ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ

[๒๒๘๔] แผ่นดินก็บันลือลั่นแก่พระองค์ กิตติศัพท์ของพระองค์บันลือไปถึงสวรรค์ชั้นไตรทิพย์ สายฟ้าก็แลบแปลบปลาบอยู่โดยรอบ ดังสะท้านปานประหนึ่งว่าภูเขาถล่มทลาย [๒๒๘๕] เทพเจ้าทั้ง ๒ หมู่ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขานารทะ ต่างถวายอนุโมทนาแด่พระเวสสันดรนั้นว่า พระอินทร์ พระพรหม ท้าวประชาบดี พระโสม ยมยักษ์ ท้าวเวสสุวรรณมหาราชและทวยเทพทั้งมวล ต่างก็ถวายอนุโมทนาว่า พระองค์ทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยากแท้ [๒๒๘๖] สัตบุรุษทั้งหลายเมื่อจะให้ทานชื่อว่าให้ได้ยาก๑- เมื่อจะทำกรรมก็ชื่อว่าทำได้ยาก ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายพวกอสัตบุรุษรู้ได้ยาก [๒๒๘๗] เพราะฉะนั้น สัตบุรุษและอสัตบุรุษ จึงมีคติที่ไปจากโลกนี้ต่างกัน คือ พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษย่อมไปสู่สวรรค์ [๒๒๘๘] การที่พระองค์เสด็จมาประทับอยู่ในป่า ได้พระราชทานพระกุมารทั้งหลายและพระชายาให้เป็นทานนี้ ชื่อว่าเป็นยานอันประเสริฐ ไม่เป็นยานที่พาก้าวลงสู่อบายภูมิ ขอมหาทานของพระองค์จงเผล็ดผลในสวรรค์เถิด (ท้าวสักกะตรัสว่า) [๒๒๘๙] ข้าพเจ้าขอถวายพระนางมัทรีพระชายา ผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กายคืนแก่พระคุณเจ้า พระองค์เท่านั้นทรงเป็นผู้คู่ควรกับพระนางมัทรี และพระนางมัทรีก็เป็นผู้คู่ควรแก่พระสวามี [๒๒๙๐] น้ำนมและสังข์ทั้ง ๒ มีสีเหมือนกันฉันใด พระองค์และพระนางมัทรีก็ทรงมีพระทัยเสมอเหมือนกันฉันนั้น @เชิงอรรถ : @ ดู ขุ.ชา. แปล ๒๗/๕๙-๖๐/๗๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ

[๒๒๙๑] ทั้ง ๒ พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้สมบูรณ์ด้วยพระโคตร เป็นอุภโตสุชาติ๑- ทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดา ทรงถูกเนรเทศจากแคว้นมาอยู่ ณ อาศรมในป่านี้ บุญทั้งหลายที่พระองค์กระทำมาแล้วฉันใด ขอพระองค์ทรงให้ทาน กระทำบุญอยู่ร่ำไปฉันนั้น [๒๒๙๒] ข้าแต่พระราชฤๅษี หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ มาในสำนักของพระองค์ ขอพระองค์ทรงเลือกรับพร หม่อมฉันขอถวายพร ๘ ประการแก่พระองค์ (พระเวสสันดรตรัสว่า) [๒๒๙๓] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ถ้าพระองค์จะประสาทพรแก่หม่อมฉัน ขอให้พระบิดาจงมารับหม่อมฉัน ขอพระบิดาทรงต้อนรับหม่อมฉัน ผู้ออกจากป่านี้ไปถึงเรือนของตนด้วยราชอาสน์ นี้เป็นพรประการที่ ๑ [๒๒๙๔] ขอให้หม่อมฉันไม่พึงชอบใจการฆ่าคน อนึ่ง แม้ผู้นั้นจะเป็นนักโทษถึงประหารชีวิต ผู้กระทำความผิดอย่างร้ายแรง ขอให้หม่อมฉันพึงได้ปลดปล่อยให้พ้นจากการถูกประหารชีวิต นี้เป็นพรประการที่ ๒ [๒๒๙๕] ขอให้ประชาชนทั้งหลายทั้งคนแก่ ทั้งเด็ก และคนปานกลาง พึงเข้ามาอาศัยหม่อมฉันเลี้ยงชีวิต นี้เป็นพรประการที่ ๓ @เชิงอรรถ : @ อุภโตสุชาติ หมายถึงมีวรรณะเสมอกัน คือ บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๒๑๙/๔๖๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ

[๒๒๙๖] ขอให้หม่อมฉันอย่าพึงล่วงละเมิดภรรยาผู้อื่น พอใจแต่ในภรรยาของตนไม่ไปสู่อำนาจของหญิงทั้งหลาย นี้เป็นพรประการที่ ๔ [๒๒๙๗] ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอให้บุตรของหม่อมฉันผู้พลัดพรากไปนั้น พึงมีอายุยืนนาน จงครอบครองแผ่นดินโดยธรรมเถิด นี้เป็นพรประการที่ ๕ [๒๒๙๘] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ขอให้อาหารทิพย์พึงปรากฏ นี้เป็นพรประการที่ ๖ [๒๒๙๙] เมื่อหม่อมฉันให้ทานอยู่ ขออย่าให้ไทยธรรมหมดสิ้นไป เมื่อกำลังให้ ขอให้หม่อมฉันพึงทำใจให้ผ่องใส ครั้นให้แล้ว ขออย่าให้หม่อมฉันได้เดือดร้อนใจในภายหลัง นี้เป็นพรประการที่ ๗ [๒๓๐๐] เมื่อพ้นจากอัตภาพนี้ไป ขอให้หม่อมฉันไปสู่สวรรค์ อันเป็นการไปพิเศษ ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก นี้เป็นพรประการที่ ๘ [๒๓๐๑] ครั้นได้สดับพระดำรัสของพระเวสสันดรแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสพระดำรัสดังนี้ว่า คงไม่นานนัก พระบิดาบังเกิดเกล้าของพระองค์ ก็คงจะเสด็จมาเยี่ยมพระองค์ [๒๓๐๒] ครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว ท้าวมฆวานสุชัมบดีเทวราช ก็ได้พระราชทานพรแก่พระเวสสันดรแล้ว เสด็จกลับไปสู่หมู่ชาวสวรรค์
กัณฑ์สักกบรรพ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

กัณฑ์มหาราช
(พระเจ้าสญชัยทอดพระเนตรเห็น ๒ กุมารจึงตรัสว่า) [๒๓๐๓] นั่นใครหนอ หน้างามยิ่งนักดังทองคำธรรมชาติ ที่นายช่างหล่อหลอมด้วยไฟ สีใสสุกปลั่ง ดังแท่งทองธรรมชาติที่ละลายคว้างอยู่ที่ปากเบ้า [๒๓๐๔] ทารกเหล่านี้มีอวัยวะคล้ายคลึงกัน มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ คนหนึ่งเหมือนพ่อชาลี อีกคนเหมือนแม่กัณหาชินา [๒๓๐๕] ทารกเหล่านี้มีรูปเสมอกันเหมือนราชสีห์ออกจากถ้ำทอง ทารกเหล่านี้ปรากฏเหมือนหล่อหลอม ด้วยทองคำธรรมชาติเลยทีเดียว [๒๓๐๖] ภารทวาชพราหมณ์ ท่านได้นำ ทารกเหล่านี้มาจากที่ไหนหนอ วันนี้ ท่านได้มาถึงแคว้นของเราแล้ว จะไปที่ไหนต่อไป (ชูชกกราบทูลว่า) [๒๓๐๗] ข้าแต่สมมติเทพ ทารกเหล่านี้มีผู้ให้แก่ข้าพระองค์ด้วยความพอใจ ตั้งแต่วันที่ได้ทารกเหล่านี้มา วันนี้เป็นคืนที่ ๑๕ (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๐๘] ด้วยวาจาไพเราะอะไรเล่า ท่านจึงได้ทารกเหล่านี้มา ท่านควรทำให้เราเชื่อโดยวิธีที่ชอบ ใครให้ปุตตทานอันสูงสุดนั้นแก่ท่าน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

(ชูชกกราบทูลว่า) [๒๓๐๙] พระราชาผู้ทรงเป็นที่พึ่งของพวกยาจกที่มาทูลขอ เป็นดังธรณีเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย คือพระเวสสันดรผู้เสด็จไปประทับอยู่ในป่า ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายแก่ข้าพระองค์ [๒๓๑๐] พระราชาผู้ทรงเป็นที่ต้องประสงค์ของพวกยาจกผู้มาทูลขอ เป็นดังสาครอันเป็นที่รองรับของแม่น้ำทั้งหลายที่หลั่งไหลมา คือพระเวสสันดรผู้เสด็จไปประทับอยู่ในป่า ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายแก่ข้าพระองค์ (พวกอำมาตย์ติเตียนพระเวสสันดรว่า) [๒๓๑๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระราชาผู้มีศรัทธา ทรงอยู่ครอบครองเรือน ทรงทำกรรมที่ไม่สมควรหนอ พระเวสสันดรถูกเนรเทศออกจากแคว้นไปอยู่ในป่า จะพึงพระราชทานพระโอรสทั้งหลายได้อย่างไรหนอ [๒๓๑๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวพระนครมีประมาณเท่าใด ที่มาประชุมกันอยู่ในที่นี้ ขอทุกท่านจงช่วยกันพิจารณาดูเรื่องนี้ พระเวสสันดรประทับอยู่ในป่า ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายได้อย่างไร [๒๓๑๓] พระองค์จงพระราชทานทาส ทาสี ม้า แม่ม้าอัสดร รถ และช้างกุญชรตัวประเสริฐไปเถิด ทำไม จึงทรงพระราชทานทารกทั้งหลายเล่า (พระชาลีกุมารกราบทูลว่า) [๒๓๑๔] ข้าแต่สมเด็จพระอัยกา ในเรือนของผู้ใดไม่มีทาส ม้า แม่ม้าอัสดร รถ และช้างกุญชรตัวประเสริฐ ผู้นั้นจะพึงให้อะไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๑๕] บุตรน้อยทั้งหลาย ปู่สรรเสริญทานแห่งบิดาของเจ้านั้น ไม่ได้ติเตียนเลย หทัยแห่งบิดาของเจ้าเป็นอย่างไรหนอ จึงได้ให้เจ้าทั้ง ๒ แก่พราหมณ์วณิพก (พระชาลีกุมารกราบทูลว่า) ข้าแต่พระอัยกามหาราช พระบิดาของหม่อมฉัน พระราชทานพวกหม่อมฉันแก่พราหมณ์วณิพกแล้ว ได้ทรงสดับถ้อยคำรำพันพิลาปซึ่งน้องกัณหาได้กล่าวแล้ว [๒๓๑๖] ข้าแต่สมเด็จพระอัยกา พระหทัยของพระบิดานั้น เป็นทุกข์และเร่าร้อน มีดวงพระเนตรแดงดังดาวโรหิณี มีพระอัสสุชลหลั่งไหล [๒๓๑๗] น้องกัณหาชินาได้กราบทูลพระบิดาว่า “ข้าแต่พระบิดา พราหมณ์นี้เฆี่ยนตีหม่อมฉัน ด้วยไม้เท้าเหมือนตีทาสีผู้เกิดในเรือนเบี้ย [๒๓๑๘] ข้าแต่พระบิดา ผู้นี้คงจะมิใช่พราหมณ์แน่ เพราะพราหมณ์ทั้งหลายเป็นผู้มีธรรม แต่พราหมณ์คงจะเป็นยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์ นำลูกทั้ง ๒ ไปเพื่อจะกินเป็นอาหาร พระเจ้าข้า ลูกทั้ง ๒ ถูกพราหมณ์ผู้เป็นปีศาจนำไป ข้าแต่พระบิดา ทำไมหนอ พระองค์จึงทรงเมินเฉยอยู่เล่า” (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๑๙] มารดาของเจ้าทั้งหลาย เป็นพระราชบุตรี บิดาเป็นราชบุตร เจ้าทั้งหลาย เคยขึ้นนั่งตักของปู่ แต่บัดนี้ เพราะเหตุไร จึงยืนอยู่ห่างไกลหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า) [๒๓๒๐] พระมารดาของหม่อมฉันทั้งหลาย เป็นพระราชบุตรี และพระบิดาก็เป็นพระราชบุตร แต่หม่อมฉันทั้งหลาย เป็นทาสของพราหมณ์ เพราะฉะนั้น จึงยืนอยู่ห่างไกล พระเจ้าข้า (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๒๑] เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ไม่ชอบเลย หทัยของปู่กำลังเร่าร้อน กายของปู่เหมือนอยู่บนเชิงตะกอน ปู่มิได้รับความสุขบนราชอาสน์เลย [๒๓๒๒] เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ไม่ชอบเลย อย่าได้เพิ่มความเศร้าโศกให้เกิดแก่ปู่เลย ปู่จักไถ่เธอทั้งหลายด้วยทรัพย์ เธอทั้งหลายจักไม่เป็นทาส [๒๓๒๓] พ่อชาลี บิดาของเธอทั้งหลาย ได้ตีราคาพวกเธอไว้เท่าไร จึงให้พราหมณ์ ขอให้เธอทั้งหลายจงบอกปู่ตามความจริง พนักงานทั้งหลายจงให้พราหมณ์รับเอาทรัพย์ไปเถิด (พระชาลีกุมารกราบทูลว่า) [๒๓๒๔] ข้าแต่พระอัยกา พระบิดาทรงตีราคาหม่อมฉัน มีค่าเท่าราคาทองคำ ๑,๐๐๐ แท่ง ทรงตีราคาน้องกัณหาชินาราชกัญญา ด้วยสัตว์พาหนะมีช้างเป็นต้นอย่างละ ๑๐๐ แล้วจึงได้พระราชทานให้แก่พราหมณ์ (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๒๕] มหาดเล็ก เจ้าจงลุกขึ้น รีบไปนำทาสี ทาส โค ช้าง และโคอุสภราชอย่างละ ๑๐๐ กับทองคำ ๑,๐๐๐ แท่ง มาให้แก่พราหมณ์ เป็นค่าไถ่บุตรทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

