บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๙ เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของภิกษุณีถุลลนันทา [๗๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอานาถ- *บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น เหล่าภิกษุณีอันเตวาสินีของภิกษุณีถุลลนันทา ชอบอยู่ คลุกคลีปนเปกัน มีอาจาระทราม มีกิตติศัพท์ไม่งาม มีอาชีวะไม่ชอบ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิดโทษของพรรคพวกกัน. บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ... ต่างก็เพ่งโทษติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพวกภิกษุณีจึงได้อยู่คลุกคลีกัน มีอาจาระทราม มีกิตติศัพท์ไม่งาม มีอาชีวะ ไม่ชอบ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิดโทษของพรรคพวก กันเล่า ... แล้วกราบทูลเรื่อง นั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกภิกษุณีอยู่ คลุกคลีกัน มีอาจาระทราม มีกิตติศัพท์ไม่งาม มีอาชีวะไม่ชอบ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิดโทษของพรรคพวกกัน จริงหรือ?. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณี จึงได้ชอบอยู่ คลุกคลีกัน มีอาจาระทราม มีกิตติศัพท์ไม่งาม มีอาชีวะไม่ชอบ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิดโทษของพรรคพวกกันเล่า การกระทำของพวกนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของ ชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลาย จงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๒๐. ๙. อนึ่ง ภิกษุณีทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน มีอาจาระทราม มีกิตติศัพท์ไม่งาม มีอาชีวะไม่ชอบ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิดโทษของพรรคพวกกัน. ภิกษุณี เหล่านั้นอันภิกษุณีทั้งหลาย พึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า พี่น้องหญิงทั้งหลายแลอยู่คลุกคลีกัน มี อาจาระทราม มีกิตติศัพท์ไม่งาม มีอาชีวะไม่ชอบ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิด โทษของพรรคพวกกัน แม่เจ้าทั้งหลายจงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์ย่อมสรรเสริญความสงัดอย่างเดียว แก่พี่น้องหญิงทั้งหลาย แลภิกษุณีเหล่านั้น อันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่ อย่างนั้นเทียว ภิกษุณีเหล่านั้น อันภิกษุณีทั้งหลาย พึงสวดสมนุภาสกว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละวัตถุนั้น หากเธอเหล่านั้นถูกสวดสมนุภาส กว่าจะครบสามจบอยู่ สละวัตถุนั้นเสียได้ การสละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่สละ ภิกษุณีแม้เหล่านี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติในเมื่อสวดสมนุภาสครบสามจบ.เรื่องภิกษุณีอันเตวาสินีของภิกษุณีถุลลนันทา จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๗๘] บทว่า อนึ่ง ภิกษุณีทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสหมายสตรีผู้อุปสมบทแล้ว. ที่ชื่อว่า อยู่คลุกคลีกัน คือ อยู่คลุกคลีด้วยการคลุกคลีทางกายและวาจาอันไม่สมควร. บทว่า มีอาจาระทราม คือ ประกอบด้วยความประพฤติที่เลว. บทว่า มีกิตติศัพท์ไม่งาม คือ อื้อฉาวด้วยเสียงเล่าลือที่เสียหาย. บทว่า มีอาชีวะไม่ชอบ คือเลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพต่ำช้า. บทว่า มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ คือ เมื่อสงฆ์ทำกรรมแก่เพื่อนกันย่อมคัดค้าน. บทว่า ชอบปกปิดโทษของพรรคพวกกัน คือ ปกปิดความผิดของกันและกัน. [๗๙] บทว่า ภิกษุณีเหล่านั้น ได้แก่ ภิกษุณีพวกที่อยู่คลุกคลีปะปนกัน. บทว่า อันภิกษุณีทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุณีพวกอื่น คือพวกที่ได้เห็น ได้ทราบ เหล่านั้น พึงว่ากล่าวว่า พี่น้องหญิงทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน มีอาจาระทรามมีกิตติศัพท์ไม่งาม มีอาชีวะไม่ชอบ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิดโทษของพรรคพวกกัน แม่เจ้าทั้งหลาย จงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์ย่อมสรรเสริญความสงัดอย่างเดียวแก่พี่น้องหญิงทั้งหลาย พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าว แม้ครั้งที่สาม หากภิกษุณีเหล่านั้นสละได้ การสละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่สละ ต้อง อาบัติทุกกฏ พวกภิกษุณีทราบแล้วไม่ว่ากล่าว ก็ต้องอาบัติทุกกฏ. ภิกษุณีเหล่านั้น อันภิกษุณีทั้งหลายพึงคุมตัวมาสู่ท่ามกลางสงฆ์ แล้วว่ากล่าวว่า พี่น้อง หญิงทั้งหลายแล อยู่คลุกคลีกัน มีอาจาระทราม มีกิตติศัพท์ไม่งาม มีอาชีวะไม่ชอบ มักเบียดเบียน ภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิดโทษของพรรคพวกกัน แม่เจ้าทั้งหลายจงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์ย่อมสรรเสริญ ความสงัดอย่างเดียวแก่พี่น้องหญิงทั้งหลาย พึงกล่าวว่าแม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม. หาก ภิกษุณีเหล่านั้นสละได้ การสละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ.