ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๖ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๓ ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์
ทุกนิทเทส
[๕๘] บุคคลผู้มักโกรธ เป็นไฉน ความโกรธ ในข้อนั้นเป็นไฉน ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่ โกรธ โทสะ ความประทุษร้าย ภาวะที่ประทุษร้าย ความพยาบาท กิริยาที่ พยาบาท ภาวะที่พยาบาท ความพิโรธ ความพิโรธตอบ ความดุร้าย ความ เกรี้ยวกราด ภาวะที่จิตไม่ยินดีอันใด นี้เรียกว่าความโกรธ ความโกรธนี้ อันบุคคลใดละไม่ได้ บุคคลนั้นเรียกว่า ผู้มักโกรธ บุคคลผู้ผูกโกรธ เป็นไฉน ความผูกโกรธ ในข้อนั้นเป็นไฉน ความโกรธมีในเบื้องต้น ความ ผูกโกรธมีในภายหลัง ความผูกโกรธ กิริยาที่ผูกโกรธ ภาวะที่ผูกโกรธ การ ไม่หยุดโกรธ การตั้งความโกรธไว้ การดำรงความโกรธไว้ การไหลไปตาม ความโกรธ การตามผูกพันธ์ความโกรธไว้ การทำความโกรธให้มั่นเข้าไว้อันใด เห็นปานนี้ นี้เรียกว่าความผูกโกรธ ความผูกโกรธนี้ อันบุคคลใดละไม่ได้ บุคคลนั้นเรียกว่า ผู้ผูกโกรธ [๕๙] บุคคลผู้มักลบหลู่บุญคุณของผู้อื่น เป็นไฉน ความลบหลู่ ในข้อนั้นเป็นไฉน ความลบหลู่ กิริยาที่ลบหลู่ ภาวะ ที่ลบหลู่ ความไม่เห็นคุณของผู้อื่น การกระทำที่ไม่เห็นคุณของผู้อื่น นี้เรียกว่า ความลบหลู่ ความลบหลู่นี้ อันบุคคลใดละไม่ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่าผู้มัก ลบหลู่บุญคุณของผู้อื่น บุคคลผู้ตีเสมอ เป็นไฉน การตีเสมอ ในข้อนั้นเป็นไฉน การตีเสมอ กิริยาที่ตีเสมอ ภาวะที่ ตีเสมอ ธรรมที่เป็นอาหารแห่งการตีเสมอ ฐานะแห่งวิวาท การถือเป็นคู่ว่า เท่าเทียมกัน การไม่สละคืนอันใด นี้เรียกว่าการตีเสมอ การตีเสมอนี้ อันบุคคลใดละไม่ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่าผู้ตีเสมอ [๖๐] บุคคลผู้มีความริษยา เป็นไฉน ความริษยา ในข้อนั้นเป็นไฉน ความริษยา กิริยาที่ริษยา ภาวะที่ ริษยา ความไม่ยินดีด้วย กิริยาที่ไม่ยินดีด้วย ภาวะที่ไม่ยินดีด้วยในลาภ สักการะ การเคารพ ความนับถือ การไหว้ การบูชาของผู้อื่น อันใด นี้เรียกว่า ความริษยา ก็ความริษยานี้ อันบุคคลใดละไม่ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มี ความริษยา บุคคลผู้มีความตระหนี่ เป็นไฉน ความตระหนี่ ในข้อนั้นเป็นไฉน ความตระหนี่มี ๕ อย่าง คือ ตระหนี่ที่อยู่ ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ลาภ ตระหนี่วรรณะ ตระหนี่ธรรม ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความอยากไปต่างๆ ความเหนียวแน่น ความตระหนี่ถี่เหนียว ความที่จิตไม่เผื่อแผ่ อันใดเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า ความตระหนี่ ความตระหนี่นี้ อันบุคคลใดละไม่ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มี ความตระหนี่ [๖๑] บุคคลผู้โอ้อวด เป็นไฉน ความโอ้อวด ในข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้อวด ความโอ้อวด ภาวะที่โอ้อวด กิริยาที่โอ้อวด ภาวะที่แข็งกระด้าง