ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
                          จงเสด็จขึ้นปัญญาปราสาทอันแล้วด้วยธรรม ทรงพิจารณาดู
                          ประชุมชนผู้เกลื่อนกล่นด้วยความโศก อันชาติชราครอบงำแล้ว
                          เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีจักษุยืนอยู่บนยอดภูเขาหินล้วน พึง
                          เห็นประชุมชนโดยรอบ ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้กล้า ทรงชนะ
                          สงครามแล้ว ผู้นำสัตว์ออกจากกันดาร ผู้ไม่เป็นหนี้ ขอจงเสด็จ
                          ลุกขึ้นเที่ยวไปในโลกเถิด ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม
                          เถิด สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงจักมีอยู่.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๔๙.

เปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า
[๕๑๑] ดูกรราชกุมาร ครั้นอาตมภาพทราบว่าท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนา และอาศัย ความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ. เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยาก ก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัว หลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ บางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งขึ้น พ้นน้ำ น้ำไม่ติด ฉันใด ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้น ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยาก ก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี. ดูกรราชกุมาร ครั้งนั้นอาตมภาพ ได้กล่าวรับท้าวสหัมบดีพรหมด้วยคาถาว่า ดูกรพรหม เราเปิดประตูอมตนิพพานแล้ว เพื่อสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีโสต จงปล่อยศรัทธามาเถิด เราสำคัญว่าจะลำบาก จึงไม่ กล่าวธรรมอันคล่องแคล่ว ประณีต ในมนุษย์ทั้งหลาย. ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงเปิดโอกาส เพื่อจะแสดง- *ธรรมแล้ว จึงอภิวาทอาตมภาพ ทำประทักษิณแล้ว หายไปในที่นั้นเอง.
ทรงปรารภถึงคนที่จะทรงแสดงธรรมก่อน
[๕๑๒] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความดำริว่า เราพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครรู้จักทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน. ครั้นแล้ว อาตมภาพได้มีความเห็นว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร นี้ เป็นบัณฑิต ฉลาด มีเมธา มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมานาน ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรม แก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อนเถิด เธอรู้จักทั่วถึงธรรมนี้โดยฉับพลัน. ที่นั้น เทวดาทั้งหลาย เข้ามาหาอาตมภาพแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาฬารดาบส กาลามโคตรทำกาละเสีย

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๕๐.

เจ็ดวันแล้ว. และความรู้ความเห็นก็เกิดขึ้นแก่เราว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรทำกาละเสีย เจ็ดวันแล้ว. อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรเป็นผู้เสื่อมใหญ่แล ถ้า เธอพึงได้ฟังธรรมนี้พึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลันทีเดียว. ครั้นแล้วอาตมภาพได้มีความดำริว่า เราพึง แสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน. แล้วอาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า อุทกดาบส รามบุตรนี้ เป็นบัณฑิต ฉลาด มีเมธา มีกิเลส ดุจธุลีในจักษุน้อยมานาน ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรมแก่อุทกดาบส รามบุตรก่อนเถิด เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน. ที่นั้น เทวดาทั้งหลายเข้ามาหาอาตมภาพ แล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุทกดาบส รามบุตรทำกาละเสียแล้วเมื่อพลบค่ำนี้เอง. และความรู้ความเห็นก็เกิดขึ้นแก่เราว่า อุทกดาบส รามบุตร ทำกาละเสียแล้วเมื่อพลบค่ำนี้เอง. อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า อุทกดาบส รามบุตรเป็นผู้เสื่อมใหญ่แล ก็ถ้าเธอพึงได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลันทีเดียว. ครั้นแล้ว อาตมภาพได้มีความดำริว่า เราพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ ได้ฉับพลัน. แล้วอาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์มีอุปการะแก่เรามาก บำรุงเรา ผู้มีตนส่งไปแล้ว เพื่อความเพียร ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อนเถิด. แล้ว อาตมภาพได้มีความดำริว่า เดี๋ยวนี้ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ. ก็ได้เห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์. ครั้น อาตมภาพอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาตามควรแล้ว จึงได้หลีกจาริกไปทางเมืองพาราณสี. [๕๑๓] ดูกรราชกุมาร อุปกาชีวกได้พบอาตมภาพผู้เดินทางไกล ที่ระหว่างแม่น้ำคยา และไม้โพธิ์ต่อกัน แล้วได้กล่าวกะอาตมภาพว่า ดูกรผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก ผิวพรรณ ของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร. ดูกรราชกุมาร เมื่ออุปกาชีวกล่าวอย่างนี้แล้ว อาตมภาพได้กล่าวตอบอุปกาชีวกด้วยคาถาว่า เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง เป็นผู้รู้ธรรมทั้งปวง อันตัณหา และทิฏฐิไม่ติดแล้วในธรรมทั้งปวง เป็นผู้ละธรรมทั้งปวง น้อมไป ในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว รู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งเอง จะ พึงเจาะจงใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนผู้เช่นกับด้วยเราก็

