ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
             [๓๑] 	ถ้าว่าปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ เพราะสละความสุข
                          พอประมาณไซร้ เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์ พึง
                          สละความสุขพอประมาณเสีย ผู้ใดปรารถนาความสุขเพื่อตน
                          ด้วยการเข้าไปตั้งความทุกข์ไว้ในผู้อื่น ผู้นั้นระคนแล้วด้วย
                          ความเกี่ยวข้องด้วยเวร ย่อมไม่พ้นไปจากเวร ก็กรรมที่
                          ควรทำภิกษุเหล่านี้ละทิ้งเสียแล้ว ส่วนภิกษุเหล่าใดย่อมทำ
                          กรรมที่ไม่ควรทำ อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่ภิกษุเหล่านั้น
                          ผู้มีมานะดังไม้อ้อยกขึ้นแล้ว ประมาทแล้ว ก็กายคตาสติ
                          อันภิกษุเหล่าใดปรารภด้วยดีเป็นนิตย์ ภิกษุเหล่านั้นผู้ทำ
                          ความเพียรเป็นไปติดต่อในกรรมที่ควรทำ ย่อมไม่ซ่องเสพ
                          กรรมที่ไม่ควรทำ อาสวะทั้งหลายของภิกษุเหล่านั้น ผู้มีสติ
                          สัมปชัญญะ ย่อมถึงความสิ้นไป พราหมณ์ฆ่ามารดาบิดา
                          เสียได้ ฆ่าพระราชาผู้เป็นกษัตริย์ทั้งสองเสียได้ และฆ่า
                          แว่นแคว้นพร้อมกับนายเสมียนเสียได้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีทุกข์
                          ไป พราหมณ์ฆ่ามารดาบิดาเสียได้ ฆ่าพระราชาผู้เป็นพราหมณ์
                          ทั้งสองเสียได้ และฆ่านิวรณ์มีวิจิกิจฉานิวรณ์ดุจเสือโคร่งเป็น
                          ที่ ๕ เสียได้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีทุกข์ไป สติของชนเหล่าใด
                          ไปแล้วในพระพุทธเจ้าเป็นนิตย์ทั้งกลางวันและกลางคืน ชน
                          เหล่านั้นชื่อว่าเป็นสาวกของพระโคดม ตื่นอยู่ ตื่นดีแล้วใน
                          กาลทุกเมื่อ สติของชนเหล่าใดไปแล้วในพระธรรมเป็นนิตย์
                          ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นสาวกของ
                          พระโคดม ตื่นอยู่ ตื่นดีแล้วในกาลทุกเมื่อ สติของชน
                          เหล่าใดไปแล้วในพระสงฆ์เป็นนิตย์ ทั้งกลางวันและกลางคืน
                          ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นสาวกของพระโคดม ตื่นอยู่ ตื่นดีแล้ว
                          ในกาลทุกเมื่อ สติของชนเหล่าใดไปแล้วในกายเป็นนิตย์
                          ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นสาวกของพระ
                          โคดม ตื่นอยู่ ตื่นดีแล้วในกาลทุกเมื่อ ใจของชนเหล่า
                          ใดยินดีแล้วในความไม่เบียดเบียน ทั้งกลางวันและกลางคืน
                          ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นสาวกของพระโคดม ตื่นอยู่ ตื่นดีแล้ว
                          ในกาลทุกเมื่อ ใจของชนเหล่าใดยินดีแล้วในภาวนา ทั้ง
                          กลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นสาวกของพระ
                          โคดม ตื่นอยู่ ตื่นดีแล้วในกาลทุกเมื่อ บวชได้ยาก ยินดี
                          ได้ยาก เรือนมีการอยู่ครองไม่ดี นำความทุกข์มาให้ การ
                          อยู่ร่วมกับบุคคลผู้ไม่เสมอกัน นำความทุกข์มาให้ ชนผู้
                          เดินทางไกลอันทุกข์ตกตามแล้ว เพราะเหตุนั้น บุคคล
                          ไม่พึงเดินทางไกลและไม่พึงเป็นผู้อันทุกข์ตกตามแล้ว กุลบุตร