วิธีสวดสมนุภาส [๘๐] ภิกษุณีเหล่านั้น อันภิกษุณีสงฆ์พึงสวดสมนุภาส ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลวิธีสวด สมนุภาสนั้นพึงสวดอย่างนี้ อันภิกษุณีผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถ- *กรรมวาจา ว่าดังนี้:-กรรมวาจาสมนุภาส แม่เจ้า เจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีทั้งหลายมีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย อยู่ คลุกคลีกัน มีอาจาระทราม มีกิตติศัพท์ไม่งาม มีอาชีวะไม่ชอบ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิดโทษของพรรคพวกกัน เธอเหล่านั้นยังไม่สละวัตถุนั้น ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวดสมนุภาสภิกษุณีทั้งหลายมีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย เพื่อให้สละวัตถุนั้น นี่เป็นญัตติ. แม่เจ้า เจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีทั้งหลายมีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย อยู่คลุก- คลีกัน มีอาจาระทราม มีกิตติศัพท์ไม่งาม มีอาชีวะไม่ชอบ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิดโทษของพรรคพวกกัน เธอเหล่านั้นยังไม่สละวัตถุนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสภิกษุณี ทั้งหลาย มีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย เพื่อให้สละวัตถุนั้น การสวดสมนุภาสภิกษุณีทั้งหลายมีชื่อ นี้ด้วย เพื่อให้สละวัตถุนั้น ชอบแก่แม่เจ้าผู้ใด แม่เจ้าผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่แม่เจ้าผู้ ใด แม่เจ้าผู้นั้นพึงพูด ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง ... ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม ... ภิกษุณีทั้งหลายมีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย อันสงฆ์สวดสมนุภาสแล้ว เพื่อให้สละวัตถุนั้น ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้. [๘๑] จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจาสองครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย จบกรรม- *วาจาครั้งสุด ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว อาบัติทุกกฏเพราะญัตติ อาบัติ ถุลลัจจัยเพราะกรรมวาจาสองครั้ง ย่อมระงับ. พึงสวดสมนุภาสภิกษุณี ๒-๓ รูปคราวเดียวกันได้ ไม่พึงสวดสมนุภาสภิกษุณีมากกว่านั้น. [๘๒] บทว่า ภิกษุแม้เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุณีรูปก่อน. บทว่า มีอันให้ต้องอาบัติเมื่อสวดสมนุภาสครบสามจบ คือ ต้องอาบัติเพราะสวดสมนุ- *ภาสจบครั้งที่สาม ไม่ใช่ต้องพร้อมกับการละเมิดวัตถุ. ที่ชื่อว่า นิสสารณียะ ได้แก่ ถูกขับออกจากหมู่สงฆ์. บทว่า สังฆาทิเสส ความว่า สงฆ์เท่านั้นให้มานัต ... แม้เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส.บทภาชนีย์ ติกะสังฆาทิเสส [๘๓] กรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส. กรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสงสัย ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส. กรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.ติกะทุกกฏ กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ.อนาปัตติวาร [๘๔] ยังไม่ถูกสวดสมนุภาส ๑ ยอมสละ ๑ วิกลจริต ๑ มีจิตฟุ้งซ่าน ๑ กระสับ กระส่ายเพราะเวทนา ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๙ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓ บรรทัดที่ ๑๐๙๗-๑๑๙๒ หน้าที่ ๔๖-๔๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=3&A=1097&Z=1192&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=3&A=1097&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=3&siri=13 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=3&i=77 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=3&A=1035 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=11097 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=3&A=1035 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=11097 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_3 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/03i001-e.php#3.077 https://suttacentral.net/pli-tv-bi-vb-ss12/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bi-vb-ss12/en/horner
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]