ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. สารณียวรรค ๗. โสปปสูตร

๗. โสปปสูตร
ว่าด้วยการนอนหลับ
[๑๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น๑- ใน เวลาเย็น เสด็จเข้าไปยังหอฉัน ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ แม้ท่านพระ สารีบุตรก็ออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็นแล้วเข้าไปยังหอฉัน ถวายอภิวาทพระผู้มี พระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร แม้ท่านพระโมคคัลลานะ แม้ท่านพระมหากัสสปะ แม้ท่านพระมหากัจจานะ แม้ท่านพระมหาโกฏฐิกะ แม้ท่านพระมหาจุนทะ แม้ท่าน พระมหากัปปินะ แม้ท่านพระอนุรุทธะ แม้ท่านพระเรวตะ แม้ท่านพระอานนท์ก็ ออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น แล้วเข้าไปยังหอฉัน ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงให้ราตรีผ่านไปนานด้วยการ ประทับนั่ง แล้วเสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่วิหาร เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จ หลีกไปไม่นาน แม้พระเถระเหล่านั้น ต่างก็ลุกจากอาสนะเข้าไปยังที่อยู่ของตน ส่วนพวกภิกษุใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ต่างก็เข้าไปสู่ที่อยู่ของตน นอนหลับกรนอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้น พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุ เหล่านั้นผู้นอนหลับกรนอยู่ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ แล้วเสด็จเข้าไป ยังหอฉัน ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรไปไหน โมคคัลลานะไปไหน มหากัสสปะไปไหน มหากัจจายนะไปไหน มหาโกฏฐิกะไปไหน มหาจุนทะไปไหน มหากัปปินะไปไหน อนุรุทธะไปไหน เรวตะไปไหน อานนท์ไปไหน สาวกชั้นเถระเหล่านั้นไปไหน” ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จ หลีกไปไม่นาน พระเถระเหล่านั้นต่างก็ลุกจากอาสนะเข้าไปยังที่อยู่ของตน” @เชิงอรรถ : @ ที่หลีกเร้น หมายถึงการอยู่ผู้เดียว การอยู่โดยเพ่งพินิจธรรม หรือการอยู่ด้วยผลสมาบัติ (สํ.สฬา.อ. @๓/๘๗/๒๐, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๗/๑๐๖-๑๐๗) อีกนัยหนึ่ง หมายถึงการทำนิพพานที่สงบให้เป็นอารมณ์ @เข้าผลสมาบัติในเวลาเช้า (ตามนัย วิ.อ. ๑/๒๒/๒๐๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๔๓๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. สารณียวรรค ๗. โสปปสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเป็นเถระหรือหนอ เธอทั้งหลายเป็นภิกษุใหม่นอนหลับกรนอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้น เธอทั้งหลายเข้าใจ เรื่องนั้นอย่างไร เธอทั้งหลายเคยได้เห็นหรือเคยได้ยินบ้างไหมว่า ‘กษัตราธิราชได้รับ มูรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบความสุขในการบรรทม๑- ความสุขในการเอกเขนก๒- ความสุขในการหลับอยู่ตามพระประสงค์ ครองราชย์จนตลอดพระชนมชีพ ย่อมเป็น ที่รัก เป็นที่พอใจของชาวชนบท” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นแม้เราก็ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้ยินมาเลยว่า ‘กษัตราธิราชได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบความสุขใน การบรรทม ความสุขในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ตามพระประสงค์ ครองราชย์จนตลอดพระชนมชีพ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของชาวชนบท ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เธอทั้งหลายเคยได้เห็นหรือ เคยได้ยินมาบ้างไหมว่า “ท่านผู้ครองรัฐ ฯลฯ ท่านผู้เป็นทายาทของตระกูล ฯลฯ ท่านผู้เป็นเสนาบดี ฯลฯ ท่านผู้ครองหมู่บ้าน ฯลฯ ท่านผู้เป็นหัวหน้าคณะ ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ตาม ความประสงค์ ปกครองหมู่คณะจนตลอดชีวิต ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของหมู่คณะ” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นแม้เราก็ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้ยินมาเลยว่า ‘ท่านผู้เป็นหัวหน้าคณะประกอบความสุขในการนอน ความสุข ในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ตามความประสงค์ ปกครองหมู่คณะจน ตลอดชีวิต ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของหมู่คณะ’ @เชิงอรรถ : @ ความสุขในการบรรทม หมายถึงความสุขที่เกิดจากการนอนบนพระแท่นบรรทม หรือการแปรพระราช @ฐานพักผ่อนตามฤดู (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒๐๖/๘๖) @ ความสุขในการเอกเขนก หมายถึงความสุขในการบรรทมพลิกกลับไปมา (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒๐๖/๘๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๔๔๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

๒. สารณียวรรค ๗. โสปปสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอทั้งหลายเคยได้เห็นหรือ เคยได้ยินมาบ้างไหมว่า สมณะหรือพราหมณ์ประกอบความสุขในการนอน ความสุข ในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ตามความประสงค์ ไม่คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่หมั่นประกอบความเพียรเป็น เครื่องตื่นอยู่ ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่หมั่นประกอบความเพียรในการ เจริญโพธิปักขิยธรรม๑- ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งราตรีแล้วทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน ปัจจุบัน” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นแม้เราก็ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้ยินมาเลยว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์ประกอบความสุขในการนอน ความสุข ในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ตามความประสงค์ ไม่คุ้มครองทวารใน อินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่หมั่นประกอบความเพียรเครื่อง ตื่นอยู่ ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่หมั่นประกอบความเพียรในการเจริญ โพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งราตรี ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา- วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักคุ้มครอง ทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย จักเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค จักเป็นผู้หมั่น ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ จักเป็นผู้เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย จักเป็นผู้ หมั่นประกอบความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่ง ราตรีอยู่’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
โสปปสูตรที่ ๗ จบ
@เชิงอรรถ : @ โพธิปักขิยธรรม หมายถึงธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ มี ๓๗ ประการ คือ (๑) สติปัฏฐาน ๔ @(๒) สัมมัปปธาน ๔ (๓) อิทธิบาท ๔ (๔) อินทรีย์ ๕ (๕) พละ ๕ (๖) โพชฌงค์ ๗ (๗) มรรคมีองค์ ๘ @ดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๐/๑๗๔, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๕๒๒/๓๙๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๔๔๑}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๔๓๙-๔๔๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=22&A=12315 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=22&siri=268              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=7081&Z=7142&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=288              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_22 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu22 https://84000.org/tipitaka/english/?index_22


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]