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๕๑.

ไม่มี บุคคลผู้เปรียบด้วยเรา ไม่มีในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก เป็นศาสดา ไม่มีศาสดาอื่น ยิ่งขึ้นไปกว่า เราผู้เดียวตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้เย็น เป็นผู้ ดับสนิทแล้ว เราจะไปยังเมืองกาสี เพื่อจะยังธรรมจักรให้ เป็นไป เมื่อสัตว์โลกเป็นผู้มืด เราได้ตีกลองประกาศ อมตธรรมแล้ว. อุปกาชีวกถามว่า ดูกรผู้มีอายุ ท่านปฏิญาณว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ผู้ชนะไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นหรือ? อาตมภาพตอบว่า ชนทั้งหลายผู้ถึงธรรมที่สิ้นตัณหา เช่นเราแหละ ชื่อว่าเป็น ผู้ชนะ บาปธรรมทั้งหลาย อันเราชนะแล้ว เหตุนั้นแหละ อุปกะ เราจึงว่า ผู้ชนะ. ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนี้แล้ว อุปกาชีวก กล่าวว่าพึงเป็นให้พอเถิดท่าน สั่นศีรษะแลบลิ้นแล้วหลีกไปคนละทาง.
เสด็จเข้าไปหาพระปัญจวัคคีย์
[๕๑๔] ครั้งนั้น อาตมภาพเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ได้เข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ยังป่า อิสิปตนมิคทายวัน เขตเมืองพาราณสี ดูกรราชกุมาร ภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้เห็นอาตมภาพกำลัง มาแต่ไกลเทียว แล้วได้ตั้งกติกาสัญญากันไว้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมพระองค์นี้ เป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก กำลังมาอยู่ เราทั้งหลายไม่พึง กราบไหว้ ไม่พึงลุกรับ ไม่พึงรับบาตรและจีวร แต่พึงแต่งตั้งอาสนะไว้ ถ้าเธอปรารถนาก็จักนั่ง. อาตมภาพเข้าไปใกล้ภิกษุปัญจวัคคีย์ ด้วยประการใดๆ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ไม่อาจจะตั้งอยู่ในกติกา ของตน ด้วยประการนั้นๆ บางพวกลุกรับอาตมภาพ รับบาตรและจีวร บางพวกปูลาดอาสนะ บางพวกตั้งน้ำล้างเท้า แต่ยังร้องเรียกอาตมภาพโดยชื่อ และยังใช้คำว่า อาวุโส. เมื่อภิกษุ ปัญจวัคคีย์กล่าวเช่นนี้ อาตมภาพได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าร้องเรียกตถาคต

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๕๒.