                          ผู้มีศรัทธา ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล เพรียบพร้อมแล้วด้วยยศ
                          และโภคะ ไปถึงประเทศใดๆ เป็นผู้อันคนบูชาแล้วใน
                          ประเทศนั้นๆ แล สัตบุรุษย่อมปรากฏได้ในที่ไกล เหมือน
                          ภูเขาหิมวันต์ อสัตบุรุษแม้นั่งแล้วในที่นี้ก็ย่อมไม่ปรากฏ
                          เหมือนลูกศรที่บุคคลยิงไปแล้วในเวลากลางคืน ฉะนั้น ภิกษุ
                          พึงเสพการนั่งผู้เดียว การนอนผู้เดียว ไม่เกียจคร้าน เที่ยวไป
                          ผู้เดียว ฝึกหัดตนผู้เดียว พึงเป็นผู้ยินดีแล้วในที่สุดป่า ฯ
จบปกิณณวรรคที่ ๒๑
คาถาธรรมบท นิรยวรรคที่ ๒๒
[๓๒] บุคคลผู้กล่าวคำไม่จริงย่อมเข้าถึงนรก หรือแม้ผู้ใดทำบาป กรรมแล้ว กล่าวว่ามิได้ทำ ผู้นั้นย่อมเข้าถึงนรกเช่นเดียวกัน แม้คนทั้งสองนั้นเป็นมนุษย์ผู้มีกรรมเลวทรามละไปแล้ว ย่อม เป็นผู้เสมอกันในโลกหน้า คนเป็นอันมากผู้อันผ้ากาสาวะพัน คอแล้ว มีธรรมอันลามก ไม่สำรวม เป็นคนชั่วช้า ย่อม เข้าถึงนรกเพราะกรรมอันลามกทั้งหลาย ก้อนเหล็กแดง เปรียบด้วยเปลวไฟ อันบุคคลบริโภคแล้วประเสริฐกว่า บุคคลผู้ทุศีล ไม่สำรวม พึงบริโภคก้อนข้าวของชาว แว่นแคว้น จะประเสริฐอะไร นรชนผู้ประมาทแล้ว ทำชู้ ภริยาของผู้อื่น ย่อมถึงฐานะ ๔ อย่าง คือไม่ได้บุญ ๑ ไม่ได้นอนตามความใคร่ ๑ นินทาเป็นที่ ๓ นรกเป็นที่ ๔ การไม่ได้บุญและคติอันลามก ย่อมมีแก่นรชนนั้น ความยินดี ของบุรุษผู้กลัวกับหญิงผู้กลัว น้อยนัก และพระราชาทรงลง อาชญาอย่างหนัก เพราะฉะนั้น นรชนไม่ควรทำชู้ภริยาของ ผู้อื่น หญ้าคาบุคคลจับไม่ดีย่อมบาดมือ ฉันใด ความเป็น สมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมคร่าเข้าไปในนรก ฉันนั้น การงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่ย่อหย่อน วัตรที่เศร้าหมอง และ พรหมจรรย์ที่ระลึกด้วยความรังเกียจ ย่อมไม่มีผลมาก ถ้าจะ ทำพึงทำกิจนั้นจริงๆ พึงบากบั่นให้มั่น ก็สมณธรรมที่ย่อ หย่อน ย่อมเรี่ยรายกิเลสดุจธุลีโดยยิ่ง ความชั่วไม่ทำเสีย เลยดีกว่า เพราะความชั่วทำให้เดือดร้อนในภายหลัง ส่วน ความดีทำนั่นแลเป็นดี เพราะทำแล้วไม่เดือดร้อนในภาย หลัง ท่านทั้งหลายจงคุ้มครองตนเหมือนปัจจันตนคร ที่มนุษย์ ทั้งหลายคุ้มครองไว้พร้อมทั้งภายในและภายนอก ฉะนั้น ขณะอย่าล่วงท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะว่า ผู้ที่ล่วง ขณะ เสียแล้ว เป็นผู้ยัดเยียดกันในนรก ย่อมเศร้าโศก สัตว์ ทั้งหลายผู้ถือมั่นมิจฉาทิฐิย่อมละอายเพราะวัตถุอันบุคคลไม่พึง ละอาย ย่อมไม่ละอายเพราะวัตถุอันบุคคลพึงละอาย ย่อมไป สู่ทุคติ สัตว์ทั้งหลายผู้ถือมั่นมิจฉาทิฐิ ผู้มีปกติเห็นในสิ่งที่ไม่ ควรกลัวว่าควรกลัว และมีปกติเห็นในสิ่งที่ควรกลัวว่าไม่ ควรกลัว ย่อมไปสู่ทุคติ สัตว์ทั้งหลายผู้ถือมั่นมิจฉาทิฐิ มีปกติรู้ในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ และมีปกติเห็นในสิ่งที่ มีโทษว่าไม่มีโทษ ย่อมไปสู่ทุคติ สัตว์ทั้งหลายผู้ถือมั่น สัมมาทิฐิ รู้ธรรมที่มีโทษโดยความเป็นธรรมที่มีโทษ และรู้ ธรรมที่หาโทษมิได้โดยความเป็นธรรมหาโทษมิได้ ย่อมไปสู่ สุคติ ฯ
จบนิรยวรรคที่ ๒๒
คาถาธรรมบท นาควรรคที่ ๒๓
