ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๘. โคปกโมคคัลลานสูตร (๑๐๘)
[๑๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วไม่นาน ท่านพระอานนท์ อยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเคยเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขต พระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร เป็นจอมแห่ง มคธรัฐ ทรงระแวงพระเจ้าปัชโชต ๑- จึงรับสั่งให้ซ่อมแซมพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์นุ่งสบง ทรงบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนคร ราชคฤห์ในเวลาเช้า ขณะนั้น ท่านมีความดำริดังนี้ว่า ยังเช้าเกินควรที่จะเที่ยว บิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ก่อน ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาพราหมณ์โคปกะ โมคคัลลานะยังที่ทำงานและที่อยู่เถิด ครั้นแล้วท่านพระอานนท์จึงเข้าไปยังที่นั้น พราหมณ์โคปกะ โมคคัลลานะแลเห็นท่านพระอานนท์เดินมาแต่ไกล จึงได้กล่าว กะท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า นิมนต์เถิด พระอานนท์ผู้เจริญ ท่านมาดีแล้ว นานทีเดียวที่ท่านได้แวะเวียนมาที่นี่ นิมนต์นั่งเถิด นี่อาสนะแต่งตั้งไว้แล้ว ท่านพระอานนท์นั่งบนอาสนะที่แต่งตั้งไว้แล้ว ฝ่ายพราหมณ์โคปกะ โมคคัลลานะ ก็ถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่งนั่งลง ฯ [๑๐๖] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว พราหมณ์โคปกะ โมคคัลลานะ ได้ กล่าวกะท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ มีภิกษุสักรูปหนึ่ง บ้างไหมหนอ ผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อ และทุกๆ ประการ ที่พระโคดม ผู้เจริญพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธทรงถึงพร้อมแล้ว ฯ ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่งผู้ถึง พร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อ และทุกๆ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธทรงถึงพร้อมแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้น ทรงให้มรรคที่ยังไม่อุบัติได้อุบัติ ที่ยังไม่เกิดได้เกิด ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่ มีใครบอก ทรงทราบชัดมรรค ทรงรู้แจ้งมรรค และทรงฉลาดในมรรค ส่วน @๑. พระเจ้าจัณฑปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี ฯ เหล่าสาวกในบัดนี้ เป็นผู้ดำเนินตามมรรค จึงถึงพร้อมในภายหลังอยู่ ก็แหละ คำพูดระหว่างท่านพระอานนท์กับพราหมณ์โคปกะ โมคคัลลานะได้ค้างอยู่เพียงนี้ ฯ [๑๐๗] ขณะนั้น วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ เที่ยว ตรวจราชการในพระนครราชคฤห์ ได้เข้าไปยังที่ทำงานของพราหมณ์โคปกะ โมคคัลลานะ ที่มีท่านพระอานนท์อยู่ด้วย แล้วได้ทักทายปราศรัยกับท่าน พระอานนท์ ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า ข้าแต่ พระอานนท์ผู้เจริญ ณ บัดนี้ พระคุณท่านนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ และพระคุณท่านพูดเรื่องอะไรค้างอยู่ในระหว่าง ฯ ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรพราหมณ์ ในเรื่องที่พูดกันอยู่นี้ พราหมณ์ โคปกะ โมคคัลลานะได้ถามอาตมภาพอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ มี ภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมหนอ ผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อ และทุกๆ ประการ ที่พระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธทรงถึงพร้อมแล้ว เมื่อพราหมณ์โคปกะ โมคคัลลานะถามแล้วอย่างนี้ อาตมภาพได้ตอบ ดังนี้ว่า ดูกรพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่งผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อ และทุกๆ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธทรงถึง พร้อมแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงให้มรรคที่ยังไม่อุบัติได้อุบัติ ที่ยังไม่เกิดได้เกิด ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก ทรงทราบชัดมรรค ทรงรู้ แจ้งมรรค และทรงฉลาดในมรรค ส่วนเหล่าสาวกในบัดนี้เป็นผู้ดำเนินตามมรรค จึงถึงพร้อมในภายหลังอยู่ นี่แลคำพูดระหว่างอาตมภาพกับพราหมณ์โคปกะ โมคคัลลานะได้ค้างอยู่ ต่อนั้นท่านก็มาถึง ฯ [๑๐๘] ว. ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมหนอ อันพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้นทรงแต่งตั้งไว้ว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุ รูปนี้จักเป็นที่พึงอาศัยของท่านทั้งหลาย ซึ่งพระคุณเจ้าทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ ในบัดนี้ ฯ อา. ดูกรพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง อันพระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ทรงแต่งตั้งไว้ว่า เมื่อ เราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของท่านทั้งหลาย ซึ่งอาตมภาพ ทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้ ฯ [๑๐๙] ว. ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมเล่า อัน สงฆ์ที่ภิกษุผู้เป็นเถระมากรูปด้วยกันสมมติแล้ว แต่งตั้งไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของเราทั้งหลาย ซึ่งพระคุณเจ้า ทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้ ฯ อา. ดูกรพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง อันสงฆ์ที่ภิกษุผู้เป็นเถระ มากรูปด้วยกันสมมติแล้ว แต่งตั้งไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของเราทั้งหลาย ซึ่งอาตมภาพทั้งหลายจะพึงเข้าไปหา ได้ในบัดนี้ ฯ ว. ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ ก็เมื่อไม่มีที่พึ่งอาศัยอย่างนี้ อะไรเล่าจะ เป็นเหตุแห่งความสามัคคีกันโดยธรรม ฯ อา. ดูกรพราหมณ์ อาตมภาพทั้งหลายมิใช่ไม่มีที่พึ่งอาศัยเลย พวก อาตมภาพมีที่พึ่งอาศัย คือ มีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ฯ [๑๑๐] ว. ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ กระผมถามพระคุณเจ้าดังนี้ว่า มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมหนอ อันพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น ทรงแต่งตั้งไว้ว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของท่านทั้งหลาย ซึ่งพระคุณเจ้า ทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้ พระคุณเจ้าตอบว่า ดูกรพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้ สักรูปหนึ่ง อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต- *สัมมาสัมพุทธ ทรงแต่งตั้งไว้ว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่ง อาศัยของท่านทั้งหลาย ซึ่งอาตมภาพทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาในบัดนี้ กระผมถาม ต่อไปว่า มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมเล่า อันสงฆ์ที่ภิกษุผู้เป็นเถระมากรูปด้วยกัน สมมติแล้ว แต่งตั้งไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้ จักเป็นที่พึ่งอาศัยของเราทั้งหลาย ซึ่งพระคุณเจ้าทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้ พระคุณเจ้าตอบว่า ดูกรพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง อันสงฆ์ที่ภิกษุผู้เป็น เถระมากรูปด้วยกันสมมติแล้ว แต่งตั้งไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จล่วงลับไป แล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของเราทั้งหลาย ซึ่งอาตมภาพทั้งหลายจะพึง เข้าไปหาได้ในบัดนี้ และกระผมถามต่อไปว่า ก็เมื่อไม่มีที่พึ่งอาศัยอย่างนี้ อะไร เล่าจะเป็นเหตุแห่งความสามัคคีกันโดยธรรม พระคุณเจ้าตอบว่า ดูกรพราหมณ์ อาตมภาพทั้งหลายมิใช่ไม่มีที่พึ่งอาศัย พวกอาตมภาพมีที่พึ่งอาศัย คือ มีธรรมเป็นที่ พึ่งอาศัย ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ ก็คำที่พระคุณเจ้ากล่าวแล้วนี้ กระผมจะพึง เห็นเนื้อความได้อย่างไร ฯ [๑๑๑] อา. ดูกรพราหมณ์ มีอยู่แล ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ ภิกษุทั้งหลาย ทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลาย ทุกๆ วันอุโบสถ อาตมภาพ ทั้งหลายเท่าที่มีอยู่นั้น จะเข้าไปอาศัยคามเขตแห่งหนึ่งอยู่ ทุกๆ รูปจะประชุม ร่วมกัน ครั้นแล้วจะเชิญภิกษุรูปที่สวดปาติโมกข์ได้ ให้สวด ถ้าขณะที่สวด ปาติโมกข์อยู่ ปรากฏภิกษุมีอาบัติและโทษที่ล่วงละเมิด อาตมภาพทั้งหลายจะให้ เธอทำตามธรรม ตามคำที่ทรงสั่งสอนไว้ เพราะฉะนั้น เป็นอันว่า ภิกษุผู้เจริญ ทั้งหลาย มิได้ให้พวกอาตมภาพกระทำ ธรรมต่างหากให้พวกอาตมภาพกระทำ ฯ ว. ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมหนอ ซึ่ง พระคุณเจ้าทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ครั้นสักการะ เคารพแล้ว ย่อมเข้าไปอาศัยอยู่ในบัดนี้ ฯ อา. ดูกรพราหมณ์ มีอยู่รูปหนึ่งแล ซึ่งอาตมภาพทั้งหลาย สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ครั้นสักการะ เคารพแล้ว ย่อมเข้าไปอาศัยอยู่ในบัดนี้ ฯ [๑๑๒] ว. ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ กระผมถามพระคุณเจ้าดังนี้ว่า มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมหนอ อันพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น ทรงแต่งตั้งไว้ว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของท่านทั้งหลาย ซึ่งพระคุณเจ้า ทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้ พระคุณเจ้าตอบว่า ดูกรพราหมณ์ ไม่มีเลย แม้สักรูปหนึ่ง อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ทรงแต่งตั้งไว้ว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้ จักเป็นที่พึ่งอาศัยของท่านทั้งหลาย ซึ่งอาตมภาพทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้ กระผมถามต่อไปว่า มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมเล่า อันสงฆ์ที่ภิกษุผู้เป็นเถระมาก รูปด้วยกันสมมติแล้ว แต่งตั้งไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของเราทั้งหลาย ซึ่งพระคุณเจ้าทั้งหลายจะพึงเข้าไปหา ได้ในบัดนี้ พระคุณเจ้าตอบว่า ดูกรพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง อันสงฆ์ ที่ภิกษุผู้เป็นเถระมากรูปด้วยกันสมมติแล้ว แต่งตั้งไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของเราทั้งหลาย ซึ่งอาตมภาพ ทั้งหลายจักพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้ กระผมถามต่อไปว่า มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้าง ไหมหนอ ซึ่งพระคุณเจ้าทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ครั้น สักการะ เคารพแล้ว ย่อมเข้าไปอาศัยอยู่ในบัดนี้ พระคุณเจ้าตอบว่า ดูกร- *พราหมณ์ มีอยู่รูปหนึ่งแล ซึ่งอาตมภาพทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ครั้นสักการะ เคารพแล้ว ย่อมเข้าไปอาศัยอยู่ในบัดนี้ ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ คำที่พระคุณเจ้ากล่าวแล้วนี้ กระผมจะพึงเห็นเนื้อความได้อย่างไร ฯ [๑๑๓] อา. ดูกรพราหมณ์ มีอยู่แล ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสบอกธรรมเป็นที่ตั้งแห่ง ความเลื่อมใสไว้ ๑๐ ประการ บรรดาพวกอาตมภาพ รูปใดมีธรรมเหล่านั้น อาตมภาพทั้งหลายย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชารูปนั้น ครั้นสักการะ เคารพแล้ว ย่อมเข้าไปอาศัยอยู่ในบัดนี้ ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูกร พราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ (๑) เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและ โคจรอยู่ ย่อมเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบท ทั้งหลาย (๒) เป็นพหูสูต ทรงการศึกษา สั่งสมการศึกษา ธรรมที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ ประกาศ พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เห็นปานนั้น ย่อมเป็นอันเธอได้สดับแล้วมาก ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก เพ่งตามได้ด้วยใจ แทงตลอดดีด้วยความเห็น (๓) เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร (๔) เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันเกิดมีในมหัคคตจิตเครื่องอยู่สบายในปัจจุบัน ตามความปรารถนา ได้ไม่ยาก ไม่ลำบาก (๕) ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอเนกประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ปรากฏตัวหรือหายตัวไปนอกฝา นอกกำแพง นอกภูเขา ได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ทำการผุดขึ้นและดำลงในแผ่นดิน เหมือนใน น้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศโดยบัลลังก์ เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์และพระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากปานฉะนี้ ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ (๖) ย่อมฟังเสียงทั้งสอง คือ เสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่ไกล และที่ใกล้ได้ด้วยทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ (๗) ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น และบุคคลอื่นได้ด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิต มีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหัคคตะก็รู้ว่าจิตเป็นมหัคคตะ จิตไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่า จิตไม่เป็นมหัคคตะ จิตยังมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิต อื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตตั้งมั่น หรือจิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ว่า จิตไม่ตั้งมั่น จิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว หรือจิตยังไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิต ยังไม่หลุดพ้น (๘) ย่อมระลึกขันธ์ที่อยู่อาศัยในชาติก่อนได้เป็นอเนกประการ คือ ระลึก ได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง หลายสังวัฏกัปบ้าง หลายวิวัฏกัปบ้าง หลายสังวัฏ- *วิวัฏกัปบ้าง ว่าในชาติโน้น เรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเท่านี้ เรานั้นเคลื่อนจาก ชาตินั้นแล้ว บังเกิดในชาติโน้น แม้ในชาตินั้น เราก็มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเท่านี้ เรานั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้ว จึงเข้าถึงในชาตินี้ ย่อมระลึกขันธ์ที่อยู่อาศัยในชาติ ก่อนได้เป็นอเนกประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ เช่นนี้ (๙) ย่อมมองเห็นหมู่สัตว์ กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิว พรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ฯลฯ ๑- ย่อมมองเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมทราบชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม เช่นนี้ (๑๐) ย่อมเข้าถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันอยู่ ฯ ดูกรพราหมณ์ เหล่านี้แล ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ๑๐ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสบอกไว้ บรรดาพวกอาตมภาพ รูปใดมีธรรมเหล่านี้ อาตมภาพทั้งหลายย่อม สักการะ เคารพ นับถือ บูชารูปนั้น ครั้นสักการะ เคารพแล้ว ย่อมเข้าไป อาศัยอยู่ในบัดนี้ ฯ [๑๑๔] เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวแล้วอย่างนี้ วัสสการพราหมณ์มหา- *อำมาตย์แห่งมคธรัฐ ได้เรียกอุปนันทะเสนาบดีมาพูดว่า ดูกรเสนาบดี ท่านจะ สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ที่พระคุณเจ้าเหล่านี้ สักการะธรรมที่ควรสักการะ @๑. ดูข้อ ๒๕ เคารพธรรมที่ควรเคารพ นับถือธรรมที่ควรนับถือ บูชาธรรมที่ควรบูชาอยู่อย่างนี้ ตกลงพระคุณเจ้าเหล่านี้ ย่อมสักการะธรรมที่ควรสักการะ เคารพธรรมที่ควรเคารพ นับถือธรรมที่ควรนับถือ บูชาธรรมที่ควรบูชา ก็ในเมื่อพระคุณเจ้าเหล่านั้นจะไม่ พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาสิ่งนี้ พระคุณเจ้าเหล่านั้น จะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาสิ่งไร แล้วจะเข้าไปอาศัยสิ่งไรอยู่ได้เล่า ฯ [๑๑๕] ต่อนั้น วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ ถามท่าน พระอานนท์ดังนี้ว่า ก็เวลานี้ พระอานนท์อยู่ที่ไหน ฯ อา. ดูกรพราหมณ์ เวลานี้ อาตมภาพอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน ฯ ว. ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ ก็พระวิหารเวฬุวัน เป็นที่รื่นรมย์ เงียบเสียง และไม่อึกทึกครึกโครม มีลมพัดเย็นสบาย เป็นที่พักผ่อนของมนุษย์ สมควรแก่ การหลีกออกเร้นอยู่หรือ ฯ อา. ดูกรพราหมณ์ แน่นอน พระวิหารเวฬุวัน จะเป็นที่รื่นรมย์ เงียบ เสียง และไม่อึกทึกครึกโครม มีลมพัดเย็นสบาย เป็นที่พักผ่อนของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออกเร้นอยู่ ก็ด้วยมีผู้รักษาคุ้มครองเช่นท่าน ฯ [๑๑๖] ว. ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ ความจริง พระวิหารเวฬุวัน จะเป็นที่รื่นรมย์ เงียบเสียง และไม่อึกทึกครึกโครม มีลมพัดเย็นสบาย เป็นที่ พักผ่อนของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออกเร้นอยู่ ก็ด้วยมีพระคุณเจ้าทั้งหลาย เพ่งฌานและมีฌานเป็นปรกติต่างหาก พระคุณเจ้าทั้งหลายทั้งเพ่งฌานและมีฌาน เป็นปรกติทีเดียว ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ กระผมขอเล่าถวาย สมัยหนึ่ง พระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตพระนคร เวสาลี ครั้งนั้นแล กระผมเข้าไปเฝ้าพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้นยังที่ประทับ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ณ ที่นั้นแล พระองค์ได้ตรัสฌานกถาโดยอเนกปริยาย พระองค์ทั้งเป็นผู้เพ่งฌานและเป็นผู้มีฌานเป็นปรกติ แต่ก็ทรงสรรเสริญฌาน ทั้งปวง ฯ [๑๑๗] อา. ดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงสรรเสริญ ฌานทั้งปวงก็มิใช่ ไม่ทรงสรรเสริญฌานทั้งปวงก็มิใช่ พระองค์ไม่ทรงสรรเสริญ ฌานเช่นไร ดูกรพราหมณ์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีใจรัญจวนด้วยกามราคะ ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดกามราคะอันเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็น จริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะกามราคะ ทำกามราคะไว้ ในภายใน มีใจปั่นป่วนด้วยพยาบาท ถูกพยาบาทครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัด พยาบาทอันเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะพยาบาท ทำพยาบาทไว้ในภายใน มีใจกลัดกลุ้มด้วยถีนมิทธะ ถูกถีนมิทธะครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดถีนมิทธะอันเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็น จริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะถีนมิทธะ ทำถีนมิทธะไว้ ในภายใน มีใจกลัดกลุ้มด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดอุทธัจจกุกกุจจะอันเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะอุทธัจจกุกกุจจะ ทำอุทธัจจกุกกุจจะไว้ในภายใน มีใจกลัดกลุ้มด้วยวิจิกิจฉา ถูกวิจิกิจฉาครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดวิจิกิจฉาอันเกิด ขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะ วิจิกิจฉา ทำวิจิกิจฉาไว้ในภายใน ดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ไม่ทรงสรรเสริญฌานเช่นนี้แล ดูกรพราหมณ์ ก็พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรง สรรเสริญฌานเช่นไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เข้าทุติยฌาน มีความ ผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบ วิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌานที่พระอริยะเรียกเธอ ได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติอยู่เป็นสุขอยู่ เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะ อุเบกขาอยู่ ดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงสรรเสริญฌานเช่นนี้ แล ฯ [๑๑๘] ว. ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ เป็นอันว่า พระโคดมผู้เจริญ พระองค์นั้น ทรงติเตียนฌานที่ควรติเตียน ทรงสรรเสริญฌานที่ควรสรรเสริญ เอาละ กระผมมีกิจมาก มีกรณียะมาก จะขอลาไปในบัดนี้ ฯ อา. ดูกรพราหมณ์ ขอท่านโปรดสำคัญกาลอันควรในบัดนี้เถิด ต่อนั้น วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ ชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระอานนท์ แล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไป ฯ [๑๑๙] ครั้งนั้นแล เมื่อวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ หลีกไปแล้วไม่นาน พราหมณ์โคปกะ โมคคัลลานะ ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ ดังนี้ว่า ปัญหาของกระผม ซึ่งกระผมได้ถามพระอานนท์ผู้เจริญนั้น พระคุณเจ้า ยังมิได้พยากรณ์แก่กระผมเลย ฯ ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรพราหมณ์ เราได้กล่าวแก่ท่านแล้วมิใช่หรือว่า ดูกรพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่งผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อ และทุกๆ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธทรงถึง พร้อมแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงให้มรรคที่ยังไม่อุบัติได้อุบัติ ที่ยังไม่เกิดได้เกิด ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก ทรงทราบชัดมรรค ทรงรู้แจ้ง มรรค และทรงฉลาดในมรรค ส่วนเหล่าสาวกในบัดนี้ เป็นผู้ดำเนินตามมรรค จึงถึงพร้อมในภายหลังอยู่ ฯ
จบ โคปกโมคคัลลานสูตร ที่ ๘
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๑๗๓๕-๑๙๗๙ หน้าที่ ๗๔-๘๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=1735&Z=1979&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=14&A=1735&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=8              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=105              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=14&A=1769              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=1213              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=14&A=1769              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=1213              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i105-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i105-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.108.than.html https://suttacentral.net/mn108/en/sujato https://suttacentral.net/mn108/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]