บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
พระพุทธานุญาตน้ำมันเปลว [๒๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยน้ำมันเปลว เป็นเภสัช จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำมันเปลวเป็นเภสัช คือ น้ำมันเปลวหมี น้ำมันเปลวปลา น้ำมันเปลวปลาฉลาม น้ำมันเปลวหมู น้ำมันเปลวลา ที่รับประเคนในกาล เจียวในกาล กรองในกาล บริโภคอย่างน้ำมัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนในวิกาล เจียวในวิกาล กรองในวิกาล หากจะ พึงบริโภคน้ำมันเปลวนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๓ ตัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนในกาล เจียวในวิกาล กรองในวิกาล หากจะ พึงบริโภคน้ำมันเปลวนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนในกาล เจียวในกาล กรองในวิกาล หากจะ พึงบริโภคน้ำมันเปลวนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๑ ตัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนในกาล เจียวในกาล กรองในกาล หากจะ พึงบริโภคน้ำมันเปลวนั้น ไม่ต้องอาบัติ.พระพุทธานุญาตมูลเภสัช [๒๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยรากไม้เป็นเภสัช จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรากไม้ที่เป็นเภสัช คือ ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิด ข่า แฝก แห้วหมู ก็หรือมูลเภสัช แม้ชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคนมูลเภสัชเหล่านั้นแล้วเก็บ ไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.พระพุทธานุญาตเครื่องบดยา สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยรากไม้ที่เป็นเภสัชชนิดละเอียด จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตัวหินบด ลูกหินบด.พระพุทธานุญาตกสาวเภสัช [๒๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยน้ำฝาดเป็นเภสัช จึงกราบทูลเรื่องแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำฝาดที่เป็นเภสัช คือ น้ำฝาดสะเดาะ น้ำฝาดมูกมัน น้ำฝาดกระดอม หรือขี้กา น้ำฝาดบรเพ็ด หรือพญามือเหล็ก น้ำฝาดกถินพิมาน ก็หรือกสาวเภสัช แม้ชนิดอื่นใด บรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว ในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของ ควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคนกสาวเภสัชเหล่านั้น แล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.พระพุทธานุญาตปัณณเภสัช [๓๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยใบไม้เภสัช จึง กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตใบไม้ที่เป็นเภสัช คือ ใบสะเดา ใบมูกมัน ใบกระดอม หรือขี้กา ใบกะเพรา หรือแมงลัก ใบฝ้าย ก็หรือปัณณเภสัช แม้ชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์ แก่ของควรเคี้ยว ในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคนปัณณเภสัชเหล่านั้น แล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุ ไม่มีภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.พระพุทธานุญาตผลเภสัช [๓๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยผลไม้เป็นเภสัช จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ที่เป็นเภสัช คือ ลูกพิลังกาสา ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ผลแห่งโกฐ ก็หรือผลเภสัช แม้ชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของ ควรเคี้ยวในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคน ผลเภสัชเหล่านั้นแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุ บริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.พระพุทธานุญาตชตุเภสัช [๓๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยยางไม้เป็นเภสัช จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยางไม้ที่เป็นเภสัช คือ ยางอันไหลออกจากต้นหิงคุ ยางอันเขาเคี่ยว จากก้านและใบแห่งต้นหิงคุ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบแห่งต้นหิงคุ หรือเจือของอื่นด้วย ยางอันไหล ออกจากยอดไม้ตกะ ยางอันไหลออกจากใบแห่งต้นตกะ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบหรือไหลออกจาก ก้านแห่งต้นตกะ กำยานก็หรือชตุเภสัชชนิดอื่นใดบรรดามีที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว ในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคนชตุเภสัช เหล่านั้น แล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.พระพุทธานุญาตโลณเภสัช [๓๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยเกลือเป็นเภสัช จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเกลือที่เป็นเภสัช คือ เกลือสมุทร เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เกลือดินโป่ง เกลือหุง ก็หรือโลณเภสัชชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยวในของ ควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคนโลณเภสัช เหล่านั้น แล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.พระพุทธานุญาตจุณเภสัชเป็นต้น [๓๔] โดยสมัยนั้นแล ท่านพระเวลัฏฐสีสะ อุปัชฌาย์ของท่านพระอานนท์ อาพาธ เป็นโรคฝีดาษ หรืออีสุกอีใส ผ้านุ่งผ้าห่มกรังอยู่ที่ตัว เพราะน้ำเหลืองของโรคนั้น ภิกษุทั้งหลาย เอาน้ำชุบๆ ผ้าเหล่านั้นแล้วค่อยๆ ดึงออกมา พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินตามเสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุพวกนั้นกำลังเอาน้ำชุบๆ ผ้านั้นแล้วค่อยๆ ดึงออกมา ครั้นแล้วเสด็จ พระพุทธดำเนินเข้าไปทางภิกษุเหล่านั้น ได้ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้อาพาธ โรคอะไร? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ท่านรูปนี้อาพาธโรคฝีดาษ หรืออีสุกอีใส ผ้ากรังอยู่ที่ตัว เพราะน้ำเหลือง พวกข้าพระพุทธเจ้าเอาน้ำชุบๆ ผ้าเหล่านั้น แล้วค่อยๆ ดึง ออกมา. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเภสัชชนิดผง สำหรับ ภิกษุผู้เป็นฝีก็ดี พุพองก็ดี สิวก็ดี โรคฝีดาษ หรืออีสุกอีใสก็ดี มีกลิ่นตัวแรงก็ดี เราอนุญาตโคมัย ดินเหนียว กากน้ำย้อม สำหรับภิกษุไม่อาพาธ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตครก สาก.พระพุทธานุญาตเครื่องกรอง [๓๕] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยยาผงที่กรองแล้ว จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตวัตถุเครื่องกรองยาผง ภิกษุอาพาธมีความต้องการด้วยยาผงที่ละเอียด พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ากรองยา.พระพุทธานุญาตเนื้อดิบและเลือดสด [๓๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเพราะผีเข้า พระอาจารย์ พระอุปัชฌายะ ช่วยกันรักษาเธอ ก็ไม่สามารถแก้ไขให้หายโรคได้ เธอเดินไปที่เขียงแล่หมู แล้วเคี้ยวกินเนื้อดิบ ดื่มกินเลือดสด อาพาธเพราะผีเข้าของเธอนั้น หายดังปลิดทิ้ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตเนื้อดิบ เลือดสด ในเพราะอาพาธเกิดแต่ผีเข้า.พระพุทธานุญาตยาตาเป็นต้น [๓๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคนัยน์ตา ภิกษุทั้งหลายจูงเธอไป ให้ถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินตามเสนาสนะ ได้ทอด พระเนตรเห็นพวกภิกษุนั้นกำลังจูงภิกษุรูปนั้นไปให้ถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง จึงเสด็จ พระพุทธดำเนินเข้าไปทางภิกษุพวกนั้นแล้วได้ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้อาพาธเป็น อะไร? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ท่านรูปนี้อาพาธเป็นโรคนัยน์ตา พวกข้าพระพุทธเจ้าคอยจูงท่าน รูปนี้ไปให้ถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยาตา คือ ยาตาที่ ปรุงด้วยเครื่องปรุงหลายอย่าง ยาตาที่ทำด้วยเครื่องปรุงต่างๆ ยาตาที่เกิดในกระแสน้ำเป็นต้น หรดาลกลีบทอง เขม่าไฟ พวกภิกษุอาพาธมีความต้องการด้วยเครื่องยาที่จะบดผสมกับยาตา จึงกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ไม้จันทร์ กฤษณา กะลัมพัก ใบเฉียง แห้วหมู สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายเก็บยาตาชนิดผงไว้ในโอบ้าง ในขันบ้าง ผงหญ้าบ้าง ฝุ่นบ้าง ปลิวลง จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกลักยาตา สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ใช้กลักยาตาชนิดต่างๆ คือ ชนิดที่ทำด้วยทองคำบ้าง ชนิด ที่ทำด้วยเงินบ้าง คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนเหล่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กลักยาตาชนิดต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกลักยาตาที่ทำด้วยกระดูก ทำด้วยงา ทำด้วยเขา ทำด้วย ไม้อ้อ ทำด้วยไม้ไผ่ ทำด้วยยาง ทำด้วยผลไม้ ทำด้วยโลหะ ทำด้วยเปลือกสังข์ สมัยต่อมา กลักยาตาไม่มีฝาปิด ผงหญ้าบ้าง ฝุ่นบ้าง ปลิวตกลง ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด. ฝาปิดยังตกได้ พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผูกด้าย แล้วพันกับกลักยาตา. กลักยาตาแตก พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถักด้วยด้าย. สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลาย ป้ายยาตาด้วยนิ้วมือ นัยน์ตาช้ำ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ไม้ป้ายยาตา. สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ใช้ไม้ป้ายตาชนิดต่างๆ คือ ที่ทำด้วยทองคำบ้าง ที่ทำด้วย เงินบ้าง คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนเหล่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ไม้ป้ายยาตาชนิดต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้ป้ายยาตาที่ทำด้วยกระดูก ทำด้วยงา ทำด้วยเขา ทำด้วยเปลือกสังข์ สมัยต่อมา ไม้ป้ายยาตาตกลงที่พื้นเปื้อน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตภาชนะสำหรับเก็บไม้ป้าย ยาตา. สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายบริหารกลักยาตาบ้าง ไม้ป้ายยาตาบ้าง ด้วยมือ จึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงกลักยาตา. หูถุงสำหรับสะพายไม่มี ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มี พระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกผูกเป็นสายสะพาย.พระพุทธานุญาตน้ำมันเป็นต้น [๓๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระปิลินทวัจฉะปวดศีรษะ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำมันทาศีรษะ โรคปวดศีรษะยังไม่หาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการนัตถุ์ น้ำมันที่นัตถุ์ไหลออก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัส อนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องสำหรับนัตถุ์. สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ใช้กล้องสำหรับนัตถุ์ชนิดต่างๆ คือ ทำด้วยทองคำบ้าง ชนิดที่ ทำด้วยเงินบ้าง คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนเหล่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กล้องสำหรับนัตถุ์ชนิดต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องสำหรับนัตถุ์ที่ทำด้วยกระดูก .... ทำด้วยเปลือกสังข์ ท่านพระปิลินทวัจฉะนัตถุ์ไม่เท่ากัน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องสำหรับนัตถุ์ ประกอบด้วยหลอดคู่ โรคปวดศีรษะยังไม่หาย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สูดควัน ภิกษุทั้งหลายจุดเกลียวผ้าแล้วสูดควันนั้นนั่นแหละ คอแสบร้อน จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้อง สูดควัน สมัยต่อมา ฉัพพัคคีย์ใช้กล้องสูดควันชนิดต่างๆ คือ ชนิดที่ทำด้วยทองคำบ้าง ชนิดที่ ทำด้วยเงินบ้าง คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนเหล่าคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กล้องสูดควันชนิดต่างๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องสูดควันที่ทำด้วยกระดูก .... ทำด้วยเปลือกสังข์ สมัยต่อมา กล้องสูดควันไม่มีฝาปิด ตัวสัตว์เข้าไปได้ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ฝาปิด สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายบริหารกล้องสูดควันด้วยมือ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงกล้อง สูดควัน กล้องสูดควันเหล่านั้นอยู่ร่วมกันย่อมกระทบกันได้ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ถุงคู่ หูสำหรับสะพายไม่มี ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกผูกเป็นสายสะพาย.เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๗๗๕-๙๔๗ หน้าที่ ๓๒-๓๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=775&Z=947&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=5&A=775&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=8 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=-27 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=5&A=838 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=5&A=838 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/brahmali#pli-tv-kd6:2.1.1 https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/horner-brahmali#Kd.6.2
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]