[๒๓๒๖] ลำดับนั้น พนักงานรีบไปนำทาสี ทาส โค ช้าง และโคอุสภราชอย่างละ ๑๐๐ มาให้แก่พราหมณ์ เป็นค่าไถ่ (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๓๒๗] กษัตริย์ทั้ง ๒ ทรงไถ่แล้ว รับสั่งให้สรงสนานและให้เสวยพระกระยาหารเสร็จ ให้ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งหลายแล้ว สมเด็จพระอัยกาทรงอุ้มทารกองค์หนึ่ง สมเด็จพระอัยยิกาทรงอุ้มองค์หนึ่ง [๒๓๒๘] พระกุมารทั้ง ๒ ทรงสรงสนานพระเศียรแล้ว ทรงพระภูษาอันสะอาด ทรงประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวงแล้ว พระราชาผู้พระอัยกาก็ทรงอุ้มพระชาลีขึ้นประทับบนพระเพลา [๒๓๒๙] พระกุมารทั้ง ๒ ทรงประดับกุณฑล ที่มีเสียงดังก้องน่ารื่นรมย์ใจ ทรงประดับดอกไม้และเครื่องอลังการทั้งปวงแล้ว พระราชาทรงอุ้มพระชาลีกุมารขึ้นประทับ บนพระเพลาแล้วได้ตรัสถามดังนี้ว่า [๒๓๓๐] พ่อชาลี พระบิดาและพระมารดาทั้ง ๒ ของเธอ ไม่มีโรคดอกหรือ เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหา ผลาหารหรือ มูลผลาหารมีมากหรือ [๒๓๓๑] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มีมาเบียดเบียนหรือ (พระชาลีกุมารกราบทูลว่า) [๒๓๓๒] ข้าแต่สมมติเทพ พระบิดาและพระมารดาของหม่อมฉัน ทั้ง ๒ พระองค์นั้นไม่มีโรค เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหาผลาหาร และมูลผลาหารก็มีมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

[๒๓๓๓] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย ในป่าที่มีสัตว์ร้ายพลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียน ซึ่งพระบิดาและพระมารดาทั้ง ๒ พระองค์นั้นเลย [๒๓๓๔] พระมารดาของหม่อมฉันทรงขุดรากบัว เหง้าบัว ทรงสอยผลพุทรา ผลรกฟ้า และผลมะตูม นำมาเลี้ยงพระบิดาและหม่อมฉันทั้ง ๒ [๒๓๓๕] พระมารดานั้นทรงนำมูลผลาหารใดมาจากป่า พระบิดาและหม่อมฉันทั้ง ๒ มารวมกัน เสวยมูลผลาหารนั้นในทุกคืนวัน [๒๓๓๖] พระมารดาของหม่อมฉันทั้ง ๒ เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ ต้องมาเที่ยวแสวงหาผลไม้ มีพระฉวีวรรณผอมเหลือง เพราะลมและแดด เหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ [๒๓๓๗] เมื่อพระมารดาเสด็จเที่ยวไปในป่าใหญ่ ซึ่งเป็นป่าที่มีสัตว์ร้ายพลุกพล่าน เป็นที่อยู่อาศัยของแรดและเสือเหลือง พระเกสาของพระองค์ก็ร่วงหล่น [๒๓๓๘] พระมารดาทรงขมวดพระเมาลี ทรงไว้ซึ่งเหงื่อไคลที่พระกัจฉะ ทรงพระภูษาหนังเสือ บรรทมเหนือแผ่นดินและทรงบูชาไฟ [๒๓๓๙] บุตรทั้งหลายเกิดมาแล้วเป็นที่รักของมนุษย์ในโลก พระอัยกาของเราทั้งหลายไม่เกิดพระสิเนหาในพระโอรสเป็นแน่ (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๔๐] หลานรัก จริงทีเดียว การที่ปู่ให้เนรเทศ ซึ่งพระบิดาของเจ้าผู้ไม่มีโทษเพราะคำพูดของชาวกรุงสีพีนั้น ชื่อว่าปู่ได้ทำกรรมชั่วร้าย และชื่อว่าปู่ได้ทำกรรมที่ทำลายความเจริญแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