[๓๓] เราจักอดกลั้นซึ่งคำล่วงเกิน ดุจช้างอดทนซึ่งลูกศรที่ออก มาจากแล่งในสงคราม ฉะนั้น เพราะคนทุศีลมีมาก ชน ทั้งหลายย่อมนำสัตว์พาหนะที่ฝึกหัดแล้วไปสู่ที่ชุมนุม พระ ราชาย่อมทรงพาหนะที่ได้ฝึกหัดแล้ว ในหมู่มนุษย์คนที่ได้ ฝึกแล้ว อดทนซึ่งคำล่วงเกินได้ เป็นผู้ประเสริฐสุด ม้า อัสดร ม้าอาชาไนย ม้าสินธพ และช้างกุญชรผู้มหานาค ชนิดที่นายควาญฝึกแล้ว จึงเป็นสัตว์ประเสริฐ บุคคลผู้มีตน อันฝึกแล้ว ประเสริฐกว่าพาหนะเหล่านั้น บุคคลผู้ฝึกตน แล้ว พึงไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไปด้วยตนที่ฝึกแล้ว ฝึกดีแล้ว ได้ ฉันใด บุคคลพึงไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไปแล้วด้วยยาน เหล่านี้ ฉันนั้น หาได้ไม่ กุญชรนามว่า ธนปาลกะ ผู้ตก มันจัด ห้ามได้ยาก เขาผูกไว้แล้ว ย่อมไม่บริโภคอาหาร กุญชรย่อมระลึกถึงป่าเป็นที่อยู่แห่งช้าง เมื่อใด บุคคลเป็น ผู้บริโภคมาก มักง่วงซึม นอนหลับ พลิกกลับไปมา ดุจ สุกรใหญ่อันบุคคลปรนปรือด้วยเหยื่อ เมื่อนั้น บุคคลนั้น เป็นคนเขลาเข้าห้องบ่อยๆ จิตนี้ได้เที่ยวไปสู่ที่จาริกตาม ความปรารถนา ตามความใคร่ ตามความสุข ในกาลก่อน วันนี้ เราจักข่มจิตนั้นโดยอุบายอันแยบคาย ดุจนายควาญ ช้างผู้ถือขอข่มช้างผู้ตกมัน ฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ยินดี ในความไม่ประมาท จงตามรักษาจิตของตน จงถอนตนขึ้น จากหล่มคือกิเลสที่ถอนได้ยาก ดุจกุญชรผู้จมแล้วในเปือกตม ถอนตนขึ้นได้ ฉะนั้น ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญา รักษาตน ผู้เที่ยวไปด้วยกัน มีปกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็น นักปราชญ์ไซร้ บุคคลนั้นพึงครอบงำอันตรายทั้งปวง มีใจ ชื่นชม มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้น ถ้าว่าบุคคลไม่พึงได้ สหายผู้มีปัญญารักษาตน ผู้เที่ยวไปด้วยกันมีปกติอยู่ด้วย กรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ บุคคลนั้นพึงเที่ยวไปผู้เดียว ดุจพระราชาทรงละแว่นแคว้น อันพระองค์ทรงชนะ แล้วเสด็จ เที่ยวไปพระองค์เดียว ดุจช้างชื่อมาตังคะละโขลงเที่ยวไป ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น การเที่ยวไปของบุคคลผู้เดียวประเสริฐ กว่า เพราะความเป็นสหายไม่มีในเพราะชนพาล บุคคลพึง เที่ยวไปผู้เดียว ดุจช้างชื่อมาตังคะ มีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปในป่า และไม่พึงทำบาปทั้งหลาย สหายทั้งหลาย เมื่อความต้องการเกิดขึ้น นำความสุขมาให้ ความยินดีด้วย ปัจจัยตามมีตามได้ นำมาซึ่งความสุข บุญนำความสุขมา ให้ในเวลาสิ้นชีวิต การละทุกข์ได้ทั้งหมดนำมาซึ่งความสุข ความเป็นผู้เกื้อกูลมารดานำมาซึ่งความสุขในโลก ความเป็น ผู้เกื้อกูลบิดานำมาซึ่งความสุข ความเป็นผู้เกื้อกูลสมณะนำ มาซึ่งความสุขในโลกและความเป็นผู้เกื้อกูลพราหมณ์นำมาซึ่ง ความสุขในโลก ศีลนำมาซึ่งความสุขตราบเท่าชรา ศรัทธา ตั้งมั่นแล้วนำมาซึ่งความสุข การได้เฉพาะซึ่งปัญญานำมาซึ่ง ความสุข การไม่ทำบาปทั้งหลายนำมาซึ่งความสุข ฯ
จบนาควรรคที่ ๒๓
คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔
[๓๔] ตัณหาย่อมเจริญแก่มนุษย์ผู้ประพฤติประมาท ดุจเครือเถาย่าน ทราย ฉะนั้น บุคคลนั้นย่อมเร่ร่อนไปสู่ภพน้อยใหญ่ ดัง วานรปรารถนาผลไม้เร่ร่อนไปในป่า ฉะนั้น ตัณหานี้ลามก ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก ย่อมครอบงำบุคคลใด ความโศกทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ดุจหญ้าคมบาง อันฝนตกเชยแล้วงอกงามอยู่ในป่า ฉะนั้น บุคคลใดแล ย่อมครอบงำตัณหาอันลามก ล่วงไปได้โดยยากในโลก ความโศกทั้งหลายย่อมตกไปจากบุคคลนั้น เหมือนหยาด น้ำตกไปจากใบบัว ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวกะท่าน ทั้งหลายผู้มาประชุมกันในที่นี้ จงมีความเจริญ ท่านทั้งหลาย จงขุดรากแห่งตัณหาเสีย ดุจบุรุษต้องการแฝกขุดแฝก ฉะนั้น มารอย่าระรานท่านทั้งหลายบ่อยๆ ดุจกระแสน้ำระรานไม้อ้อ ฉะนั้น ต้นไม้ เมื่อรากหาอันตรายมิได้ มั่นคงอยู่ แม้ถูก ตัดแล้วก็กลับงอกขึ้นได้ ฉันใด ทุกข์นี้ เมื่อบุคคลยังถอน เชื้อตัณหาขึ้นไม่ได้แล้ว ย่อมเกิดขึ้นบ่อยๆ แม้ฉันนั้น ความดำริทั้งหลายที่อาศัยราคะ เป็นของใหญ่ ย่อมนำบุคคล ผู้มีตัณหาดังกระแส ๓๖ อันไหลไปในอารมณ์ซึ่งทำให้ใจเอิบ อาบ เป็นของกล้า ไปสู่ทิฐิชั่ว กระแสตัณหาย่อม ไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ตัณหาดังเครือเถาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมตั้งอยู่ ก็ท่านทั้งหลายเห็นตัณหาดังเครือเถานั้นอันเกิด แล้ว จงตัดรากเสียด้วยปัญญา โสมนัสที่ซ่านไปแล้ว และที่เป็นไปกับด้วยความเยื่อใย ย่อมมีแก่สัตว์ สัตว์ เหล่านั้นอาศัยความสำราญ แสวงหาสุข นรชนเหล่านั้นแล เป็นผู้เข้าถึงชาติและชรา หมู่สัตว์ถูกตัณหาอันทำความสะดุ้ง ห้อมล้อมแล้ว ย่อมกระสับกระส่าย ดุจกระต่ายติดแร้ว กระสับกระส่ายอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ข้องแล้วด้วย สังโยชน์และธรรมเป็นเครื่องข้อง ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ สิ้นกาลนาน หมู่สัตว์ถูกตัณหาอันทำความสะดุ้งห้อมล้อม แล้ว ย่อมกระสับกระส่าย ดุจกระต่ายติดแร้วกระสับ กระส่ายอยู่ ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อหวังวิราคะ ธรรมแก่ตน พึงบรรเทาตัณหาที่ทำความสะดุ้งเสีย ท่าน ทั้งหลายจงเห็นบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังหมู่ไม้ในป่า มีใจ น้อมไปแล้วในความเพียรดุจป่า พ้นแล้วจากตัณหาเพียงดัง ป่า ยังแล่นเข้าหาป่านั่นแล บุคคลนี้พ้นแล้วจากเครื่องผูก ยังแล่นเข้าหาเครื่องผูก นักปราชญ์ทั้งหลายหากล่าวเครื่อง ผูกซึ่งเกิดแต่เหล็ก เกิดแต่ไม้ และเกิดแต่หญ้าปล้อง ว่ามั่นไม่ สัตว์ผู้กำหนัดแล้ว กำหนัดนักแล้ว ในแก้ว มณีและแก้วกุณฑลทั้งหลาย และความห่วงใยในบุตรและ ภริยา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวเครื่องผูกอันหน่วงลง อัน หย่อน อันบุคคลเปลื้องได้โดยยาก นั้นว่ามั่น นักปราชญ์ ทั้งหลายตัดเครื่องผูกแม้นั้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีความห่วงใย ละกามสุขแล้ว ย่อมเว้นรอบ สัตว์เหล่าใดถูกราคะย้อม แล้ว สัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไปตามกระแสตัณหา ดุจแมง มุมแล่นไปตามใยที่ตนทำเอง ฉะนั้น นักปราชญ์ทั้งหลาย ตัดเครื่องผูกแม้นั้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีความห่วงใย ย่อมละ ทุกข์ทั้งปวงไป ท่านจงปล่อยความอาลัยในขันธ์ที่เป็นอดีต เสีย จงปล่อยความอาลัยในขันธ์ที่เป็นอนาคตเสีย จง ปล่อยความอาลัยในขันธ์ที่เป็นปัจจุบันเสีย จักเป็นผู้ถึงฝั่ง แห่งภพ มีใจพ้นวิเศษแล้วในสังขตธรรมทั้งปวง จักไม่ เข้าถึงชาติและชราอีก ตัณหาย่อมเจริญยิ่งแก่ผู้ที่ถูกวิตก ย่ำยี ผู้มีราคะกล้า มีปกติเห็นอารมณ์ว่างาม ผู้นั้นแลย่อม ทำเครื่องผูกให้มั่น ส่วนผู้ใดยินดีแล้วในฌานเป็นที่สงบ วิตก มีสติทุกเมื่อ เจริญอสุภะอยู่ ผู้นั้นแลจักทำตัณหา ให้สิ้นไป ผู้นั้นจะตัดเครื่องผูกแห่งมารได้ ภิกษุผู้ถึง ความสำเร็จแล้ว ไม่มีความสะดุ้ง ปราศจากตัณหา ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ตัดลูกศรอันยังสัตว์ให้ไปสู่ภพ ได้แล้ว อัตภาพของภิกษุนี้มีในที่สุด ภิกษุปราศจากตัณหา ไม่ยึดมั่น ฉลาดในนิรุติและบท รู้จักความประชุมเบื้อง ต้น และเบื้องปลายแห่งอักษรทั้งหลาย ภิกษุนั้นแลมีสรีระ ในที่สุด เรากล่าวว่า มีปัญญามาก เป็นมหาบุรุษ เราเป็น ผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้แจ้งธรรมทั้งปวง อันตัณหา และทิฐิไม่ฉาบทาแล้วในธรรมทั้งปวง ละธรรมได้ทุกอย่าง พ้นวิเศษแล้วเพราะความสิ้นตัณหา รู้ยิ่งเอง พึงแสดงใคร เล่า (ว่าเป็นอุปัชฌาย์หรืออาจารย์) การให้ธรรมเป็นทาน ย่อมชำนะการให้ทั้งปวง รสแห่งธรรมย่อมชำนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรมย่อมชำนะความยินดีทั้งปวง ความ สิ้นตัณหาย่อมชำนะทุกข์ทั้งปวง โภคทรัพย์ทั้งหลาย ย่อม ฆ่าคนมีปัญญาทราม แต่หาฆ่าผู้ที่แสวงหาฝั่งไม่ คนมี ปัญญาทรามย่อมฆ่าตนได้ เหมือนบุคคลฆ่าผู้อื่นเพราะความ อยากได้โภคทรัพย์ ฉะนั้น นาทั้งหลาย มีหญ้าเป็นโทษ หมู่สัตว์มีราคะเป็นโทษ เพราะเหตุนั้นแล ทานที่บุคคล ถวายในท่านผู้ปราศจากราคะ ย่อมมีผลมาก นาทั้งหลาย มีหญ้าเป็นโทษ หมู่สัตว์นี้มีโทสะเป็นโทษ เพราะเหตุ นั้นแล ทานที่บุคคลถวายในท่านผู้ปราศจากโทสะ ย่อมมี ผลมาก นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นโทษ หมู่สัตว์นี้มีโมหะ เป็นโทษ เพราะเหตุนั้นแล ทานที่บุคคลถวายในท่าน ผู้ปราศจากโมหะ ย่อมมีผลมาก นาทั้งหลายมีหญ้าเป็น โทษ หมู่สัตว์นี้มีความอิจฉาเป็นโทษ เพราะเหตุนั้นแล ทานที่บุคคลถวายในท่านผู้ปราศจากความอิจฉา ย่อมมี ผลมาก ฯ
จบตัณหาวรรคที่ ๒๔
คาถาธรรมบท ภิกขุวรรคที่ ๒๕
[๓๕] ความสำรวมด้วยจักษุเป็นความดี ความสำรวมด้วยหูเป็น ความดี ความสำรวมด้วยจมูกเป็นความดี ความสำรวม ด้วยลิ้นเป็นความดี ความสำรวมด้วยกายเป็นความดี ความ สำรวมด้วยวาจาเป็นความดี ความสำรวมด้วยใจเป็นความดี ความสำรวมในทวารทั้งปวงเป็นความดี ภิกษุผู้สำรวมแล้ว ในทวารทั้งปวง ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ผู้ที่สำรวมมือ สำรวมเท้า สำรวมวาจา สำรวมตน ยินดีในอารมณ์ ภายใน มีจิตตั้งมั่น อยู่ผู้เดียว สันโดษ บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวผู้นั้นว่าเป็นภิกษุ ภิกษุใดสำรวมปาก มีปกติกล่าว ด้วยปัญญา มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมแสดงอรรถและธรรม ภาษิตของภิกษุนั้นไพเราะ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นที่มายินดี ยินดี แล้วในธรรม ค้นคว้าธรรม ระลึกถึงธรรม ย่อมไม่ เสื่อมจากสัทธรรม ภิกษุไม่พึงดูหมิ่นลาภของตน ไม่พึง เที่ยวปรารถนาลาภของผู้อื่น เพราะภิกษุปรารถนาลาภของ ผู้อื่นอยู่ ย่อมไม่บรรลุสมาธิ ถ้าว่าภิกษุแม้มีลาภน้อย ก็ย่อมไม่ดูหมิ่นลาภของตนไซร้ เทวดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญ ภิกษุนั้น ผู้มีอาชีพบริสุทธิ์ ไม่เกียจคร้าน ผู้ใดไม่มี ความยึดถือในนามรูปว่าของเราโดยประการทั้งปวง และย่อม ไม่เศร้าโศกเพราะนามรูปไม่มีอยู่ ผู้นั้นแลเรากล่าวว่า เป็น ภิกษุ ภิกษุใดมีปกติอยู่ด้วยเมตตา เลื่อมใสแล้วในพระ พุทธศาสนา ภิกษุนั้นพึงบรรลุสันตบทอันเป็นที่ระงับสังขาร เป็นสุข ดูกรภิกษุ เธอจงวิดเรือนี้ เรือที่เธอวิดแล้วจัก ถึงเร็ว เธอตัดราคะและโทสะแล้ว จักถึงนิพพานใน ภายหลัง ภิกษุพึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ พึงละอุทธัม ภาคิยสังโยชน์ ๕ พึงเจริญอินทรีย์ ๕ ให้ยิ่ง ภิกษุล่วงธรรม- เป็นเครื่องข้อง ๕ อย่างได้แล้ว เรากล่าวว่า เป็นผู้ข้ามโอฆะ ได้ ดูกรภิกษุ เธอจงเพ่ง และอย่าประมาท จิตของเธอ หมุนไปในกามคุณ เธออย่าเป็นผู้ประมาทกลืนก้อนโลหะ อย่าถูกไฟเผาคร่ำครวญว่านี้ทุกข์ ฌานไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญามีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้น แลอยู่ในที่ใกล้นิพพาน ความยินดีอันมิใช่ของมนุษย์ย่อม มีแก่ภิกษุผู้เข้าไปสู่เรือนว่าง ผู้มีจิตสงบ ผู้เห็นแจ้งซึ่ง ธรรมโดยชอบ ในกาลใดๆ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นความ เกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย ในกาลนั้นๆ ภิกษุนั้นย่อมได้ปีติและปราโมทย์ ปีติและปราโมทย์นั้น เป็นอมตะของบัณฑิตทั้งหลายผู้รู้แจ้งอยู่ บรรดาธรรมเหล่านั้น ธรรมนี้ คือ ความคุ้มครองอินทรีย์ ความสันโดษ และ ความสำรวมในปาฏิโมกข์ เป็นเบื้องต้นของภิกษุผู้มีปัญญา ในธรรมวินัยนี้ ท่านจงคบกัลยาณมิตร มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน ภิกษุพึงเป็นผู้ประพฤติปฏิสันถาร พึงเป็นผู้ ฉลาดในอาจาระ เป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์ เพราะความ ประพฤติในปฏิสันถาร และความเป็นผู้ฉลาดในอาจาระนั้น จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเปลื้องราคะและโทสะเสีย เหมือนมะลิปล่อยดอกที่เหี่ยว แห้งแล้ว ฉะนั้น ภิกษุผู้มีกายสงบ มีวาจาสงบ มีใจสงบ มีใจตั้งมั่นดี มีอามิสในโลกอันคายแล้ว เรากล่าวว่า เป็นผู้ สงบระงับ จงเตือนตนด้วยตนเอง จงสงวนตน ด้วยตนเอง ดูกรภิกษุ เธอนั้นผู้มีตนอันคุ้มครองแล้ว มี สติ จักอยู่เป็นสุข ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ตนแลเป็น คติของตน เพราะเหตุนั้น ท่านจงสำรวมตน เหมือน พ่อค้าระวังม้าดีไว้ ฉะนั้น ภิกษุผู้มากด้วยความปราโมทย์ เลื่อมใสแล้วในพุทธศาสนา พึงบรรลุสันตบทอันเป็นที่เข้า ไปสงบแห่งสังขาร เป็นสุข ภิกษุใดแล ยังเป็นหนุ่ม ย่อมเพียรพยายามในพุทธศาสนา ภิกษุนั้นย่อมยังโลกนี้ ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น ฯ
จบภิกขุวรรคที่ ๒๕
คาถาธรรมบท พราหมณวรรคที่ ๒๖
[๓๖] ดูกรพราหมณ์ ท่านจงพยายามตัดกระแสตัณหาเสีย จง บรรเทากามทั้งหลายเสีย ดูกรพราหมณ์ ท่านรู้ความสิ้น ไปแห่งสังขารทั้งหลายแล้ว จะเป็นผู้รู้นิพพานอันปัจจัย อะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้ เมื่อใด พราหมณ์เป็นผู้ถึงฝั่งใน ธรรมทั้ง ๒ ประการ เมื่อนั้น กิเลสเป็นเครื่องประกอบทั้ง ปวงของพราหมณ์นั้นผู้รู้แจ้ง ย่อมถึงความสาบสูญไป ฝั่งก็ดี ธรรมชาติมิใช่ฝั่งก็ดี ฝั่งและธรรมชาติมิใช่ฝั่ง ย่อมไม่มีแก่ผู้ ใด เรากล่าวผู้นั้นซึ่งมีความกระวนกระวายไปปราศแล้ว ผู้ไม่ ประกอบแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลผู้เพ่งฌาน ปราศจากธุลี นั่งอยู่ผู้เดียว ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ บรรลุประโยชน์อันสูงสุดนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ พระอาทิตย์ ย่อมส่องแสงสว่างในกลางวัน พระจันทร์ย่อมส่องแสงสว่าง ในกลางคืน กษัตริย์ทรงผูกสอดเครื่องครบย่อมมีสง่า พราหมณ์ผู้เพ่งฌานย่อมรุ่งเรือง ส่วนพระพุทธเจ้าย่อมรุ่งเรือง ด้วยพระเดชตลอดวันและคืนทั้งสิ้น บุคคลผู้มีบาปอันลอย แล้วแล เรากล่าวว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลว่า เป็นสมณะเพราะประพฤติสงบ บุคคลผู้ขับไล่มลทินของ ตน เรากล่าวว่าเป็นบรรพชิต เพราะการขับไล่นั้น พราหมณ์ ไม่พึงประหารพราหมณ์ พราหมณ์ไม่พึงปล่อยเวรแก่พราหมณ์ นั้น เราติเตียนบุคคลผู้ประหารพราหมณ์ เราติเตียนบุคคล ผู้ปล่อยเวรแก่พราหมณ์ กว่าบุคคลผู้ประหารนั้น การ เกียจกันใจจากสิ่งอันเป็นที่รักทั้งหลาย ของพราหมณ์ เป็น คุณประเสริฐหาน้อยไม่ ใจประกอบด้วยความเบียดเบียน ย่อมกลับจากวัตถุใดๆ ทุกข์ย่อมสงบได้หมดจากวัตถุนั้นๆ เรากล่าวบุคคลผู้ไม่มีกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจ ผู้สำรวม แล้วจากฐานะทั้ง ๓ ว่าเป็นพราหมณ์ บุคคลพึงรู้แจ้งธรรม อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วจากบุคคลใด พึง นอบน้อมบุคคลนั้นโดยเคารพ เหมือนพราหมณ์นอบน้อม การบูชาไฟ ฉะนั้น บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะการ เกล้าชฎา เพราะโคตร เพราะชาติหามิได้ สัจจะและธรรมะ มีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นเป็นผู้สะอาดอยู่ ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ ด้วย ดูกรท่านผู้มีปัญญาทราม จะมีประโยชน์อะไรด้วย การเกล้าชฎาแก่ท่าน จะมีประโยชน์อะไร ด้วยผ้าสาฎก ที่ทำด้วยหนังชะมดแก่ท่าน ภายในของท่านรกชัฏ ท่าน ย่อมขัดสีแต่อวัยวะภายนอก เรากล่าวบุคคลผู้ทรงผ้าบังสุกุล ซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ผู้เดียวเพ่ง (ฌาน) อยู่ในป่านั้น ว่าเป็นพราหมณ์ ก็เราไม่กล่าวผู้ที่เกิดแต่ กำเนิด ผู้มีมารดาเป็นแดนเกิด ว่าเป็นพราหมณ์ ผู้นั้น เป็นผู้ชื่อว่าโภวาที (ผู้กล่าวว่าท่านผู้เจริญ) ผู้นั้นแลเป็นผู้มี กิเลสเครื่องกังวล