โดยชื่อ และใช้คำว่าอาวุโสเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ท่านทั้งหลายจงเงี่ยโสตลงเถิด เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม เมื่อ ท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้าเท่าไร ก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรม อื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบันแล้วเข้าถึงอยู่. ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสโคดม แม้ด้วยอิริยาบถนั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น ท่าน ยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสสเลย ก็เดี๋ยวนี้ท่านเป็นคนมักมาก คลาย ความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก จักบรรลุอุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสส อย่างไรเล่า เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวเช่นนี้แล้ว อาตมภาพได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคต ไม่ได้เป็นคนมักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ท่านทั้งหลายจงเงี่ยโสตลงเถิด เราจักสั่งสอน อมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้า เท่าไร ก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันแล้วเข้าถึงอยู่ ดูกรราช- *กุมาร แม้ครั้งที่สอง ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสโคดม แม้ด้วยอิริยาบถนั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น ท่านยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสส เลย ก็เดี๋ยวนี้ ท่านเป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก จักบรรลุ อุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสสได้อย่างไรเล่า? ดูกรราชกุมาร แม้ครั้งที่สอง อาตมภาพ ก็ได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ได้เป็นคนมักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อ ความเป็นผู้มักมากเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ท่านทั้งหลาย จงเงี่ยโสตลงเถิด เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม เมื่อท่านทั้งหลาย ปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้าเท่าไร ก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่ง ไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองใน ปัจจุบันแล้วเข้าถึงอยู่. ดูกรราชกุมาร แม้ครั้งที่สาม ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสโคดม

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๕๓.

แม้ด้วยอิริยาบถนั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น ท่านยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อลมริยญาณทัศนวิเสสเลย ก็เดี๋ยวนี้ ท่านเป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความ เป็นผู้มักมาก จักบรรลุอุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัศนวิเสสได้อย่างไรเล่า? เมื่อภิกษุปัญจ- *วัคคีย์กล่าวเช่นนี้ เราได้กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจำได้หรือไม่ว่า ในกาลก่อนแต่นี้ เราได้กล่าวคำ เห็นปานนี้? ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้ตอบว่า หามิได้ พระเจ้าข้า. อาตมภาพจึงได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ท่านทั้งหลายจงเงี่ยโสตลงเถิด เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม เมื่อ ท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้าเท่าไรก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มี ธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่. ดูกรราชกุมาร อาตมภาพสามารถให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอม แล้ว. วันหนึ่ง อาตมภาพกล่าวสอนภิกษุแต่สองรูป. ภิกษุสามรูปไปเที่ยวบิณฑบาต. ภิกษุสามรูป ไปเที่ยวบิณฑบาตได้สิ่งใดมา ภิกษุทั้งหกรูปก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น. อาตมภาพกล่าว สอนภิกษุแต่สามรูป. ภิกษุสองรูปไปเที่ยวบิณฑบาต ได้สิ่งใดมา ภิกษุทั้งหกรูปก็ยังอัตภาพ ให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น. ครั้งนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์ที่อาตมภาพกล่าวสอน พร่ำสอนอยู่เช่นนี้ไม่นาน เลย ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันแล้วเข้าถึงอยู่.
ทรงแก้ปัญหาของโพธิราชกุมาร
[๕๑๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โพธิราชกุมาร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อภิกษุได้พระตถาคตเป็นผู้แนะนำโดยกาลนานเพียงไรหนอ จึงทำให้ แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ได้.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๕๔.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราชกุมาร ถ้ากระนั้น ในข้อนี้ อาตมภาพจักย้อนถามบพิตร ก่อน บพิตรพึงตอบตามที่พอพระทัย บพิตรจักทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บพิตรผู้ฉลาด ในศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอหรือ? โพธิราชกุมารทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอ. [๕๑๖] ดูกรราชกุมาร บพิตรจักทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษพึงมาในเมืองนี้ ด้วยคิดว่า โพธิราชกุมารทรงรู้ศิลปศาสตร์ คือการขึ้นช้าง การถือขอ เราจักศึกษาศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอ ในสำนักโพธิราชกุมารนั้น. แต่เขาไม่มีศรัทธา จะไม่พึงบรรลุผลเท่าที่ บุคคลผู้มีศรัทธาพึงบรรลุ ๑. เขามีอาพาธมาก จะไม่พึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีอาพาธน้อยพึงบรรลุ ๑. เขาเป็นคนโอ้อวด มีมายา จะไม่พึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายาพึงบรรลุ ๑. เขาเป็นผู้เกียจคร้าน จะไม่พึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ปรารภความเพียรพึงบรรลุ ๑. เขาเป็นผู้มี ปัญญาทราม จะไม่พึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีปัญญาพึงบรรลุ ๑. ดูกรราชกุมาร บพิตรจะทรงสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นควรจะศึกษาศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอ ในสำนักของ บพิตรบ้างหรือหนอ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นแม้จะประกอบด้วยองค์เพียงองค์หนึ่ง ก็ไม่ควรจะศึกษา ศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอ ในสำนักของหม่อมฉัน จะป่วยกล่าวไปไยถึงครบองค์ห้า เล่า. [๕๑๗] ดูกรราชกุมาร บพิตรจักทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษพึงมาในเมืองนี้ ด้วยคิดว่า โพธิราชกุมาร ทรงรู้ศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอ เราจักศึกษาศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอ ในสำนักโพธิราชกุมารนั้น. เขาเป็นผู้มีศรัทธา จะพึงบรรลุผลเท่าที่ บุคคลผู้มีศรัทธาพึงบรรลุ ๑. เขาเป็นผู้มีอาพาธน้อยจะพึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีอาพาธน้อยพึง บรรลุ ๑. เขาเป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา จะพึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา พึงบรรลุ ๑. เขาเป็นผู้ปรารภความเพียร จะพึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ปรารภความเพียรพึงบรรลุ ๑. เขาเป็นผู้มีปัญญา จะพึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีปัญญาพึงบรรลุ ๑. ดูกรราชกุมาร บพิตรจะทรง สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นควรจะศึกษาศิลปศาสตร์ คือ การขึ้นช้าง การถือขอ ในสำนัก ของบพิตรบ้างหรือหนอ?

