ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
๓. ปุตตมังสสูตร
ว่าด้วยเนื้อบุตร
[๖๓] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ... “ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างนี้ เป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ ผู้เกิดแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ ๑. กวฬิงการาหาร ที่หยาบหรือละเอียด ๒. ผัสสาหาร ๓. มโนสัญเจตนาหาร ๔. วิญญาณาหาร อาหาร ๔ อย่างนี้ เป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว หรือเพื่อ อนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๑๙}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๗. มหาวรรค ๓. ปุตตมังสสูตร

กวฬิงการาหาร จะพึงเห็นได้อย่างไร คือ เปรียบเหมือนภรรยาสามีทั้งสอง ถือเอาเสบียงเล็กน้อย เดินทางกันดาร๑- เขาทั้งสองมีบุตรน้อย ๑ คนทั้งน่ารัก และน่าพอใจ ขณะที่พวกเขากำลังเดินทาง กันดาร เสบียงที่มีเพียงเล็กน้อยได้หมดสิ้นไป แต่ทางกันดารของพวกเขายังไม่ผ่านไป ยังเหลืออยู่ไกล ลำดับนั้น เขาทั้งสองตกลงกันว่า ‘เสบียงที่เหลืออยู่เล็กน้อย ได้หมด สิ้นไปแล้ว แต่ทางกันดารยังเหลืออยู่ไกล ทางที่ดี พวกเราช่วยกันฆ่าบุตรน้อย ที่น่า รักน่าพอใจคนนี้เสีย ทำเป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง บริโภคเนื้อบุตร ก็จะข้ามพ้นทาง กันดารที่เหลืออยู่ได้ เราทั้ง ๓ อย่าพินาศพร้อมกันเลย’ ต่อมา ภรรยาสามีทั้งสองนั้น ก็ฆ่าบุตรน้อยที่น่ารักน่าพอใจคนนั้น ทำเป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง บริโภคเนื้อบุตรนั้น แหละจึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นไปได้ พวกเขาบริโภคเนื้อบุตรไปพลาง ทุบอกไปพลาง รำพันว่า ‘บุตรน้อยอยู่ที่ไหน บุตรน้อยอยู่ที่ไหน’ เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ พวกเขาบริโภคเนื้อบุตรเป็นอาหาร เพื่อเล่น เพื่อความมัวเมา หรือเพื่อ ตกแต่ง เพื่อประดับร่างกายหรือ” “หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า” “พวกเขาบริโภคอาหารที่ปรุงจากเนื้อบุตรเพียงเพื่อจะข้ามทางกันดารให้พ้นหรือ” “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น เรากล่าวว่า ‘บุคคลพึงเห็น กวฬิงการาหาร (เปรียบเหมือนเนื้อบุตร)’ เมื่ออริยสาวกกำหนด๒- รู้กวฬิงการาหาร ได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ราคะซึ่งเกิดจากกามคุณ ๕ เมื่อกำหนดรู้ราคะซึ่งเกิดจาก กามคุณ ๕ ได้แล้ว สังโยชน์ที่เป็นเครื่องชักนำอริยสาวกให้มาสู่โลกนี้อีก ก็ไม่มี @เชิงอรรถ : @ ทางกันดาร ในที่นี้หมายถึงทางที่ข้ามยากและมีภัย ๕ อย่าง คือ (๑) ภัยจากโจร (๒) ภัยจากสัตว์ร้าย @(๓) ภัยจากอมนุษย์ เช่น พวกยักษ์ (๔) ภัยเพราะไม่มีน้ำ (๕) ภัยเพราะอาหารน้อย (สํ.นิ.อ. ๒/๖๓/๑๑๘) @ กำหนดรู้ ในที่นี้หมายถึงกำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ อย่าง คือ (๑) ญาตปริญญา การกำหนดรู้ขั้นรู้จัก @(๒) ตีรณปริญญา การกำหนดรู้ขั้นพิจารณา (๓) ปหานปริญญา การกำหนดรู้ขั้นละ (สํ.นิ.อ. ๒/๖๓/๑๒๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๒๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๗. มหาวรรค ๓. ปุตตมังสสูตร

ผัสสาหาร จะพึงเห็นได้อย่างไร คือ เปรียบเหมือนแม่โคที่ไม่มีหนังหุ้ม ถ้ายืนพิงฝาอยู่ ก็จะถูกฝูงสัตว์ที่อาศัย ฝาเจาะกิน ถ้ายืนพิงต้นไม้อยู่ ก็จะถูกฝูงสัตว์ที่อาศัยต้นไม้เจาะกิน ถ้าลงไปยืน แช่น้ำอยู่ ก็จะถูกฝูงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำกัดกิน ถ้ายืนอยู่ในที่แจ้ง ก็จะถูกฝูงสัตว์ ที่อาศัยอยู่ในอากาศเกาะจิกกิน ไม่ว่าแม่โคตัวที่ไม่มีหนังหุ้มตัวนั้นจะไปอาศัยอยู่ใน สถานที่ใดๆ ก็ตาม ก็ถูกจำพวกสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้นๆ กัดกินอยู่ร่ำไป อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น เรากล่าวว่า ‘บุคคลพึงเห็นผัสสาหาร (เปรียบเหมือน แม่โคที่ไม่มีหนังหุ้ม)’ เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้วก็เป็นอันกำหนดรู้ เวทนา ๓ ประการ เมื่อกำหนดรู้เวทนา ๓ ๑- ประการได้แล้ว เรากล่าวว่าไม่มีสิ่งใดที่ อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งไปกว่านี้ มโนสัญเจตนาหาร จะพึงเห็นได้อย่างไร คือ เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ลึกกว่าชั่วคน เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ไม่มีเปลว ไม่มีควัน ครั้งนั้นบุรุษคนหนึ่งต้องการมีชีวิตไม่อยากตาย รักสุขเกลียดทุกข์เดินมา บุรุษมีกำลัง ๒ คนจับแขนของเขาคนละข้างฉุดไปลงหลุมถ่านเพลิง ทันใดนั้น เขามี เจตนาปรารถนาตั้งใจจะไปให้ไกลจากหลุมถ่านเพลิง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขารู้ว่า ‘ถ้าเราจักตกหลุมถ่านเพลิงนี้ เราจักต้องตายหรือถึงทุกข์ ปางตาย เพราะเหตุนั้น’ อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น เรากล่าวว่า ‘บุคคลพึง เห็นมโนสัญเจตนาหาร (เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง)’ เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้มโน- สัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหา ๓ ๒- ประการ เมื่อกำหนดรู้ตัณหา ๓ ประการได้แล้ว เรากล่าวว่าไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งไปกว่านี้ @เชิงอรรถ : @ เวทนา ๓ ได้แก่ (๑) สุขเวทนา ความรู้สึกเป็นสุข (๒) ทุกขเวทนา ความรู้สึกเป็นทุกข์ (๓) อทุกขมสุขเวทนา @ความรู้สึกเฉยๆ หรือเรียกว่าอุเบกขาเวทนา ที่อริยสาวกกำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ ในผัสสาหารที่กำหนด @รู้แล้ว (ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๔, ๓๕๓/๒๔๔, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๗๐/๓๐๓, สํ.นิ.อ. ๒/๖๓/๑๒๗ @ ตัณหา ๓ ได้แก่ (๑) กามตัณหา(ความทะยานอยากในกาม) (๒) ภวตัณหา(ความทะยานอยากในภพ) @(๓) วิภวตัณหา(ความทะยานอยากในวิภพ) (สํ.นิ.อ. ๒/๖๓/๑๒๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๒๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๗. มหาวรรค ๓. ปุตตมังสสูตร

วิญญาณาหาร จะพึงเห็นได้อย่างไร คือ เปรียบเหมือนราชบุรุษทั้งหลายจับโจรผู้ประพฤติชั่วได้แล้ว จึงทูลแสดงแด่ พระราชาว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้เป็นโจรประพฤติชั่วต่อพระองค์ ขอจงทรงลงพระอาญา ตามที่ทรงพระราชประสงค์แก่โจรผู้นี้เถิด’ พระราชามีพระกระแสรับสั่งว่า ‘ท่านทั้งหลาย จงไปช่วยกันประหารมัน ด้วยหอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเช้า’ ราชบุรุษทั้งหลายก็ช่วยกันประหารนักโทษคนนั้น ด้วยหอก ๑๐๐ เล่มในเช้าวันนั้น ต่อมาในเวลาเที่ยงวัน พระราชาทรงซักถามราชบุรุษทั้งหลายว่า ‘ท่านทั้งหลาย นักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง’ ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า ‘เขายังมีชีวิตอยู่ พระพุทธเจ้าข้า’ จึงมี พระกระแสรับสั่งว่า ‘ท่านทั้งหลาย จงไปช่วยกันประหารมันด้วยหอก ๑๐๐ เล่ม ในเวลาเที่ยงวัน’ ราชบุรุษทั้งหลายก็ช่วยกันประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอก ๑๐๐ เล่ม ในเวลาเที่ยงวัน ต่อมาในเวลาเย็น พระราชาทรงซักถามราชบุรุษทั้งหลายอีกว่า ‘ท่านทั้งหลาย นักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง’ ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า ‘เขายังมีชีวิตอยู่ พระพุทธเจ้าข้า’ จึงมี พระกระแสรับสั่งว่า ‘ท่านทั้งหลาย จงไปช่วยกันประหารมันด้วยหอก ๑๐๐ เล่ม ในเวลาเย็น’ ราชบุรุษทั้งหลายก็ช่วยกันประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอก ๑๐๐ เล่ม ในเวลาเย็น เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ เมื่อเขาถูกประหารด้วยหอก ๓๐๐ เล่มตลอดทั้งวัน จะพึงได้เสวยทุกข์- โทมนัสซึ่งมีการประหารนั้นเป็นเหตุ มิใช่หรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๒๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๗. มหาวรรค ๔. อัตถิราคสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเขาถูกประหารแม้ด้วยหอก ๑ เล่ม ยังได้เสวย ทุกข์โทมนัสซึ่งมีการประหารนั้นเป็นเหตุ ไม่ต้องพูดถึงเมื่อถูกประหารด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม” “ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น เรากล่าวว่า ‘บุคคลพึงเห็น วิญญาณาหาร (เปรียบเหมือนนักโทษประหาร)’ เมื่ออริยสาวก กำหนดรู้วิญญาณา- หารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้ เมื่อกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งไปกว่านี้”
ปุตตมังสสูตรที่ ๓ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๑๑๙-๑๒๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=16&A=3304 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=16&siri=59              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=16&A=2620&Z=2696&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=240              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_16 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu16 https://84000.org/tipitaka/english/?index_16


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]