เรากล่าวบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ผู้ไม่ถือมั่นนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่ตัดสังโยชน์ ทั้งหมดได้ ไม่สะดุ้ง ผู้ล่วงกิเลสเป็นเครื่องข้อง ไม่ ประกอบแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลผู้ตัด ความโกรธดุจชะเนาะ ตัดตัณหาดุจหนังหัวเกวียน และ ตัดทิฐิดุจเงื่อนพร้อมทั้งอนุสัยดุจสายเสียได้ ผู้มีอวิชชาดุจ ลิ่มสลักอันถอนแล้ว ตรัสรู้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรา กล่าวผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นได้ซึ่งการด่า การทุบตีและ การจองจำ ผู้มีกำลัง คือ ขันติ ผู้มีหมู่พลเมืองคือขันติ ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลผู้ไม่โกรธ มีวัตร มีศีล ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น ฝึกตนแล้ว มีร่างกายตั้งอยู่ในที่ สุดนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่ไม่ติดในกามทั้งหลาย ดุจน้ำไม่ติดอยู่ในใบบัว ดังเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่บน ปลายเหล็กแหลมนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่รู้ แจ้งความสิ้นทุกข์ของตนในธรรมวินัยนี้ มีภาระอันปลงแล้ว พรากแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลผู้มีปัญญา ลึกซึ้ง เป็นนักปราชญ์ ผู้ฉลาดในมรรคและมิใช่มรรค ผู้ บรรลุประโยชน์อันสูงสุดนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคน ๒ พวก คือ คฤหัสถ์และบรรพชิต ผู้ไม่มีความอาลัยเที่ยวไป ผู้มีความปรารถนาน้อยนั้น ว่าเป็น พราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่วางอาชญาในสัตว์ทั้งหลาย ผู้ที่สะดุ้ง และมั่นคง ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลผู้ไม่ผิดในผู้ผิด ผู้ดับเสียในผู้ที่มีอาชญาใน ตน ผู้ไม่ยึดถือในขันธ์ที่ยังมีความยึดถือนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่ทำราคะ โทสะ มานะ และมักขะให้ตกไป ดุจเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่เขาให้ตกไปจากปลายเหล็กแหลม นั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลผู้เปล่งวาจาไม่หยาบ คาย อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นรู้แจ่มแจ้งกันได้ เป็นคำจริง ผู้ไม่ ทำใครๆ ให้ขัดใจกันนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าว ผู้ที่ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ในโลกนี้ ยาวก็ตาม สั้น ก็ตาม น้อยก็ตาม มากก็ตาม งามก็ตาม ไม่งามก็ตาม ว่า เป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ไม่มีความหวังในโลกนี้และในโลก หน้า ไม่มีตัณหา ไม่ประกอบด้วยกิเลส ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่ไม่มีความอาลัย ไม่เคลือบแคลงสงสัยเพราะรู้ ทั่ว หยั่งลงสู่อมตะ บรรลุโดยลำดับ ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ละทิ้งบุญและบาปทั้งสอง ล่วงกิเลสเครื่องขัดข้อง ในโลกนี้ ผู้ไม่มีความโศก ปราศจากธุลี บริสุทธิ์ ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่มีความเพลิดเพลินในภพสิ้น แล้ว ผู้บริสุทธิ์ มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เหมือนพระจันทร์ ปราศจากมลทินนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ล่วงทาง ลื่น ทางที่ไปได้ยาก สงสาร และโมหะนี้เสียได้ เป็น ผู้ข้ามแล้ว ถึงฝั่ง เพ่ง (ฌาน) ไม่หวั่นไหว ไม่มีความ เคลือบแคลงสงสัย ดับแล้วเพราะไม่ถือมั่น ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ละกามทั้งหลายในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีเรือน งดเว้น เสียได้ มีกามและภพหมดสิ้นแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ละตัณหาในโลกนี้ได้แล้ว ภพหมดสิ้นแล้ว ว่าเป็น