กิริยาที่แข็ง กระด้าง ความพูดยกตน กิริยาที่พูดยกตน อันใด ในข้อนั้น นี้เรียกว่า ความโอ้อวด ความโอ้อวดนี้ อันบุคคลใดละไม่ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้โอ้อวด บุคคลผู้มีมารยา เป็นไฉน มารยา ในข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วย กาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจแล้ว เพราะเหตุจะปกปิด ทุจริตนั้น จึงตั้งความปรารถนาอันลามก ปรารถนาว่าใครๆ อย่ารู้เรา ดำริว่า ใครๆ อย่ารู้เรา พูดว่าใครๆ อย่ารู้เรา พยายามด้วยกายว่าใครๆ อย่ารู้เรา มายา ภาวะที่มายา ความวางท่า ความหลอกลวง ความตลบตะแลง ความมี เลห์เหลี่ยม ความทำให้ลุ่มหลง ความซ่อน ความอำพราง ความผิด ความปกปิด การไม่ทำให้เข้าใจง่าย การไม่ทำให้จะแจ้ง การปิดบังกิริยาลามก เห็นปานนี้ อันใด นี้เรียกว่า มายา มายานี้ อันบุคคลใดละไม่ได้แล้ว บุคคลนี้ เรียกว่า มีมายา [๖๒] บุคคลผู้ไม่มีหิริ เป็นไฉน ความไม่มีหิริ ในข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมชาติใดไม่ละอายสิ่งที่ควร ละอาย ไม่ละอายการถึงพร้อมแห่งธรรมอันเป็นบาปอกุศล นี้เรียกว่า ความไม่มี หิริ บุคคลประกอบแล้วด้วยความไม่มีหิรินี้ เรียกว่าผู้ไม่มีหิริ บุคคลผู้ไม่มีโอตตัปปะ เป็นไฉน ความไม่มีโอตตัปปะ ในข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมชาติใดไม่กลัวสิ่งที่ควร กลัว ไม่กลัวการถึงพร้อมแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศล นี้เรียกว่าความไม่มี โอตตัปปะ บุคคลประกอบแล้วด้วยความไม่มีโอตตัปปะนี้ชื่อว่า ผู้ไม่มีโอตตัปปะ [๖๓] บุคคลผู้ว่ายาก เป็นไฉน ความเป็นผู้ว่ายาก ในข้อนั้นเป็นไฉน ความเป็นผู้ว่ายาก กิริยาที่ เป็นผู้ว่ายาก ภาวะที่เป็นผู้ว่ายาก ความเป็นผู้ถือเอาโดยปฏิกูล ความเป็นผู้ยินดี โดยความเป็นข้าศึก ความไม่เอื้อเฟื้อ ภาวะที่ไม่เอื้อเฟื้อ ความไม่เคารพ ความไม่เชื่อฟัง ในเมื่อสหธรรมิกว่ากล่าวอยู่ นี้เรียกว่า ความเป็นผู้ว่ายาก บุคคล ประกอบแล้วด้วยความเป็นผู้ว่ายากนี้ ชื่อว่าผู้ว่ายาก บุคคลผู้มีมิตรชั่ว เป็นไฉน ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ในข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลเหล่านั้นใด เป็นผู้ ไม่มีศรัทธา เป็นผู้ทุศีล มีสุตะน้อย เป็นผู้ตระหนี่ มีปัญญาทราม การเสวนะ การเข้าไปเสวนะ การซ่องเสพ การคบ การคบหา การภักดี การภักดีด้วย ความเป็นผู้คบหาสมาคมกับบุคคลเหล่านั้น อันใด นี้เรียกว่า ความเป็นผู้มี มิตรชั่ว บุคคลประกอบด้วยความเป็นผู้มีมิตรชั่วนี้ เรียกว่าผู้มีมิตรชั่ว [๖๔] บุคคลผู้มีทวารอันไม่คุ้มครอง แล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นไฉน ความเป็นผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย ในข้อ นั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เห็นรูปด้วยตา เป็นผู้ถือเอาซึ่งนิมิต เป็น ผู้ถือเอาซึ่งอนุพยัญชนะ อกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัส พึงซ่านไปตามบุคคลผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ คือจักษุนี้อยู่ เพราะการไม่สำรวม อินทรีย์ คือจักษุใด เป็นเหตุ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์คือจักษุนั้น ย่อม ไม่รักษาอินทรีย์ คือจักษุ ย่อมไม่ถึงความสำรวมในอินทรีย์ คือจักษุ ฟังเสียง ด้วยหู ฯลฯ สูดกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วย กาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว เป็นผู้ถือเอาซึ่งนิมิต เป็นผู้ถือเอาซึ่งอนุ- *พยัญชนะ อกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัส พึงซ่านไปตาม บุคคลผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ คือใจนี้อยู่ เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ คือใจใด เป็นเหตุ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์ คือใจนั้น ย่อมไม่รักษาอินทรีย์ คือใจ ย่อมไม่ถึงความสำรวมอินทรีย์ คือใจ การไม่คุ้มครอง การไม่ปกครอง การไม่รักษา การไม่สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ เหล่านี้อันใด นี้ชื่อว่า ความเป็นผู้มีทวารอันไม่คุ้มครอง แล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยความเป็นผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้ว ในอินทรีย์ทั้งหลายนี้ชื่อว่าความเป็นผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย บุคคลไม่รู้จักประมาณในโภชนะ เป็นไฉน ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ในข้อนั้นเป็นไฉน บุคคล บางคนในโลกนี้ ไม่พิจารณาแล้วโดยแยบคาย บริโภคซึ่งอาหารเพื่อเล่น เพื่อ มัวเมา เพื่อประดับ เพื่อตกแต่ง ความเป็นผู้ไม่สันโดษ ความเป็นผู้ไม่รู้จัก ประมาณในโภชนะนั้น ความไม่พิจารณาในโภชนะอันใด นี้เรียกว่า ความเป็นผู้ ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ บุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณ ในโภชนะนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ [๖๕] บุคคลผู้มีสติหลง เป็นไฉน ความเป็นผู้มีสติหลง ในข้อนั้นเป็นไฉน ความระลึกไม่ได้ ความ ตามระลึกไม่ได้ ความกลับระลึกไม่ได้ ความไม่มีสติ ความระลึกไม่ได้ ความทรงจำไม่ได้ ความหลงใหล ความฟั่นเฟือน อันใด นี้เรียกว่า ความเป็น ผู้มีสติหลง บุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีสติหลงนี้ ชื่อว่าผู้มีสติหลง บุคคลผู้ไม่มีสัมปชัญญะ เป็นไฉน สัมปชัญญะ ในข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ ตรัสรู้ ความไม่รู้ตาม ความไม่รู้พร้อม ความไม่แทงตลอด ความไม่รับทราบ ความไม่กำหนดลงทราบ ความไม่เพ่งเล็ง ความไม่พิจารณา การไม่ทำให้ แจ่มแจ้ง ความเป็นผู้ทรามปัญญา ความเป็นผู้เขลา ความไม่มีสติสัมปชัญญะ ความหลง ความหลงทั่ว ความหลงพร้อม ความโง่ โอฆะ คืออวิชชา โยคะ คืออวิชชา อนุสัย คืออวิชชา ปริยุฏฐาน คืออวิชชา ลิ่ม คืออวิชชา อกุศลมูล คือโมหะ นี้เรียกว่า ความเป็นผู้ไม่มีสัมปชัญญะ บุคคลเป็นผู้ ประกอบด้วยความเป็นผู้ไม่มีสัมปชัญญะนี้ ชื่อว่าผู้ไม่มีสัมปชัญญะ [๖๖] บุคคลผู้มีศีลวิบัติ เป็นไฉน ศีลวิบัติ ในข้อนั้นเป็นไฉน การล่วงละเมิดทางกาย การล่วงละเมิด ทางวาจา การล่วงละเมิดทั้งทางกายทั้งทางวาจา นี้เรียกว่าศีลวิบัติ ความเป็นผู้ ทุศีลแม้ทั้งหมด ชื่อว่าศีลวิบัติ บุคคลประกอบด้วยศีลวิบัตินี้ ชื่อว่าผู้มีศีลวิบัติ บุคคลผู้มีทิฐิวิบัติ เป็นไฉน ทิฐิวิบัติ ในข้อนั้นเป็นไฉน ทิฐิ ความเห็นไปว่า ทานที่ให้ไม่มีผล การบูชาใหญ่ [คือมหาทานที่ทั่วไปแก่คนทั้งปวง] ไม่มีผล สักการะที่บุคคลทำเพื่อ แขก ไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์อุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ผู้ ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ที่รู้ยิ่งแล้วซึ่งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง แล้วประกาศ ทำให้แจ้งในโลกนี้ไม่มี ดังนี้ มีอย่างนี้เป็นรูปอันใด ทิฐิ ความเห็นไปข้าง ทิฐิ ป่าชัฏคือทิฐิ กันดารคือทิฐิ ความเห็นเป็นข้าศึก ความเห็นผันผวน สัญโญชน์คือทิฐิ ความยึดถือ ความเกี่ยวเกาะ ความยึดมั่น การยึดถือความ ปฏิบัติผิด มรรคาผิด ทางผิด ภาวะที่เป็นผิด ลัทธิเป็นแดนเสื่อม ความยึด ถือ การแสวงหาผิด อันใด มีลักษณะอย่างนี้ นี้เรียกว่า ทิฐิวิบัติ มิจฉาทิฐิ แม้ทั้งหมด เป็นทิฐิวิบัติ บุคคลประกอบด้วยทิฐิวิบัตินี้ ชื่อว่าผู้มีทิฐิวิบัติ [๖๗] บุคคลมีสัญโญชน์ภายใน เป็นไฉน โอรัมภาคิยสัญโญชน์ ๕ อันบุคคลยังละไม่ได้แล้ว บุคคลนั้นเรียกว่า ผู้มีสัญโญชน์ภายใน บุคคลผู้มีสัญโญชน์ภายนอก เป็นไฉน อุทธัมภาคิยสัญโญชน์ ๕ อันบุคคลใดยังละไม่ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีสัญโญชน์ภายนอก [๖๘] บุคคลผู้ไม่โกรธ เป็นไฉน ความโกรธ ในข้อนั้นเป็นไฉน ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่ โกรธ โทสะ กิริยาที่ประทุษร้าย ภาวะที่ประทุษร้าย พยาบาท กิริยาที่ พยาบาท ภาวะที่พยาบาท ความพิโรธ ความพิโรธตอบ ความดุร้าย ความเกรี้ยวกราด ความที่มีจิตไม่ยินดี นี้เรียกว่าความโกรธ ความโกรธนี้ อันบุคคลใดละได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่าผู้ไม่โกรธ บุคคลผู้ไม่ผูกโกรธ เป็นไฉน ความผูกโกรธ ในข้อนั้นเป็นไฉน ความโกรธมีในกาลเบื้องต้น ความ ผูกโกรธมีในกาลภายหลัง ความผูกโกรธ กิริยาที่ผูกโกรธ ภาวะที่ ผูกโกรธ การไม่หยุดโกรธ การตั้งความโกรธไว้ การดำรงความโกรธไว้ การไหลไปตามความโกรธ การตามผูกพันธ์ความโกรธ การทำความโกรธให้มั่น เข้าอันใด เห็นปานนี้ นี้เรียกว่า ความผูกโกรธ ความผูกโกรธนี้ อันบุคคลใดละ ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่ผูกโกรธ [๖๙] บุคคลผู้ไม่ลบหลู่บุญคุณผู้อื่น เป็นไฉน ความลบหลู่บุญคุณผู้อื่น ในข้อนั้นเป็นไฉน ความลบหลู่ กิริยาที่ ลบหลู่ ภาวะที่ลบหลู่ ความไม่เห็นคุณของผู้อื่น การกระทำความไม่เห็นคุณ ของผู้อื่น นี้เรียกว่า ความลบหลู่บุญคุณผู้อื่น ความลบหลู่บุญคุณผู้อื่นนี้ อันบุคคลใดละได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่ลบหลู่บุญคุณผู้อื่น บุคคลผู้ไม่ตีเสมอผู้อื่น เป็นไฉน ความตีเสมอผู้อื่น ในข้อนี้เป็นไฉน การตีเสมอ กิริยาที่ตีเสมอ ภาวะที่ตีเสมอ ธรรมที่เป็นอาหารแห่งการตีเสมอ ฐานะแห่งวิวาท การถือเป็น คู่ว่าเท่าเทียมกัน การไม่สละคืน นี้เรียกว่า การตีเสมอ การตีเสมอนี้ อันบุคคลใดละได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่ตีเสมอผู้อื่น [๗๐] บุคคลผู้ไม่มีความริษยา เป็นไฉน ความริษยา ในข้อนั้นเป็นไฉน ความริษยา กิริยาที่ริษยา ภาวะที่ ริษยา ความไม่ยินดีด้วย กิริยาที่ไม่ยินดีด้วย ภาวะที่ไม่ยินดีด้วยในลาภสักการะ การทำความเคารพ ความนับถือ การไหว้ การบูชาของคนอื่น อันใด นี้ เรียกว่า ความริษยา ความริษยานี้ อันบุคคลใดละได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่มีความริษยา บุคคลผู้ไม่มีความตระหนี่ เป็นไฉน ความตระหนี่ ในข้อนั้นเป็นไฉน ความตระหนี่ ๕ ประการ คือ ตระหนี่ที่อยู่ ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ลาภ ตระหนี่วรรณะ ตระหนี่ธรรม ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความอยากมีประการต่างๆ ความเหนียวแน่น ความตระหนี่ถี่เหนียว ความที่จิตไม่เผื่อแผ่ อันใด เห็นปานนี้ นี้เรียกว่า ความตระหนี่ ความตระหนี่นี้ อันบุคคลใดละได้แล้ว บุคคลนี้ เรียกว่า ผู้ไม่มีความตระหนี่ [๗๑] บุคคลผู้ไม่โอ้อวด เป็นไฉน ความโอ้อวด ในข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้อวด เป็นผู้โอ้อวด ความโอ้อวด ภาวะที่โอ้อวด กิริยาที่โอ้อวด ภาวะที่แข็งกระด้าง กิริยาที่แข็งกระด้าง ความพูดยกตน กิริยาที่พูดยกตน อันใด นี้เรียกว่า ความโอ้อวด ความโอ้อวดนี้อันบุคคลใดละได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่โอ้อวด บุคคลผู้ไม่มีมายา เป็นไฉน มายา ในข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วย กาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจแล้ว เพราะเหตุจะปกปิด ความทุจริตนั้น จึงตั้งความปรารถนาอันลามก ปรารถนาว่าใครๆ อย่ารู้เรา ดำริว่าใครๆ อย่ารู้เรา พูดว่าใครๆ อย่ารู้เรา พยายามด้วยกายว่าใครๆ อย่า รู้เรา มายา ภาวะที่มีมายา ความวางท่า ความหลอกลวง ความตลบตะแลง ความมีเล่ห์เหลี่ยม ความทำให้ลุ่มหลง ความซ่อน ความอำพราง ความปิด ความปกปิด การไม่ทำให้เข้าใจง่าย การไม่ทำให้จะแจ้ง การปิดบังอำพราง กิริยาลามก อันใด เห็นปานนี้ นี้เรียกว่า มายา มายานี้ อันบุคคลใดละได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่มีมายา [๗๒] บุคคลมีหิริ เป็นไฉน ความละอาย ในข้อนั้น เป็นไฉน ละอายการเข้าถึงธรรมอันเป็น บาปอกุศล นี้เรียกว่า ความละอาย บุคคลผู้ประกอบด้วยหิรินี้ ชื่อว่าผู้มีหิริ บุคคลผู้มีโอตตัปปะ เป็นไฉน โอตตัปปะ ในข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมชาติใดกลัวสิ่งที่ควรกลัว กลัว การเข้าถึงธรรมที่เป็นบาปอกุศล นี้เรียกว่า โอตตัปปะ บุคคลผู้ประกอบแล้ว ด้วยโอตตัปปะนี้ ชื่อว่า ผู้มีโอตตัปปะ [๗๓] บุคคลผู้ว่าง่าย เป็นไฉน ความเป็นผู้ว่าง่าย ในข้อนั้นเป็นไฉน ความเป็นผู้ว่าง่าย กิริยาที่ ว่าง่าย ภาวะที่ว่าง่าย ความเป็นผู้ถือเอาโดยไม่ปฏิกูล ความเป็นผู้ยินดีโดยไม่ เป็นข้าศึก ความเอื้อเฟื้อ ภาวะที่เอื้อเฟื้อ ความเคารพ ความเชื่อฟัง ในเมื่อ สหธรรมมิกว่ากล่าวอยู่ นี้เรียกว่า ความเป็นผู้ว่าง่าย บุคคลผู้มีมิตรดี เป็นไฉน ความเป็นผู้มีมิตรดี ในข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลเหล่าใดมีศรัทธา มีศีล เป็นพหูสูต มีการบริจาค มีปัญญา การเสวนะ การเข้าไปเสวนะ การซ่อง เสพ การคบ การคบหา การภักดี การภักดีด้วย ความเป็นผู้คบหาสมาคม บุคคลเหล่านั้น นี้เรียกว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี บุคคลผู้ประกอบแล้วด้วย ความเป็นผู้มีมิตรดี นี้ชื่อว่า เป็นผู้มีมิตรดี [๗๔] บุคคลมีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นไฉน ความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย ในข้อนั้น เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เห็นรูปด้วยตา เป็นผู้ไม่ถือเอาซึ่งนิมิต เป็น ผู้ไม่ถือเอาซึ่งอนุพยัญชนะ อกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก คืออภิชฌาและ โทมนัส พึงซ่านไปตามบุคคลผู้ไม่สำรวมอินทรีย์คือจักษุนี้อยู่ เพราะการไม่สำรวม อินทรีย์คือจักษุใดเป็นเหตุ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์คือจักษุนั้น ย่อมรักษา อินทรีย์คือจักษุ ย่อมถึงความสำรวมอินทรีย์คือจักษุ ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ สูดกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้ ธรรมารมณ์ด้วยใจ ไม่เป็นผู้ถือเอาซึ่งนิมิต ไม่เป็นผู้ถือเอาซึ่งอนุพยัญชนะ อกุศล ธรรมทั้งหลายอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัส พึงซ่านไปตามบุคคลผู้ไม่สำรวม อินทรีย์คือใจนี้อยู่ เพราะความไม่สำรวมอินทรีย์คือใจใดเป็นเหตุ ย่อมปฏิบัติ เพื่อสำรวมอินทรีย์คือใจนั้น ย่อมรักษาอินทรีย์คือใจ ย่อมถึงความสำรวมอินทรีย์ คือใจ การคุ้มครอง การปกครอง การรักษา การสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ เหล่านี้ ใด นี้เรียกว่า ความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย บุคคลผู้ ประกอบแล้วด้วยความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย นี้ชื่อว่า เป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย บุคคลผู้รู้จักประมาณในโภชนะ เป็นไฉน ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ในข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบาง คนในโลกนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วบริโภคอาหาร ไม่บริโภคเพื่อจะเล่น ไม่บริโภคเพื่อมัวเมา ไม่บริโภคเพื่อประดับ ไม่บริโภคเพื่อตกแต่งประเทืองผิว บริโภคเพียงเพื่อความตั้งอยู่แห่งกายนี้ เพื่อให้กายเป็นไป เพื่อจะกำจัดความ เบียดเบียนลำบาก คือความหิวอาหารเสีย เพื่อจะอนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วย คิดว่า ด้วยการเสพเฉพาะอาหารนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย ไม่ให้เวทนา ใหม่เกิดขึ้นด้วย ความที่กายจักเป็นไปได้นานจักมีแก่เรา ความเป็นผู้ไม่มีโทษ ความอยู่สบายด้วย จักมีแก่เรา ความเป็นผู้สันโดษ ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ในโภชนะนั้น ความพิจารณาในโภชนะนั้นอันใด นี้เรียกว่า ความเป็นผู้รู้จัก ประมาณในโภชนะ บุคคลผู้ประกอบแล้วด้วยความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ นี้ ชื่อว่า เป็นผู้รู้จักประมาณในโภชะ [๗๕] บุคคลผู้มีสติอันเข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นไฉน สติในข้อนั้น เป็นไฉน ความระลึกได้ ความตามระลึกได้ ความหวน ระลึกได้ ความนึกได้ คือสติ ความทรงจำ ความไม่ฟั่นเฟือน ความไม่หลงลืม นี้เรียกว่า สติ บุคคลผู้ประกอบแล้วด้วยสตินี้ ชื่อว่าผู้มีสติอันเข้าไปตั้งไว้แล้ว บุคคลผู้มีสัมปชัญญะ เป็นไฉน สัมปชัญญะ ในข้อนั้น เป็นไฉน ความรอบรู้ ความรู้ชัด ความเลือกเฟ้น ความเลือกสรร ความสอดส่องธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนดรู้ ความเข้าไปกำหนดรู้เฉพาะ ความเป็นผู้รู้ ความฉลาด ความรู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความคิดนึก ความใคร่ครวญ ความรู้กว้างขวาง ความรู้เฉียบขาด ความรู้นำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ทั่วพร้อม ปัญญาเพียง ดังปะฏัก ปัญญินทรีย์ กำลังคือปัญญา รัศมีคือปัญญา ประทีปคือปัญญา รัตนคือปัญญา ความสอดส่องธรรม คืออโมหะ สัมมาทิฐิ นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ บุคคลผู้ประกอบแล้วด้วยสัมปชัญญะนี้ ชื่อว่าผู้มีสัมปชัญญะ [๗๖] บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นไฉน ความถึงพร้อมด้วยศีล ในข้อนั้น เป็นไฉน การไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจา การไม่ล่วงละเมิดทางกาย และวาจา นี้เรียกว่า ความถึงพร้อมด้วยศีล ความสำรวมด้วยศีลแม้ทั้งหมด ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยศีล บุคคลผู้ประกอบแล้วด้วยศีลสัมปทานี้ ชื่อว่าผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล บุคคลผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยทิฐิ เป็นไฉน ความถึงพร้อมด้วยทิฐิ ในข้อนั้น เป็นไฉน ความรอบรู้ ความรู้ชัดฯลฯ ความสอดส่องธรรม คืออโมหะ สัมมาทิฐิ เช่นนี้ว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การ บูชาใหญ่ [คือมหาทานที่ทั่วไปแก่คนทั้งปวง] มีผล สักการะที่บุคคลทำเพื่อแขก มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดี ทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์อุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ผู้พร้อมเพียงกัน ประพฤติดี ปฏิบัติ ชอบ ที่รู้ยิ่งซึ่งโลกนี้ และโลกหน้าด้วยตนเองแล้วประกาศทำให้แจ้งมี นี้เรียกว่า ความถึงพร้อมด้วยทิฐิ สัมมาทิฐิแม้ทั้งหมดก็ชื่อว่า