ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๓. ตติยอธัมมสูตร

ผู้มีอายุ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหลีกไปไม่นาน พวกกระผมได้ปรึกษากันว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทสนี้โดยย่อว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้ง สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็น ธรรมและเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจาก พุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร ใครหนอจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มี พระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้ ผู้มีอายุ พวกกระผมได้มีความเห็นร่วมกันว่า ‘ท่านอานนท์นี้แล พระศาสดา ทรงสรรเสริญแล้ว และเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็ยกย่อง ท่านสามารถจะจำแนก เนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดย พิสดารนี้ให้พิสดารได้ ทางที่ดี พวกเราควรจะเข้าไปหาท่านอานนท์ถึงที่อยู่แล้ว เรียนถามเนื้อความนี้กับท่าน และจักทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตามที่ท่านตอบแก่ พวกเรา’ ขอท่านอานนท์จงจำแนกเถิด” ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อพระศาสดาประทับอยู่เฉพาะ หน้าผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายละเลยพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสีย สำคัญ เนื้อความนี้ว่าควรถามข้าพเจ้า เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นมีอยู่ ก็มองข้ามรากและลำต้นไปเสีย สำคัญกิ่งและใบว่าเป็นแก่นไม้ที่ตนพึงแสวงหา พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้มี พระจักษุ๑- มีพระญาณ มีพระธรรม๒- เป็นผู้ประเสริฐ๓- ตรัสบอกได้๔- ทรงให้เป็นไปได้๕- @เชิงอรรถ : @ มีพระจักษุ หมายถึงมีพระปัญญาจักษุโดยทรงเป็นผู้นำของชาวโลกในการเห็นธรรมด้วยพระสยัมภูญาณ @ มีพระธรรม หมายถึงทรงแสดงธรรมให้ปริยัติธรรมเป็นไปได้ หรือทรงให้โพธิปักขิยธรรม (ธรรมอันเป็น @ฝ่ายแห่งการตรัสรู้) ๓๗ ประการ ได้แก่ (๑) สติปัฏฐาน ๔ (๒) สัมมัปปธาน ๔ (๓) อิทธิบาท ๔ (๔) อินทรีย์ @๕ (๕) พละ ๕ (๖) โพชฌงค์ ๗ (๗) มรรคมีองค์ ๘ (องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๑๓๓-๑๑๖/๔๓๘) @ เป็นผู้ประเสริฐ หมายถึงทรงบรรลุพระสยัมภูญาณแล้วแสดงอริยมรรคแก่ชาวโลก @(องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๑๓๓-๑๑๖/๔๓๙) @ ตรัสบอกได้ ในที่นี้หมายถึงตรัสบอกอริยสัจ ๔ ได้ (องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๑๑๓-๑๑๖/๔๓๙) @ ทรงให้เป็นไปได้ หมายถึงตรัสบอกให้รู้แจ้งอริยสัจ ๔ (องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๑๑๓-๑๑๖/๔๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๒๖๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๓. ตติยอธัมมสูตร

ทรงแสดงประโยชน์๑- ประทานอมตธรรม๒- เป็นเจ้าของธรรม๓- เป็นพระตถาคต ทรงรู้ ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ก็เวลานี้แล เป็นเวลาสมควรที่ท่าน ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามเนื้อความนี้ พึงทรงจำเนื้อความ นั้นไว้ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตอบแก่ท่านทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นเรียนว่า “ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นผู้มี พระจักษุ มีพระญาณ มีพระธรรม เป็นผู้ประเสริฐ ตรัสบอกได้ ทรงให้เป็นไปได้ ทรง แสดงประโยชน์ ประทานอมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต ทรงรู้ธรรมที่ ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ก็เวลานี้แล เป็นเวลาสมควรที่กระผมทั้งหลายพึง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามเนื้อความนี้ และทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตามที่ พระผู้มีพระภาคทรงตอบแก่พวกกระผมอย่างแน่นอน ท่านอานนท์เอง พระศาสดา ทรงสรรเสริญ และเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็ยกย่อง ย่อมสามารถจะจำแนก เนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดย พิสดารนี้ให้พิสดารได้ ถ้าท่านอานนท์ไม่มีความหนักใจแล้ว ขอจงจำแนกเถิด” พระอานนท์กล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ขอท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ข้าพเจ้าจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าว เรื่องนี้ว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทสโดยย่อว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้ง สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็น ธรรมและเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจาก พุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร @เชิงอรรถ : @ ทรงแสดงประโยชน์ หมายถึงทรงให้สรรพสัตว์พ้นจากความทุกข์ ความบีบคั้นโดยให้บรรลุพระนิพพาน @อันเป็นประโยชน์ยอดเยี่ยม (องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๑๑๓-๑๑๖/๔๓๙) @ ประทานอมตธรรม หมายถึงทรงแสดงข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุ เพื่อรู้แจ้งอมตธรรมแก่สรรพสัตว์ @(องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๑๑๓-๑๑๖/๔๓๙) @ เป็นเจ้าของธรรม หมายถึงเป็นเจ้าของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๑๑๓-๑๑๖/๔๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๒๖๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๓. ตติยอธัมมสูตร

สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็น ประโยชน์ อะไรบ้าง คือ ๑. มิจฉาทิฏฐิเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาทิฏฐิเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาป อกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่เพราะ สัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ๒. มิจฉาสังกัปปะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาสังกัปปะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ... ๓. มิจฉาวาจาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาวาจาเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ... ๔. มิจฉากัมมันตะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมากัมมันตะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ... ๕. มิจฉาอาชีวะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาอาชีวะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ... ๖. มิจฉาวายามะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาวายามะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ... ๗. มิจฉาสติเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาสติเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ... ๘. มิจฉาสมาธิเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาสมาธิเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ... ๙. มิจฉาญาณะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาญาณะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...๑- ๑๐. มิจฉาวิมุตติเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาวิมุตติเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาป อกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่เพราะ สัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทสโดยย่อว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็น ประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรมและ เป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะเข้าไป ยังพระวิหาร ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมรู้เนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดยพิสดารนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้ ก็ท่านทั้งหลาย @เชิงอรรถ : @ ดูความเต็มในข้อ ๑๑๔ (ทุติยอธัมมสูตร) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๒๖๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๓. ตติยอธัมมสูตร

เมื่อหวังอยู่ พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามเนื้อความนี้เถิด ขอท่าน ทั้งหลายพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตอบแก่ท่านทั้งหลายเถิด” ภิกษุเหล่านั้นกล่าวรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของท่าน พระอานนท์แล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสไว้โดยย่อว่า ‘ภิกษุ ทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้งสิ่งที่ ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์ เข้าไปยังพระวิหาร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหลีกไปไม่นาน ข้าพระองค์ ทั้งหลายได้ปรึกษากันว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสไว้โดยย่อ ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบ ทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่ เป็นธรรมและเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจาก พุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร ใครหนอจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มี พระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านั้นได้มีความเห็นร่วมกันว่า ‘ท่าน อานนท์นี้แล พระศาสดาทรงสรรเสริญแล้ว และเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็ยกย่อง ท่านสามารถจะจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ ทรงจำแนกไว้โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้ ทางที่ดี พวกเราควรจะเข้าไปหาท่าน อานนท์ถึงที่อยู่แล้วเรียนถามเนื้อความนี้กับท่าน และจักทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตาม ที่ท่านตอบแก่พวกเรา’ ครั้นแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงเข้าไปหาท่านอานนท์ถึง ที่อยู่แล้วเรียนถามเนื้อความนี้ ท่านอานนท์ได้จำแนกเนื้อความอย่างชัดเจนแก่ข้า พระองค์ทั้งหลายด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า : ๒๖๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๔. อชิตสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ดีละ ดีละ อานนท์เป็นบัณฑิต มี ปัญญามาก แม้หากเธอทั้งหลายพึงเข้ามาหาเราแล้วถามเนื้อความนี้ ถึงเราเองก็พึง ตอบเนื้อความนี้อย่างที่อานนท์ได้ตอบแล้วนั่นเอง นี้แลเป็นเนื้อความแห่งอุทเทสนั้น และเธอทั้งหลายพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้นเถิด”
ตติยอธัมมสูตรที่ ๓ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๒๖๒-๒๖๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=24&A=7504&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=24&siri=113              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=24&A=5218&Z=5349&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=115              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=24&item=115&items=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=24&item=115&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu24

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]