พราหมณ์ เรากล่าวผู้ละโยคะของมนุษย์ ล่วงโยคะอันเป็น ทิพย์ พรากแล้วจากโยคะทั้งปวง ว่าเป็นพราหมณ์ เรา กล่าวผู้ละความยินดี และความไม่ยินดีได้ เป็นผู้เย็น ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าไปทรงไว้ ครอบงำเสียซึ่งโลกทั้งปวง ผู้แกล้วกล้า ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้รู้จุติและอุบัติ ของสัตว์ทั้งหลาย โดยประการทั้งปวง ผู้ไม่ข้องอยู่ ไปดี ตรัสรู้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่เทวดา คน ธรรพ์และมนุษย์รู้คติของเขาไม่ได้ มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็น พระอรหันต์ ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่ไม่มีกิเลส เครื่องกังวลในขันธ์ที่เป็นอดีต ในขันธ์ที่เป็นอนาคต และ ในขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน ไม่มีความกังวล ไม่มีความยึดถือ ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้องอาจ ประเสริฐ แกล้ว กล้า แสวงหาคุณอันใหญ่ ชนะเสร็จแล้ว ไม่หวั่น ไหว ล้างกิเลส ตรัสรู้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรา กล่าวผู้ที่รู้ปุพเพนิวาส เห็นสวรรค์และอบาย และได้ถึง ความสิ้นไปแห่งชาติ อยู่จบพรหมจรรย์เพราะรู้ยิ่ง เป็นมุนี อยู่จบพรหมจรรย์ทั้งปวงแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ ฯ
จบพราหมณวรรคที่ ๒๖
-----------------------------------------------------
รวมวรรคที่มีในคาถาธรรมบท คือ
[๓๗] ยมกวรรค อัปปมาทวรรค จิตตวรรค ปุปผวรรค พาลวรรค ปัณฑิตวรรค อรหันตวรรค สหัสสวรรค ปาปวรรค ทัณฑวรรค ชราวรรค อัตตวรรค โลกวรรค พุทธวรรค สุขวรรค ปิยวรรค โกธวรรค มลวรรค ธัมมัฏฐวรรค มรรควรรค รวมเป็น ๒๐ วรรค ปกิณณกวรรค นิรยวรรค นาควรรค ตัณหาวรรค ภิกขุวรรค พราหมณวรรค รวมทั้งหมดนี้เป็น ๒๖ วรรค อันพระ พุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ทรงแสดงแล้ว ในยมกวรรคมี ๒๐ คาถา ในอัปปมาทวรรคมี ๑๒ คาถา ในจิตตวรรคมี ๑๑ คาถา ในปุปผวรรคมี ๑๖ คาถา ในพาลวรรคมี ๑๗ คาถา ในปัณฑิตวรรคมี ๑๔ คาถา ในอรหันตวรรคมี ๑๐ คาถา ในสหัสสวรรคมี ๑๖ คาถา ในปาปวรรคมี ๑๓ คาถา ในทัณฑวรรคมี ๑๗ คาถา ในชราวรรคมี ๑๑ คาถา ในอัตตวรรคมี ๑๒ คาถา ในโลกวรรคมี ๑๒ คาถา ในพุทธวรรคมี ๑๖ คาถา ในสุขวรรคและปิยวรรคมีวรรคละ ๑๒ คาถา ในโกธ- *วรรคมี ๑๔ คาถา ในมลวรรคมี ๒๑ คาถา ในธัมมัฏฐวรรคมี ๑๗ คาถา ใน มรรควรรคมี ๑๖ คาถา ในปกิณณกวรรคมี ๑๖ คาถา ในนิรยวรรคและนาควรรค มีวรรคละ ๑๔ คาถา ในตัณหาวรรคมี ๒๒ คาถา ในภิกขุวรรคมี ๒๓ คาถา ในพราหมณวรรคอันเป็นวรรคที่สุดมี ๔๐ คาถา คาถา ๔๒๓ คาถา อันพระ พุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงไว้ในนิบาตในธรรมบท ฯ
จบธรรมบท
-----------------------------------------------------
โพธิวรรคที่ ๑
๑. โพธิสูตรที่ ๑

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๑๐๓๖-๑๔๒๖. หน้าที่ ๔๕ - ๖๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=1036&Z=1426&pagebreak=0              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็นเกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=25&item=31&items=7              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=25&siri=30              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=31              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item.php?book=25&item=31&items=7&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item.php?book=25&item=31&items=7&mode=bracket              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_25

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]