ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒
๒๗๗. โอสารณานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตรับเข้าหมู่ซึ่งภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรม
[๔๗๔] ครั้งนั้น ภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมรูปหนึ่งกำลังพิจารณาพระธรรม วินัยว่า “นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ เราต้องอาบัติ เราไม่ต้องอาบัติ หามิได้ เราถูกลงอุกเขปนียกรรมแล้ว เราไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรมหามิได้ เราถูก ลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ชอบธรรม ไม่เสียหาย ควรแก่ฐานะ” ลำดับนั้น ภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมนั้นเข้าไปหาพวกภิกษุผู้ประพฤติตาม กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ผมต้องอาบัติ ผมไม่ต้องอาบัติหามิได้ ผมถูกลงอุกเขปนียกรรมแล้ว ผมไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรม หามิได้ ผมถูกลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ชอบธรรม ไม่เสียหาย ควรแก่ฐานะ เชิญพวกท่านมารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิดขอรับ” ลำดับนั้น พวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมเหล่านั้นพา ภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวาย อภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมรูปนี้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ผมต้องอาบัติ ผมไม่ต้องอาบัติหามิได้ ผมถูกลงอุกเขปนีย กรรมแล้ว ผมไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรมหามิได้ ผมถูกลงอุกเขปนียกรรมด้วยกรรม ที่ชอบธรรม ไม่เสียหาย ควรแก่ฐานะ เชิญพวกท่านมารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิดขอรับ’ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๓๖๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ]

๒๗๘. สังฆสามัคคีกถา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติแล้ว ภิกษุรูปนั้นไม่ต้องอาบัติหามิได้ ภิกษุรูปนั้นถูกลง อุกเขปนียกรรมแล้ว ภิกษุรูปนั้นไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรมหามิได้ เธอถูกลง อุกเขปนียกรรมด้วยกรรมที่ชอบธรรม ไม่เสียหาย ควรแก่ฐานะ เพราะเธอ ต้องอาบัติ ถูกลงอุกเขปนียกรรมแล้วและเห็นอาบัติ ภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น พวกเธอ จงรับภิกษุรูปนั้นเข้าหมู่เถิด”
๒๗๘. สังฆสามัคคีกถา
ว่าด้วยสังฆสามัคคี
[๔๗๕] ครั้งนั้นพวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมเหล่านั้น รับเธอผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมเข้าหมู่แล้วเข้าไปหาพวกภิกษุผู้ลงอุกเขปนียกรรมถึงที่ อยู่กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้ เป็นต่างๆ กันได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุรูปนั้นผู้ต้องอาบัติถูกลงอุกเขปนียกรรม แล้ว เห็นอาบัติและสงฆ์รับเข้าหมู่แล้ว เอาละ พวกเราจะทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับ เรื่องนั้น” ลำดับนั้น พวกภิกษุผู้ลงอุกเขปนียกรรมเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมเหล่านั้น กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความ วิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำ สงฆ์ให้เป็นต่างๆ กันได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุรูปนั้นผู้ต้องอาบัติถูกลงอุกเขปนีย กรรมแล้ว เห็นอาบัติและสงฆ์รับเข้าหมู่แล้ว เอาละ พวกเราจะทำสังฆสามัคคีเพื่อ ระงับเรื่องนั้น’ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๓๖๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ]

๒๗๘. สังฆสามัคคีกถา

พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุรูปนั้นผู้ต้องอาบัติ ถูก ลงอุกเขปนียกรรมแล้ว เห็นอาบัติและสงฆ์รับเข้าหมู่แล้ว ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงทำสังฆ สามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น”
วิธีทำสังฆสามัคคีและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงทำสังฆสามัคคีอย่างนี้ คือ พวกภิกษุทั้งที่เป็นไข้และ ไม่เป็นไข้พึงประชุมกันทุกรูป รูปไหนจะให้ฉันทะไม่ได้ จากนั้นภิกษุผู้ฉลาดสามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความ ขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยก แห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่างๆ กันได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุรูปนั้นผู้ต้องอาบัติ ถูกลงอุกเขปนียกรรม เห็นอาบัติและสงฆ์เรียกเข้าหมู่แล้ว ถ้าสงฆ์พร้อมแล้ว สงฆ์ พึงทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่างๆ กันได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุรูปนั้นผู้ต้องอาบัติ ถูกลง อุกเขปนียกรรม เห็นอาบัติและสงฆ์เรียกเข้าหมู่แล้ว สงฆ์ทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่าน รูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง สงฆ์ทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้นแล้ว ความแตกแห่งสงฆ์ถูกกำจัดแล้ว ความร้าวรานแห่งสงฆ์ถูกกำจัดแล้ว ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ถูกกำจัดแล้ว การทำ สงฆ์ให้เป็นต่างๆ กันถูกกำจัดแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือ ความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้ สงฆ์พึงทำอุโบสถ พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในขณะนั้นทีเดียว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๓๗๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ]

