ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
๙. อาฏานาฏิยสูตร (๓๒)
---------------------------
[๒๐๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนคร ราชคฤห์ ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ตั้งการรักษาไว้ทั้ง ๔ ทิศ ตั้งพลขันธ์ไว้ทั้ง ๔ ทิศ ตั้งผู้ตรวจตราไว้ทั้ง ๔ ทิศ ด้วยเสนายักษ์กองใหญ่ ด้วยเสนาคนธรรพ์กองใหญ่ ด้วยเสนากุมภัณฑ์กองใหญ่ และด้วยเสนานาคกองใหญ่ เมื่อราตรีล่วงปฐมยาม ไปแล้ว เปล่งรัศมีงามยิ่ง ยังภูเขาคิชฌกูฏทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ฯ ฝ่ายยักษ์เหล่านั้น บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประนมอัญชลีไปทางที่ พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศชื่อและ โคตร แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๒๐๘] ท้าวเวสวัณมหาราช ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยักษ์ชั้นสูงบางพวกมิได้เลื่อม ใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นสูงบางพวกที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นกลางบางพวกมิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นกลางบางพวก ที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นต่ำบางพวกมิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค ก็มี ยักษ์ชั้นต่ำบางพวกที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยมากยักษ์มิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเลย ข้อนั้นเหตุไร เพราะพระผู้มี พระภาคทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากปาณาติบาต ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจาก อทินนาทาน ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ทรงแสดงธรรมเพื่อ งดเว้นจากมุสาวาท ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แต่โดยมากพวกยักษ์มิได้งดเว้นจากปาณาติบาต มิได้งดเว้นจากอทินนาทาน มิได้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร มิได้งดเว้นจากมุสาวาท มิได้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ข้อที่พระองค์ให้งดเว้นนั้น จึงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของยักษ์เหล่านั้น ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ก็พระสาวกของพระผู้มีพระภาค บางพวกย่อมเสพราวไพรในป่า เสนาสนะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย ปราศจากลมแต่ชนผู้เดิน เข้าออก ควรแก่การทำกรรมอันเร้นลับของมนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น ยักษ์ชั้นสูง บางพวกมักอยู่ในป่านั้น พวกใดมิได้เลื่อมใสในปาพจน์ของพระผู้มีพระภาคนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงเรียนการรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะเพื่อให้ยักษ์พวกนั้น เลื่อมใส คุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณีทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า ฯ พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ ลำดับนั้น ท้าวเวสวัณมหาราช ทรงทราบการทรงรับของพระผู้มีพระภาค แล้วได้ทรงภาษิตอาฏานาฏิยรักขานี้ ในเวลานั้นว่า [๒๐๙] ขอนอบน้อมแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้มีพระจักษุ มีพระสิริ ขอนอบน้อมแด่พระสิขีพุทธเจ้า ผู้ทรงอนุเคราะห์แก่สัตว์ ทั่วหน้า ขอนอบน้อมแด่พระเวสสภูพุทธเจ้า ผู้ทรงชำระกิเลส มีความเพียร ขอนอบน้อมแด่พระกกุสันธพุทธเจ้า ผู้ทรงย่ำยี มารและเสนามาร ขอนอบน้อมแด่พระโกนาคมน์พุทธเจ้า ผู้มี บาปอันลอยแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ขอนอบน้อมแด่พระกัสสป