บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๑๑. สัจจวิภังคสูตร
๑๑. สัจจวิภังคสูตร ว่าด้วยการจำแนกสัจจะ [๓๗๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุง พาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ ตรัสเรื่องนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมจักรอันยอดเยี่ยมตถาคตผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้ คือ การบอก๑- การแสดง๒- การบัญญัติ๓- การกำหนด๔- การเปิดเผย๕- การจำแนก๖- การทำให้ง่าย๗- ซึ่งอริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. การบอก การแสดง การบัญญัติ การกำหนด การเปิดเผย การจำแนก การทำให้ง่ายซึ่งทุกขอริยสัจ ๒. การบอก การแสดง การบัญญัติ การกำหนด การเปิดเผย การจำแนก การทำให้ง่ายซึ่งทุกขสมุทยอริยสัจ @เชิงอรรถ : @๑ การบอก หมายถึงการบอกว่า นี้ชื่อว่า ทุกขอริยสัจ ฯลฯ นี้ชื่อว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ @(ม.อุ.อ. ๓/๓๗๑/๒๒๓, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๗๒/๓๙๕, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๗๒/๔๓๔) @๒ การแสดง หมายถึงการให้อุทเทส (คำเริ่มต้น) จบลง (องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๗๒/๔๓๔) @๓ การบัญญัติ หมายถึงการตั้งสัจจะ มีทุกขสัจเป็นต้น (ม.อุ.อ. ๓/๓๗๑/๒๒๓) @๔ การกำหนด หมายถึงการให้เนื้อความนั้นดำเนินไปโดยประการต่างๆ (ม.อุ.อ. ๓/๓๗๑/๒๒๓, @องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๗๒/๔๓๕) @๕ การเปิดเผย หมายถึงการชี้แจงแสดงเนื้อความตามที่ตั้งอุทเทสไว้ โดยการวกกลับมาอธิบายซ้ำอีก @(ม.อุ.อ. ๓/๓๗๑/๒๒๓, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๗๒/๔๓๕) @๖ การจำแนก หมายถึงการจำแนกประเด็นที่เปิดแล้ว (ม.อุ.อ. ๓/๓๗๑/๒๒๓, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๗๒/๔๓๕) @๗ การทำให้ง่าย หมายถึงการแสดงประเด็นที่จำแนกไว้ให้ชัดเจนด้วยการชี้เหตุและยกอุทาหรณ์ต่างๆ @มาประกอบ (ม.อุ.อ. ๓/๓๗๑/๒๒๓, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๗๒/๓๙๕-๓๙๖, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๗๒/๔๓๕ @และดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๗๒/๒๔๒-๒๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๑๖}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๑๑. สัจจวิภังคสูตร
๓. การบอก การแสดง การบัญญัติ การกำหนด การเปิดเผย การจำแนก การทำให้ง่ายซึ่งทุกขนิโรธอริยสัจ ๔. การบอก การแสดง การบัญญัติ การกำหนด การเปิดเผย การจำแนก การทำให้ง่ายซึ่งทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ธรรมจักรอันยอดเยี่ยมตถาคตผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้ คือ การบอก การแสดง การบัญญัติ การกำหนด การเปิดเผย การจำแนก ทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ นี้ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงคบสารีบุตรและโมคคัลลานะ เธอทั้งหลาย จงคบสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นภิกษุฉลาด เป็นผู้อนุเคราะห์๑- เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย สารีบุตรเปรียบเหมือนผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำใน โสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำในประโยชน์ที่สูงสุด สารีบุตรสามารถที่จะ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ ได้โดย พิสดาร พระผู้มีพระภาคผู้สุคตครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงทรงลุกขึ้นจาก พุทธอาสน์ เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ [๓๗๒] ขณะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปแล้วไม่นาน ท่านพระ สารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น รับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวเรื่องนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมจักรอันยอดเยี่ยมพระตถาคตผู้เป็นอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกให้หมุนกลับไม่ได้ คือ การบอก การแสดง การบัญญัติ การกำหนด การเปิดเผย การจำแนก การทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ @เชิงอรรถ : @๑ อนุเคราะห์ ในที่นี้หมายถึงการอนุเคราะห์ ๒ อย่าง คือ (๑) การอนุเคราะห์ด้วยอามิส @(๒) การอนุเคราะห์ด้วยธรรม (ม.อุ.อ. ๓/๓๗๑/๒๒๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๑๗}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๑๑. สัจจวิภังคสูตร
