บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
๖. มหาสัจจกสูตร สัจจกนิครนถ์ทูลถามปัญหา [๔๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี. ก็สมัย นั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งดีแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรมีพระพุทธประสงค์จะเสด็จเข้าไป เพื่อบิณฑบาตในเมืองเวสาลี เวลานั้น สัจจกนิครนถ์ ผู้เป็นนิคันถบุตร เมื่อเที่ยวเดินเพื่อยืด แข้งขา ได้เข้าไปที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน. ท่านพระอานนท์ได้เห็นสัจจกนิครนถ์กำลังเดินมาแต่ ไกล ครั้นแล้วจึงทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัจจกนิครนถ์นี้เป็นนักโต้ตอบ พูดยกตนว่าเป็นนักปราชญ์ ชนเป็นอันมากยอมยกว่าเป็นผู้มีความรู้ดี เขาปรารถนาจะติเตียน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค ทรงพระกรุณาประทับอยู่สักครู่หนึ่งเถิด. พระผู้มีพระภาคจึงประทับอยู่บนอาสนะที่เขาปูถวาย. ขณะนั้น สัจจกนิครนถ์เข้าไปถึงที่ พระผู้มีพระภาคประทับ ครั้นแล้วทูลปราศรัยกับพระองค์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. [๔๐๖] สัจจกนิครนถ์ ครั้นนั่งแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระโคดมผู้เจริญ มีสมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งหมั่นประกอบกายภาวนาอยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบจิตภาวนาไม่. สมณะและพราหมณ์พวกนั้น ย่อมประสบทุกขเวทนาอันเกิดในสรีรกาย. พระโคดมผู้เจริญ เรื่อง เคยมีมาแล้ว เมื่อบุคคลอันทุกขเวทนาอันเกิดในสรีรกายกระทบเข้าแล้ว ความขัดขาจักมีบ้าง หทัยจักแตกบ้าง เลือดอันร้อนจักพลุ่งออกจากปากบ้าง (พวกที่บำเพ็ญกายภาวนานั้น) จักถึงความ เป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง จิตอันหันไปตามกายของผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจกาย. นั่นเป็นเพราะ อะไร? เป็นเพราะไม่อบรมจิต. พระโคดมผู้เจริญ มีสมณะและพราหมณ์พวกหนึ่ง หมั่นประกอบ จิตตภาวนาอยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบกายภาวนาไม่. สมณะและพราหมณ์พวกนั้น ย่อมประสพ ทุกขเวทนาอันเกิดขึ้นในจิต. พระโคดมผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อบุคคลอันทุกขเวทนาอัน เกิดขึ้นในจิตกระทบเข้าแล้ว ความขัดขาจักมีบ้าง หทัยจะแตกบ้าง เลือดอันร้อนจัดพลุ่งออก จากปาก (พวกที่บำเพ็ญจิตตภาวนานั้น) จักถึงความเป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง กายอันหันไปตาม จิตของผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจจิต. นั่นเป็นเพราะอะไร? เป็นเพราะไม่อบรมกาย. พระโคดม ผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีความดำริว่า หมู่สาวกของพระโคดม ย่อมหมั่นประกอบจิตตภาวนาอยู่โดยแท้ แต่หาหมั่นประกอบกายภาวนาอยู่ไม่. [๔๐๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ กายภาวนาท่านฟังมาแล้ว อย่างไร? สัจจกนิครนถ์ทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ท่านนันทะผู้วัจฉโคตร ท่านกิสะผู้สังกิจจโคตร ท่านมักขลิผู้โคสาล ก็ท่านเหล่านี้เป็นผู้เปลือยกาย ปล่อยมารยาทดีเสีย เช็ดอุจจาระที่ถ่ายด้วยมือ ไม่ไปรับภิกษาตามที่เขาเชิญให้รับ ไม่หยุดตามที่เขาเชิญให้หยุด ไม่ยินดีภิกษาที่เขานำมาให้ ไม่ ยินดีภิกษาที่เขาเจาะจงให้ ไม่ยินดีการนิมนต์ ไม่รับภิกษาที่เขาให้แต่ปากหม้อ ไม่รับภิกษาที่เขาให้ แต่ปากกระเช้า ไม่รับภิกษาในที่มีธรณีและมีท่อนไม้ หรือมีสากอยู่ในระหว่าง ไม่รับภิกษาของคน ๒ คน ที่กำลังกินอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ของหญิงที่กำลังให้ลูกดื่มนม ของหญิงที่มีชู้ ไม่รับภิกษาที่เขานัดกันทำ ในที่ที่เขาเลี้ยงสุนัขไว้ และในที่มีหมู่แมลงวันตอม ไม่รับปลา ไม่รับ เนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำที่เขาหมักแช่ด้วยสัมภาระ รับภิกษาที่เรือนเดียวบ้าง รับเฉพาะ คำเดียวบ้าง รับที่เรือนสองหลังบ้าง รับเฉพาะสองคำบ้าง ฯลฯ รับที่เรือนเจ็ดหลังบ้าน รับเฉพาะ เจ็ดคำบ้าง เลี้ยงตนด้วยภิกษาอย่างเดียวบ้าง สองอย่างบ้าง ฯลฯ เจ็ดอย่างบ้าง กลืนอาหารที่เก็บ ไว้วันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง ฯลฯ เจ็ดวันบ้าง หมั่นประกอบเนืองๆ ในอันกินภัตตามวาระ แม้มี วาระครึ่งเดือนเห็นปานนี้ ย่อมอยู่ดังนี้. พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ บุคคลเหล่านั้นเลี้ยงตนด้วยภัตเท่านั้นอย่างเดียวหรือ? ส. ไม่เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ บางทีท่านเหล่านั้น เคี้ยวของควรเคี้ยวอย่างดีๆ กินโภชนะอย่างดีๆ ลิ้มของลิ้มอย่างดีๆ ดื่มน้ำอย่างดีๆ ให้ร่างกายนี้มีกำลัง เจริญ อ้วนพีขึ้นๆ พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ พวกเหล่านั้นละทุกกรกิจอย่างก่อนแล้ว บำรุงกายนี้ภายหลัง เมื่อเป็นอย่างนั้น กายนี้ก็มีความเจริญและความเสื่อมไป.ว่าด้วยกายภาวนาและจิตตภาวนา [๔๐๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ จิตตภาวนาท่านได้ฟังมาแล้ว อย่างไร? สัจจกนิครนถ์ อันพระผู้มีพระภาคตรัสถามในจิตตภาวนา ไม่อาจทูลบอกได้. ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะสัจจกนิครนถ์ดังนี้ว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ กายภาวนา ก่อนนั้นท่านเจริญแล้ว แม้กายภาวนานั้น ไม่ประกอบด้วยธรรมในอริยวินัย ท่านยังไม่รู้จักแม้ กายภาวนา จักรู้จักจิตตภาวนาแต่ไหน ดูกรอัคคิเวสสนะ บุคคลที่มีกายมิได้อบรมแล้ว มีจิตมิได้ อบรมแล้ว และที่มีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว เป็นได้ด้วยเหตุอย่างไร ท่านจงฟังเหตุนั้นเถิด จงทำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว. สัจจกนิครนถ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว. [๔๐๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ ก็บุคคลที่มีกายมิได้อบรม มีจิตมิได้ อบรม เป็นอย่างไร? ดูกรอัคคิเวสสนะ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้มิได้สดับ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น เขาถูก สุขเวทนากระทบเข้าแล้ว มีความยินดีนักในสุขเวทนา และถึงความเป็นผู้ยินดีนักในสุขเวทนา สุขเวทนาของเขานั้นย่อมดับไปเพราะสุขเวทนาดับ ก็มีทุกขเวทนาเกิดขึ้น เขาถูกทุกขเวทนากระทบ เข้าแล้ว ก็เศร้าโศก ลำบากใจ รำพัน คร่ำครวญ ตบอก ถึงความหลงไหล แม้สุขเวทนานั้น เกิดขึ้นแก่เขาแล้ว ก็ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมกาย แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นแล้ว ก็ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมจิต ดูกรอัคคิเวสสนะ แม้สุขเวทนาเกิดขึ้นแก่ปุถุชนคน ใดคนหนึ่ง ก็ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมกาย แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็ครอบงำจิต ตั้งอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมจิตทั้งสองอย่างดังนี้ ดูกรอัคคิเวสสนะ บุคคลที่มีกายมิได้อบรม มีจิตมิได้อบรม เป็นอย่างนี้แหละ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ก็บุคคลที่มีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้วเป็นอย่างไร? ดูกรอัคคิ- *เวสสนะ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น เขาถูกสุขเวทนากระทบเข้า แล้ว ไม่มีความยินดีนักในสุขเวทนา และไม่ถึงความเป็นผู้ยินดีนักในสุขเวทนา สุขเวทนาของ เขานั้นย่อมดับไป เพราะสุขเวทนาดับ ก็มีทุกขเวทนาเกิดขึ้น เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่รำพัน คร่ำครวญ ตบอก ไม่ถึงความหลงไหล แม้สุขเวทนานั้น เกิดขึ้นแก่อริยสาวกแล้ว ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมกาย แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมจิต ดูกรอัคคิเวสสนะ แม้สุขเวทนาเกิดขึ้นแก่อริย- *สาวกผู้ใดผู้หนึ่ง ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมกาย แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ไม่ ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมจิตทั้งสองอย่างนี้ ดังนี้ ดูกรอัคคิเวสสนะ บุคคลที่มีกาย อบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้วเป็นอย่างนี้แหละ. สัจจกนิครนถ์ทูลว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าพเจ้าเลื่อมใสต่อพระโคดม เพราะพระโคดม มีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว.ทรงชี้แจงเรื่องเวทนา [๔๑๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ วาจานี้ท่านนำมาพูดเทียบกับเราโดยแท้ แต่ว่าเราจะบอกแก่ท่าน ดูกรอัคคิเวสสนะ เมื่อใดแลเราปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อนั้นจิตของเรานั้นถูกสุขเวทนาที่เกิดขึ้นครอบงำตั้งอยู่ หรือถูกทุกขเวทนา ที่เกิดขึ้นครอบงำตั้งอยู่ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้เลย. ส. สุขเวทนาอันเกิดขึ้นที่พอจะครอบงำจิตตั้งอยู่ หรือทุกขเวทนาอันเกิดขึ้นที่พอจะ ครอบงำจิตตั้งอยู่ เวทนาเช่นนั้นย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระโคดมผู้เจริญโดยแท้. [๔๑๑] พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ทำไมเวทนาทั้ง ๒ นั้น จะไม่พึงมีแก่เรา ดูกรอัคคิเวสสนะ เราจะเล่าให้ฟัง เมื่อเรายังเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ก่อนตรัสรู้ ได้มีความดำริดังนี้ว่า ฆราวาส เป็นที่คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง การที่เราอยู่ครองเรือน จะประพฤติ พรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์ดุจสังข์ที่เขาขัดแล้ว ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เรากำลังเป็นหนุ่ม มีเกศาดำสนิทยังหนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัย เมื่อพระมารดาและพระบิดาไม่ปรารถนาจะให้บวช มีพระพักตร์อาบด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสงอยู่ ได้ปลงผมและหนวดแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต. เมื่อบวชแล้ว ก็เสาะหาว่า อะไรเป็นกุศล เมื่อแสวงหาทางอันสงบ อย่างประเสริฐเยี่ยม