ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร

๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร
ว่าด้วยสัณฐานแห่งวิตก
[๒๑๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
อุบายกำจัดอกุศลวิตก
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ขวนขวายในอธิจิต๑- ควรมนสิการถึงนิมิต ๕ ประการนี้ ตามเวลาอันสมควร นิมิต ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตก ทั้งหลายอันเป็นบาปอกุศล ซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบ ด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนั้นควร มนสิการนิมิตอื่นซึ่งประกอบด้วยกุศลนอกจากนิมิตนั้น เมื่อเธอ มนสิการนิมิตอื่นซึ่งประกอบด้วยกุศลนอกจากนิมิตนั้น เธอย่อมละ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วย โทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อม @เชิงอรรถ : @ อธิจิต หมายถึงจิตมีสมาบัติ ๘ อันเป็นพื้นฐานแห่งวิปัสสนา เป็นจิตที่ยิ่งกว่าจิตที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจกุศล- @กรรมบถ ๑๐ ประการ (ม.มู.อ. ๑/๒๑๖/๔๑๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๒๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร

ตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายใน โดยแท้ ช่างไม้หรือลูกมือของช่างไม้ ผู้ชำนาญ ใช้ลิ่มอันเล็ก ตอก โยก ถอนลิ่มอันใหญ่ออกได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่ออาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใด วิตกทั้งหลายอันเป็น บาปอกุศล ซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนั้นควรมนสิการนิมิตอื่น ซึ่งประกอบด้วยกุศลนอกจากนิมิตนั้น เมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่น ซึ่งประกอบด้วยกุศลนอกจากนิมิตนั้น เธอย่อมละวิตกอันเป็น บาปอกุศล ซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ย่อม ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อม ตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ [๒๑๗] ภิกษุทั้งหลาย ๒. หากเมื่อภิกษุนั้นมนสิการนิมิตอื่นซึ่งประกอบด้วยกุศลนอกจาก นิมิตนั้น วิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอีกนั่นแล ภิกษุนั้นควรพิจารณาโทษแห่งวิตกเหล่านั้นว่า ‘วิตกเหล่านี้ล้วน แต่เป็นอกุศลแม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีโทษแม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบากแม้อย่างนี้’ เมื่อเธอพิจารณา โทษแห่งวิตกเหล่านั้นอยู่ เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่ง ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วย โมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ หญิงสาว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๒๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร

หรือชายหนุ่มที่ชอบแต่งตัว มีผู้นำซากงู ซากสุนัข หรือซากศพ มนุษย์มาผูกไว้ที่คอ ย่อมรู้สึกอึดอัด ระอา และรังเกียจ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน หากเมื่อมนสิการนิมิตอื่นซึ่งประกอบ ด้วยกุศลนอกจากนิมิตนั้น วิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบ ด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอีก ภิกษุนั้นควรพิจารณาโทษแห่งวิตกเหล่านั้นว่า ‘วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอกุศลแม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มี โทษแม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบากแม้อย่างนี้’ เมื่อเธอพิจารณาโทษแห่งวิตกเหล่านั้นอยู่ เธอย่อมละวิตกอันเป็น บาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้ง อยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ [๒๑๘] ภิกษุทั้งหลาย ๓. หากเมื่อภิกษุนั้นพิจารณาโทษแห่งวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็น บาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอีก ภิกษุนั้นไม่ควรระลึกถึง ไม่ควรมนสิการวิตกเหล่านั้น เมื่อเธอไม่ระลึกถึง ไม่มนสิการ วิตกเหล่านั้นอยู่ เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบ ด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอัน เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะที่จิต เป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ คนมีตาดีไม่ต้องการที่ จะเห็นรูปที่ผ่านมา เขาควรหลับตาหรือเหลียวไปทางอื่นเสีย แม้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๒๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร

ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน หากเมื่อพิจารณาโทษแห่ง วิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ยังเกิดขึ้นอีกนั่นแล ฯลฯ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิ ในภายในโดยแท้ [๒๑๙] ภิกษุทั้งหลาย ๔. หากเมื่อภิกษุนั้นไม่ระลึกถึง ไม่มนสิการวิตกเหล่านั้น วิตกอัน เป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอีก ภิกษุนั้นควรมนสิการวิตักก- สังขารสัณฐาน๑- แห่งวิตกเหล่านั้น เมื่อเธอมนสิการวิตักกสังขาร- สัณฐานแห่งวิตกเหล่านั้น เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่ง ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วย โมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ คนเดินเร็ว เขาจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราจะรีบเดินทำไม ถ้ากระไร เราควร ค่อยๆ เดิน’ เขาก็ค่อยๆ เดิน เขาจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราจะค่อยๆ เดินทำไม ถ้ากระไร เราควรยืน’ เขาก็ยืน เขาจะ พึงมีความคิดอย่างนี้อีกว่า ‘เราจะยืนอยู่ทำไม ถ้ากระไร เราควรนั่ง’ เขาจึงนั่ง เขาจะพึงมีความคิดอย่างนี้อีกว่า ‘เราจะนั่งอยู่ทำไม ถ้ากระไร เราควรนอน’ เขาก็นอน คนผู้นั้นเว้นอิริยาบถหยาบๆ แล้วพึงใช้อิริยาบถละเอียดๆ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน หากเมื่อไม่ระลึกถึง ไม่มนสิการวิตกเหล่านั้น วิตกอันเป็นบาปอกุศล @เชิงอรรถ : @ วิตักกสังขารสัณฐาน หมายถึงที่ตั้งแห่งเหตุของวิตก (ม.มู.อ. ๑/๒๑๙/๔๒๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๒๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร

ซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ... ยังเกิดขึ้นอีกนั่นแล ฯลฯ เป็น ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ [๒๒๐] ภิกษุทั้งหลาย ๕. หากเมื่อภิกษุนั้นมนสิการถึงวิตักกสังขารสัณฐานแห่งวิตกแม้เหล่านั้น วิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วย โทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอีก ภิกษุนั้นควรกด ฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้ เร่าร้อน เมื่อเธอกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิต ข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่ง ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วย โมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ คนผู้มีกำลัง มากจับคนผู้มีกำลังน้อยกว่าได้แล้วบีบ กด เค้น ที่ศีรษะ คอ หรือก้านคอไว้ให้แน่น แม้ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน หากเมื่อมนสิการถึงวิตักกสังขารสัณฐานแห่งวิตกแม้เหล่านั้น วิตกอันเป็นบาปอกุศล ซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วย โทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอีก ภิกษุนั้นควรกด ฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้ เร่าร้อน เมื่อเธอกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิต ข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่ง ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วย โมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๓๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร

ผู้ชำนาญวิถีทางแห่งวิตก
[๒๒๑] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใด วิตก อันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วย โมหะบ้างย่อมเกิดขึ้น เมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่นซึ่งประกอบด้วยกุศลนอกจาก นิมิตนั้น เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบ ด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะ ที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาโทษแห่งวิตก เหล่านั้นอยู่ เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบ ด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะ ที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ เมื่อภิกษุนั้นไม่ระลึกถึง ไม่มนสิการ วิตกเหล่านั้น เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ เมื่อภิกษุนั้นมนสิการวิตักกสังขารสัณฐานแห่งวิตกเหล่านั้น เธอย่อมละวิตก อันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วย โมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็น บาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิ ในภายในโดยแท้ เมื่อภิกษุนั้นกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๓๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า ‘ผู้ชำนาญในวิถีทางแห่งวิตก เธอหวังวิตก ใดก็จักตรึกถึงวิตกนั้นได้ ไม่หวังวิตกใดก็จักไม่ตรึกถึงวิตกนั้นได้ ตัดตัณหาได้แล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
วิตักกสัณฐานสูตรที่ ๑๐ จบ
สีหนาทวรรคที่ ๒ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จูฬสีหนาทสูตร ๒. มหาสีหนาทสูตร ๓. มหาทุกขักขันธสูตร ๔. จูฬทุกขักขันธสูตร ๕. อนุมานสูตร ๖. เจโตขีลสูตร ๗. วนปัตถสูตร ๘. มธุปิณฑิกสูตร ๙. เทฺวธาวิตักกสูตร ๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๓๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๒๒๖-๒๓๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=12&siri=20              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=4099&Z=4207                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=256              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=256&items=7              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=10544              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=256&items=7              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=10544                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i256-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i256-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.020.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.020.soma.html https://suttacentral.net/mn20/en/sujato https://suttacentral.net/mn20/en/bodhi https://suttacentral.net/mn20/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :