ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๘. วาเสฏฐสูตร
ทรงโปรดวาเสฏฐมาณพ
[๗๐๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคละใกล้บ้านอิจฉานังคลคาม. ก็สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียงเป็นอันมาก คือ จังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุโสณีพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ และพราหมณ์มหาศาลเหล่าอื่นที่มี ชื่อเสียง อาศัยอยู่ในอิจฉานังคลคาม. ครั้งนั้นวาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพ เที่ยวเดินเล่น เป็นการพักผ่อนอยู่ มีถ้อยคำพูดกันในระหว่างนี้เกิดขึ้นว่า ท่านผู้เจริญ อย่างไรบุคคลจึงจะชื่อว่า เป็นพราหมณ์? ภารทวาชมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ บุคคลเป็นผู้เกิดดีทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิอันบริสุทธิ์ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใคร คัดค้านติเตียนด้วยอ้างถึงชาติได้ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล บุคคลจึงจะชื่อว่าเป็นพราหมณ์. วาเสฏฐมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ บุคคลเป็นผู้มีศีล และถึงพร้อมด้วยวัตร ด้วยเหตุ เพียงเท่านี้แล บุคคลจึงจะชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ภารทวาชมาณพไม่อาจให้วาเสฏฐมาณพยินยอมได้ ถึงวาเสฏฐมาณพก็ไม่อาจให้ภารทวาชมาณพยินยอมได้เหมือนกัน. [๗๐๕] ครั้งนั้นแล วาเสฏฐมาณพได้ปรึกษากะภารทวาชมาณพว่า ท่านภารทวาชะ พระสมณโคดมศากยบุตรนี้ เสด็จออกผนวชจากศากยสกุล ประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคลคาม ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระสมณโคดมนั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้ เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงถึงพร้อมด้วย วิชชาและจรณะเสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งขึ้นไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรมมาเถิด เราจัก เข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม แล้วจักทูลถามเนื้อความนี้ พระสมณโคดมจักทรงพยากรณ์แก่เรา อย่างไร เราจักทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้น. ภารทวาชมาณพรับคำวาเสฏฐมาณพแล้ว. ลำดับ นั้น วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง. [๗๐๖] ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว วาเสฏฐมาณพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถา ทั้งหลายว่า ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ทรงไตรเพท อันอาจารย์อนุญาตแล้ว และปฏิญาณได้เองว่า เป็นผู้ได้ศึกษาแล้ว ข้าพระองค์เป็นศิษย์ ท่านโปกขรสาติพราหมณ์ มาณพผู้นี้ เป็นศิษย์ท่านตารุกขพราหมณ์ ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้รู้จบในบทที่พราหมณ์ผู้ทรงไตรเพทบอก แล้ว ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้มีข้อพยากรณ์แม่นยำตามบท เช่นเดียวกับอาจารย์ในสถานกล่าวมนต์ ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งสองมีการโต้เถียงกันในการกล่าวถึงชาติ คือ ภารทวาชมาณพกล่าวว่า บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติ ส่วนข้าพระองค์กล่าวว่า บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม พระองค์ผู้มีจักษุขอจงทรงทราบอย่างนี้ ข้าพระองค์ทั้งสองนั้น ไม่อาจจะให้กันและกันยินยอมได้ จึงได้มาเฝ้าเพื่อถามพระผู้มี- พระภาคสัมพุทธเจ้า ผู้ปรากฏด้วยอาการนี้ ชนทั้งหลาย เมื่อจะเข้าไปประนมมือถวายบังคม ก็จักถวายพระโคดมได้ทั่ว โลกเหมือนพระจันทร์เต็มดวงฉะนั้น ข้าพระองค์ขอทูลถาม พระโคดมผู้เป็นดวงจักษุ อุบัติขึ้นในโลกว่า บุคคลชื่อว่าเป็น พราหมณ์เพราะชาติ หรือว่าเป็นเพราะกรรม ขอจงตรัสบอกแก่ ข้าพระองค์ทั้งสองผู้ไม่ทราบ ตามที่จะทราบบุคคลผู้เป็นพราหมณ์ นั้นเถิด?