[๒๓๔๑] สิ่งใดสิ่งหนึ่งของปู่มีอยู่ในนครนี้ก็ดี ทรัพย์และธัญชาติใดๆ มีอยู่ก็ดี ขอให้พระเจ้าเวสสันดรจงมาเป็นเจ้าปกครองสิ่งนั้นๆ ในกรุงสีพีเถิด (พระชาลีกุมารกราบทูลว่า) [๒๓๔๒] ขอเดชะสมมติเทพ พระบิดาของหม่อมฉัน เป็นผู้สูงสุดแห่งชาวกรุงสีพีคงจักไม่เสด็จมาเพราะคำของหม่อมฉัน ขอให้พระองค์ผู้สมมติเทพเสด็จไปทรงอภิเษก พระบิดาของหม่อมฉันด้วยโภคะทั้งหลายด้วยพระองค์เองเถิด (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๓๔๓] ลำดับนั้น พระเจ้ากรุงสญชัยจึงได้รับสั่งเสนาบดีว่า กองทัพ คือ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบจงตระเตรียมอาวุธให้พร้อม ชาวนิคม พราหมณ์ และพวกปุโรหิตจงตามเราไป [๒๓๔๔] ต่อจากนั้น เหล่าทหาร ๖๐,๐๐๐ นายผู้สง่างาม ผูกสอด(อาวุธ)แล้ว ประดับด้วยผ้าสีต่างๆ กัน จงพากันรีบตามมาโดยเร็ว [๒๓๔๕] เหล่าทหารผู้ผูกสอด(อาวุธ)แล้ว ประดับประดาด้วยเสื้อผ้าสีต่างๆ กัน คือ พวกหนึ่งแต่งด้วยผ้าสีเขียว พวกหนึ่งแต่งสีเหลือง พวกหนึ่งแต่งสีแดง พวกหนึ่งแต่งสีขาวจงรีบตามมา [๒๓๔๖] ภูเขาคันธมาทน์มีกลิ่นหอมถูกหิมะปกคลุม ดารดาษไปด้วยพฤกษชาตินานาชนิด เป็นที่อาศัยอยู่ของฝูงสัตว์เป็นอันมาก [๒๓๔๗] และมีต้นไม้ที่เป็นทิพยโอสถ สว่างไสวและฟุ้งตลบไปทั่วทิศฉันใด ขอเหล่าทหารผู้ผูกสอด(อาวุธ)แล้วจงรีบตามมา และจงรุ่งเรืองมีเกียรติยศฟุ้งขจรไปทั่วทิศฉันนั้นเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

[๒๓๔๘] ต่อจากนั้น จงจัดเทียมช้างที่สูงใหญ่ ๑๔,๐๐๐ เชือก มีสายรัดประคับทองมีเครื่องประดับ และเครื่องปกคลุมศีรษะที่สำเร็จแล้วด้วยทอง [๒๓๔๙] มีนายควานช้างถือโตมรและขอ ขึ้นขี่คอประจำ เตรียมพร้อมสรรพ ประดับตกแต่งสวยงาม จงรีบตามมา [๒๓๕๐] ต่อจากนั้น จงจัดม้าสินธพชาติอาชาไนย ๑๔,๐๐๐ ตัว ที่มีฝีเท้าเร็ว [๒๓๕๑] พร้อมด้วยนายสารถีผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการ ถือแส้และดาบสั้น ผูกสอด(อาวุธ)ขึ้นขี่ประจำหลัง [๒๓๕๒] ต่อจากนั้น จงจัดเทียมกระบวนรถ ๑๔,๐๐๐ คัน ที่มีเหล็กหุ้มกงล้ออย่างแน่นหนา เรือนรถขจิตด้วยทอง [๒๓๕๓] จงยกธงขึ้นปักไว้บนรถคันนั้นๆ พวกนายขมังธนูผู้ยิงได้แม่นยำ คล่องแคล่วชำนาญ ในรถทั้งหลาย จงเตรียมโล่ห์ เกราะ และแล่งธนูไว้ให้พร้อม ทหารเหล่านี้จงตระเตรียมให้พร้อมแล้วรีบตามมา [๒๓๕๔] ขอจงให้โปรยข้าวตอก ดอกไม้ มาลัย ของหอม และเครื่องลูบไล้เถิด และจงให้จัดตั้งเครื่องบูชาอันมีค่า ตามทางที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา [๒๓๕๕] ในบ้านแต่ละหมู่บ้าน จงให้ตั้งหม้อสุราและเมรัยไว้ หมู่ละ ๑๐๐ หม้อที่หนทางที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา [๒๓๕๖] จงให้ตั้งมังสาหาร ขนม ขนมแดกงา ขนมกุมมาส ที่ปรุงด้วยเนื้อปลาไว้ใกล้ทาง ที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช

[๒๓๕๗] จงให้ตั้งเนยใส น้ำมัน นมส้ม นมสด ขนมแป้ง ข้าวฟ่าง และสุราเป็นจำนวนมาก ไว้ใกล้ทางที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา [๒๓๕๘] ให้มีพนักงานพิเศษทั้งครัวหวานและครัวคาว จัดตั้งไว้เพื่อประชาชนทั่วไป ให้มีมหรสพฟ้อนรำขับร้องทุกๆ อย่าง เพลงปรบมือ กลองยาว คนขับเสภา และคนผู้บรรเทาความเศร้าโศก๑- [๒๓๕๙] พวกมโหรีจงเล่นดนตรี ดีดพิณพร้อมทั้งตีกลองน้อยกลองใหญ่ เป่าสังข์ ตีกลองหน้าเดียว [๒๓๖๐] ตีตะโพน แกว่งบัณเฑาะว์ เป่าสังข์ ดีดจะเข้ และตีกลองใหญ่ กลองเล็ก (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๓๖๑] กองทัพของกรุงสีพีเป็นกองทัพใหญ่ ที่จัดเป็นกระบวนตั้งไว้เสร็จแล้ว มีพระชาลีราชกุมารเป็นผู้นำทาง ได้ยาตราไปยังเขาวงกต [๒๓๖๒] ช้างพลายอายุ ๖๐ ปี มีสายรัดประคับทอง ผูกตกแต่งไว้ บันลือก้องโกญจนาทกระหึ่มอยู่ ช้างวารณะก็บันลือโกญจนาทกระหึ่มอยู่ [๒๓๖๓] เหล่าม้าอาชาไนยก็แผดเสียงแหลมดังลั่น เสียงกงล้อดังกึกก้อง ฝุ่นละอองฟุ้งตลบถึงนภากาศ กองทัพของชาวกรุงสีพีก็จัดกระบวนตั้งไว้ดีแล้ว @เชิงอรรถ : @ คนผู้บรรเทาความเศร้าโศก หมายถึงนักมายากล หรือนักร้อง นักดนตรี แม้พวกอื่น ท่านก็เรียกว่า @ผู้บรรเทาความเศร้าโศก เพราะสามารถนำความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นออกไปได้ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๓๕๘/๔๘๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์

[๒๓๖๔] กองทัพนั้นเป็นกองทัพใหญ่ จัดเป็นกระบวนตั้งไว้ สามารถทำลายล้างอริราชศัตรูได้ มีพระชาลีราชกุมารเป็นผู้นำทาง ได้ยาตราไปยังเขาวงกต [๒๓๖๕] พระเจ้ากรุงสญชัยพร้อมด้วยข้าราชบริพารเหล่านั้น เสด็จเข้าไปยังป่าใหญ่มีกิ่งไม้มากมายและน้ำมาก ดารดาษไปด้วยต้นไม้ดอกและไม้ผลทั้ง ๒ อย่าง [๒๓๖๖] ในป่าใหญ่นั้น มีนกมากมายหลายสี มีเสียงกล่อมไพเราะ เกาะอยู่บนต้นไม้ที่ผลิดอกตามฤดูกาล ร้องประสานเสียง เสียงระเบงเป็นคู่ๆ [๒๓๖๗] พระเจ้ากรุงสญชัยพร้อมด้วยราชบริพารเหล่านั้น เสด็จพระราชดำเนินไปสู่ทางไกล ล่วงเลยหลายวันหลายคืน จึงบรรลุถึงประเทศที่พระเวสสันดรประทับอยู่
กัณฑ์มหาราช จบ
กัณฑ์ฉกษัตริย์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๓๖๘] พระเวสสันดรได้ทรงสดับเสียงกึกก้องแห่งกองทัพเหล่านั้น ก็ตกพระทัยกลัว เสด็จขึ้นภูเขา ทรงหวาดหวั่นพรั่นพรึง ทอดพระเนตรดูกองทัพ ตรัสว่า [๒๓๖๙] เชิญดูเถิดมัทรี เสียงกึกก้องเช่นใดในป่า ม้าอาชาไนยส่งเสียงแผดร้องก้องสนั่น ปรากฏยอดธงไหวๆ [๒๓๗๐] นายพรานเหล่านี้ได้ขึงข่ายล้อมฝูงเนื้อในป่า ไล่ต้อนให้ตกลงในหลุมแล้ว ไล่ทิ่มแทงด้วยหอกอันคม คัดเลือกเอาเนื้อเหล่านั้นตัวอ้วนๆ ฉันใด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์

[๒๓๗๑] เราทั้ง ๒ ก็ฉันนั้น เป็นผู้ไม่มีโทษ ถูกขับไล่จากแคว้นมาอยู่ในป่า จึงตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกศัตรูเป็นแน่ จงดูเอาเถิดคนผู้ฆ่าคนที่ไม่มีกำลัง (พระนางมัทรีกราบทูลว่า) [๒๓๗๒] พวกศัตรูย่ำยีพระองค์ไม่ได้ เปรียบเหมือนไฟย่ำยีห้วงน้ำไม่ได้ฉะนั้น ขอพระองค์จงทรงระลึกถึงข้อนั้นนั่นแหละ แต่นี้ไปจะพึงมีแต่ความสวัสดี (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๓๗๓] ลำดับนั้น พระเจ้าเวสสันดรได้เสด็จลงจากภูเขา ประทับนั่งในบรรณศาลา ทรงตั้งพระทัยให้หนักแน่น [๒๓๗๔] พระบิดารับสั่งให้ถอยรถกลับ ให้วางกำลังกองทัพไว้แล้ว เสด็จเข้าไปหาพระโอรสผู้ประทับอยู่ในป่าเพียงลำพัง [๒๓๗๕] เสด็จลงจากคอช้างพระที่นั่ง ทรงเฉวียงพระอังสา ประนมพระหัตถ์ แวดล้อมแห่แหนด้วยหมู่อำมาตย์ เสด็จไปเพื่ออภิเษกพระโอรส [๒๓๗๖] ณ ที่นั้น ท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็น พระโอรสทรงเพศเป็นบรรพชิต ประทับนั่งเข้าฌานอยู่ในบรรณศาลา เป็นสมาธิแน่วแน่ ไม่มีภัยแต่ที่ไหน [๒๓๗๗] พระเวสสันดรและพระนางมัทรี ทอดพระเนตรเห็นพระบิดา ผู้มีความรักในบุตรกำลังเสด็จมา ได้ทรงต้อนรับถวายอภิวาท {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์

