ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๓. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๗
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๑๕๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่ง เมื่อจะไปแรมคืนต่างถิ่น ได้ กล่าวคำนี้กะภรรยาว่า จงกะด้ายให้แก่ช่างหูกคนโน้นให้ทอจีวรแล้วเก็บไว้, ฉันกลับมาแล้ว จักนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทะให้ครองจีวร. ภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ได้ยินบุรุษผู้นั้นกล่าววาจานี้ จึงเข้าไปหา ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถึงสำนัก. ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้แก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า อาวุโส อุปนันทะ ท่านเป็นผู้มีบุญมาก ณ สถานตำบลโน้น, บุรุษผู้หนึ่ง เมื่อจะไปแรมคืนต่างถิ่น ได้ กล่าวคำนี้กะภรรยาว่า จงกะด้ายให้แก่ช่างหูกคนโน้นให้ทอจีวรแล้วเก็บไว้ ฉันกลับมาแล้ว จักนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทะให้ครองจีวร ดังนี้. ท่านพระอุปนันทะกล่าวรับรองว่า มีขอรับ เขาเป็นอุปัฏฐากของผม. แม้ช่างหูกผู้นั้น ก็เป็นอุปัฏฐากของท่านพระอุปนันทศากยบุตร. จึงท่านพระอุปนันท- *ศากยบุตร เข้าไปหาช่างหูกผู้นั้นถึงบ้าน. ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะช่างหูกผู้นั้นว่า ท่าน จีวร ผืนนี้แล เขาให้ท่านทอเฉพาะเรา, ท่านจงทำให้ยาว, ให้กว้าง ให้แน่น ให้เป็นของที่ขึงดี ให้ เป็นของที่ทอดี ให้เป็นของที่สางดี และให้เป็นของที่กรีดดี. ช่างหูกกล่าวว่า เขากะด้ายส่งมาให้กระผมเท่านี้เอง ขอรับ แล้วสั่งว่า จงทอจีวรด้วย ด้ายเท่านี้, กระผมไม่สามารถจะทำให้ยาว ให้กว้าง หรือให้แน่นได้, แต่สามารถจะทำให้เป็น ของที่ขึงดี ให้เป็นของที่ทอดี ให้เป็นของที่สางดี และให้เป็นของที่กรีดดีได้ ขอรับ. ท่านพระอุปนันทะ กล่าวรับรองว่า เชิญท่านช่วยทำให้ยาว ให้กว้าง และให้แน่นเถิด, ความขัดข้องด้วยด้ายนั้น จักไม่มี. ครั้นช่างหูกนำด้ายตามที่เขาส่งมาเข้าไปในหูกแล้ว, ด้ายไม่พอ. จึงเข้าไปหาสตรี- *เจ้าของ แจ้งว่า ต้องการด้าย ขอรับ. สตรีเจ้าของกล่าวค้านว่า ดิฉันสั่งคุณแล้วมิใช่หรือว่า จงทอจีวรด้วยด้ายเท่านั้น? ช่างหูกอ้างเหตุว่า ท่านสั่งผมไว้จริง ขอรับ, แต่พระคุณเจ้าอุปนันทะบอกผมอย่างนี้ว่า เชิญท่านช่วยทำให้ยาว ให้กว้าง และให้แน่นเถิด, ความขัดข้องด้วยด้ายนั้น จักไม่มี. จึงสตรีผู้นั้นได้ให้ด้ายเพิ่มไปอีกเท่าที่ให้ไว้คราวแรก. ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้ทราบข่าวว่า บุรุษนั้นกลับมาจากที่แรมคืนต่างถิ่นแล้ว จึง- *กลับเข้าไปหาถึงเรือนบุรุษนั้น. ครั้นแล้ว นั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้. จึงบุรุษนั้นเข้าไปหาท่านพระอุปนันทศากยบุตร กราบแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ถามภรรยาว่า จีวรที่ให้ทอเสร็จแล้วหรือยัง?. ภรรยาตอบ เสร็จแล้ว เจ้าค่ะ. บุรุษนั้นสั่งว่า จงหยิบมา, ฉันจักยังพระคุณเจ้าอุปนันทะให้ครองจีวร. จึงสตรีนั้นหยิบจีวรออกมาให้สามี แล้วได้เล่าเรื่องให้ทราบ. บุรุษนั้นถวายจีวรนั้นแก่ ท่านพระอุปนันทศากยบุตรแล้ว ได้เพ่งโทษ ติเตียน โพทะนาขึ้นในขณะนั้นแลว่า พระสมณะเชื้อ สายพระศากยบุตรเหล่านี้ เป็นคนมักมาก ไม่สันโดษ จะให้ครองจีวรก็ทำไม่ได้ง่าย ไฉน พระคุณเจ้าอุปนันทะอันเราไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน จึงได้เข้าไปหาช่างหูก แล้วถึงการกำหนดในจีวร ภิกษุทั้งหลายได้ยินบุรุษนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษมีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่าน ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตร อันเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน จึงได้เข้าไปหาช่างหูกของเจ้าเรือน แล้วถึงการกำหนดในจีวรเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า ดูกรอุปนันทะ ข่าวว่า เธออันเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ได้เข้าไปหาช่างหูกของเจ้าเรือนแล้วถึงการกำหนดในจีวร จริงหรือ? ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. ภ. เขาเป็นญาติของเธอ หรือมิใช่ญาติ. อุ. มิใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ คนที่ไม่ใช่ญาติ ย่อมไม่รู้การกระทำ อันสมควร หรือไม่สมควร ของที่มีอยู่หรือไม่มีของคนที่มิใช่ญาติ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธออันเขา ไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ยังเข้าไปหาช่างหูกของเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ แล้วถึงกำหนดในจีวรได้ การกระทำของเธอนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใส ยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว, โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของ ชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.
ทรงบัญญัติสิกขาบท
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยอเนกปริยายดั่งนี้แล้ว ตรัส โทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่ สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคน บำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่ สะสม การปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย, ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะ- *สมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำ- *นาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่ม บุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดใน ปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่ เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๔๖. ๗. อนึ่ง เจ้าพ่อเรือนก็ดี เจ้าแม่เรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ สั่งช่างหูกให้ ทอจีวรเฉพาะภิกษุ, ถ้าภิกษุนั้น เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาช่างหูกแล้ว ถึงความกำหนดในจีวรในสำนักของเขานั้นว่า จีวรผืนนี้ทอเฉพาะรูป, ขอท่านจงทำให้ ยาว, ให้กว้าง ให้แน่น ให้เป็นของที่ขึงดี ให้เป็นของที่ทอดี ให้เป็นของที่สางดี ให้เป็นของที่กรีดดี; แม้ไฉนรูปจะให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลแก่ท่าน, ครั้นกล่าว- *อย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นให้ของเล็กของน้อยเป็นรางวัล โดยที่สุดแม้สักว่าบิณฑบาต, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๑๕๘] บทว่า อนึ่ง ... เฉพาะภิกขุ ความว่า เพื่อประโยชน์ของภิกษุ คือ ทำภิกษุ ให้เป็นอารมณ์แล้ว ใคร่จะให้ภิกษุครอง. ที่ชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนเนื่องถึงกัน ทางมารดาก็ดี ทางบิดาก็ดี ตลอด ๗ ชั่วอายุของบุรพชนก. ผู้ชื่อว่า พ่อเจ้าเรือน ได้แก่ บุรุษผู้ครอบครองเรือน. ผู้ชื่อว่า แม่เจ้าเรือน ได้แก่ สตรีผู้ครอบครองเรือน. บทว่า ช่างหูก ได้แก่ คนทำการทอ. ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ผ้าจีวร ๖ ชนิดๆ ใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเข้าองค์กำหนดแห่งผ้าต้องวิกัป เป็นอย่างต่ำ. บทว่า ให้ทอ คือ ให้ทออยู่. บทว่า ถ้าภิกษุนั้น ... ในสำนักของเขานั้น ได้แก่ ภิกษุที่เขาสั่งให้ช่างหูกทอจีวร ไว้ถวายเฉพาะ. บทว่า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน คือ เป็นผู้อันเขาไม่ได้บอกไว้ก่อนว่า ท่านเจ้าข้า ท่านจะต้องการจีวรเช่นไร ผมจักทอจีวรเช่นไรถวาย. บทว่า เข้าไปหาช่างหูกแล้ว คือ ไปถึงเรือนแล้ว เข้าไปหาในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง. คำว่า ถึงความกำหนดในจีวรนั้น คือ ถึงการกำหนดในจีวรว่า จีวรผืนนี้ทอเฉพาะรูป, ขอท่านจงทำให้ยาว, ให้กว้าง ให้แน่น ให้เป็นของที่ขึงดี ให้เป็นของที่ทอดี ให้เป็นของที่สางดี ให้เป็นของที่กรีดดี, แม้ไฉนรูปจะให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลแก่ท่าน. คำว่า ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัล โดยที่สุดแม้สักว่า บิณฑบาต อธิบายว่า ยาคูก็ดี ข้าวสารก็ดี ของเคี้ยวก็ดี ก้อนจุรณก็ดี ไม้ชำระฟันก็ดี ด้ายเชิงชายก็ดี โดยที่สุดแม้กล่าวธรรมก็ชื่อว่าบิณฑบาต, เขาทำให้ยาวก็ดี ให้กว้างก็ดี ให้แน่น- *ก็ดี ตามคำของเธอ, เป็นทุกกฏในประโยคที่เขาทำ. เป็นนิสสัคคีย์ด้วยได้จีวรมา. ต้องเสียสละ แก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละจีวรนั้น อย่างนี้:-
