแคลน เพราะอวิชชา เพราะกิเลส
อันสหรคตด้วยอวิชชา และเพราะขันธ์ นี้ชื่อว่าวิปัสสนาพละ ฯ
             [๒๒๒] คำว่า ด้วยการระงับสังขาร ๓ ความว่า ด้วยการระงับสังขาร
๓ เป็นไฉน วิตกวิจารเป็นวจีสังขารของท่านผู้เข้าทุติยฌานระงับไป ลมอัสสาส-
*ปัสสาสะเป็นกายสังขารของท่านผู้เข้าจตุตถฌาน ระงับไป สัญญาและเวทนา
เป็นจิตตสังขารของท่านผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ระงับไป ด้วยการระงับสังขาร
๓ เหล่านี้ ฯ
             [๒๒๓] คำว่า ด้วยญาณจริยา ๑๖ ความว่า ด้วยญาณจริยา ๑๖
เป็นไฉน อนิจจานุปัสนา ทุกขานุปัสนา อนัตตานุปัสนา นิพพิทานุปัสนา
วิราคานุปัสนา นิโรธานุปัสนา ปฏินิสสัคคานุปัสนา วิวัฏฏนานุปัสนา โสดา-
*ปัตติมรรค โสดาปัตติผลสมาบัติ สกทาคามิมรรค สกทาคามิผลสมาบัติ
อนาคามิมรรค อนาคามิผลสมาบัติ อรหัตมรรค อรหัตผลสมาบัติ เป็นญาณจริยา
แต่ละอย่าง ๆ ด้วยญาณจริยา ๑๖ นี้ ฯ
             [๒๒๔] คำว่า ด้วยสมาธิจริยา ๙ ความว่า ด้วยสมาธิจริยา ๙
เป็นไฉน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนสมาบัติ
วิญญาณัญจายตนสมาบัติ อากิญจัญญายตนสมาบัติ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
เป็นสมาธิจริยาแต่ละอย่างๆ วิตกวิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตาจิต เพื่อประโยชน์
แก่การได้ปฐมฌาน ฯลฯ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตาจิต เพื่อประโยชน์
แก่การได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ด้วยสมาธิจริยา ๙ นี้ ฯ
             [๒๒๕] คำว่า วสี ความว่า วสี ๕ ประการ คือ อาวัชชนาวสี
๑ สมาปัชชนาวสี ๑ อธิษฐานวสี ๑ วุฏฐานวสี ๑ ปัจจเวกขณวสี ๑ ฯ
             สมาปัตติลาภีบุคคลคำนึงถึงปฐมฌานได้ ณ สถานที่และขณะตามที่
ปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในการคำนึงถึง เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าอาวัชชนาวสี
สมาปัตติลาภีบุคคลเข้าปฐมฌานได้ ณ สถานที่ และขณะตามที่ปรารถนา ไม่มี
ความเนิ่นช้าในการเข้า เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าสมาปัชชนาวสี สมาปัตติลาภีบุคคล
อธิษฐานปฐมฌานได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในการ
อธิษฐาน เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าอธิษฐานวสี สมาปัตติลาภีบุคคลออกปฐมฌานได้
ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในการออก เพราะเหตุนั้น
จึงชื่อว่าวุฏฐานวสี สมาปัตติลาภีบุคคลพิจารณาปฐมฌานได้ ณ สถานที่และขณะ
ตามที่ปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในการพิจารณา เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า
ปัจจเวกขณวสี สมาปัตติลาภีบุคคลคำนึงถึงทุติยฌาน ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตน
สมาบัติได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในการคำนึงถึง
เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าอาวัชชนาวสี สมาปัตติลาภีบุคคลเข้า ฯลฯ อธิษฐาน ออก
พิจารณาเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา
ไม่มีความเนิ่นช้าในการพิจารณา เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าปัจจเวกขณวสี วสี ๕
ประการนี้ ฯ
             ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด
เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในความเป็นผู้มีความชำนาญ ด้วยความ
เป็นผู้ประกอบด้วยพละ ๒ ด้วยความระงับสังขาร ๓ ด้วยญาณจริยา ๑๖ และด้วย
สมาธิจริยา ๙ เป็นนิโรธสมาปัตติญาณ ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ บรรทัดที่ ๒๔๓๑-๒๕๐๒ หน้าที่ ๙๙-๑๐๒. http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=31&A=2431&Z=2502&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/english/r.php?B=31&A=2431&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=31&siri=38              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=217              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=31&A=2855              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=7334              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=31&A=2855              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=7334              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_31

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]