[๒๓๗๘] ฝ่ายพระนางมัทรีทรงซบพระเศียรถวายอภิวาท แทบพระยุคลบาทของพระสัสสุระ(พ่อผัว)กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมัทรีสะใภ้ของพระองค์ ขอถวายบังคมพระยุคลบาท พระเจ้ากรุงสญชัยทรงสวมกอด ๒ กษัตริย์ ใช้ฝ่าพระหัตถ์ ลูบพระปฤษฎางค์อยู่ไปมา ณ อาศรมนั้น (ตรัสว่า) [๒๓๗๙] ลูกรัก พวกเจ้าไม่มีโรคเบียดเบียน เป็นสุขสำราญดีหรือ เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ มูลผลาหารมีมากอยู่หรือ [๒๓๘๐] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มาเบียดเบียนหรือ (พระเวสสันดรกราบทูลว่า) [๒๓๘๑] ข้าแต่สมมติเทพ พวกหม่อมฉันเป็นอยู่ตามมีตามได้ หม่อมฉันทั้งหลายเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง ชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยการเที่ยวแสวงหา [๒๓๘๒] ข้าแต่มหาราช นายสารถีทรมานม้าให้หมดฤทธิ์ฉันใด หม่อมฉันทั้งหลายก็ถูกทรมานให้หมดฤทธิ์ฉันนั้น ความหมดฤทธิ์ย่อมทรมานหม่อมฉันทั้งหลาย [๒๓๘๓] ข้าแต่มหาราช เมื่อหม่อมฉันทั้งหลาย ถูกเนรเทศมามีชีวิตอยู่อย่างหงอยเหงาในป่า หม่อมฉันทั้งหลาย มีเนื้อหนังซูบซีดผอมลง เพราะไม่ได้พบพระบิดาและพระมารดา [๒๓๘๔] ข้าแต่มหาราช ทายาทผู้มีมโนรถยังไม่สมบูรณ์ ของหม่อมฉันผู้ประเสริฐแห่งชาวกรุงสีพี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์

คือพ่อชาลีและแม่กัณหาชินา ทั้ง ๒ องค์ ยังตกอยู่ในอำนาจของพราหมณ์ผู้หยาบช้า มันเฆี่ยนตีพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาทั้ง ๒ นั้นเหมือนเฆี่ยนตีโค [๒๓๘๕] ถ้าพระองค์ทรงทราบ หรือทรงได้สดับข่าวลูกทั้ง ๒ ของพระราชบุตรีนั้น ขอได้ทรงกรุณารีบตรัสบอกแก่หม่อมฉันทั้งหลายด้วยเถิด เหมือนหมอรีบพยาบาลคนผู้ถูกงูกัด (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๘๖] กุมารทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา พ่อได้ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์แล้วไถ่ถอนมา ลูกรัก ลูกอย่าได้กลัวเลย จงเบาใจเถิด (พระเวสสันดรทูลถามว่า) [๒๓๘๗] ข้าแต่พระบิดา พระองค์ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ ทรงพระสำราญดีหรือ พระจักษุของพระมารดาของข้าพระองค์ยังไม่เสื่อมหรือ (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๓๘๘] ลูกรัก พ่อสบายดี ไม่มีโรคเบียดเบียน อนึ่ง จักษุแม่ของเจ้าก็ไม่เสื่อม (พระเวสสันดรทูลถามว่า) [๒๓๘๙] ราชพาหนะของพระองค์ที่เขาเทียมแล้วยังมั่นคงหรือ ราชพาหนะยังนำภาระไปได้หรือ ชนบทเจริญดีอยู่หรือ ฝนไม่แห้งแล้งหรือ (พระเจ้าสญชัยตอบว่า) [๒๓๙๐] ราชพาหนะของเราที่เทียมแล้วยังมั่นคง ราชพาหนะยังนำภาระไปได้ ชนบทก็เจริญดี และฝนก็ไม่แล้ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์

[๒๓๙๑] เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๓ เหล่านั้นกำลังทรงสนทนากันอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ พระมารดาผู้เป็นราชบุตรี ไม่ทรงฉลองพระบาท เสด็จไปปรากฏที่ช่องภูเขา [๒๓๙๒] พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทอดพระเนตรเห็นพระมารดา ผู้มีความรักในพระโอรสกำลังเสด็จมา จึงทรงต้อนรับถวายอภิวาท [๒๓๙๓] ฝ่ายพระนางมัทรีทรงซบพระเศียรเกล้าถวายอภิวาท แทบพระยุคลบาทของพระสัสสุ(แม่ผัว)กราบทูลว่า ข้าแต่สมเด็จพระอัยยิกา หม่อมฉันมัทรีสะใภ้ของพระองค์ ขอถวายบังคมพระยุคลบาท [๒๓๙๔] ส่วนบุตรน้อยทั้งหลาย เสด็จมาแต่ที่ไกลโดยสวัสดิภาพ ทอดพระเนตรเห็นพระนางมัทรี ก็ทรงคร่ำครวญวิ่งเข้าไปหา อุปมาเหมือนลูกโคอ่อนคอยชะเง้อหาแม่เป็นแน่ [๒๓๙๕] ฝ่ายพระนางมัทรีทอดพระเนตรเห็นบุตรน้อยทั้งหลาย ผู้เสด็จมาแต่ที่ไกลโดยสวัสดิภาพ ทั้งสั่นระรัวไปทั่วพระวรกายเหมือนแม่มด น้ำนมก็หลั่งไหล [๒๓๙๖] เมื่อพระญาติทั้งหลายมาพร้อมกันแล้ว ขณะนั้น ก็ได้เกิดเสียงดังอึกทึกกึกก้อง ภูเขาทั้งหลายก็มีเสียงดังลั่น แผ่นดินสะเทือนหวั่นไหว [๒๓๙๗] ฝนตกลงยังท่อธารให้หลั่งไหลไป ขณะที่พระเจ้าเวสสันดรได้สมาคมกับพระญาติทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐ .เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์