จึงเข้าไปถึงสำนักท่านอาฬารดาบสกาลามโคตร แล้วกล่าวกะอาฬารดาบส ดังนี้ว่า ท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้. เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ แล้ว ท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร จึงกล่าวกะเราว่า เชิญท่านอยู่เถิด ธรรมที่วิญญูชนพึง บรรลุอยู่ เพราะทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งเอง ตามแบบอาจารย์ของตน ต่อกาลไม่นานนี้ ก็เช่นเดียว กัน. เราก็ศึกษาธรรมนั้นเร็วไว มิได้ช้า. ชั่วขณะหุบปากเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวได้ซึ่งญาณ วาทและเถรวาท และทั้งเราทั้งผู้อื่นก็ทราบชัดว่า เรารู้เราเห็น. เราจึงดำริต่อไปว่า ท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร ไม่บอกธรรมนี้ว่า เราทำให้แจ้ง ด้วยความรู้ยิ่งเองแล้วเข้าถึงอยู่ ด้วยเหตุสักว่า ความเชื่ออย่างเดียว โดยที่แท้ ทานอาฬารดาบส กาลามโคตร ก็รู้เห็นธรรมนี้อยู่. ครั้งนั้น เราเข้าไปหาท่านอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ท่านกาลามะ ท่านทำให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ ด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้วจึงบอกด้วยเหตุเท่าไร? เมื่อเราถามอย่างนี้แล้ว ท่านอาฬารดาบสก็ บอกสมาบัติชั้นอากิญจัญญาตนะ. เราจึงดำริว่า มิใช่มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา แต่ท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร เท่านั้น แม้เราก็มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา เหมือนกัน ถ้ากระไร เราพึงพากเพียรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร บอกว่า เราทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งเอง แล้วเข้าถึงอยู่. เราก็ทำให้แจ้งซึ่งธรรมนั้นด้วยความรู้ยิ่งเอง เข้าถึงอยู่เร็วไว มิได้เนิ่นช้า. ครั้งนั้นเราเข้าไปหาท่านอาฬารดาบสกาลามโคตรแล้ว ถามว่า ท่าน กาลามะ ท่านทำให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้วจึงบอก ด้วยเหตุเท่านี้หรือ? ท่านอาฬารดาบสก็บอกว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทำให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้วจึงบอก ด้วยเหตุเท่านี้แหละ. เราจึงบอกว่า ดูกรท่านผู้มีอายุแม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งซึ่ง ธรรมนี้ด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้วอยู่ ด้วยเหตุเท่านี้. ท่านอาฬารดาบสกล่าวว่า ดูกรผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกเรา พวกเราได้ดีแล้ว ที่ได้เห็น สพรหมจารีเช่นท่าน เราทำให้แจ้งซึ่งธรรมใด ด้วยความรู้ยิ่งเองบรรลุแล้วจึงบอกได้ ท่านก็ทำให้ แจ้งซึ่งธรรมนั้นด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้วอยู่ท่านทำให้แจ้งซึ่งธรรมใดด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุ แล้วอยู่ เราก็ทำให้แจ้งซึ่งธรรมนั้นด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้วจึงบอก ด้วยประการดังนี้ เรารู้ ธรรมใด ท่านก็รู้ธรรมนั้น ท่านรู้ธรรมใด เราก็รู้ธรรมนั้น เป็นอันว่าเราเช่นใด ท่านก็รู้เช่นนั้น ท่านเช่นใด เราก็เช่นนั้น ด้วยประการดังนี้ มาเถิด บัดนี้ เราทั้งสองจะอยู่ร่วมกันปกครอง คณะนี้. ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร ทั้งที่เป็นอาจารย์เรา ก็ยกย่องเราผู้ เป็นศิษย์เสมอด้วยตนด้วย บูชาเราด้วยการบูชาอย่างดีด้วย. เราจึงมีความแน่ใจว่า ธรรมนี้ไม่เป็น ไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน เพียงแต่เป็นไปเพื่อความเข้าถึงอากิญจัญญายตนภพเท่านั้น. เราไม่พอใจธรรมนั้นระอาธรรมนั้น จึงหลีกไป. [๔๑๒] ดูกรอัคคิเวสสนะ เราเสาะหาว่า อะไรเป็นกุศล เมื่อแสวงหาทางอันสงบ อย่างประเสริฐเยี่ยม จึงเข้าไปถึงสำนักท่านอุททกดาบส รามบุตรแล้วกล่าวว่า ท่านรามะ ข้าพเจ้า ปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้. เมื่อกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านอุททกดาบส รามบุตร จึงกล่าวกะเราว่า เชิญท่านอยู่เถิด ธรรมที่วิญญูชนพึงบรรลุเพราะทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งเอง ตาม แบบอาจารย์ของตนอยู่ต่อกาลไม่นาน นี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน. เราก็ศึกษาธรรมนั้นเร็วไวมิได้ช้า. ชั่วขณะหุบปากเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวได้ซึ่งญาณวาท และเถรวาท และทั้งเรา ทั้งผู้อื่นก็ ทราบชัดว่า เรารู้เราเห็น. เราจึงดำริต่อไปว่า ท่านรามะไม่บอกว่า ธรรมนี้เราทำให้แจ้งด้วยความรู้ ยิ่งเอง แล้วเข้าถึงอยู่ ด้วยเหตุสักว่าความเชื่ออย่างเดียว โดยที่แท้ ท่านรามะก็รู้เห็นธรรมนี้อยู่. ครั้งนั้น เราเข้าไปหาท่านอุททกดาบส รามบุตร แล้วถามว่า ท่านรามะ ท่านทำให้แจ้ง ซึ่งธรรมนี้ด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้วจึงบอก ด้วยเหตุเท่าไร? เมื่อเราถามอย่างนี้แล้ว ท่าน อุททกดาบส รามบุตร ก็บอกสมาบัติชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ. เราจึงดำริว่า