ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

หน้าที่ ๑๐๔.

๒. ฉวิโสธนสูตร (๑๑๒)
[๑๖๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถ- *บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ [๑๖๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรม วินัยนี้ ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลว่า ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่ จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พวกเธออย่าเพ่อยินดี อย่าเพ่อคัดค้านคำกล่าวของภิกษุรูปนั้น ครั้นไม่ ยินดีไม่คัดค้านแล้ว พึงถามปัญหาเธอว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ โวหารอันพระผู้มี- *พระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ ชอบ นี้มี ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน คือ คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตน เห็นแล้ว คำกล่าวว่า ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว คำกล่าวว่า ทราบในอารมณ์ ที่ตนทราบแล้ว คำกล่าวว่า รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว นี้แล โวหาร ๔ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบ ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจาก อาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้ ฯ [๑๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้น สัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะ พยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้เห็น มีใจอันกระทำ ให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ... พรากได้แล้วใน ธรรมที่ข้าพเจ้าได้ยิน มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ข้าพเจ้าไม่

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๐๕.

ยินดี ไม่ยินร้าย ... พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้ทราบ มีใจอันกระทำให้ ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ... พรากได้แล้วในธรรม ที่ข้าพเจ้าได้รู้ชัด มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่ ดูกรท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นใน โวหาร ๔ นี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ อุปาทาน ขันธ์อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมา- *สัมพุทธตรัสไว้ชอบ นี้มี ๕ ประการแล ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้แลอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่าน ผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทาน- *ขันธ์ ๕ นี้ ฯ [๑๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะ พยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้ารู้แจ้งรูปแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ จึงทราบชัดว่า จิตของเรา หลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่น ในรูป และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในรูปได้ ข้าพเจ้ารู้แจ้งเวทนา แล้วแลว่า ... จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในเวทนา และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นใน เวทนาได้ ข้าพเจ้ารู้แจ้งสัญญาแล้วแลว่า ... จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในสัญญา และอนุสัย

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๐๖.

คือความตั้งใจและความปักใจมั่นในสัญญาได้ ข้าพเจ้ารู้แจ้งสังขารแล้วแลว่า ... จิต ของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ ที่ยึดมั่นในสังขาร และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในสังขารได้ ข้าพเจ้ารู้แจ้งวิญญาณแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้ง แห่งความชื่นใจ จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในวิญญาณ และอนุสัยคือความตั้งใจ และความปักใจมั่นในวิญญาณได้ ดูกรท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ธาตุอัน- *พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบ นี้มี ๖ ประการ ๖ ประการเป็นไฉน คือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้แลธาตุ ๖ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้น จากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้ ฯ [๑๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควร ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควร จะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าครองปฐวีธาตุโดยความเป็นอนัตตา มิใช่ครองอัตตาอาศัยปฐวีธาตุเลย จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัย ปฐวีธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยปฐวีธาตุได้ ข้าพเจ้าครองอาโปธาตุ โดยความเป็นอนัตตา ... เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัย อาโปธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยอาโปธาตุได้ ข้าพเจ้าครองเตโชธาตุ โดยความเป็นอนัตตา ... เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัย

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๐๗.

เตโชธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยเตโชธาตุได้ ข้าพเจ้าครองวาโยธาตุ โดยความเป็นอนัตตา ... เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัย วาโยธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยวาโยธาตุได้ ข้าพเจ้าครองอากาสธาตุ โดยความเป็นอนัตตา ... เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัย อากาสธาตุและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยอากาสธาตุได้ ข้าพเจ้าครอง วิญญาณธาตุโดยความเป็นอนัตตา มิใช่ครองอัตตาอาศัยวิญญาณธาตุเลย จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่น อาศัยวิญญาณธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยวิญญาณธาตุได้ ดูกรท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนา ว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็อายตนะภายใน อายตนะภายนอก อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบ นี้มีอย่างละ ๖ แล อย่างละ ๖ เป็นไฉน คือจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์ ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้แลอายตนะภายใน อายตนะภายนอก อย่างละ ๖ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต- *สัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอายตนะทั้งภายในทั้งภายนอกอย่างละ ๖ เหล่านี้ ฯ [๑๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควร จะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๐๘.

ยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่น ใน จักษุ ในรูป ในจักษุวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ ข้าพเจ้า ทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัย คือความตั้งใจและความปักใจมั่น ในโสต ในเสียง ในโสตวิญญาณ และใน ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยโสตวิญญาณ ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่น ในฆานะ ในกลิ่น ในฆานวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานวิญญาณ ข้าพเจ้า ทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัย คือความตั้งใจและความปักใจมั่น ในชิวหา ในรส ในชิวหาวิญญาณ และในธรรม ที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหาวิญญาณ ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่น ในกาย ใน โผฏฐัพพะ ในกายวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยกายวิญญาณ ข้าพเจ้าทราบ ชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความ พอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัยคือความ ตั้งใจและความปักใจมั่น ในมโน ในธรรมารมณ์ ในมโนวิญญาณ และในธรรมที่ พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ ดูกรท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอายตนะทั้งภายในทั้งภายนอกอย่างละ ๖ เหล่านี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนา ว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ก็เมื่อท่านผู้มีอายุ รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไร จึงถอนอนุสัยคือความถือตัวว่าเป็นเรา ว่าของเรา ในกายอันมีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งหมด ในภายนอกได้ด้วยดี ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๐๙.

[๑๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะ พยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นผู้ครองเรือน ยังเป็น ผู้ไม่รู้ พระตถาคตบ้าง สาวกของพระตถาคตบ้าง แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าฟังธรรมนั้นแล้ว จึงได้ความเชื่อในพระตถาคต ข้าพเจ้าประกอบด้วยการ ได้ความเชื่อโดยเฉพาะนั้น จึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมา แห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง เรายังอยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ที่เขาขัดแล้ว นี้ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เรา พึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้วออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด สมัยต่อมา ข้าพเจ้าจึงละโภคสมบัติน้อยบ้าง มากบ้าง ละวงศ์ญาติเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แล้วออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ข้าพเจ้าเมื่อเป็นผู้บวชแล้วอย่างนี้ ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพของภิกษุทั้งหลาย เพราะละปาณาติบาต จึงเป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาสตราแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดู ได้เป็นผู้อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์ และภูต เพราะละอทินนาทาน จึงเป็นผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน ถือเอาแต่ของ ที่เขาให้ หวังแต่ของที่เขาให้ มีตนเป็นคนสะอาด ไม่ใช่ขโมยอยู่ เพราะละกรรม อันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ จึงเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกลและ เว้นจากเมถุนอันเป็นธรรมดาของชาวบ้าน เพราะละมุสาวาท จึงเป็นผู้เว้นขาด จากมุสาวาท เป็นผู้กล่าวคำจริง ดำรงอยู่ในคำสัตย์ เป็นหลักฐาน เชื่อถือได้ ไม่พูดลวงโลก เพราะละวาจาส่อเสียด จึงเป็นผู้เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด ได้ยิน จากฝ่ายนี้แล้ว ไม่บอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือได้ยินจากฝ่ายโน้นแล้ว ไม่บอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น ทั้งนี้ เมื่อเขาแตกกันแล้ว ก็สมานให้ดีกัน หรือเมื่อเขาดีกันอยู่ ก็ส่งเสริม ชอบความพร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนที่พร้อม- *เพรียงกัน ชื่นชมในคนที่พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้กล่าววาจาสมานสามัคคีกัน เพราะ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๑๐.

ละวาจาหยาบ จึงเป็นผู้เว้นขาดจากวาจาหยาบ เป็นผู้กล่าววาจาซึ่งไม่มีโทษ เสนาะหู ชวนให้รักใคร่ จับใจ เป็นภาษาชาวเมือง อันคนส่วนมากปรารถนา และชอบใจ เพราะละการเจรจาเพ้อเจ้อ จึงเป็นผู้เว้นขาดจากการเจรจาเพ้อเจ้อ กล่าวถูกกาละ กล่าวตามเป็นจริง กล่าวอรรถ กล่าวธรรม กล่าววินัย เป็นผู้ กล่าววาจามีหลักฐาน มีที่อ้าง มีขอบเขต ประกอบด้วยประโยชน์ ตามกาล ข้าพเจ้าเป็นผู้เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เป็นผู้ฉันหนเดียว งดฉันใน เวลาราตรี เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล เป็นผู้เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เป็นผู้เว้นขาดจากการทัดทรง และตบแต่งด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานะแห่งการ แต่งตัว เป็นผู้เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงและใหญ่ เป็นผู้เว้นขาด จากการรับทองและเงิน เป็นผู้เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส เป็นผู้เว้นขาดจาก การรับแพะและแกะ เป็นผู้เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร เป็นผู้เว้นขาดจากการ รับช้าง โค ม้า และลา เป็นผู้เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน เป็นผู้เว้นขาด จากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เป็นผู้เว้นขาดจากการซื้อและการขาย เป็น ผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง โกงด้วยของปลอม และโกงด้วยเครื่องตวงวัด เป็นผู้เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง เป็นผู้เว้นขาด จากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และการกรรโชก ข้าพเจ้า ได้เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย และบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง จะไปที่ใดๆ ย่อมถือเอาบริขารไปได้หมด เหมือนนกมีปีก จะบินไปที่ใดๆ ย่อม มีภาระคือปีกของตนเท่านั้น บินไป ฯ [๑๗๓] ข้าพเจ้าประกอบด้วยศีลขันธ์ของพระอริยะเช่นนี้แล้ว จึงได้ เสวยสุขอันปราศจากโทษภายใน เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต และโดยอนุพยัญชนะ ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์อันมีการเห็นรูปเป็นเหตุ ซึ่ง บุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ รักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์แล้ว ได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว...