[๒๓๙๘] ในกาลที่กษัตริย์ทั้งหลาย คือ พระราชา พระเทวี พระโอรส พระสุณิสา และพระนัดดาทั้งหลาย มาประชุมพร้อมกันแล้ว ก็ได้เกิดอัศจรรย์น่าขนพองสยองเกล้า [๒๓๙๙] ประชาราษฎร์ทั้งปวงมาพร้อมใจกัน ประนมมือถวายบังคมพระมหากษัตริย์ ร้องไห้วิงวอนพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ในป่าอันน่าสะพรึงกลัวว่า ขอพระองค์ทรงเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอพระองค์ทั้ง ๒ ทรงพระกรุณาเสวยราชสมบัติ เป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด
กัณฑ์ฉกษัตริย์ จบ
กัณฑ์นครกัณฑ์
(พระเวสสันดรตรัสว่า) [๒๔๐๐] พระบิดา ชาวชนบท และชาวนิคม ได้พร้อมใจกันเนรเทศหม่อมฉัน ผู้ครองราชสมบัติโดยธรรมจากแคว้น (พระเจ้าสญชัยตรัสว่า) [๒๔๐๑] ลูกรัก จริงทีเดียว การที่พ่อให้เนรเทศ ซึ่งลูกผู้ไม่มีความผิดออกไปจากแคว้นตามคำของชาวกรุงสีพีนั้น ชื่อว่าพ่อได้ทำกรรมชั่วร้าย และชื่อว่าพ่อได้ทำกรรมที่ทำลายความเจริญแล้ว [๒๔๐๒] ขึ้นชื่อว่าบุตรควรช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ ของมารดาบิดาและพี่น้องที่เกิดขึ้น เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ด้วยชีวิตของตน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์

(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๒๔๐๓] ลำดับนั้น พระเจ้าเวสสันดรได้ทรงชำระล้างธุลีและสิ่งโสโครก ครั้นทรงชำระล้างธุลีและสิ่งโสโครกแล้ว ได้ทรงเพศเป็นพระราชา [๒๔๐๔] พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ทรงสนานพระเศียรแล้ว ทรงพัสตราภรณ์อันสะอาด ทรงประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง สอดพระแสงขรรค์ที่ทำให้ราชปัจจามิตรเดือดร้อนเกรงขาม เสด็จขึ้นทรงพญาปัจจยนาค [๒๔๐๕] ครั้งนั้น เหล่าทหาร ๖๐,๐๐๐ นายผู้สง่างาม ต่างก็ชื่นชมยินดี แวดล้อมพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ [๒๔๐๖] ลำดับนั้น เหล่าพระสนมกำนัลในของพระเจ้ากรุงสีพี มาประชุมพร้อมกัน ทูลเชิญพระนางมัทรีให้สรงสนานแล้ว ถวายพระพรว่า ขอพระเวสสันดรจงทรงอภิบาลรักษาพระเจ้าแม่ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาทั้ง ๒ พระองค์ อนึ่ง ขอพระเจ้ากรุงสญชัยมหาราชจงทรงอภิรักษ์พระแม่เจ้าเทอญ [๒๔๐๗] พระเวสสันดรบรมกษัตริย์และพระนางมัทรี กลับมาดำรงในสิริราชสมบัติตามเดิมแล้ว ทรงระลึกถึงความลำบากของตนในกาลก่อน จึงรับสั่งให้นำกลองนันทิเภรีไปตีประกาศ ที่คุ้มครองเขาวงกตอันน่ารื่นรมย์ [๒๔๐๘] พระนางมัทรีผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะได้ปัจจัย๑- นี้แล้ว ทรงระลึกถึงความลำบากของตนในกาลก่อน ครั้นได้พบพระโอรสทั้งหลายก็มีพระทัยปลาบปลื้มโสมนัส @เชิงอรรถ : @ ได้ปัจจัยนี้ หมายถึงได้ราชสมบัติ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๔๐๘/๔๙๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์

[๒๔๐๙] ก็พระนางมัทรีผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะได้ปัจจัยนี้แล้ว ทรงระลึกถึงความลำบากของตนในกาลก่อน มีพระทัยชื่นชมยินดีปรีดาพร้อมกับพระโอรสทั้งหลาย [๒๔๑๐] ลูกรักทั้ง ๒ เมื่อก่อนแม่ได้บำเพ็ญวัตรนี้ นอนเหนือแผ่นดินเป็นนิตย์ นี้เป็นวัตรของแม่ เพราะแม่รักเจ้าทั้งหลาย [๒๔๑๑] วัตรของแม่สำเร็จในวันนี้ เพราะได้พบพวกเจ้า ลูกรักทั้ง ๒ ขอความโสมนัสที่เกิดจากแม่ก็ดี จากพระบิดาก็ดี จงคุ้มครองลูก อนึ่ง ขอพระเจ้ากรุงสญชัยมหาราช จงทรงอภิรักษ์ความโสมนัสนั้น [๒๔๑๒] บุญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่แม่และพระบิดาของลูกทำแล้วมีอยู่ ด้วยบุญกุศลทั้งหมดนั้น ขอลูกจงเป็นผู้ไม่แก่ไม่ตาย [๒๔๑๓] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยพระภูษาอย่างใด พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดพระภูษาอย่างนั้น คือ พระภูษากัปปาสิกพัสตร์ โกไสยพัสตร์ โขมพัสตร์ และโกทุมพรพัสตร์ ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา [๒๔๑๔] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น คือ พระธำมรงค์สุพรรณรัตน์ สร้อยพระศอนพรัตน์ ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา [๒๔๑๕] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น คือ พระวลัยสำหรับประดับข้อพระบาท พระกุณฑลสำหรับพระกรรณ สายรัดพระองค์ฝังแก้วมณีเพชร ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์