พราหมณ์ในพระพุทธศาสนา
[๗๐๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรวาเสฏฐะ เราจักพยากรณ์ การจำแนกชาติ ของสัตว์ทั้งหลาย ตามลำดับ ตามสมควรแก่ ท่านทั้งสองนั้น เพราะมันมีชาติเป็นคนละอย่างๆ ท่านจงรู้จักแม้ ติณชาติและรุกขชาติ แม้จะปฏิญาณตนไม่ได้ เพศของติณชาติ และรุกขชาตินั้นก็สำเร็จด้วยชาติ เพราะมันมีชาติเป็นคนละ- อย่างๆ แต่นั้นท่านจงรู้จักตั๊กแตน ผีเสื้อ ตลอดถึงมดดำ และมดแดง เพศของสัตว์เหล่านั้นก็สำเร็จด้วยชาติ เพราะ มันมีชาติเป็นคนละอย่างๆ อนึ่ง ท่านทั้งหลายจงรู้จักสัตว์ สี่เท้า ทั้งเล็กทั้งใหญ่ เพศของมันก็สำเร็จด้วยชาติ เพราะมัน มีชาติเป็นคนละอย่างๆ อนึ่ง จงรู้จักสัตว์มีท้องเป็นเท้า สัตว์ ไปด้วยอก สัตว์มีหลังยาว เพศของมันก็สำเร็จด้วยชาติ เพราะมันมีชาติเป็นคนละอย่างๆ แต่นั้นจงรู้จักปลา สัตว์ เกิดในน้ำ สัตว์เที่ยวหากินในน้ำ เพศของมันก็สำเร็จด้วยชาติ เพราะมันมีชาติเป็นคนละอย่างๆ แต่นั้นจงรู้จักนก สัตว์ ไปได้ด้วยปีก สัตว์ที่ไปในอากาศ เพศของมันก็สำเร็จ ด้วยชาติ เพราะมันมีชาติเป็นคนละอย่างๆ เพศอันสำเร็จ ด้วยชาติมีมากมาย ในชาติ (สัตว์) เหล่านี้ฉันใด เพศใน มนุษย์ทั้งหลายอันสำเร็จด้วยชาติมากมาย ฉันนั้น หามิได้ คือ ไม่ใช่ด้วยผม ด้วยศีรษะ ด้วยหู ด้วยนัยน์ตา ด้วยหน้า ด้วยจมูก ด้วยริมฝีปาก ด้วยคิ้ว ด้วยคอ ด้วยบ่า ด้วยท้อง ด้วยหลัง ด้วยตะโพก ด้วยอก ในที่แคบ ในที่เมถุน ด้วยมือ ด้วยเท้า ด้วยนิ้ว ด้วยเล็บ ด้วยแข้ง ด้วยขา ด้วยวรรณะ ด้วยเสียง (หามิได้) เพศอันสำเร็จด้วยชาติ (ของมนุษย์) ย่อมไม่เหมือนในชาติ (ของสัตว์) เหล่าอื่น สิ่งเฉพาะตัว ในสรีระ (ในชาติของสัตว์อื่น) นั้น ของมนุษย์ไม่มี ก็ใน หมู่มนุษย์ เขาเรียกต่างกันตามชื่อ ดูกรวาเสฏฐะ ก็ในหมู่ มนุษย์ ผู้ใดอาศัยการรักษาโคเลี้ยงชีวิต ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นชาวนา ไม่ใช่พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่ มนุษย์ ผู้ใดเลี้ยงชีวิตด้วยศิลปมากอย่าง ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นศิลปิน ไม่ใช่พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่ มนุษย์ ผู้ใดอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีวิต ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นพ่อค้า ไม่ใช่พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่ มนุษย์ ผู้ใดเลี้ยงชีวิตด้วยการรับใช้ผู้อื่น ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นคนรับใช้ ไม่ใช่พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ อนึ่ง ใน หมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยของที่เขาไม่ให้เลี้ยงชีวิต ท่านจงรู้อย่างนี้ ว่า ผู้นี้เป็นโจร ไม่ใช่พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ อนึ่ง ใน หมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยศาตราวุธเลี้ยงชีวิต ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นทหาร ไม่ใช่พวกพราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดเลี้ยงชีวิตด้วยการงานของปุโรหิต ท่านจงรู้ อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นเจ้าหน้าที่การบูชา ไม่ใช่พราหมณ์ ดูกร วาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดปกครองบ้าน และเมือง ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นพระราชา ไม่ใช่พราหมณ์ และเรา ก็ไม่เรียกบุคคลผู้เกิดในกำเนิดไหนๆ หรือเกิดจากมารดา (เช่นใดๆ) ว่าเป็นพราหมณ์ บุคคลถึงจะเรียกกันว่า ท่าน ผู้เจริญ ผู้นั้นก็ยังเป็นผู้มีกิเลสเครื่องกังวลอยู่นั่นเอง เราเรียก บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ผู้ไม่ยึดมั่นนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดแลตัดสังโยชน์ทั้งปวงได้แล้วไม่สะดุ้ง เราเรียกผู้นั้นผู้ล่วง กิเลสเครื่องข้อง ไม่ประกอบด้วยสรรพกิเลส ว่าเป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ตัดอุปนาหะดังชะเนาะ ตัณหาดังเชือกหนัง