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๑๑.

ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ... ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ... รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว ไม่เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิตและโดยอนุพยัญชนะ ปฏิบัติ เพื่อสำรวมมนินทรีย์อันมีการรู้ธรรมารมณ์เป็นเหตุ ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูก อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ รักษามนินทรีย์ ถึงความ สำรวมในมนินทรีย์แล้ว ฯ [๑๗๔] ข้าพเจ้าประกอบด้วยอินทรียสังวรของพระอริยะเช่นนี้แล้ว จึง ได้เสวยสุขอันไม่เจือทุกข์ภายใน ได้เป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอย กลับ ในเวลาแลดูและเหลียวดู ในเวลางอแขนและเหยียดแขน ในเวลาทรงผ้า สังฆาฏิ บาตร และจีวร ในเวลาฉัน ดื่ม เคี้ยว และลิ้ม ในเวลาถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ ในเวลาเดิน ยืน นั่ง นอนหลับ ตื่น พูด และนิ่ง ฯ [๑๗๕] ก็ข้าพเจ้าประกอบด้วยศีลขันธ์ของพระอริยะเช่นนี้ ประกอบด้วย อินทรียสังวรของพระอริยะเช่นนี้ และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะของพระอริยะ เช่นนี้แล้ว จึงได้พอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ บนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง ข้าพเจ้ากลับจากบิณฑบาต ภายหลัง เวลาอาหารแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า ละอภิชฌา ในโลกได้แล้ว มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความชั่วคือพยาบาทแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูล ในสรรพสัตว์และภูตอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความชั่วคือพยาบาท ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีอาโลกสัญญา มีสติสัมปชัญญะ อยู่ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายในอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา แล้ว เป็นผู้ข้ามความสงสัยได้ ไม่มีปัญหาอะไรในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ชื่อว่า ได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา ฯ [๑๗๖] ข้าพเจ้าครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องทำใจให้เศร้า- *หมอง ทำปัญญาให้ถอยกำลังแล้ว จึงได้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๑๒.

ปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ได้เข้าทุติยฌาน มีความ ผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มี วิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ได้เป็นผู้วางเฉย เพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌานที่พระอริยะเรียก ข้าพเจ้านั้นได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุขอยู่ ได้เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาอยู่ ฯ [๑๗๗] ข้าพเจ้าเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว จึงได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ข้าพเจ้าได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ที่ดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับทุกข์ ย่อมรู้ชัดตาม เป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ที่ดับอาสวะ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ ดับอาสวะ เมื่อข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้ จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ได้มีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อข้าพเจ้ารู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงถอนอนุสัยคือความถือตัวว่าเป็นเรา ว่าของเรา ในกายอันมีวิญญาณนี้ และใน นิมิตทั้งหมดในภายนอกได้ด้วยดี ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนา ว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงกล่าวแก่ภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เป็นลาภ ของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้ว ที่พิจารณาเห็นท่านผู้มีอายุ เช่นตัวท่าน เป็นสพรหมจารี ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ ฉวิโสธนสูตร ที่ ๒
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๒๔๔๕-๒๖๖๙ หน้าที่ ๑๐๔-๑๑๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=2445&Z=2669&pagebreak=1 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=14&A=2445&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=12              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=166              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=14&A=2432              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=1598              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=14&A=2432              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=1598              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i166-e.php# https://suttacentral.net/mn112/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]