มิใช่มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา แต่ท่านรามะเท่านั้น แม้เราก็มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และ ปัญญาเหมือนกัน ถ้ากระไร เราจึงพากเพียร เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ท่านรามะบอกว่า เราทำให้แจ้ง ด้วยความรู้ยิ่งแล้วเข้าถึงอยู่. เราก็ทำให้แจ้งซึ่งธรรมนั้นด้วยความรู้ยิ่งเองเข้าถึงอยู่เร็วไวมิได้ เนิ่นช้า. ครั้งนั้น เราเข้าไปหาอุททกดาบส รามบุตร แล้วถามว่า ท่านรามะ ท่านทำให้แจ้งซึ่ง ธรรมนั้นด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้วจึงบอก ด้วยเหตุเท่าไร? ท่านอุททกดาบสก็บอกว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ เราทำให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้วจึงบอก ด้วยเหตุเท่านี้แหละ. เราก็บอกว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งซึ่งธรรมนี้ด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้ว ด้วย เหตุเท่านี้. ท่านอุททกดาบสกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกเรา พวกเราได้ดีแล้ว ที่ได้ เห็นสพรหมจารีเช่นท่าน เราทำให้แจ้งซึ่งธรรมใดด้วยความรู้ยิ่งเองบรรลุแล้วจึงบอก ท่านก็ทำให้ แจ้งซึ่งธรรมนั้น ด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้วอยู่ ท่านทำให้แจ้งซึ่งธรรมใด ด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้วอยู่ เราก็ทำให้แจ้งซึ่งธรรมนั้นด้วยความรู้ยิ่งเอง บรรลุแล้วจึงบอก ด้วยประการดังนี้ เรารู้ธรรมใด ท่านก็รู้ธรรมนั้น ท่านรู้ธรรมใด เราก็รู้ธรรมนั้น เป็นอันว่า เราเช่นใด ท่านก็เช่นนั้น ท่านเช่นใด เราก็เช่นนั้น ด้วยประการดังนี้ มาเถิด บัดนี้ เราทั้ง ๒ จะอยู่ร่วมกันปกครองคณะนี้ ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านอุททกดาบส รามบุตรทั้งที่เป็นอาจารย์เรา ก็ยกย่องเราผู้เป็นศิษย์เสมอ ด้วยตนด้วย บูชาเราด้วยการบูชาอย่างดีด้วย. เราจึงมีความแน่ใจว่า ธรรม (สมาบัติ ๘) นี้ ไม่ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน เพียงแต่เป็นไปเพื่อความเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ เท่านั้น. เราไม่พอใจธรรมนั้น ระอาธรรมนั้น จึงได้หลีกไป. [๔๑๓] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรานั้นแล เสาะหาว่าอะไรเป็นกุศล เมื่อแสวงหาทางอันสงบ อย่างประเสริฐเยี่ยม จึงเที่ยวจาริกไปในมคธชนบท โดยลำดับ ก็ลุถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ แนวป่าเขียวสดเป็นที่เบิกบานใจ แม่น้ำไหล มีน้ำใสสะอาด มีท่าน้ำ สะอาดดี น่ารื่นรมย์ โคจรคามก็ตั้งอยู่โดยรอบ จึงดำริว่า ภูมิภาคน่ารื่นรมย์ แนวป่าเขียวสด เป็นที่เบิกบานใจ แม่น้ำไหล มีน้ำใสสะอาด มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ โคจรคามก็ตั้งอยู่โดย รอบ สถานที่เช่นนี้ เป็นที่สมควรบำเพ็ญเพียรแห่งกุลบุตรผู้ต้องการจะบำเพ็ญเพียร จึงนั่งลง ณ ที่นั้น ด้วยคิดว่า ที่นี้เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร.อุปมา ๓ ข้อ [๔๑๔] ดูกรอัคคิเวสสนะ ครั้งนั้น อุปมา ๓ ข้อ อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนักเราไม่เคยได้ยิน มาในกาลก่อน มาปรากฏแจ่มแจ้งแก่เรา. อุปมาข้อ ๑ ว่า เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่เขาวางไว้ในน้ำ. บุรุษถือเอาไม้สีไฟมาสีเข้า ด้วยหวังว่า เราจักให้ไฟเกิดปรากฏขึ้น. ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษ นั้นเอาไม้สีไฟสีลงที่ไม้สดมียางที่เขาวางไว้ในน้ำ พึงให้ไฟเกิดปรากฏขึ้นได้บ้างหรือหนอ? สัจจกนิครนถ์ทูลว่า ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ นั่นเป็นเพราะอะไร เป็น เพราะไม้สดนั้นมียางทั้งเขาวางไว้ในน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า. พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ยังไม่หลีกออกจากกามด้วยกาย ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความกระหาย และ ความกระวนกระวายเพราะกาม ในกามทั้งหลายยังมิได้ละ และมิได้ระงับคืนเสียด้วยดีในภายใน. สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้า หยาบ เผ็ดร้อน อันเกิดขึ้นเพราะ ความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อความ ตรัสรู้ดีอันประเสริฐ. นี้แลอุปมาข้อที่ ๑ อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เราไม่เคยฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏ แจ่มแจ้งแล้วแก่เรา. [๔๑๕] อุปมาข้อที่ ๒ ว่า เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่เขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำ. บุรุษ ถือเอาไม้สีไฟมาสีเข้าด้วยหวังว่า เราจักให้ไฟเกิดปรากฏขึ้น. ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญ ความนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเอาไม้สีไฟสีลงที่ไม้สดมียางที่เขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำ พึงให้ไฟเกิด ปรากฏขึ้นได้บ้างหรือหนอ? สัจจกนิครนถ์ทูลว่า ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ นั่นเป็นเพราะอะไร เป็น เพราะไม้สดอันมียาง ถึงเขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า. พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่ง แม้หลีกออกจากกามด้วยกายแล้ว แต่ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความกระหาย และความกระวนกระวายเพราะกาม ในกามทั้งหลายยังมิได้ละ และมิได้ระงับคืนเสียด้วยดีภายใน. สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้า หยาบ เผ็ดร้อน อันเกิดขึ้นเพราะ ความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อความ ตรัสรู้ดีอันประเสริฐ. นี้แลอุปมาข้อที่ ๒ อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ที่เราไม่เคยฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏแจ่มแจ้งแล้วแก่เรา. [๔๑๖] อุปมาข้อที่ ๓ อื่นอีกว่า เปรียบเหมือนไม้อันแห้งสนิทที่เขาวางไว้บนบกห่างจาก น้ำ. บุรุษถือเอาไม้สีไฟมาสีเข้าด้วยหวังว่า เราจักให้ไฟเกิดปรากฏขึ้น. ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่าน จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเอาไม้สีไฟสีลงที่ไม้อันแห้งสนิทที่เขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำ พึงให้ไฟเกิดปรากฏขึ้นได้บ้างหรือหนอ? สัจจกนิครนถ์ทูลว่า เป็นอย่างนั้น พระโคดมผู้เจริญ นั่นเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะไม้ แห้งสนิท ทั้งเขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่ง หลีก ออกจากกามด้วยกายแล้ว ทั้งละและระงับความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความระหาย และความกระวนกระวายเพราะกาม ในกามทั้งหลายเสียด้วยดีในภายในแล้ว. สมณะหรือพราหมณ์ ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้า หยาบ เผ็ดร้อน อันเกิดขึ้นเพราะความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี ก็เป็นผู้ควรเพื่อรู้ เพื่อเห็น และเพื่อความตรัสรู้ดีอันประ- *เสริฐ. นี้แลอุปมาข้อที่ ๓ อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เราไม่เคยฟังมาในกาลก่อนมาปรากฏแจ่มแจ้งแล้ว แก่เรา. อุปมาทั้ง ๓ ข้ออันไม่น่าอัศจรรย์ เราไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อนเหล่านี้แหละ มาปรากฏ แจ่มแจ้งแล้วแก่เรา. [๔๑๗] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรานั้นมีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงกดฟันด้วยฟัน เอาลิ้น ดันเพดานไว้ให้แน่น เอาจิตข่มคั้นจิตให้เร่าร้อน. เรานั้นก็กดฟันด้วยฟัน เอาลิ้นดันเพดานไว้ แน่น เอาจิตข่มคั้นจิตให้เร่าร้อน เมื่อเราทำดังนั้นเหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง. เปรียบ เหมือนบุรุษมีกำลัง จับบุรุษที่มีกำลังน้อยกว่า ที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วบีบคั้นรัดไว้ให้แน่น ฉะนั้น. ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น มิได้ฟั่นเฟือน แต่มีกายกระวน กระวายไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่. แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้.ความต่างกันในการบำเพ็ญทุกกรกิริยา [๔๑๘] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌานอันไม่มีลมปราณ เถิด เราก็กลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากและทางจมูก. เมื่อเรากลั้นลมหายใจออก และลมหายใจเข้าทางปากและทางจมูก ลมก็ออกทางช่องหูทั้ง ๒ ข้าง มีเสียงดังอู้ๆ เหมือนเสียง สูบช่างทองที่เขาสูบอยู่ ฉะนั้น. ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่มีกายกระวนกระวาย ไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่ แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้. [๔๑๙] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌานอันไม่มีลมปราณ เถิด. เรากลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูก. และทางช่องหู. เมื่อเรากลั้นลม หายใจออก และลมหายใจเข้าทางปากทางจมูก และทางช่องหู ลมเป็นอันมากก็เสียดแทงศีรษะ เหมือนบุรุษที่มีกำลัง เอามีดโกนที่คมเชือดศีรษะ ฉะนั้น. ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อนมีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่มีกายกระวนกระวาย ไม่สงบระงับ เพราะความเพียร ที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่. แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้. [๔๒๐] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌาน อันไม่มีลม ปราณเถิด. เราก็กลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู. เมื่อกลั้น ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู ก็มีทุกขเวทนาในศีรษะเป็นอันมาก เหมือนบุรุษที่มีกำลังเอาเชือกหนังอันมั่นรัดเข้าที่ศีรษะ ฉะนั้น. ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความ เพียรไม่ย่อหย่อนมีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่มีกายกระวนกระวาย ไม่สงบระงับ เพราะความเพียร ที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่. แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้. [๔๒๑] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌานอันไม่มีลมปราณ เถิด. เราก็กลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูก และทางช่องหู. เมื่อกลั้นลมหายใจ ออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู ก็มีลมเป็นอันมากบาดท้อง เหมือนนายโค ฆาต หรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ฉลาด เอามีดสำหรับแล่โคที่คมเถือแล่ท้อง ฉะนั้น. ดูกรอัคคิ- *เวสสนะ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่มีกายกระวนกระวาย ไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่. แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้. [๔๒๒] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌาน อันไม่มีลม ปราณเถิด. เราก็กลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู เมื่อเรากลั้น ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู ก็มีความเร่าร้อนในร่างกายเป็น อันมาก เหมือนบุรุษที่มีกำลัง ๒ คนช่วยกันจับบุรุษคนหนึ่งที่มีกำลังน้อยกว่า ที่แขนทั้ง ๒ ข้าง แล้ว ให้เร่าร้อน อบอ้าวอยู่ ใกล้หลุมถ่านเพลิง ฉะนั้น. ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน แต่มีกายกระวนกระวาย ไม่สงบระงับ เพราะความเพียร ที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่. แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้. ดูกรอัคคิเวสสนะ เทวดาทั้งหลายเห็นเราเข้าแล้วพากันกล่าวว่า พระสมณโคดมทำกาละ แล้ว. บางพวกกล่าวว่า พระสมณโคดมยังมิได้ทำกาละ แต่ก็จะทำกาละ บางพวกกล่าวว่า พระ สมณโคดมไม่ทำกาละ ทั้งจะไม่ทำกาละ พระสมณโคดมจะเป็นพระอรหันต์ การอยู่เห็นปานนี้ นั้น เป็นวิหารหารธรรมของท่านผู้เป็นพระอรหันต์. [๔๒๓] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงปฏิบัติอดอาหารเสียโดย ประการทั้งปวงเถิด. ขณะนั้น พวกเทวดาเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่าข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านอย่า ปฏิบัติอดอาหารโดยประการทั้งปวงเลย ถ้าท่านจักปฏิบัติอดอาหารโดยประการทั้งปวง พวกข้าพเจ้า จะแทรกโอชาหารอันเป็นทิพย์ตามขุมขนแห่งท่าน ท่านจะได้ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชาหารนั้น. เรามีความดำริว่า เราปฏิญญาว่าจะตัดอาหารโดยประการทั้งปวง แต่เทวดาเหล่านี้จะแทรกโอชาหาร อันเป็นทิพย์ตามขุมขนแห่งเรา เราจะยังมีอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชาหารนั้น การปฏิญญาไว้นั้นก็ เป็นมุสาแก่เราเอง. เราจึงกล่าวห้ามเทวดาเหล่านั้นว่า ข้อนั้นไม่ควร. [๔๒๔] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงกินอาหารให้น้อยลงๆ เพียงซองมือหนึ่งๆ บ้าง เท่าเยื่อในเม็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อในเม็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเม็ดถั่วดำ บ้าง เท่าเยื่อในเม็ดบัวบ้าง. เราก็กินอาหารให้น้อยลงๆ ดังนั้นจนมีร่างกายซูบผอมยิ่งนัก เพราะเป็น ผู้มีอาหารน้อยนั้น เหลือแต่อวัยวะใหญ่น้อย เหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมาก หรือเถาวัลย์ที่มีข้อดำ เนื้อตะโพกก็ลีบเหมือนกีบอูฐ กระดูกสันหลังก็ผุดเป็นหนาม เหมือนเถาวัลย์ [หนามรอบข้อ] ซี่โครงทั้ง ๒ ข้าง ขึ้นสะพรั่ง เหมือนกลอนศาลาเก่าที่สะพรั่งอยู่ ดวงตาทั้ง ๒ ก็ลึกเข้าไปในเบ้า ตาเหมือนดวงดาวในบ่อน้ำอันลึก ปรากฏอยู่ หนังศีรษะบนศีรษะก็เหี่ยวหดหู่ เหมือนลูกน้ำเต้า ที่เขาตัดมายังดิบ ต้องลมและแดดเข้าก็เหี่ยวไป. เรานึกว่าจะลูบพื้นท้องก็จับถึงกระดูกสันหลัง เมื่อนึกว่า จะลูบกระดูกสันหลัง ก็จับถึงพื้นท้อง เพราะพื้นท้องของเราติดแนบถึงกระดูกสันหลัง เมื่อนึกว่า จะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ก็ซวนแซล้มลง ณ ที่นั้น. เมื่อจะให้กายสบายบ้าง เอา ฝ่ามือลูบตัวเข้า ขนทั้งหลายที่มีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกายเพราะเป็นผู้มีอาหารน้อย. มนุษย์ทั้งหลาย เห็นเราเข้าแล้วก็กล่าวว่า พระสมณโคดมดำไป บางพวกก็พูดว่า พระสมณโคดมไม่ดำ เป็นแต่ คล้ำไป บางพวกก็พูดว่า ไม่ดำ ไม่คล้ำ เป็นแต่พร้อยไป. เรามีผิวพรรณบริสุทธิ์เปล่งปลั่ง แต่เสียผิวไป ก็เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยเท่านั้น. [๔๒๕] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอดีต ในอนาคต หรือในปัจจุบันนี้ ที่เสวยทุกขเวทนากล้า หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะ ความเพียร ทุกขเวทนานั้น อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ขึ้นไป. แต่เราก็ยังมิได้บรรลุญาณ ทัสสนะอันวิเศษที่พอแก่พระอริยะซึ่งยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้. ชะรอย ทางแห่งความตรัสรู้พึงเป็นทางอื่นกระมัง. เราจึงมีความดำริว่า เราจำได้อยู่ เมื่อคราวงานของท้าว สักกาธิบดีซึ่งเป็นพระบิดา