พุทธเจ้า ผู้พ้นพิเศษแล้วในธรรมทั้งปวง ขอนอบน้อมแด่พระ อังคีรสพุทธเจ้า ผู้ศากยบุตร ผู้มีพระสิริ พระพุทธเจ้าพระองค์ ใดได้ทรงแสดงธรรมนี้ อันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวง อนึ่ง พระพุทธเจ้าเหล่าใด ผู้ดับแล้วในโลก ทรงเห็นแจ้งแล้ว ตามเป็นจริง พระพุทธเจ้าเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ส่อเสียด เป็นผู้ ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย นอบน้อมพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้โคตมโคตร ทรงเกื้อกูล แก่ทวยเทพและมนุษย์ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม พระสุริยาทิตย์ มีมณฑลใหญ่ อุทัยขึ้นแต่ทิศใดแล เมื่อพระอาทิตย์อุทัยขึ้น ราตรีก็หายไป ครั้นพระอาทิตย์อุทัยขึ้น ย่อมเรียกกันว่ากลางวัน แม้น่านน้ำในที่ พระอาทิตย์อุทัยนั้นเป็นสมุทรลึก มีน้ำแผ่เต็มไป ชนทั้งหลาย ย่อมรู้จักน่านน้ำนั้นในที่นั้นอย่างนี้ว่า สมุทรมีน้ำแผ่เต็มไป ฯ [๒๑๐] แต่ที่นี้ไป ทิศที่ชนเรียกกันว่า ปุริมทิศ ที่ท้าวมหาราชผู้ทรงยศ เป็นเจ้าเป็นใหญ่ของพวกคนธรรพ์ ทรงนามว่าท้าวธตรฏฐ์ อัน พวกคนธรรพ์แวดล้อมแล้ว ทรงโปรดปรานด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ทรงอภิบาลอยู่ ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า โอรสของท้าวเธอ มีมากองค์ มีพระนามเดียวกัน ทั้งเก้าสิบเอ็ดองค์ มีพระนามว่า อินทะ ทรงพระกำลังมาก ทั้งท้าวธตรฏฐ์และโอรสเหล่านั้นเห็น พระพุทธเจ้าผู้เบิกบานแล้ว ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ พากันถวายบังคมพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจาก ความครั่นคร้าม แต่ที่ไกลว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมแด่ พระองค์ พระอุดมบุรุษ ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมแด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงตรวจดูมหาชนด้วยพระญาณอันฉลาด แม้พวก อมนุษย์ก็ถวายบังคมพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้สดับมา อย่างนั้นเนืองๆ ฉะนั้น จึงกล่าวเช่นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถามเขาว่า พวกท่านถวายบังคมพระชินโคดมหรือ เขาพากัน ตอบว่า ถวายบังคมพระชินโคดม ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอถวายบังคมพระพุทธเจ้า ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ชนทั้งหลายผู้กล่าวส่อเสียด ผู้กัดเนื้อข้างหลัง ทำปาณาติบาต ลามก เป็นโจร เป็นคนตลบตะแลง ตายแล้ว ชนทั้งหลาย พากันกล่าวว่า จงนำออกไปโดยทิศใด ฯ [๒๑๑] แต่นี้ไป ทิศที่ชนเรียกกันว่า ทักขิณทิศที่ท้าวมหาราชผู้ทรงยศ เป็นเจ้าเป็นใหญ่ของพวกกุมภัณฑ์ ทรงนามว่า ท้าววิรุฬหะ อันพวกกุมภัณฑ์แวดล้อมแล้ว ทรงโปรดปรานด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ทรงอภิบาลอยู่ ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า โอรสของท้าว เธอมีมากองค์ มีพระนามเดียวกัน ทั้งเก้าสิบเอ็ดองค์ มีพระนามว่า อินทะ ทรงพระกำลังมาก ทั้งท้าววิรุฬหะและ โอรสเหล่านั้นได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เบิกบานแล้ว ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ แห่งพระอาทิตย์ พากันถวายบังคมพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้ามแต่ที่ไกลว่า พระบุรุษอาชาไนย ข้าพระ พุทธเจ้าขอนอบน้อมแด่พระองค์ พระบุรุษอุดม ข้าพระพุทธเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงตรวจดูมหาชนด้วย พระญาณอันฉลาด แม้พวกอมนุษย์ก็ถวายบังคมพระองค์ ข้าพระ พุทธเจ้าทั้งหลาย ได้สดับมาอย่างนั้นเนืองๆ ฉะนั้น