บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๕ เรื่องภิกษุณีหลายรูป [๔๑๖] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- *บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุณีมีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว แต่สงฆ์ยังมิได้สมมติ ได้พากันบวชกุลธิดา ภิกษุณีอุปัชฌายะเหล่านั้น เป็นคนเขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร แม้สัทธิวิหารินีก็เป็นคนเขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร. บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพวกภิกษุณี มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว แต่สงฆ์ยังมิได้สมมติ จึงได้พากันบวชกุลธิดาเล่า ...ทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกภิกษุณีมีพรรษา ครบ ๑๒ แล้ว แต่สงฆ์ยังมิได้สมมติ ได้พากันบวชกุลธิดา จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีมีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว แต่สงฆ์ยังมิได้สมมติ จึงได้พากันบวชกุลธิดาเล่า การกระทำของพวกนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อ ความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ... ครั้นแล้ว ทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์สมมติการอุปสมบทแก่ภิกษุณีผู้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลวิธีการสมมติให้อุปสมบทนั้น สงฆ์พึงให้อย่างนี้:-วิธีให้สมมติการให้อุปสมบทแก่ภิกษุณีผู้มีพรรษาครบ ๑๒ อันภิกษุณีผู้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้วนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบ เท้าภิกษุณีผู้แก่พรรษากว่าแล้ว นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี กล่าวอย่างนี้ว่า แม่เจ้า ดิฉันชื่อนี้ มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว ขอสมมติการให้อุปสมบทต่อสงฆ์. พึงขอแม้ครั้งที่สอง พึงขอแม้ครั้งที่สาม ภิกษุณีนั้นอันสงฆ์พึงกำหนดว่า ภิกษุณีนี้เป็นคนฉลาด มีความละอาย ถ้าเธอเป็นคนเขลา และไม่มีความละอาย ก็ไม่ควรให้ ถ้าเป็นคนเขลา แต่มีความละอาย ก็ไม่ควรให้ ถ้าเป็นคน ฉลาด แต่ไม่มีความละอาย ก็ไม่ควรให้ ถ้าเป็นคนฉลาดด้วย มีความละอายด้วย จึงควรให้. ครั้นแล้ว สงฆ์พึงให้สมมติการให้อุปสมบทนั้นอย่างนี้ ภิกษุณีผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-กรรมวาจา แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้ผู้นี้ มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว ขอสมมติ การให้อุปสมบทต่อสงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้สมมติการให้อุปสมบท แก่ภิกษุณีชื่อนี้ ผู้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว. นี่เป็นญัตติ. แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุณีชื่อนี้ผู้นี้ มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว ขอสมมติ การให้อุปสมบทต่อสงฆ์ สงฆ์ให้สมมติการให้อุปสมบทแก่ภิกษุณีชื่อนี้ ผู้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว การให้สมมติการให้อุปสมบทแก่ภิกษุณีชื่อนี้ ผู้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว ชอบแก่แม่เจ้า ผู้ใด แม่เจ้าผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่แม่เจ้าผู้ใด แม่เจ้าผู้นั้นพึงพูด. การให้สมมติการให้อุปสมบท อันสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุณีชื่อนี้ ผู้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุณีเหล่านั้น โดยอเนกปริยายดังนี้ แล้วตรัสโทษ แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๑๓๐. ๕. อนึ่ง ภิกษุณีใด มีพรรษาครบสิบสองแล้ว อันสงฆ์ยังมิได้สมมติ ยังกุลธิดา ให้บวช เป็นปาจิตตีย์.เรื่องภิกษุณีหลายรูป จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๔๑๗] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณี ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า มีพรรษาครบสิบสองแล้ว คือ มีพรรษาถึง ๑๒ แล้ว. ที่ชื่อว่า ยังมิได้สมมติ คือ สงฆ์ยังมิได้ให้สมมติการให้อุปสมบทด้วยญัตติทุติยกรรม. บทว่า ยังกุลธิดาให้บวช คือ ให้กุลธิดาอุปสมบท. ตั้งใจว่าจักให้บวช แสวงหาคณะก็ดี อาจารย์ก็ดี บาตรก็ดี จีวรก็ดี สมมติสีมาก็ดี ต้อง อาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรม วาจาครั้งสุด ภิกษุณีผู้อุปัชฌาย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและอาจารย์ ต้องอาบัติทุกกฏ.บทภาชนีย์ ติกะปาจิตตีย์ [๔๑๘] กรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ให้บวช ต้องอาบัติปาจิตตีย์. กรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสงสัย ให้บวช ต้องอาบัติปาจิตตีย์. กรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ให้บวช ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ติกะทุกกฏ กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฏ.อนาปัตติวาร [๔๑๙] มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว อันสงฆ์สมมติแล้วยังกุลธิดาให้บวช ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๕ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓ บรรทัดที่ ๕๖๙๑-๕๗๕๙ หน้าที่ ๒๕๗-๒๕๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=3&A=5691&Z=5759&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=3&A=5691&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=3&siri=103 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=3&i=416 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=3&A=4612 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=3&A=4612 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_3 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/03i001-e.php#3.416 https://suttacentral.net/pli-tv-bi-vb-pc75/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bi-vb-pc75/en/horner
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]