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. การบอก การแสดง การบัญญัติ การกำหนด การเปิดเผย การจำแนก การทำให้ง่ายซึ่งทุกขอริยสัจ ๒. การบอก การแสดง การบัญญัติ การกำหนด การเปิดเผย การจำแนก การทำให้ง่ายซึ่งทุกขสมุทยอริยสัจ ๓. การบอก การแสดง การบัญญัติ การกำหนด การเปิดเผย การจำแนก การทำให้ง่ายซึ่งทุกขนิโรธอริยสัจ ๔. การบอก การแสดง การบัญญัติ การกำหนด การเปิดเผย การจำแนก การทำให้ง่ายซึ่งทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ [๓๗๓] ทุกขอริยสัจ (อริยสัจคือทุกข์) เป็นอย่างไร คือ ชาติ เป็นทุกข์ ชรา เป็นทุกข์ มรณะ เป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์๑- ชาติ เป็นอย่างไร คือ ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิดเฉพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่า ชาติ๒- ชรา เป็นอย่างไร คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมี หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของ เหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่า ชรา๓- @เชิงอรรถ : @๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๔/๒๑, ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๑/๘๖ @๒ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๘๗/๓๒๔, ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๓/๘๘, สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒/๔ @๓ ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๒/๘๗, สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒/๔, ๒๗/๕๒-๕๓, ๒๘/๕๔-๕๕, ๓๓/๗๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๑๘}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๑๑. สัจจวิภังคสูตร
มรณะ เป็นอย่างไร คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป จากหมู่สัตว์นั้นๆ ความทำลายไป ความหายไป ความตายกล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ของสัตว์เหล่านั้นๆ นี้เรียกว่า มรณะ๑- โสกะ เป็นอย่างไร คือ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก ความแห้งผากภายใน ความแห้งกรอบภายใน ของผู้ที่ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า โสกะ๒- ปริเทวะ เป็นอย่างไร คือ ความร้องไห้ ความคร่ำครวญ กิริยาที่ร้องไห้ กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะ ที่ร้องไห้ ภาวะที่คร่ำครวญ ของผู้ที่ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า ปริเทวะ๓- ทุกข์ เป็นอย่างไร คือ ความทุกข์ทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ ไม่สำราญ อันเกิดจากกายสัมผัส นี้เรียกว่า ทุกข์๔- @เชิงอรรถ : @๑ ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๒/๘๘, สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒/๔, ๒๗/๕๒-๕๓, ๒๘/๕๔-๕๕, ๓๓/๗๐, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๑/๑๕๐ @๒ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๔/๑๕๕, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๖ @๓ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๔/๑๕๕, ๙๗/๒๙๘, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๖ @๔ ดูเทียบ อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๕๕๙/๑๖๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๑๙}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๑๑. สัจจวิภังคสูตร
โทมนัส เป็นอย่างไร คือ ความทุกข์ทางใจ ความไม่สำราญทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ ไม่สำราญ อันเกิดจากมโนสัมผัส นี้เรียกว่า โทมนัส๑- อุปายาส เป็นอย่างไร คือ ความแค้น ความคับแค้น ภาวะที่แค้น ภาวะที่คับแค้น ของผู้ที่ ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใด อย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า อุปายาส การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร คือ หมู่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ เราทั้งหลายจึงจักไม่มีความเกิดเป็นธรรมดา หรือความเกิดไม่พึงมาถึง เราทั้งหลาย แต่ความปรารถนานี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่าการไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เป็นทุกข์ หมู่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา .... หมู่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา ... หมู่สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ... หมู่สัตว์ผู้มีความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นเป็นธรรมดา ต่างก็เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ เราทั้งหลายจึงจักไม่มีความเศร้าโศรก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นเป็นธรรมดา ขอความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นไม่พึงมาถึงเราทั้งหลาย แต่ความปรารถนานี้ไม่ พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่าการไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เป็นทุกข์ @เชิงอรรถ : @๑ ดูเทียบ อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๔๑๗/๑๒๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๒๐}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๑๑. สัจจวิภังคสูตร
โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นอย่างไร คือ ๑. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป) ๒. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา) ๓. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา) ๔. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร) ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ) เหล่านี้เรียกโดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ [๓๗๔] ทุกขสมุทยอริยสัจ (อริยสัจคือเหตุเกิดแห่งทุกข์) เป็นอย่างไร คือ ตัณหานี้เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี เป็นเหตุ เพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา๑- นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ (อริยสัจคือความดับทุกข์) เป็นอย่างไร คือ ความสำรอกและความดับโดยไม่เหลือ ความปล่อยวาง ความสละคืน ความพ้น ความไม่ติดอยู่ นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจอริยมรรคมีองค์ ๘ [๓๗๕] ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ (อริยสัจคือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ ทุกข์) เป็นอย่างไร @เชิงอรรถ : @๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๔/๒๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๒๑}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๑๑. สัจจวิภังคสูตร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นแล ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ ๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ ๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ ๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ๑- สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร คือ ความรู้ในทุกข์(ความทุกข์) ความรู้ในทุกขสมุทัย(เหตุเกิดแห่งทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(ข้อปฏิบัติให้ ถึงความดับทุกข์) นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริ ในการไม่เบียดเบียน นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา เป็นอย่างไร คือ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร คือ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการลักทรัพย์ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการประพฤติผิดในกาม นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ @เชิงอรรถ : @๑ ดูเทียบ ข้อ ๓๒๕ (อรณวิภังคสูตร) หน้า ๓๙๒ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๒๒}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๑๑. สัจจวิภังคสูตร
สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ละมิจฉาอาชีวะแล้ว เลี้ยงชีพด้วย สัมมาอาชีวะ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ยัง ฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อละบาปอกุศล ธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิยโยภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติพิจารณา เห็นกายในกายอยู่ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาใน เวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ เป็นผู้มีความเพียร มี สัมปชัญญะ มีสติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ พึงกำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกได้ นี้เรียกว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๒๓}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]
๑๒. ทักขิณาวิภังคสูตร
ระงับไป ภิกษุนั้นจึงบรรลุทุติยฌาน ที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง ผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ ... บรรลุตติยฌาน ... บรรลุจตุตถฌานอยู่ นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ๑- ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระธรรมจักรอันยอดเยี่ยมพระตถาคตผู้เป็นอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประกาศไว้แล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุง พาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกให้ หมุนกลับไม่ได้๒- คือ ทรงบอก ทรงแสดง ทรงบัญญัติ ทรงกำหนด ทรงเปิดเผย ทรงจำแนก ทรงทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ นี้ ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิต ของท่านพระสารีบุตร ดังนี้แลสัจจวิภังคสูตรที่ ๑๑ จบ ๑๒. ทักขิณาวิภังคสูตร ว่าด้วยการจำแนกทักษิณาทาน [๓๗๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ สมัยนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงถือผ้าใหม่คู่หนึ่ง เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉัน กรอด้ายเอง ทอเอง ตั้งใจอุทิศถวายพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรง อาศัยความอนุเคราะห์ รับผ้าใหม่คู่นั้นของหม่อมฉันเถิด @เชิงอรรถ : @๑ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๘๗-๔๐๒/๓๒๔-๓๓๗, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓-๓๖/๕๐-๕๖, @อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๙๐-๒๐๕/๑๖๓-๑๗๓ @๒ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๗/๒๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๒๔}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๑๖-๔๒๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=14&A=12210 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=14&siri=41 อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=9020&Z=9160&pagebreak=0 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=698 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_14 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14 https://84000.org/tipitaka/english/?index_14
บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]