จึงกล่าว เช่นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถามเขาว่า พวกท่านถวายบังคม พระชินโคดมหรือ เขาพากันตอบว่า ถวายบังคมพระชินโคดม ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอถวายบังคมพระพุทธโคดม ผู้ถึง พร้อมด้วยวิชชาและจรณะ พระสุริยาทิตย์มีมณฑลใหญ่ อัสดง คตในทิศใด และเมื่อพระอาทิตย์อัสดงคต กลางวันก็ดับไป ครั้นพระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว ย่อมเรียกกันว่ากลางคืน แม้น่าน น้ำในที่พระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว เป็นสมุทรลึก มีน้ำแผ่เต็มไป ชนทั้งหลายย่อมรู้จักน่านน้ำนั้น ในที่นั้นอย่างนี้ว่าสมุทรมีน้ำ แผ่เต็มไป ฯ [๒๑๒] แต่ที่นี้ไป ทิศที่มหาชนเรียกกันว่า ปัจฉิมทิศที่ท้าวมหาราชผู้ ทรงยศ เป็นเจ้าเป็นใหญ่ของพวกนาค ทรงนามว่าท้าววิรูปักษ์ อันพวกนาคแวดล้อมแล้ว ทรงโปรดปรานด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ทรงอภิบาลอยู่ ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า โอรสของท้าวเธอมี มากองค์ มีพระนามเดียวกัน ทั้งเก้าสิบเอ็ดองค์ มีพระนามว่าอินทะ ทรงพระกำลังมาก ทั้งท้าววิรูปักษ์และโอรสเหล่านั้น ได้เห็น พระพุทธเจ้า ผู้เบิกบานแล้ว ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ แห่งพระอาทิตย์ พากันถวายบังคมพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความ ครั่นคร้าม แต่ที่ไกลเทียวว่า พระบุรุษอาชาไนย ข้าพระพุทธเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระองค์ พระอุดมบุรุษ ข้าพระพุทธเจ้าขอ นอบน้อมแด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงตรวจดูมหาชน ด้วยพระ ญาณอันฉลาด แม้พวกอมนุษย์ก็ถวายบังคมพระองค์ ข้าพระ พุทธเจ้าทั้งหลาย ได้สดับมาอย่างนั้นเนืองๆ ฉะนั้น จึงกล่าว เช่นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถามเขาว่า พวกท่านถวายบังคม พระชินโคดมหรือ เขาพากันตอบว่า ถวายบังคมพระชินโคดม ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอถวายบังคมพระพุทธโคดม ผู้ถึง พร้อมด้วยวิชชาและจรณะ อุตตรกุรุทวีปเป็นรมณียสถาน มี ภูเขาหลวงชื่อสิเนรุแลดูงดงาม ตั้งอยู่ทิศใด พวกมนุษย์ซึ่งเกิด ในอุตตรกุรุทวีปนั้น ไม่ยึดถือสิ่งใดว่าเป็นของตน ไม่หวงแหน กัน มนุษย์เหล่านั้น ไม่ต้องหว่านพืช และไม่ต้องนำไถออกไถ หมู่มนุษย์บริโภคข้าวสาลี อันผลิตผลในที่ไม่ต้องไถ ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม เป็นเมล็ดข้าวสาร หุง [ข้าวนั้น] ในเตาอันปราศจากควัน แล้วบริโภคโภชนะแต่ที่นั้น ทำแม่โคให้มีกีบเดียว ๑- แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อย ทิศใหญ่ ทำปศุสัตว์ให้มีกีบเดียว แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่ ทำ หญิงให้เป็นพาหนะ ๒- แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่ ทำชาย ให้เป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่ ทำกุมารีให้เป็น พาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่ ทำกุมารให้เป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่ บรรดานางบำเรอของพระราชา นั้น ก็ขึ้นยานเหล่านั้น ตามห้อมล้อมไปทุกทิศด้วย ยานช้าง @๑. สัตว์กีบเดียว คือม้า คือใช้โค ใช้ปศุสัตว์ต่างๆ แทนม้า @๒. เห็นจะใช้ขี่คน หรือใช้คนหาม ยานม้า ยานทิพย์ ปราสาท และวอ ก็ปรากฏแก่ท้าวมหาราช ผู้ทรงยศ ฯ และท้าวมหาราชนั้น ได้ทรงนิรมิตนครไว้ในอากาศ คือ อาฏานาฏานคร กุสินาฏานคร ปรกุสินาฏานคร นาฏปริยานคร ปรกุสิตนาฏานคร ทางทิศอุดร มีกปีวันตนคร และอีกนครหนึ่งชื่อชโนฆะ อีกนครหนึ่งชื่อนวนวติยะ อีกนคร หนึ่งชื่ออัมพรอัมพรวติยะ มีราชธานีนามว่าอาฬกมันทา ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ราชธานีของท้าวกุเวรมหาราช ชื่อวิสาณา ฉะนั้น มหาชนจึงเรียกท้าวกุเวรมหาราช ว่าท้าวเวสวัณ ยักษ์ชื่อตโตลา ชื่อตัตตลา ชื่อตโตตลา ชื่อโอชสี ชื่อเตชสี ชื่อตโตชสี ชื่อสุระ ชื่อราชา ชื่ออริฏฐะ ชื่อเนมิ ย่อมปรากฏ มีหน้าที่คนละแผนก ในวิสาณาราชธานีนั้น มีห้วงน้ำ ชื่อธรณี เป็นแดนที่เกิดเมฆ เกิดฝนตก ในวิสาณาราชธานีนั้นมีสภา ชื่อภคลวดี เป็นที่ประชุมของพวกยักษ์ ณ ที่นั้น มีต้นไม้เป็น อันมาก มีผลเป็นนิจ ดารดาษด้วยหมู่นกต่างๆ มีนกยูง นกกระเรียน นกดุเหว่า อันมีเสียงหวานประสานเสียง มีนกร้อง ว่า ชีวะชีวะ และบางเหล่ามีเสียงปลุกใจ มีไก่ป่า มีปู และ นกโปกขรสาตกะ อยู่ในสระประทุม ในที่นั้นมีเสียงนกสุกะ และนกสาลิกา และหมู่นกทัณฑมานวกะ [มีหน้าเหมือนมนุษย์] สระนฬินีของท้าวกุเวรนั้น งดงามอยู่ตลอดเวลาทุกเมื่อ ฯ [๒๑๓] แต่ทิศนี้ไป ทิศที่ชนเรียกกันว่าอุตตรทิศ ที่ท้าวมหาราชผู้ทรงยศ เป็นเจ้าเป็นใหญ่ของยักษ์ทั้งหลาย ทรงนามว่าท้าวกุเวร อันยักษ์ ทั้งหลายแวดล้อมแล้ว ทรงโปรดปรานด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ทรงอภิบาลอยู่ ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า โอรสของท้าวเธอมีมากองค์ มีพระนามเดียวกัน ทั้งเก้าสิบเอ็ดพระองค์ มีพระนามว่าอินทะ ทรงพระกำลังมาก ทั้งท้าวกุเวรและโอรสเหล่านั้นได้เห็น พระพุทธเจ้า ผู้เบิกบานแล้ว ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ พากันถวายบังคมพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความ ครั่นคร้ามแต่ที่ไกลว่า พระบุรุษอาชาไนย ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบ- น้อมแด่พระองค์ พระอุดมบุรุษ ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมแด่ พระองค์ ขอพระองค์ทรงตรวจดูมหาชนด้วยพระญาณอันฉลาด แม้พวกอมนุษย์ ก็ถวายบังคมพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้สดับมาอย่างนั้นเนืองๆ ฉะนั้น จึงกล่าวเช่นนี้ ข้าพระพุทธเจ้า ทั้งหลายถามเขาว่า พวกท่านถวายบังคมพระชินโคดมหรือเขา พากันตอบว่าถวายบังคมพระชินโคดม ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอถวายบังคมพระพุทธโคดมผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ฯ [๒๑๔] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะนี้นั้นแล ย่อม เป็นไปเพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ฉะนี้แล ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้ใดผู้หนึ่ง จักเรียนการรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะนี้ให้แม่นยำ ให้บริบูรณ์แล้ว ถ้าอมนุษย์เป็น ยักษ์ก็ตาม ยักษิณีก็ตาม บุตรยักษ์ก็ตาม ธิดายักษ์ก็ตาม ยักษ์มหาอำมาตย์ก็ตาม ยักษ์บริษัทก็ตาม ยักษ์ผู้รับใช้ก็ตาม เป็นคนธรรพ์ก็ตาม นางคนธรรพ์ก็ตาม บุตร คนธรรพ์ก็ตาม ธิดาคนธรรพ์ก็ตาม คนธรรพ์มหาอำมาตย์ก็ตาม คนธรรพ์บริษัทก็ตาม คนธรรพ์ผู้รับใช้ก็ตาม เป็นกุมภัณฑ์ก็ตาม นางกุมภัณฑ์ก็ตาม บุตรกุมภัณฑ์ก็ตาม ธิดากุมภัณฑ์ก็ตาม กุมภัณฑ์มหาอำมาตย์ก็ตาม กุมภัณฑ์บริษัทก็ตาม กุมภัณฑ์ ผู้รับใช้ก็ตาม เป็นนาคก็ตาม นางนาคก็ตาม บุตรนาคก็ตาม ธิดานาคก็ตาม นาค มหาอำมาตย์ก็ตาม นาคบริษัทก็ตาม นาคผู้รับใช้ก็ตาม ซึ่งมีจิตประทุษร้าย พึงเดินตาม ยืนใกล้ นั่งใกล้ นอนใกล้ ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี ซึ่งกำลังเดิน ยืน นั่ง นอนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อมนุษย์นี้ไม่พึงได้สักการะ หรือเคารพ ในบ้าน หรือในนิคม ไม่พึงได้เหย้าเรือนหรือที่อยู่ ในราชธานีซึ่งมี นามว่าอาฬกมันทา ไม่พึงได้เข้าสู่ที่ประชุมของพวกยักษ์ อนึ่ง พวกอมนุษย์ทั้งหลาย จะไม่พึงทำอาวาหะวิวาหะกับมัน พึงบริภาษมัน ด้วยคำบริภาษอย่างเหยียดหยามเต็มที่ พึงคว่ำบาตรเปล่าบนศีรษะมัน หรือพึงทุบศีรษะของมันให้แตกออก ๗ เสี่ยง ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ มีอยู่บ้าง ที่พวกอมนุษย์ที่ดุร้าย หยาบช้า กล้าแข็ง มัน ย่อมไม่เชื่อถือถ้อยคำของท้าวมหาราช ไม่เชื่อถือถ้อยคำของราชบุรุษผู้ใหญ่แห่ง ท้าวมหาราช ไม่เชื่อถือถ้อยคำของราชบุรุษที่เป็นชั้นรองๆ แห่งท้าวมหาราช พวกมันนั้นเรียกได้ว่าเป็นข้าศึกของท้าวมหาราช เปรียบเหมือนพวกโจรในแว่น แคว้นของพระเจ้ามคธ พวกมันหาได้เชื่อถือถ้อยคำของพระเจ้ามคธไม่ หาเชื่อถือ ถ้อยคำของราชบุรุษผู้ใหญ่แห่งพระเจ้ามคธไม่ หาเชื่อถือถ้อยคำของพวกราชบุรุษ ที่เป็นชั้นรองๆ ของพระเจ้ามคธไม่ มหาโจรเหล่านั้นๆ เรียกได้ว่าเป็นข้าศึกของ พระเจ้ามคธฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นยักษ์ก็ตาม ยักษิณีก็ตาม บุตรยักษ์ก็ตาม ธิดายักษ์ก็ตาม ยักษ์มหาอำมาตย์ก็ตาม ยักษ์บริษัท ก็ตาม ยักษ์ผู้รับใช้ก็ตาม เป็นคนธรรพ์ก็ตาม นางคนธรรพ์ก็ตาม บุตรคนธรรพ์ ก็ตาม ธิดาคนธรรพ์ก็ตาม คนธรรพ์มหาอำมาตย์ก็ตาม คนธรรพ์บริษัทก็ตาม คนธรรพ์ผู้รับใช้ก็ตาม เป็นกุมภัณฑ์ก็ตาม นางกุมภัณฑ์ก็ตาม บุตรกุมภัณฑ์ก็ตาม ธิดากุมภัณฑ์ก็ตาม กุมภัณฑ์มหาอำมาตย์ก็ตาม กุมภัณฑ์บริษัทก็ตาม กุมภัณฑ์ ผู้รับใช้ก็ตาม เป็นนาคก็ตาม นางนาคก็ตาม บุตรนาคก็ตาม ธิดานาคก็ตาม นาคมหาอำมาตย์ก็ตาม นาคบริษัทก็ตาม นาคผู้รับใช้ก็ตาม มีจิตประทุษร้าย พึงเดินตาม ยืนใกล้ นั่งใกล้ นอนใกล้ ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี ซึ่งกำลังเดิน ยืน นั่ง นอนอยู่ อันภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรือ อุบาสิกานั้นพึงยกโทษ พึงคร่ำครวญ พึงร้องแก่ยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดี มหา เสนาบดีว่า ยักษ์ตนนี้ย่อมจับ ยักษ์ตนนี้ย่อมสิง ยักษ์ตนนี้ย่อมเบียดเบียน ยักษ์ ตนนี้ย่อมบีบคั้น ยักษ์ตนนี้ย่อมทำให้ลำบาก ยักษ์ตนนี้ย่อมทำให้ยาก ยักษ์ตนนี้ ย่อมไม่ปล่อย ดังนี้ ฯ [๒๑๕] พวกยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดี มหาเสนาบดี เป็นไฉน คือ อินทะ ๑ โสมะ ๑ วรุณะ ๑ ภารทวาชะ ๑ ปชาบดี ๑ จันทนะ ๑ กามเสฏฐะ ๑ กินนุ ๑ ฆัณฑุ ๑ นิฆัณฑุ ๑ ปนาทะ ๑ โอปมัญญะ ๑ เทวสูตะ ๑ มาตลิ ๑ จิตตเสนะ ๑ คันธัพพะ ๑ นโฬราชา ๑ ชโนสภะ ๑ สาตาคิระ ๑ เหมวตะ ๑ ปุณณากะ ๑ กรติยะ ๑ คุละ ๑ สิวกะ ๑ มุจจลินทะ ๑ เวสสามิตตะ ๑ ยุคันธระ ๑ โคปาละ ๑ สุปปเคธะ ๑ หิริ ๑ เนตติ ๑ มันทิยะ ๑ ปัญจาลจันทะ ๑ อาลวกะ ๑ ปชุณณะ ๑ สุมุขะ ๑ ทธิมุขะ ๑ มณิ ๑ มานิจระ ๑ ทีฆะ ๑ กับเสริสกะ ๑ ฯ [๒๑๖] อันภิกษุเป็นต้นนั้น พึงยกโทษ พึงคร่ำครวญ พึงร้องแก่ยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดี มหาเสนาบดี เหล่านี้ว่า ยักษ์ตนนี้ย่อมจับ ยักษ์ตนนี้ย่อมสิง ยักษ์ตนนี้ย่อมเบียดเบียน ยักษ์ตนนี้ย่อมบีบคั้น ยักษ์ตนนี้ย่อมทำให้ลำบาก ยักษ์ ตนนี้ย่อมทำให้ยาก ยักษ์ตนนี้ย่อมไม่ปล่อย ดังนี้ ฯ [๒๑๗] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะนี้นั้นแล ย่อมเป็นไปเพื่อความคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญ แห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลาย ฉะนี้ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ และบัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้มีกิจ มาก มีกรณีย์มาก ขอทูลลาไป ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจงทรงทราบกาล อันควร ณ บัดนี้เถิด ฯ [๒๑๘] ลำดับนั้นแล ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ทรงกระทำประทักษิณ แล้วอันตรธานไปในที่นั้น แล ฝ่ายยักษ์เหล่านั้นก็พากันลุกขึ้นจากอาสนะ บางพวกถวายบังคมพระผู้มี พระภาค กระทำประทักษิณ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง บางพวกได้ปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วอันตรธานไปใน ที่นั้นเอง บางพวกประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับแล้วอันตรธานไป ในที่นั้นเอง บางพวกประกาศนามและโคตร แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง บางพวก นิ่งอยู่ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ [๒๑๙] ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไปแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัส เรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในราตรีนี้ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ตั้งการรักษาไว้ทั้ง ๔ ทิศ ตั้งพลขันธ์ไว้ทั้ง ๔ ทิศ ตั้งผู้ตรวจตราไว้ทั้ง ๔ ทิศ ด้วยเสนายักษ์กองใหญ่ ด้วยเสนาคนธรรพ์กองใหญ่ ด้วยเสนากุมภัณฑ์กองใหญ่ และด้วยเสนานาคกองใหญ่ เมื่อราตรีล่วงปฐมยามไปแล้ว ได้เปล่งรัศมีงามยิ่ง ยังภูเขาคิชฌกูฏทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วนั่ง ณ ที่ ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนยักษ์เหล่านั้น บางพวกไหว้เราแล้วนั่ง ณ ที่ ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ปราศรัยกับเรา ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประนมอัญชลีมาทางที่เราอยู่ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศนามและโคตร แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้าง หนึ่ง บางพวกนิ่งเฉย แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวเวสวัณมหาราชประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยักษ์ชั้นสูงบางพวกมิได้เลื่อมใสต่อ พระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นสูงบางพวกที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้น กลางบางพวกมิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นกลางบางพวกที่เลื่อมใส ต่อพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นต่ำบางพวกมิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ ชั้นต่ำบางพวกที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี พระพุทธเจ้าข้า แต่โดยมากยักษ์ ทั้งหลายมิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระผู้มี พระภาคทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากปาณาติบาต ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจาก อทินนาทาน ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ทรงแสดงธรรมเพื่อ งดเว้นจากมุสาวาท ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แต่โดยมากพวกยักษ์มิได้งดเว้นจากปาณาติบาต มิได้งดเว้นจากอทินนาทาน มิได้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร มิได้งดเว้นจากมุสาวาท มิได้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ข้อที่ พระองค์ให้งดเว้นนั้น จึงไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของยักษ์เหล่านั้น ฯ พระพุทธเจ้าข้า ก็พระสาวกของพระผู้มีพระภาคบางพวก ย่อมเสพราวไพร ในป่า เสนาสนะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย ปราศจากลมแต่ชนผู้ เดินเข้าออก ควรแก่การทำกรรมอันเร้นลับของมนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น ยักษ์ ชั้นสูงบางพวกมักอยู่ในป่านั้น พวกใดมิได้เลื่อมใสในปาพจน์ของพระผู้มีพระภาค