๒๗๙. อุปาลิสังฆสามัคคีปุจฉา

๒๗๙. อุปาลิสังฆสามัคคีปุจฉา
ว่าด้วยพระอุบาลีกราบทูลถามถึงสังฆสามัคคี
เรื่องทรงแสดงสังฆสามัคคี ๒ อย่างแก่ท่านพระอุบาลี
[๔๗๖] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวาย อภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท ความ แตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็น ต่างๆ กันมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ยังไม่ได้สืบสวนเรื่องนั้นแล้วทำสังฆ สามัคคี สังฆสามัคคีนั้นชอบธรรมหรือหนอ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่างๆ กันย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ยังไม่ได้สืบสวน เรื่องนั้นแล้วทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้นไม่ชอบด้วยธรรม ท่านพระอุบาลีกราบทูลถามว่า “พระพุทธเจ้าข้า ก็ความบาดหมาง ความ ทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่างๆ กันย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ได้ วินิจฉัย สืบสวนเรื่องนั้นแล้วทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้นชอบด้วยธรรมหรือหนอ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความ ขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยก แห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่างๆ กันย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ได้วินิจฉัย สืบสวน เรื่องนั้นแล้วทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้นชอบด้วยธรรม
สังฆสามัคคี ๒ อย่าง
ท่านพระอุบาลีกราบทูลถามว่า “สังฆสามัคคีมีเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๓๗๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ]

๒๗๙. อุปาลิสังฆสามัคคีปุจฉา

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี สังฆสามัคคีมี ๒ อย่าง คือ สังฆสามัคคี ผิดไปจากอรรถ แต่ได้พยัญชนะ และสังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถและได้ทั้งพยัญชนะ สังฆสามัคคีผิดไปจากอรรถแต่ได้พยัญชนะอย่างไรบ้าง คือ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่างๆ กันย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ไม่ได้ วินิจฉัย ไม่ได้สืบสวนเรื่องนั้นแล้วทำสังฆสามัคคี อย่างนี้เรียกว่าสังฆสามัคคีผิดไป จากอรรถแต่ได้พยัญชนะ สังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถและได้ทั้งพยัญชนะเป็นอย่างไร คือ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่างๆ กันย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ได้ วินิจฉัยสืบสวนเรื่องนั้นแล้วทำสังฆสามัคคี อย่างนี้เรียกว่าสังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถและ ได้ทั้งพยัญชนะ อุบาลี สังฆสามัคคีมี ๒ อย่างนี้แล
เรื่องไม่ถูกตำหนิโดยศีลอุบาลีคาถา
[๔๗๗] ลำดับนั้น ท่านพระอุบาลีลุกจากอาสนะ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้าง หนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาดังนี้ว่า [๔๗๘] พระอุบาลีกราบทูลถามว่า “เมื่อมีกิจการปรึกษา การตีความและการวินิจฉัยความเรื่องวินัยเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุเช่นไรจึงจัดว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก และควรแก่การยกย่อง” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เบื้องต้น ภิกษุมีศีลไม่ด่างพร้อย มีมารยาทสงบเสงี่ยม ศัตรูตำหนิไม่ได้โดยธรรม เพราะไม่มีความผิดที่จะตำหนิได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๓๗๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑๐. โกสัมพิกขันธกะ]

๒๗๙. อุปาลิสังฆสามัคคีปุจฉา

เธอผู้เช่นนั้น ตั้งอยู่ในสีลวิสุทธิ กล้าหาญ พูดจาฉะฉาน เข้าที่ประชุมก็ไม่หวาดหวั่น ไม่ประหม่า พูดมีเหตุผลไม่เสียความ เมื่อเธอถูกถามปัญหาในที่ประชุมก็คงเป็นเช่นนั้น ไม่นิ่งอึ้ง ไม่เก้อเขิน เป็นผู้ชำนาญการ พูดถูกกาล สามารถตอบได้ เป็นที่ชอบใจของวิญญูชน เคารพภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า แกล้วกล้าในอาจริยวาทของตน วิพากษ์วิจารณ์ได้ พูดได้คล่อง สามารถจับข้อผิดพลาดของศัตรูได้ เป็นเหตุให้ศัตรูต้องพ่ายแพ้และมหาชนก็นิยม เธอย่อมไม่ลบล้างความเชื่อคืออาจริยวาทของตน สามารถในการแก้ปัญหา สามารถทำงานทูตและรับทำกิจของสงฆ์ ดุจรับบิณฑบาตของที่มีคนนำมาบูชาฉะนั้น เมื่อถูกสงฆ์ส่งไปเจรจาก็ไม่ทะนงตัวว่าตนทำได้ เพราะการทำหน้าที่เจรจานั้น ภิกษุต้องอาบัติเพราะวัตถุมีประมาณเท่าใด และการออกจากอาบัติย่อมมีด้วยวิธีใด วิภังค์ทั้งสองนั้นมาแล้วด้วยดีแก่ภิกษุรูปนั้น ผู้ซึ่งฉลาดในวิธีออกจากอาบัติ อนึ่ง ภิกษุทำกรรมมีก่อความบาดหมางเป็นต้นเหล่าใด ย่อมถึงการขับออกและถูกขับออกด้วยเรื่องเช่นใด เธอฉลาดในวิภังค์ ย่อมเข้าใจวิธีการรับเข้าหมู่แม้นั้น ที่ควรทำแก่ภิกษุผู้ประพฤติวัตรนั้นเสร็จแล้ว เธอเคารพภิกษุทั้งหลายผู้มีพรรษามากกว่า คือ ทั้งที่เป็นเถระ มัชฌิมะ และนวกะ เป็นบัณฑิต ทำประโยชน์แก่มหาชนในโลกนี้ ภิกษุเช่นนี้จึงควรแก่การยกย่องในธรรมวินัยนี้แล”
โกสัมพิกขันธกะที่ ๑๐ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๓๗๓}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๓๖๘-๓๗๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=5&A=9837&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=5&siri=65              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=6632&Z=6755&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=258              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=5&item=258&items=3              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=5&item=258&items=3              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]