บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
๓. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๘ เรื่องมหาอำมาตย์คนหนึ่ง [๑๖๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น มหาอำมาตย์ผู้หนึ่งเมื่อจะไปแรมคืนต่างถิ่น ได้ส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า นิมนต์ท่านผู้เจริญทั้งหลายมา, ข้าพเจ้าจักถวายผ้าจำนำพรรษา. ภิกษุทั้งหลายไม่ไป รังเกียจอยู่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตผ้าจำนำพรรษาแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ออก พรรษาแล้ว. จึงท่านมหาอำมาตย์ผู้นั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เมื่อเราส่งทูตไปแล้ว จึงได้ไม่มาเล่า? เพราะเราจะไปในกองทัพ จะเป็นหรือจะตายก็ยากที่จะรู้ได้. ภิกษุทั้งหลายได้ทราบข่าวมหาอำมาตย์ผู้นั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ทรงอนุญาตอัจเจกจีวร ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อรับอัจเจก จีวรแล้วเก็บไว้ได้. สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทราบพระพุทธานุญาตนั้นแล้ว รับอัจเจกจีวรเก็บไว้ล่วงสมัย จีวรกาล. จีวรเหล่านั้น ภิกษุห่อแขวนไว้ที่สายระเดียง. ท่านพระอานนท์เที่ยวจาริกไปตามเสนาสนะ ได้พบเห็นจีวรเหล่านั้นที่ภิกษุทั้งหลายห่อ- *แขวนไว้ที่สายสะเดียง, ครั้นแล้วได้เรียกภิกษุทั้งหลายมาถามว่า อาวุโสทั้งหลาย จีวรเหล่านี้ของ ใครห่อแขวนไว้ที่สายระเดียง ภิกษุทั้งหลายตอบว่า อัจเจกจีวรของพวกกระผม ขอรับ. ท่านพระอานนท์ซักว่า เก็บไว้นานเท่าไรแล้ว? จึงภิกษุเหล่านั้นได้แจ้งแก่ท่านพระอานนท์ ตามที่ตนได้เก็บไว้นานเท่าไร. ท่านพระอานนท์เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุทั้งหลายรับอัจเจกจีวรแล้ว จึงได้เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาลเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุทั้ง หลายรับอัจเจกจีวรแล้ว เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาลจริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียน พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษ เหล่านั้นนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ, ไฉน ภิกษุ โมฆบุรุษเหล่านั้นจึงได้รับอัจเจกจีวรแล้ว เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาลเล่า? การกระทำของภิกษุ โมฆบุรุษเหล่านั้นนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใส ยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว, โดยที่แท้ การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น เป็นไปเพื่อความ ไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.ทรงบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นโดยอเนกปริยายดั่งนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความ เป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ ความเพียร โดยอเนกปริยาย, ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ ประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อ ข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิด ในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่- *เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ ความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๔๗. ๘. วันปุรณมีที่ครบ ๓ เดือน แห่งเดือนกัตติกา ยังไม่มาอีก ๑๐ วัน, อัจเจกจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุ, ภิกษุรู้ว่าเป็นอัจเจกจีวร พึงรับไว้ได้. ครั้นรับไว้แล้ว พึงเก็บไว้ได้จนตลอดสมัยที่เป็นจีวรกาล, ถ้าเธอเก็บไว้ยิ่งกว่านั้น, เป็นนิสสัคคิย- *ปาจิตตีย์.เรื่องมหาอำมาตย์คนหนึ่ง จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๑๖๒] บทว่า ยังไม่มาอีก ๑๐ วัน คือ ก่อนวันปวารณา ๑๐ วัน. บทว่า วันปุรณมีที่ครบ ๓ เดือน แห่งเดือนกัตติกา นั้น คือวันปวารณา ท่าน กล่าวว่าวันเพ็ญเดือนกัตติกา. ที่ชื่อว่า อัจเจกจีวร อธิบายว่า บุคคลประสงค์จะไปในกองทัพก็ดี, บุคคลประสงค์จะ ไปแรมคืนต่างถิ่นก็ดี, บุคคลเจ็บไข้ก็ดี, สตรีมีครรภ์ก็ดี, บุคคลยังไม่มีศรัทธา มามีศรัทธาเกิดขึ้น ก็ดี, บุคคลที่ยังไม่เลื่อมใส มามีความเลื่อมใสเกิดขึ้นก็ดี. ถ้าเขาส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า นิมนต์ท่านผู้เจริญมา, ข้าพเจ้าจัดถวายผ้าจำนำพรรษา, ผ้าเช่นนี้ชื่อว่าอัจเจกจีวร. คำว่า ภิกษุรู้ว่าเป็นอัจเจกจีวร พึงรับไว้ได้. ครั้นรับไว้แล้ว พึงเก็บไว้ได้จน ตลอดสมัยที่เป็นจีวรกาล ดังนี้นั้น คือ พึงทำเครื่องหมายว่า นี้อัจเจกจีวร แล้วเก็บไว้. ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นจีวรกาล คือ เมื่อไม่ได้กรานกฐิน, ได้ท้ายฤดูฝน ๑ เดือน, เมื่อ กรานกฐินแล้ว, ได้ขยายออกไปเป็น ๕ เดือน. คำว่า ถ้าเธอเก็บไว้ยิ่งกว่านั้น คือ เมื่อไม่ได้กรานกฐิน, เก็บไว้ล่วงเลยวันสุดท้าย แห่งฤดูฝน, เป็นนิสสัคคีย์. เมื่อได้กรานกฐินแล้ว, เก็บไว้ล่วงเลยวันกฐินเดาะ, เป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละอัจเจกจีวรนั้นอย่างนี้:-วิธีเสียสละ เสียสละแก่สงฆ์ ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เก็บไว้ล่วงเลยสมัย จีวรกาลเป็น ของจำจะสละ. ข้าพเจ้าสละผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้แก่สงฆ์. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. อัจเจกจีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของ จำจะสละ. เธอสละแล้วแก่สงฆ์. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว. สงฆ์พึงให้ผ้า อัจเจกจีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.เสียสละแก่คณะ ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่ พรรษากว่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เก็บไว้ล่วงเลยสมัย จีวรกาลเป็น ของจำจะสละ. ข้าพเจ้าสละผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า. ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้เป็นของจำ จะสละ. เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย. ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว. ท่านทั้งหลายพึงให้ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.เสียสละแก่บุคคล ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่าน ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เก็บไว้ล่วงเลยสมัยจีวรกาลเป็นของจำ จะสละ. ข้าพเจ้าสละผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้แก่ท่าน. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้.บทภาชนีย์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ [๑๖๓] อัจเจกจีวร ภิกษุสำคัญว่าเป็นอัจเจกจีวร เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. อัจเจกจีวร ภิกษุสงสัย เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. อัจเจกจีวร ภิกษุสำคัญว่ามิใช่อัจเจกจีวร เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล, เป็นนิสสัคคีย์ ต้อง อาบัติปาจิตตีย์. จีวรยังไม่ได้อธิษฐาน ภิกษุสำคัญว่าอธิษฐานแล้ว เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. จีวรยังไม่ได้วิกัป ภิกษุสำคัญว่าวิกัปแล้ว เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล, เป็นนิสสัคคีย์ ต้อง อาบัติปาจิตตีย์. จีวรยังไม่ได้สละ ภิกษุสำคัญว่าสละแล้ว เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล, เป็นนิสสัคคีย์ ต้อง อาบัติปาจิตตีย์. จีวรยังไม่หาย ภิกษุสำคัญว่าหายแล้ว เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล, เป็นนิสสัคคีย์ ต้อง อาบัติปาจิตตีย์. จีวรยังไม่ฉิบหาย ภิกษุสำคัญว่าฉิบหายแล้ว เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. จีวรยังไม่ถูกไฟไหม้ ภิกษุสำคัญว่าถูกไฟไหม้แล้ว เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. จีวรยังไม่ถูกชิงไป ภิกษุสำคัญว่าถูกชิงไปแล้ว เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ทุกกฏ จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุยังไม่ได้สละ บริโภค, ต้องอาบัติทุกกฏ. ไม่ใช่อัจเจกจีวร ภิกษุสำคัญว่าอัจเจกจีวร, ต้องอาบัติทุกกฏ. ไม่ใช่อัจเจกจีวร ภิกษุสงสัย ..., ต้องอาบัติทุกกฏ.ไม่ต้องอาบัติ ไม่ใช่อัจเจกจีวร ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่อัจเจกจีวร ..., ไม่ต้องอาบัติ.อนาปัตติวาร [๑๖๔] ภิกษุอธิษฐาน ๑, ภิกษุวิกัป ๑, ภิกษุสละให้ไป ๑, จีวรหาย ๑, จีวรฉิบหาย ๑, จีวรถูกไฟไหม้ ๑, จีวรถูกชิงเอาไป ๑, ภิกษุถือวิสาสะ ๑, ในภายในสมัย ๑, ภิกษุวิกลจริต ๑, ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑, ไม่ต้องอาบัติแล.ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๘ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๔๑๕๙-๔๒๙๑ หน้าที่ ๑๗๓-๑๗๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=4159&Z=4291&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=2&A=4159&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=28 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=161 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=2489 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=5787 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=2489 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=5787 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np28/en/brahmali
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]