ทิฏฐิดังเชือกบ่วง พร้อมทั้งทิฏฐานุสัยประดุจปม มีอวิชชาดุจ ลิ่มสลักถอนขึ้นแล้ว ผู้ตรัสรู้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดไม่ ประทุษร้าย อดกลั้นคำด่า การทุบตีและการจองจำได้ เรา เรียกผู้มีขันติเป็นกำลังดังหมู่พลนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เราเรียก บุคคลผู้ไม่โกรธ ผู้มีองค์ธรรมเป็นเครื่องกำจัด มีศีล ไม่มี กิเลสดุจฝ้า ฝึกฝนแล้ว มีสรีระตั้งอยู่ในที่สุดนั้น ว่าเป็น พราหมณ์ ผู้ใดไม่ติดในกามทั้งหลาย เหมือนน้ำบนใบบัว หรือดังเมล็ดพันธุ์ผักกาดบนปลายเหล็กแหลม เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์ ผู้ใดรู้ธรรมเป็นที่สิ้นทุกข์ของตนในภพนี้เอง เราเรียกผู้ปลงภาระผู้ไม่ประกอบแล้วนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้มีปัญญาอันเป็นไปในอารมณ์อันลึก มีเมธา ฉลาดในอุบายอันเป็นทางและมิใช่ทาง บรรลุประโยชน์อัน สูงสุด ว่าเป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ไม่คลุกคลีด้วย คฤหัสถ์ และบรรพชิตทั้งสองพวก ผู้ไปได้ด้วยไม่มีความอาลัย ผู้ไม่มีความปรารถนา ว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดวางอาชญาในสัตว์ ทั้งหลาย ทั้งเป็นสัตว์ที่หวั่นหวาด และมั่นคง ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ ผู้อื่นให้ฆ่า เราเรียกผู้นั้นว่าพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ไม่ พิโรธตอบในผู้พิโรธ ดับอาชญาในตนได้ ในเมื่อสัตว์ ทั้งหลายมีความถือมั่น ไม่มีความถือมั่น ว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดทำราคะ โทสะ มานะ และมักขะให้ตกไป ดังเมล็ดพันธุ์ ผักกาดตกจากปลายเหล็กแหลม เราเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดกล่าววาจาสัตย์ อันไม่มีโทษให้ผู้อื่นรู้สึกได้ อันไม่เป็น เครื่องขัดใจคน เราเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์ แม้ผู้ใดไม่ ถือเอาภัณฑะทั้งยาวหรือสั้น เล็กหรือใหญ่ งามหรือไม่งาม ที่เจ้าของไม่ให้ในโลก เราเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใด ไม่มีความหวังทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า เราเรียกผู้ไม่มีความ- หวัง ผู้ไม่ประกอบแล้วนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดไม่มีความ อาลัย ไม่มีความสงสัยเพราะรู้ทั่วถึง เราเรียกผู้บรรลุธรรมอัน หยั่งลงในอมตธรรมนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดล่วงธรรมเป็น เครื่องข้องทั้งสอง คือ บุญและบาปในโลกนี้ได้ เราเรียกผู้ ไม่เศร้าโศก ปราศจากธุลี ผู้บริสุทธิ์นั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ปราศจากมลทิน บริสุทธิ์ผ่องใสไม่ขุ่นมัว ดังดวงจันทร์ มีความเพลิดเพลินในภพสิ้นแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดล่วงอวิชชาประดุจทางลื่น หรือดุจหล่มอันถอนได้ยาก เป็น เครื่องให้ท่องเที่ยวให้หลงนี้ได้ ข้ามถึงฝั่งแล้ว มีความเพ่งอยู่ ไม่หวั่นไหว ไม่มีความสงสัย ดับแล้วเพราะไม่ถือมั่น เราเรียกผู้นั้น ว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดละกามได้ขาดแล้ว เป็น บรรพชิต เว้นรอบในโลกนี้ เราเรียกผู้มีกามและภพสิ้นรอบ แล้วนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดละตัณหาได้ขาดแล้ว เป็น บรรพชิต เว้นรอบในโลกนี้ เราเรียกผู้มีกามและภพสิ้นรอบ แล้วนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดละกามคุณอันเป็นของมนุษย์ ล่วงกามคุณอันเป็นของทิพย์แล้ว เราเรียกผู้ไม่ประกอบด้วย กิเลสเครื่องประกอบทั้งปวงนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เราเรียก บุคคลผู้ละความยินดีและความไม่ยินดี เป็นผู้เย็น ไม่มีอุปธิ ครอบงำโลกทั้งปวง ผู้แกล้วกล้านั้น ว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดรู้ จุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย โดยประการทั้งปวง เราเรียกผู้ ไม่ข้อง ผู้ไปดี ตรัสรู้แล้วนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เทวดา