ทิฐิสัมปทา บุคคล ผู้ประกอบด้วยทิฐิสัมปทานี้ ชื่อว่าผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิ [๗๗] บุคคลหาได้ยากในโลก ๒ จำพวก เป็นไฉน บุพพการีบุคคล ๑ กตัญญูกตเวทีบุคคล ๑ บุคคล ๒ จำพวกนี้ หาได้ยากในโลกนี้ [๗๘] บุคคลให้อิ่มได้ยาก ๒ จำพวก เป็นไฉน ผู้ที่เก็บของที่ตนได้แล้วๆ ๑ ผู้ที่สละของตนที่ได้แล้วๆ ๑ บุคคล ๒ จำพวกนี้ ให้อิ่มได้ยาก [๗๙] บุคคลให้อิ่มได้ง่าย ๒ จำพวก เป็นไฉน ผู้ที่ไม่เก็บของที่ตนได้แล้วๆ ๑ ผู้ที่ไม่สละของที่ตนได้แล้วๆ ๑ บุคคล ๒ จำพวกนี้ ให้อิ่มได้ง่าย [๘๐] อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคล ๒ จำพวก เหล่าไหน ผู้ที่ประพฤติรังเกียจสิ่งที่ไม่ควรรังเกียจ ๑ ผู้ที่ไม่ประพฤติรังเกียจสิ่งที่ ควรรังเกียจ ๑ อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคล ๒ จำพวกเหล่านี้ [๘๑] อาสวะทั้งหลายย่อมไม่เจริญแก่บุคคล ๒ จำพวก เหล่าไหน ผู้ที่ไม่ประพฤติรังเกียจสิ่งที่ไม่ควรรังเกียจ ๑ ผู้ที่ประพฤติรังเกียจ สิ่งที่ควรรังเกียจ อาสวะทั้งหลายย่อมไม่เจริญแก่บุคคล ๒ จำพวกเหล่านี้ [๘๒] บุคคลมีอัธยาศัยเลว เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก เขาย่อมเสพ ย่อมคบ ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ บุคคลผู้ทุศีล ผู้มีธรรมอันลามกอื่น นี้เรียกว่าบุคคลผู้มีอัธยาศัย เลว บุคคลมีอัธยาศัยประณีต เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม เขาย่อมเสพ ย่อมคบ ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ ผู้มีศีล ผู้มีธรรมอันงามอื่น นี้เรียกว่า บุคคลผู้มีอัธยาศัยประณีต [๘๓] บุคคลผู้อิ่มแล้ว เป็นไฉน พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลายของพระตถาคตเจ้า ผู้เป็น พระอรหันต์ ชื่อว่าผู้อิ่มแล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่าผู้อิ่มแล้วด้วย ยังผู้อื่นให้อิ่มแล้วด้วย
ทุกนิทเทส จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๖ บรรทัดที่ ๒๙๔๐-๓๒๒๔ หน้าที่ ๑๒๑-๑๓๒. http://84000.org/tipitaka/english/v.php?B=36&A=2940&Z=3224&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/english/r.php?B=36&A=2940&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=36&siri=28              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=36&i=573              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=36&A=2967              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=1375              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=36&A=2967              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=1375              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_36              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pp2.2/en/law

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]