วิธีเสียสละ
เสียสละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่ง กระโหย่งประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า. เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน, ข้าพเจ้าเข้าไป หาช่างหูกของเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ถึงความกำหนดในจีวร เป็นของจำจะสละ. ข้าพเจ้า สละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสีย สละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้เป็นของจำจะสละ. เธอสละแล้วแก่สงฆ์. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว. สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ ภิกษุมีชื่อนี้.
เสียสละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่ พรรษากว่า นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน, ข้าพเจ้าไปหา ช่างหูกของเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ถึงความกำหนดในจีวรเป็นของจำจะสละ. ข้าพเจ้า สละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า. จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ. เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย. ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว. ท่านทั้ง หลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.
เสียสละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน, ข้าพเจ้าเข้าไปหาช่าง หูกของเจ้าเรือน ผู้มิใช่ญาติ ถึงความกำหนดในจีวร เป็นของจำจะสละ. ข้าพเจ้า- *สละจีวรผืนนี้แก่ท่าน. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้.
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๑๕๙] เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน, เข้าไป หาช่างหูกของเจ้าเรือนแล้ว ถึงความกำหนดในจีวร, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน, เข้าไปหาช่างหูกของเจ้า เรือนแล้ว ถึงความกำหนดในจีวร, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน, เข้าไปหาช่างหูก ของเจ้าเรือนแล้ว ถึงความกำหนดในจีวร, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
ทุกกฏ
เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ ..., ต้องอาบัติทุกกฏ. เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสงสัย ..., ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ..., ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๑๖๐] ภิกษุขอต่อญาติ ๑, ภิกษุขอต่อคนปวารณา ๑, ภิกษุขอเพื่อประโยชน์ของ ภิกษุอื่น ๑, ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตนเอง ๑, เจ้าเรือนใคร่จะให้ทอจีวรมีราคามาก ภิกษุให้- *ทอจีวรมีราคาน้อย ๑, ภิกษุวิกลจริต ๑, ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑, ไม่ต้องอาบัติแล.
ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๗ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๔๐๐๕-๔๑๕๘ หน้าที่ ๑๖๗-๑๗๒. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=4005&Z=4158&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=2&A=4005&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=27              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=157              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=2380              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=5771              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=2380              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=5771              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np27/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]