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๕๕.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นแม้ประกอบด้วยองค์เพียงองค์หนึ่ง ก็ควรจะศึกษา ศิลปศาสตร์ คือการขึ้นช้าง การถือขอ ในสำนักของหม่อมฉันได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงครบ องค์ห้าเล่า.
องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕
[๕๑๘] ดูกรราชกุมาร องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ เหล่านี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ เป็นไฉน? ๑. ดูกรราชกุมาร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระ ตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มี ผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนก พระธรรม. ๒. เธอเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำ เสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลางควรแก่ความเพียร. ๓. เธอเป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เปิดเผยตนตามความเป็นจริง ในพระศาสดาหรือ ในเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูทั้งหลาย. ๔. เธอเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้เข้าถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย. ๕. เธอเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาอันเห็นความเกิดและดับเป็นอริยะ สามารถชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ. ดูกรราชกุมาร องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้แล ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่ง ภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้แล เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบันแล้วเข้าถึงอยู่ได้ [ใช้เวลาเพียง] เจ็ดปี. ดูกรราชกุมาร เจ็ดปีจงยกไว้. ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ พึงทำ ให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๕๖.

โดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ได้. [ใช้เวลาเพียง] หกปี ... ห้าปี ... สี่ปี ... สามปี ... สองปี ... หนึ่งปี. ดูกรราชกุมาร หนึ่งปีจงยกไว้. ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ได้ [ใช้เวลาเพียง] เจ็ดเดือน. ดูกรราชกุมาร เจ็ดเดือน จงยกไว้. ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้ แนะนำพึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ได้ [ใช้เวลาเพียง] หกเดือน ... ห้าเดือน ... สี่เดือน ... สามเดือน ... สองเดือน ... หนึ่งเดือน. ดูกรราชกุมาร ครึ่งเดือน จงยกไว้. ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรร- *พชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ได้ [ใช้เวลาเพียง] เจ็ดคืน เจ็ดวัน. ดูกรราชกุมาร เจ็ดคืนเจ็ดวันจงยกไว้. ภิกษุประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่น ยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองใน ปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ได้ [ใช้เวลาเพียง] หกคืนหกวัน ... ห้าคืนห้าวัน ... สี่คืนสี่วัน ... สามคืน สามวัน ... สองคืนสองวัน ... หนึ่งคืนหนึ่งวัน. ดูกรราชกุมาร หนึ่งคืนหนึ่งวันจงยกไว้. ภิกษุผู้ ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ ตถาคต สั่งสอนในเวลาเย็น จักบรรลุคุณวิเศษได้ในเวลาเช้า ตถาคตสั่งสอนในเวลาเช้า จักบรรลุคุณ วิเศษได้ในเวลาเย็น. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โพธิราชกุมารได้กราบทูลว่า พระพุทธเจ้า มีพระคุณเป็นอัศจรรย์ พระธรรมมีพระคุณเป็นอัศจรรย์ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว เป็นอัศจรรย์ เพราะภิกษุที่พระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนในเวลาเย็น จักบรรลุคุณวิเศษได้ในเวลา เช้า ที่พระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนในเวลาเช้า จักบรรลุคุณวิเศษได้ในเวลาเย็น.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๕๗.

[๕๑๙] เมื่อโพธิราชกุมารตรัสอย่างนี้แล้ว มาณพสัญชิกาบุตรได้ทูลโพธิราชกุมารว่า ก็ท่านโพธิราชกุมารองค์นี้ ทรงประกาศไว้ว่า พระพุทธเจ้ามีพระคุณเป็นอัศจรรย์ พระธรรมมี พระคุณเป็นอัศจรรย์ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วเป็นอัศจรรย์อย่างนี้เท่านั้น ก็แต่ ท่านหาได้ทรงถึงพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะไม่.
พระโพธิราชกุมารถึงสรณคมน์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์
[๕๒๐] โพธิราชกุมารตรัสว่า ดูกรเพื่อนสัญชิกาบุตร ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ดูกรเพื่อนสัญชิกาบุตร ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ดูกรสัญชิกาบุตร เรื่องนั้นเราได้ฟังมา ได้รับมาต่อหน้าเจ้าแม่ของเราแล้ว คือครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น เจ้าแม่ของเรากำลังทรงครรภ์ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลูกคนอยู่ในครรภ์ของหม่อมฉันนี้ เป็นชายก็ตาม เป็นหญิงก็ตาม เขาย่อม ถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคทรงจำเขาว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดูกรเพื่อนสัญชิกาบุตร ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในป่าเภสกลามิคทายวัน ใกล้เมืองสุงสุมารคิระ ในภัคคชนบทนี้แล ครั้งนั้น แม่นมอุ้มเราเข้าสะเอวพาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โพธิราชกุมารพระองค์นี้ ย่อมถึง พระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำ โพธิราชกุมารนั้นว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดูกรเพื่อนสัญชิกา บุตร เรานี้ย่อมถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ แม้ในครั้งที่สาม ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉะนี้แล.
จบ โพธิราชกุมารสูตร ที่ ๕.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๘๐๑๕-๘๒๓๖ หน้าที่ ๓๔๘-๓๕๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=8015&Z=8236&pagebreak=1 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=13&A=8015&w=๏ฟฝัญ๏ฟฝ๏ฟฝ&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=35              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=486              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=13&A=9020#510top              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=5890              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=13&A=9020#510top              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=5890              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i486-e1.php# https://suttacentral.net/mn85/en/sujato https://suttacentral.net/mn85/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]