[๒๔๑๖] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น คือ ดอกไม้กรองเครื่องประดับพระเมาลี เครื่องประดับพระนลาตและเครื่องประดับฝังแก้วมณีสีต่างๆ กัน ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา [๒๔๑๗] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น คือ เครื่องประดับพระถัน เครื่องประดับพระอังสา สะอิ้งเพชร และฉลองพระบาท ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา [๒๔๑๘] พระนางมัทรีราชบุตรีทรงตรวจดูเครื่องประดับ ที่ร้อยด้วยด้ายและไม่ร้อยด้วยด้าย พระนางมัทรีราชบุตรีทรงตรวจดูและประดับตกแต่งแล้ว ทรงงดงามดังนางเทพกัญญาในพระอุทยานนันทวัน [๒๔๑๙] พระนางมัทรีราชบุตรีทรงสนานพระเศียร ทรงพัสตราภรณ์อันสะอาด ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง ทรงงดงามดังนางเทพอัปสรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๒๔๒๐] พระนางมัทรีราชบุตรีทรงมีริมพระโอษฐ์งาม ทรงงดงามดังต้นกล้วยสีทองที่เกิดในสวนจิตรลดาถูกลมพัดไปมา [๒๔๒๑] พระนางมัทรีราชบุตรีมีพระโอษฐ์แดงดุจผลไทรและผลตำลึกสุก งดงามดังกินนรีมีขนปีกงามวิจิตร บินร่อนอยู่ในอากาศ [๒๔๒๒] เหล่าพนักงานตกแต่งดรุณหัตถีอันเป็นช้างพระที่นั่ง ตัวประเสริฐ อดทนต่อหอกซัดและลูกศร มีงาเรียวงามดุจงอนรถ มีกำลังกล้าหาญ เสร็จแล้วให้นำมาประเทียบเกยคอยต้อนรับพระนางมัทรีนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์

[๒๔๒๓] พระนางมัทรีนั้นเสด็จขึ้นประทับบนหลังดรุณหัตถี อันเป็นช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐ อดทนต่อหอกซัดและลูกศร มีงาเรียวงามดุจงอนรถ มีกำลังกล้าหาญ [๒๔๒๔] ฝูงเนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้ ฝูงเนื้อประมาณเท่านั้นไม่เบียดเบียนกันและกัน ด้วยเดชของพระเวสสันดร [๒๔๒๕] ฝูงนกประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้ ฝูงนกประมาณเท่านั้นไม่เบียดเบียนกันและกัน ด้วยเดชของพระเวสสันดร [๒๔๒๖] ฝูงเนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้ ฝูงเนื้อประมาณเท่านั้นมาประชุมในที่เดียวกัน ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ [๒๔๒๗] ฝูงนกประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้ ฝูงนกประมาณเท่านั้นมาประชุมในที่เดียวกัน ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ [๒๔๒๘] ฝูงเนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้ ฝูงเนื้อประมาณเท่านั้นมิได้ส่งเสียงร้องไพเราะเหมือนในกาลก่อน ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ [๒๔๒๙] ฝูงนกประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้ ฝูงนกประมาณเท่านั้นมิได้ส่งเสียงร้องไพเราะเหมือนในกาลก่อน ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ [๒๔๓๐] ราชมรรควิถีที่จะเสด็จพระราชดำเนินนั้น ประชาราษฎร์ช่วยกันประดับตกแต่งงามตระการตา ลาดด้วยดอกไม้ ตั้งแต่กรุงเชตุดร จนถึงที่ประทับของพระเวสสันดร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐. เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์

[๒๔๓๑] ลำดับนั้น เหล่าทหาร ๖๐,๐๐๐ นาย ผู้แต่งเครื่องพร้อมสรรพ งามสง่าน่าดู ต่างพากันติดตามแวดล้อมอยู่โดยรอบ ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ [๒๔๓๒] พวกพระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพวกพราหมณ์ ต่างพากันติดตามพระเวสสันดรแวดล้อมอยู่โดยรอบ ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ [๒๔๓๓] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ต่างพากันตามเสด็จแวดล้อมโดยรอบ ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ [๒๔๓๔] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว ต่างพร้อมใจกันมาประชุมแวดล้อมอยู่โดยรอบ ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ [๒๔๓๕] เหล่าทหารกล้าต่างก็สวมหมวก สวมเกราะ ถือดาบ ถือโล่ห์หนังเดินนำหน้า ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกับ [๒๔๓๖] กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้นเสด็จเข้าสู่พระนครที่รื่นรมย์ ซึ่งมีป้อมปราการและประตูเป็นอันมาก ประกอบด้วยข้าวน้ำอุดม และการฟ้อนรำและขับร้องทั้ง ๒ ประการ [๒๔๓๗] ชาวชนบทและชาวนิคมต่างชื่นชมโสมนัสยินดี พร้อมใจกันมาประชุม ในเมื่อพระเวสสันดร ผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จถึงพระนครโดยลำดับแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์

[๒๔๓๘] เมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงพระราชทานทรัพย์เสด็จมาถึงแล้ว ชาวชนบทและชาวนิคมต่างก็โบกผ้าสะบัดไปมา พระองค์รับสั่งให้นำกลองนันทิเภรีไปตีประกาศในพระนคร และรับสั่งให้ประกาศปลดปล่อยสัตว์ทั้งปวง จากเครื่องพันธนาการ [๒๔๓๙] ขณะที่พระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี เสด็จเข้าพระนคร ท้าวสักกเทวราชก็ทรงบันดาลให้ฝนทองตกลงมา [๒๔๔๐] ต่อมา พระเจ้าเวสสันดร ผู้เป็นกษัตริย์ ผู้มีปัญญา ทรงบำเพ็ญทานแล้ว หลังจากสวรรคตแล้ว พระองค์ก็เสด็จเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ฉะนี้แล
กัณฑ์นครกัณฑ์ จบ
มหาเวสสันดรชาดกที่ ๑๐ จบ
มหานิบาต จบ
ชาดก ภาค ๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๖๐}
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๕๓๗-๕๖๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=28&A=15722&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=28&siri=22              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=28&A=6511&Z=8341&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=1045              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=1045&items=225              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=1045&items=225              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]