เรานั่งอยู่ใต้ร่มต้นหว้าอันเย็น ได้สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจาก อกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ทางนั้น พึงเป็นทางแห่งความตรัสรู้กระมัง. เรามีวิญญาณตามระลึกด้วยสติว่า ทางนั้นเป็นทางแห่งความ ตรัสรู้. เราจึงมีความดำริว่า เรากลัวความสุขที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายหรือ แล้วเรา ก็ดำริต่อไปว่า เราไม่กลัวสุขเช่นนั้นเลย. [๔๒๖] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริต่อไปว่า ความสุขนั้น เราผู้มีกายถึงความซูบ ผอมมาก ไม่ทำได้ง่ายเพื่อจะบรรลุ ถ้ากระไร เราพึงกินอาหารหยาบ คือข้าวสุกและกุมมาสเถิด. เราก็กินอาหารหยาบคือข้าวสุกและกุมมาส. ครั้งนั้น ภิกษุทั้ง ๕ ที่เฝ้าบำรุงเราด้วยหวังว่า พระสมณะโคดมบรรลุธรรมใด จักบอกธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย. เมื่อใด เรากินอาหารหยาบ คือข้าวสุกและ กุมมาส เมื่อนั้นภิกษุทั้ง ๕ นั้นก็ระอาหลีกไปด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมมักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว. [๔๒๗] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรากินอาหารหยาบให้กายมีกำลังแล้ว สงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่. แม้สุขเวทนาที่ เกิดขึ้นเห็นปานนี้ ก็มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้. เราบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิด แต่สมาธิอยู่. เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุ ตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข. เราบรรลุ จตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส และโทมนัสในก่อน เสียได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ ก็มิได้ครอบงำจิต เราตั้งอยู่ได้. เราเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควร แก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ก็โน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ. เราย่อม ระลึกชาติที่เคยอยู่อาศัยในก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ ระลึก ชาติที่เคยอยู่อาศัยได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ ทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้. ดูกรอัคคิเวสสนะ ในปฐมยามแห่งราตรี เราได้บรรลุวิชชาที่ ๑ อันนี้ เมื่อเราไม่ประมาท มีความเพียร ส่งจิตไปอยู่ อวิชชาเรากำจัดเสียแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดเรากำจัดเสียแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว. แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นแล้วเห็นปานนี้ ก็มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้.ตรัสการบรรลุวิชชาที่ ๒ [๔๒๘] เราเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ก็โน้มน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ. เราเห็นหมู่สัตว์ ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ ดูกรอัคคิเวสสนะ ในมัชฌิมยามแห่งราตรี เราได้บรรลุวิชชาที่ ๒ อันนี้ เมื่อเราไม่ประมาท มีความเพียร ส่งจิตไป อยู่ อวิชชาเรากำจัดเสียแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดเรากำจัดเสียแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว. แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นแล้วเห็นปานนี้ ก็มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้. [๔๒๙] เราเมื่อมีจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ก็น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ. ย่อมรู้ชัดตามเป็น จริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสว- *สมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเรารู้เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแล้ว แม้จาก กามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่า พ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำๆ เสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ดูกรอัคคิเวสสนะ ในปัจฉิมยามแห่งราตรี เราได้บรรลุวิชชาที่ ๓ อันนี้ เมื่อเราไม่ประมาท มีความ เพียร ส่งจิตไปอยู่ อวิชชาเรากำจัดเสียแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดเรากำจัดเสียแล้ว แสง สว่างเกิดขึ้นแล้ว. แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นแล้วเห็นปานนี้ ก็มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้. [๔๓๐] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรารู้เฉพาะอยู่ว่า เป็นผู้แสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย. ถึงแม้บุคคลคนหนึ่งๆ สำคัญเราอย่างนี้บ้างว่า พระสมณโคดมแสดงธรรมปรารภเราเท่านั้น. ท่าน อย่าพึงเห็นอย่างนั้น พระตถาคตย่อมแสดงธรรมแก่บุคคลเหล่านั้นโดยชอบ เพื่อประโยชน์ให้รู้ แจ้งอย่างเดียว. เราประคองจิต สงบตั้งมั่น ทำให้เป็นสมาธิ ณ ภายใน ในสมาธินิมิตเบื้องต้น จนจบคาถานั้นทีเดียว