ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
๘. ตายนสูตร
ว่าด้วยตายนเทพบุตร
[๘๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป ตายนเทพบุตรผู้เคยเป็นเจ้าลัทธิมาก่อน มีวรรณะ งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มี พระภาคว่า @เชิงอรรถ : @ ที่คับขัน หมายถึงที่คับขัน ๒ อย่าง คือ (๑) ที่คับขันคือนิวรณ์ (๒) ที่คับขันคือกามคุณ แต่ในที่นี้ @หมายถึงที่คับขันคือนิวรณ์ (สํ.ส.อ. ๑/๘๘/๑๐๒) @ โอกาส ในที่นี้หมายถึงฌาน (สํ.ส.อ. ๑/๘๘/๑๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๙๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]

๑. ปฐมวรรค ๘. ตายนสูตร

พราหมณ์ ท่านจงพยายามตัดกระแส๑- จงบรรเทากามเสียเถิด เพราะหากมุนีไม่ละกาม ย่อมเข้าถึงความมีจิตแน่วแน่๒- ไม่ได้ ถ้าบุคคลจะทำความเพียร พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ พึงบากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่นคง เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติย่อหย่อน ย่อมโปรยธุลีคือกิเลสให้แปดเปื้อนยิ่งขึ้น ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า เพราะทำแล้วย่อมเดือดร้อนภายหลัง ความดีใดทำแล้วไม่เดือดร้อนภายหลัง ทำความดีนั้นดีกว่า หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือแน่นอน ฉันใด ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น กรรมที่ย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรที่เศร้าหมอง และพรหมจรรย์ที่พึงระลึกถึงด้วยความระแวงสงสัย ทั้ง ๓ นั้นไม่มีผลมาก๓- ตายนเทพบุตรครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำ ประทักษิณแล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง @เชิงอรรถ : @ กระแส ในที่นี้หมายถึงกระแสแห่งตัณหา (สํ.ส.อ. ๑/๘๙/๑๐๓) @ ความมีจิตแน่วแน่ หมายถึงฌาน (สํ.ส.อ. ๑/๘๙/๑๐๓) @ ดู ขุ.ธ. ๒๕/๓๑๑-๓๑๔/๗๐-๗๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๙๔}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]

๑. ปฐมวรรค ๘. ตายนสูตร

ครั้นเมื่อราตรีนั้นล่วงไปแล้ว พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ ตายนเทพบุตรผู้เคยเป็นเจ้าลัทธิมาก่อน มีวรรณะงดงาม ยิ่งนัก เมื่อราตรีผ่านไป เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาท แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของเราว่า พราหมณ์ ท่านจงพยายามตัดกระแส จงบรรเทากามเสียเถิด เพราะหากมุนีไม่ละกาม ย่อมเข้าถึงความมีจิตแน่วแน่ไม่ได้ ถ้าบุคคลจะทำความเพียร พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ พึงบากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่นคง เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติย่อหย่อน ย่อมโปรยธุลีคือกิเลสให้แปดเปื้อนยิ่งขึ้น ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า เพราะทำแล้วย่อมเดือดร้อนภายหลัง ความดีใดทำแล้วไม่เดือดร้อนภายหลัง ทำความดีนั้นดีกว่า หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือแน่นอน ฉันใด ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น กรรมที่ย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรที่เศร้าหมอง และพรหมจรรย์ที่พึงระลึกถึงด้วยความระแวงสงสัย ทั้ง ๓ นั้นไม่มีผลมาก ตายนเทพบุตรครั้นกล่าวดังนี้แล้วได้อภิวาทเรา กระทำประทักษิณแล้วหาย ตัวไป ณ ที่นั้นเอง เธอทั้งหลาย จงศึกษา เล่าเรียน ทรงจำตายนคาถาไว้ ภิกษุ ทั้งหลาย ตายนคาถาประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์๑-”
ตายนสูตรที่ ๘ จบ
@เชิงอรรถ : @ พรหมจรรย์ หมายถึงมรรคพรหมจรรย์ (สํ.ส.อ. ๑/๘๙/๑๐๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๙๕}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๙๓-๙๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=15&A=2450 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=15&siri=89              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=1505&Z=1552&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=238              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_15 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15 https://84000.org/tipitaka/english/?index_15


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]