ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๒. อุทายีเถรคาถา
ภาษิตของพระอุทายีเถระ
(พระอุทายีเถระเมื่อจะชมเชยพระศาสดา ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๖๘๙] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงบังเกิดในหมู่มนุษย์ ฝึกฝนพระองค์แล้ว มีพระหฤทัยตั้งมั่น ทรงดำเนินไปในทางที่ประเสริฐ ทรงยินดีในธรรมเป็นที่สงบระงับจิต [๖๙๐] ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวงพระองค์ใดที่มนุษย์ทั้งหลาย นอบน้อม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแม้เทวดาทั้งหลายก็ นอบน้อม ข้าพเจ้าฟังมาแต่พระอรหันต์ทั้งหลายดังว่ามานี้ [๖๙๑] เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ใด ผู้ทรงล่วงสังโยชน์ทั้งปวง เสด็จออกจากป่า๑- มาสู่ นิพพาน เสด็จออกจากกามมายินดีในเนกขัมมะ เหมือนทองคำที่ พ้นจากหิน [๖๙๒] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล เป็นดุจช้างตัวประเสริฐ ทรงรุ่งเรืองล่วงโลกพร้อมทั้งเทวโลก ดุจภูเขาหิมวันต์เหนือภูเขา ศิลาเหล่าอื่น ทรงมีพระนามว่านาคโดยแท้จริง ทรงยอดเยี่ยม กว่าผู้ที่มีนามว่านาคทั้งหมด @เชิงอรรถ : @ กิเลส (ขุ.เถร.อ. ๒/๖๙๑/๒๘๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๕. โสฬสกนิบาต]

๒. อุทายีเถรคาถา

[๖๙๓] เราจะแสดงผู้ที่ได้นามว่านาคโดยแท้จริงนั้นแก่พวกท่าน เพราะผู้ที่ไม่ทำชั่วทุกอย่าง ชื่อว่านาค ความสงบเสงี่ยมและความไม่เบียดเบียนทั้ง ๒ นั้น เป็นเท้าหน้าของผู้ที่ได้นามว่า ช้าง [๖๙๔] สติ และสัมปชัญญะทั้ง ๒ นั้น เป็นเท้าหลังของผู้ที่ได้นามว่าช้าง ผู้ที่ได้นามว่าพญาช้าง มีศรัทธาเป็นงวง มีอุเบกขาเป็นงาขาว [๖๙๕] มีสติเป็นคอ มีปัญญาเครื่องพิจารณาค้นคว้าธรรมเป็นเศียร มีธรรมคือสมถะและวิปัสสนาซึ่งเป็นที่รวมอยู่แห่งปัญญาเป็นท้อง มีวิเวกเป็นหาง [๖๙๖] พญาช้างคือพระพุทธเจ้านั้นทรงเข้าฌานประจำ ทรงยินดีในนิพพาน มีพระหฤทัยตั้งมั่นดีภายใน เมื่อเสด็จพระราชดำเนิน ก็มีพระหฤทัยตั้งมั่น ประทับยืน ก็มีพระหฤทัยตั้งมั่น [๖๙๗] เมื่อบรรทม ก็มีพระหฤทัยตั้งมั่น แม้ประทับนั่ง ก็มีพระหฤทัยตั้งมั่น ทรงสำรวมทุกอย่าง นี้เป็นคุณสมบัติของพญาช้างคือพระพุทธเจ้า [๖๙๘] พญาช้าง คือพระพุทธเจ้านั้น บริโภคสิ่งที่ไม่มีโทษ ไม่บริโภคสิ่งที่มีโทษ ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มแล้วงดการสั่งสม [๖๙๙] ตัดสังโยชน์ กิเลสเครื่องผูกพันน้อยใหญ่ทั้งหมด ไม่มีความห่วงใยเลย ไปได้ทุกทิศ [๗๐๐] ดอกบัวขาวมีกลิ่นหอมหวน ชวนให้รื่นรมย์ใจเกิดก็ในน้ำ เติบโตก็ในน้ำ แต่ไม่ติดอยู่กับน้ำ แม้ฉันใด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๕. โสฬสกนิบาต]

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต

[๗๐๑] พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลก ทั้งทรงอยู่ในโลก ก็ไม่ทรงติดอยู่กับโลก เหมือนดอกบัวไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน [๗๐๒] ไฟกองใหญ่ที่ลุกโชน เมื่อหมดเชื้อก็ดับไป ถึงเมื่อยังมีเถ้าอยู่ เขาก็เรียกว่า ไฟดับ [๗๐๓] อุปมาที่ให้รู้แจ่มแจ้งเนื้อความข้อนี้ วิญญูชนทั้งหลายแสดงไว้แล้ว ท่านผู้ที่มีนามว่ามหานาคทั้งหลายจะรู้แจ้งพญาช้างคือพระพุทธเจ้า อันเราผู้ได้นามว่านาคแสดงไว้แล้ว [๗๐๔] พญาช้างคือพระพุทธเจ้า ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ หมดอาสวะ เมื่อทรงละพระวรกาย จะไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน
โสฬสกนิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
พระเถระ ๒ รูปนี้ มีฤทธิ์มาก คือ ๑. พระอัญญาโกณฑัญญะเถระ ๒. พระอุทายีเถระ ในโสฬสกนิบาตนี้ มี ๓๒ คาถา ฉะนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๕๙}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๔๕๗-๔๕๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=26&A=12708&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=26&siri=384              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=7327&Z=7365&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=384              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=384&items=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=384&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]