เราอยู่ด้วยผลสมาธิเป็นสุญญะ ตลอดนิตยกาล. ส. ข้อนี้ ควรเชื่อต่อพระโคดมผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แต่พระโคดม ย่อมรู้เฉพาะว่า พระองค์เป็นผู้หลับในกลางวันบ้างหรือ? พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ เรารู้เฉพาะอยู่ว่า ในเดือนท้ายฤดูร้อน เรากลับจากบิณฑบาตใน กาลภายหลังภัต ปูสังฆาฏิให้เป็น ๔ ชั้น แล้วเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ความหลับโดยข้าง เบื้องขวา. ส. พระโคดมผู้เจริญ สมณะและพราหมณ์เหล่าหนึ่ง ย่อมกล่าวข้อนั้นในความอยู่ด้วย ความหลง. พ. บุคคลเป็นผู้หลงหรือเป็นผู้ไม่หลง ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น หามิได้ ก็บุคคลเป็นผู้หลง หรือเป็นผู้ไม่หลง ด้วยเหตุใด ท่านจงฟังเหตุนั้น จงทำในใจให้ดีเราจักกล่าว บัดนี้. สัจจกนิครนถ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว.ตรัสความเป็นผู้หลงและไม่หลง [๔๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ ก็อย่างไร บุคคลเป็นผู้หลง อาสวะ ทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ ให้เกิดความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชรามรณะต่อไป บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งยังละไม่ได้แล้ว เรากล่าวบุคคลผู้นั้นว่า เป็นผู้หลง บุคคลนั้นเป็นผู้หลง เพราะเหตุยังละอาสวะทั้งหลายไม่ได้ อาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชรามรณะต่อไป บุคคล ผู้ใดผู้หนึ่งละเสียแล้ว เรากล่าวบุคคลผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่หลง บุคคลนั้นนับว่า เป็นผู้ไม่หลง เพราะเหตุละเสียได้ซึ่งอาสวะทั้งหลาย. ดูกรอัคคิเวสสนะ อาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชรามรณะต่อไป ตถาคต ละเสียได้แล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังว่าต้นตาลยอดด้วน ทำไม่ให้เกิดสืบไป ไม่มีความเกิดต่อไปเป็นธรรมดา ดุจเดียวกันกับต้นตาลที่เขาตัดยอดเสียแล้ว ไม่อาจงอกงามได้ ต่อไป.สัจจกนิครนถ์สรรเสริญพระผู้มีพระภาค [๔๓๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระโคดมผู้เจริญ เรื่องที่ท่านกล่าวมานั้น น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี พระโคดมผู้เจริญ อันข้าพเจ้า มาสนทนากระทบกระทั่ง ทั้งไต่ถามด้วยถ้อยคำที่ปรุงแต่งมาอย่างนี้ก็มีผิวพรรณสดใส ทั้งมีสีหน้า เปล่งปลั่ง เพราะท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าจำได้ว่า ข้าพเจ้า เป็นผู้ปรารภโต้ตอบวาทะกะท่านปูรณะ กัสสป แม้ท่านปูรณะ กัสสปนั้น ปรารภโต้ตอบวาทะ กับข้าพเจ้า ก็เอาเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนเสีย และชักนำให้พูดนอกเรื่อง ทั้งทำความโกรธเคือง ขัดแค้นให้ปรากฏ พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าจำได้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ปรารภโต้ตอบวาทะกะท่าน มักขลิ โคศาล ... ท่านอชิตะ เกสกัมพล ... ท่านปกุธะกัจจายนะ ... ท่านสัญชัย เวลัฏฐบุตร ... ท่าน นิครนถ์ นาฏบุตร แม้ท่านนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น ปรารภโต้ตอบวาทะกับข้าพเจ้า ก็เอาเรื่องอื่นมา พูดกลบเกลื่อนเสียและชักนำให้พูดนอกเรื่อง ทั้งทำความโกรธเคืองขัดแค้นให้ปรากฏ ส่วนพระ โคดมผู้เจริญอันข้าพเจ้ามาสนทนากระทบกระทั่ง ทั้งไต่ถามด้วยถ้อยคำที่ปรุงแต่งมาอย่างนี้ ก็มีผิว พรรณสดใส ทั้งมีสีหน้าเปล่งปลั่ง เพราะท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโคดมผู้เจริญ มิฉะนั้น ข้าพเจ้าขอลาไปในบัดนี้ ข้าพเจ้ามีกิจมาก มีธุระที่ต้องทำมาก. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้เถิด. ครั้งนั้น สัจจกนิครนถ์ผู้นิคันถบุตร ชื่นชม อนุโมทนา พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป ดังนี้แล.จบ มหาสัจจกสูตร ที่ ๖ ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๗๕๕๒-๗๙๑๔ หน้าที่ ๓๑๐-๓๒๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=7552&Z=7914&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=12&siri=36 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=405 ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [405-432] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=12&item=405&items=28 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=4890 The Pali Tipitaka in Roman :- [405-432] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=12&item=405&items=28 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=4890 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i405-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i405-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.036.than.html https://suttacentral.net/mn36/en/sujato https://suttacentral.net/mn36/en/horner https://suttacentral.net/mn36/en/bodhi
บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]