ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
แม้ด้วยประการอย่างนี้. อีกนัยหนึ่ง สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ
หิริพละ โอตตัปปพละ ไม่มีแก่บุคคลใด กิเลสเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่
ท่วมทับ กำจัด ย่ำยีบุคคลนั้น ผู้ไม่มีกำลัง มีกำลังทราม มีกำลังน้อย มีเรี่ยวแรงน้อย เลว
ทราม เสื่อม ตกต่ำ ลามก มีอัธยาศัยเลว เล็กน้อย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหล่ากิเลสอัน
ไม่มีกำลังย่อมครอบงำนรชนนั้น แม้ด้วยประการอย่างนี้.
ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง
[๒๒] คำว่า เหล่าอันตรายย่อมย่ำยีนรชนนั้น มีความว่า อันตราย ได้แก่ อันตราย ๒ อย่าง คือ อันตรายที่ปรากฏ ๑ อันตรายที่ปกปิด ๑. อันตรายที่ปรากฏเป็นไฉน? คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาป่า โค กระบือ ช้าง งู แมงป่อง ตะขาบ โจร คนที่ทำกรรมชั่ว คนที่เตรียมจะทำ กรรมชั่ว และโรคทางจักษุ โรคทางโสต โรคทางฆานะ โรคทางชิวหา โรคทางกาย โรคทาง ศีรษะ โรคทางหู โรคทางปาก โรคทางฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้ เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรค- *ขี้กลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราดหูด โรคละลอก โรคคุดทะราดบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธสันนิบาต อาพาธเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธเกิดแต่ความเพียรเกิน กำลัง อาพาธเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ความสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน อันตรายเหล่านี้ เรียกว่า อันตรายที่ปรากฏ. อันตรายที่ปกปิดเป็นไฉน? คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความ โกรธ ผูกโกรธไว้ ลบลู่คุณท่าน ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ มายา โอ้อวด หัวดื้อ แข่งดี ถือตัว ดูหมิ่นท่าน มัวเมา ประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความ เร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อภิสังขาร คือ อกุศลธรรมทั้งปวง อันตรายเหล่านี้ เรียกว่า อันตรายที่ปกปิด. ที่ชื่อว่า อันตราย เพราะอรรถว่ากระไร จึงชื่อว่าอันตราย. เพราะอรรถว่าครอบงำ จึงชื่อว่าอันตราย. เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อม จึงชื่อว่าอันตราย. เพราะว่าอรรถเป็น ที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงชื่อว่าอันตราย. เพราะอรรถว่า ครอบงำอย่างไร? จึงชื่อว่า อันตราย อันตรายเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่ ท่วมทับ กำจัด ย่ำยีบุคคลนั้น เพราะ อรรถว่าครอบงำ จึงชื่อว่าอันตราย อย่างนี้. เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อมอย่างไร? จึงชื่อว่าอันตราย อันตรายเหล่านั้น ย่อม เป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย. อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็น ไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมเหล่าไหน? อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไป เพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมเหล่านี้ คือ ความปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ความทำให้บริบูรณ์ในศีล ความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองในอินทรีย์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณใน โภชนะ ความประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ ความประกอบเนืองๆ ใน อันเจริญสติปัฏฐาน ๔ ความประกอบเนืองๆ ในอันเจริญสัมมัปปธาน ๔ ความประกอบเนืองๆ ในอันเจริญอิทธิบาท ๔ ความประกอบเนืองๆ ในอันเจริญอินทรีย์ ๕ ความประกอบเนืองๆ ในอันเจริญพละ ๕ ความประกอบเนืองๆ ในอันเจริญโพชฌงค์ ๗ ความประกอบเนืองๆ ในอัน เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่ง กุศลธรรมเหล่านี้. เพราะอรรถว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อมอย่างนี้ จึงชื่อว่า อันตราย. เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย อย่างไร? จึงชื่อว่าอันตราย อกุศล ธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น ย่อมเป็นธรรมอยู่อาศัยในอัตภาพ เปรียบ เหมือนเหล่าสัตว์ที่อาศัยรู ย่อมอยู่ในรู ที่อาศัยน้ำ ย่อมอยู่ในน้ำ ที่อาศัยป่า ย่อมอยู่ในป่า ที่ อาศัยต้นไม้ ย่อมอยู่ที่ต้นไม้ ฉันใด อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น ย่อม เป็นธรรมอยู่อาศัยในอัตภาพ ฉันนั้น เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างนี้ จึง ชื่อว่าอันตราย. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสที่ ฟุ้งซ่าน ย่อมอยู่ลำบาก ไม่ผาสุก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน ย่อมอยู่ลำบาก ไม่ผาสุกอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมอัน ลามก มีความดำริอันซ่านไปในอารมณ์อันเกื้อกูลแก่สัญโญชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมอยู่ซ่านไปในภายในแห่งภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน อกุศลธรรมอัน ลามกเหล่านั้นย่อมกลุ้มรุมภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลส ที่ฟุ้งซ่าน อีกประการหนึ่ง อกุศลธรรมอันลามก มีความดำริอันซ่านไปในอารมณ์อันเกื้อกูลแก่ สัญโญชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต ... เพราะสูดกลิ่นด้วยฆานะ ... เพราะ ลิ้มรสด้วยชิวหา ... เพราะถูกต้องโผฏฐัพพพะด้วยกาย ... เพราะรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ อกุศล ธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมอยู่ซ่านไปในภายในแห่งภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึง เรียกว่า ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมกลุ้มรุม ภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ภิกษุนั้นจึงเรียกว่า อยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ร่วมกับกิเลสอันอยู่อาศัยในภายใน ผู้อยู่ร่วมกับกิเลสที่ฟุ้งซ่าน ย่อมอยู่ลำบาก ไม่ผาสุก อย่างนี้แล. เพราะฉะนั้น เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่แห่งกุศลธรรมทั้งหลายอย่างนี้ จึงชื่อว่า อันตราย. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเหล่านี้ เป็น มลทินในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรู ในภายใน ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ โลภะ เป็นมลทินในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรูในภายใน โทสะ เป็นมลทินในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรูในภายในโมหะ เป็นมลทินในภายใน เป็นอมิตรในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรูในภายใน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นมลทินในภายใน เป็นอมิตร ในภายใน เป็นข้าศึกในภายใน เป็นเพชฌฆาตในภายใน เป็นศัตรูในภายใน. พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า- โลภะ ยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด โลภะ ยังจิตให้ให้กำเริบ โลภะ เป็นภัยเกิดขึ้นในภายใน พาลชน ย่อมไม่รู้สึกภัยนั้น คนผู้โลภแล้ว ย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้โลภแล้ว ย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อใด ความโลภ ครอบงำนรชน เมื่อนั้น นรชนนั้น ย่อมมีความมืดตื้อ โทสะ ยังสิ่งที่ไม่ เป็นประโยชน์ให้เกิด โทสะ ยังจิตให้กำเริบ โทสะ เป็นภัยเกิดขึ้นใน ภายใน พาลชน ย่อมไม่รู้สึกภัยนั้น คนผู้โกรธแล้วย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้ โกรธแล้ว ย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อใด ความโกรธครอบงำนรชน เมื่อนั้น นรชนนั้น ย่อมมีความมืดตื้อ โมหะ ยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด โมหะยังจิตให้กำเริบ โมหะ เป็นภัยเกิดขึ้นในภายใน พาลชน ย่อมไม่ รู้สึกภัยนั้น คนผู้หลงแล้ว ย่อมไม่รู้อรรถ คนผู้หลงแล้ว ย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อใด ความหลงครอบงำนรชน เมื่อนั้น นรชนนั้น ย่อมมีความมืดตื้อ. เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างนี้. จึงชื่อว่า อันตราย สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูกรมหาบพิตร ธรรม ๓ ประการแล เมื่อเกิด ขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ โลภะ เมื่อเกิดขึ้นในกายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก โทสะ เมื่อเกิดขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อม เกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก โมหะ เมื่อเกิดขึ้นในภายใน แห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก ดูกรมหาบพิตร ธรรม ๓ ประการนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในภายในแห่งบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก. พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในตน ย่อมกำจัดบุรุษผู้มีจิตลามก เหมือนขุยไผ่กำจัดไม้ไผ่ ฉะนั้น. เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างนี้. จึงชื่อว่า อันตราย สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ราคะ และโทสะ มีอัตภาพนี้เป็นเหตุ เกิดแต่อัตภาพนี้ ไม่ยินดีกุศล ยินดีแต่กามคุณ ทำให้ขนลุก บาปวิตกในใจ ตั้งขึ้นแต่อัตภาพนี้แล้ว ผูกจิตไว้ เหมือนพวกเด็กผูกกาที่ข้อเท้าไว้ ฉะนั้น. เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างนี้. จึงชื่อว่าอันตราย คำว่า เหล่าอันตราย ย่อมย่ำยีนรชนนั้น มีความว่า อันตรายเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่ ท่วมทับ กำจัด ย่ำยีบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหล่าอันตราย ย่อม ย่ำยีนรชนนั้น.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๒๕๐-๓๕๘. หน้าที่ ๑๑ - ๑๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=250&Z=358&pagebreak=0              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย[เลขข้อ] เป็นเกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=29&item=22&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=29&siri=1              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item.php?book=29&item=22&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item.php?book=29&item=22&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ http://84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_29

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]