นี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงเรียนการรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะ เพื่อให้ยักษ์ พวกนั้นเลื่อมใส เพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญ แห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้รับอาราธนาโดยดุษณีภาพแล้ว ลำดับนั้น ท้าวเวสวัณทราบว่า เรารับแล้ว ได้กล่าวอาฏานาฏิยะรักษานี้ ในเวลานั้น [ความว่า] ฯ [๒๒๐] ขอนอบน้อมแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้มีพระจักษุ มีพระสิริ ขอนอบน้อมแด่พระสิขีพุทธเจ้า ผู้ทรงอนุเคราะห์แก่สัตว์ ทั่วหน้า ฯ ล ฯ [บัณฑิตพึงให้พิสดาร เหมือนกับที่มีมาแล้ว ในก่อน] ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะนี้แล ย่อมเป็นไป เพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่อความอยู่สำราญแห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลาย ฉะนี้ ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ และบัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้มีกิจ มาก มีกรณีย์มาก ขอทูลลาไป เราได้กล่าวว่า ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจง ทรงทราบกาลอันควร ณ บัดนี้เถิด ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ไหว้เรา ทำประทักษิณ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ฝ่ายยักษ์เหล่านั้นก็พากัน ลุกขึ้นจากอาสนะ บางพวกไหว้เรา ทำประทักษิณ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง บางพวกปราศรัยกับเรา ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว อันตรธาน ไปในที่นั้นเอง บางพวกประนมอัญชลีมาทางที่เราอยู่ แล้วอันตรธานไปในที่นั้น เอง บางพวกประกาศนามและโคตร แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง บางพวกนิ่งอยู่ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเล่าเรียนการรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะ จงทรงไว้ซึ่งการรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะ การรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะ ประกอบ ด้วยประโยชน์ ย่อมเป็นไปเพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่ สำราญแห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลาย ดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์ นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นยินดีชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล ฯ
จบ อาฏานาฏิยสูตร ที่ ๙
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ บรรทัดที่ ๔๒๐๗-๔๕๐๐ หน้าที่ ๑๗๓-๑๘๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A=4207&Z=4500&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=11&A=4207&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=11&siri=9              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=207              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=11&A=4443              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=6&A=3802              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=11&A=4443              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=6&A=3802              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_11              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/tipitaka/dn/dn.32.0.piya.html https://suttacentral.net/dn32/en/sujato https://suttacentral.net/dn32/en/anandajoti

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]