คนธรรพ์และหมู่มนุษย์ไม่รู้คติของผู้ใด เราเรียกผู้นั้นผู้มีอาสวะ สิ้นแล้ว เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดไม่มีกิเลส เครื่องกังวลทั้งข้างหน้า ข้างหลัง และท่ามกลาง เราเรียกผู้ ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ผู้ไม่ถือมั่นนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ เรา เรียกบุคคลผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า ผู้แสวงหา คุณใหญ่ ผู้ชำนะแล้วโดยวิเศษ ผู้ไม่หวั่นไหว อาบเสร็จแล้ว ตรัสรู้แล้วนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดรู้ญาณเครื่องระลึกชาติ ก่อนได้ เห็นสวรรค์และอบาย และบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นชาติ เราเรียกผู้นั้น ว่าเป็นพราหมณ์ อันชื่อคือนามและโคตรที่กำหนด ตั้งไว้นี้ เป็นแต่สักว่าโวหารในโลก เพราะเกิดขึ้นมาตามชื่อ ที่กำหนดตั้งกันไว้ในกาลนั้นๆ ทิฏฐิอันนอนเนื่องอยู่ในหทัย สิ้นกาลนาน ของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่รู้ เมื่อสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ก็ พร่ำกล่าวว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติ บุคคลจะชื่อว่าเป็นคนชั่ว เพราะชาติก็หาไม่ จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติก็หาไม่ ที่แท้ ชื่อว่าเป็นคนชั่วเพราะกรรม ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะ กรรม เป็นชาวนาเพราะกรรม เป็นศิลปินเพราะกรรม เป็น พ่อค้าเพราะกรรม เป็นคนรับใช้เพราะกรรม แม้เป็นโจร ก็เพราะกรรม แม้เป็นทหารก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตเพราะ กรรม แม้เป็นพระราชาก็เพราะกรรม บัณฑิตทั้งหลายมีปกติ เห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมเห็นกรรม นั้นแจ้งชัดตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า โลกย่อมเป็นไปเพราะ กรรม หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม สัตว์ทั้งหลายถูกผูกไว้ ในกรรม เหมือนลิ่มสลักของรถที่กำลังแล่นไปฉะนั้น บุคคล ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วยกรรมอันประเสริฐนี้ คือ ตบะ พรหมจรรย์ สัญญมะ และทมะ กรรม ๔ อย่างนี้ เป็นกรรมอันสูงสุดของ พรหมทั้งหลาย ทำให้ผู้ประพฤติถึงพร้อมด้วยวิชชา ๓ ระงับ กิเลสได้ สิ้นภพใหม่แล้ว ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นชื่อว่าเป็นพรหม เป็นท้าวสักกะ ของบัณฑิตผู้รู้แจ้ง ทั้งหลาย. [๗๐๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพ ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระ- *โคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบ เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจะได้เห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญกับทั้ง พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ทั้งสองว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉะนี้แล.
จบ วาเสฏฐสูตร ที่ ๘.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๑๑๐๗๐-๑๑๒๔๘ หน้าที่ ๔๘๓-๔๙๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=11070&Z=11248&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=13&A=11070&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=48              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=704              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=13&A=13106              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=7786              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=13&A=13106              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=7786              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i704-e1.php# https://suttacentral.net/mn98/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]