ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๕. เกสปุตติสูตร

กาลามะทั้งหลาย เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า “ธรรมเหล่านี้ เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือ ปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข” เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้า ถึง(ธรรมเหล่านั้น)อยู่ กาลามะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ อโลภะ(ความไม่ อยากได้) เมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล” “เกื้อกูล พระพุทธเจ้าข้า” “กาลามะทั้งหลาย ก็บุรุษบุคคลผู้ไม่มีโลภะนี้ ไม่ถูกโลภะครอบงำ มีจิตไม่ถูก โลภะกลุ้มรุม ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวน ผู้อื่นเพื่อสิ่งที่เกื้อกูล เพื่อสุขบ้างหรือ” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “กาลามะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ อโทสะ(ความไม่คิด ประทุษร้าย) เมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล” “เกื้อกูล พระพุทธเจ้าข้า” “กาลามะทั้งหลาย ก็บุรุษบุคคลผู้ไม่มีโทสะนี้ ไม่ถูกโทสะครอบงำ มีจิตไม่ถูก โทสะกลุ้มรุม ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวน ผู้อื่นเพื่อสิ่งที่เกื้อกูล เพื่อสุขบ้างหรือ” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “กาลามะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ อโมหะ(ความไม่ หลง) เมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล” “เกื้อกูล พระพุทธเจ้าข้า” “กาลามะทั้งหลาย ก็บุรุษบุคคลผู้ไม่มีโมหะนี้ ไม่ถูกโมหะครอบงำ มีจิตไม่ถูก โมหะกลุ้มรุม ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวน ผู้อื่นเพื่อสิ่งที่เกื้อกูล เพื่อสุขบ้างหรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๒๖๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๕. เกสปุตติสูตร

“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “กาลามะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือธรรมเหล่านี้เป็น กุศลหรือเป็นอกุศล” “เป็นกุศล พระพุทธเจ้าข้า” “เป็นธรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ” “เป็นธรรมที่ไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า” “เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียนหรือผู้รู้สรรเสริญ” “เป็นธรรมที่ผู้รู้สรรเสริญ พระพุทธเจ้าข้า” “ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข หรือไม่ หรือท่านทั้งหลายมีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างไร” “ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า กาลามะทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แล เราจึงได้กล่าวไว้ว่า มาเถิด กาลามะทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๒๖๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๕. เกสปุตติสูตร

กาลามะทั้งหลาย เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือ ปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้า ถึง(ธรรมเหล่านั้น)อยู่ เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้นั้น เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น กาลามะทั้งหลาย อริยสาวกนั้นปราศจากอภิชฌา ปราศจากพยาบาท ไม่ ลุ่มหลง มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ เบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ฯลฯ มีมุทิตาจิต ฯลฯ มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่ว ทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ กาลามะทั้งหลาย อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่พยาบาทอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้ เธอบรรลุความเบาใจ ๔ ประการใน ปัจจุบัน คือ ๑. ถ้าโลกหน้ามี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี เป็นไปได้ที่เรื่อง นั้นจะเป็นเหตุให้เราหลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ นี้คือ ความเบาใจประการที่ ๑ ที่อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว ๒. ถ้าโลกหน้าไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี เราก็รักษา ตนไม่ให้มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่ให้มีทุกข์ ให้มีสุขในปัจจุบันใน โลกนี้ได้ นี้คือความเบาใจประการที่ ๒ ที่อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว ๓. ถ้าบุคคลเมื่อทำบาปก็ชื่อว่าทำบาป เราไม่เจาะจงบาปไว้เพื่อใครๆ เลย เมื่อเราไม่ทำบาปเลย ความทุกข์จะถูกต้องเราได้อย่างไร นี้คือความ เบาใจประการที่ ๓ ที่อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว ๔. ถ้าบุคคลเมื่อทำบาปก็ชื่อว่าไม่ทำบาป เราก็พิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ ทั้ง ๒ ส่วนในโลกนี้ นี้คือความเบาใจประการที่ ๔ ที่อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๒๖๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๒. มหาวรรค ๕. เกสปุตติสูตร

กาลามะทั้งหลาย อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่พยาบาทอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้ อริยสาวกนั้นชื่อว่าบรรลุความเบาใจ ๔ ประการนี้ในปัจจุบัน พวกกาลามะกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนั้นเป็นอย่างนี้ ข้าแต่ พระสุคต เรื่องนั้นเป็นอย่างนี้ พระอริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่พยาบาท อย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้ พระอริยสาวกนั้นบรรลุ ความเบาใจ ๔ ประการในปัจจุบัน คือ ๑. ถ้าโลกหน้ามี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี เป็นไปได้ที่เรื่อง นั้นจะเป็นเหตุให้เราหลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ นี้คือ ความเบาใจประการที่ ๑ ที่พระอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว ๒. ถ้าโลกหน้าไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี เราก็รักษาตน ไม่ให้มีเวร ไม่ให้มีความเบียดเบียน ไม่ให้มีทุกข์ ให้มีสุขในปัจจุบันใน โลกนี้ได้ นี้คือความเบาใจประการที่ ๒ ที่พระอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว ๓. ถ้าบุคคลเมื่อทำบาปก็ชื่อว่าทำบาป เราไม่เจาะจงบาปไว้เพื่อใครๆ เลย เมื่อเราไม่ทำบาปเลย ความทุกข์จะถูกต้องเราได้อย่างไร นี้คือ ความเบาใจประการที่ ๓ ที่พระอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว ๔. ถ้าบุคคลเมื่อทำบาปก็ชื่อว่าไม่ทำบาป เราก็พิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ ทั้ง ๒ ส่วนในโลกนี้ นี้คือความเบาใจประการที่ ๔ ที่พระอริยสาวก นั้นบรรลุแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่พยาบาท อย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้ พระอริยสาวกนั้นชื่อว่าบรรลุ ความเบาใจ ๔ ประการนี้ในปัจจุบัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็น สรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต
เกสปุตติสูตรที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๒๖๓}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๒๖๐-๒๖๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=20&A=7332&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=20&siri=110              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=4930&Z=5092&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=505              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=20&item=505&items=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=20&item=505&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu20

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]