บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
โลมสกังภิยสูตร วิหารธรรมของพระเสขะ ต่างกับของพระพุทธองค์ [๑๓๖๙] สมัยหนึ่ง ท่านพระโลมสกังภิยะอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานาม เสด็จเข้าไปหาท่านพระโลมสกังภิยะถึงที่อยู่ ถวายนมัสการแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ตรัสถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสตินั้น เป็นวิหารธรรมของพระเสขะ เป็นวิหารธรรมของพระ- *ตถาคต หรือว่าวิหารธรรมของพระเสขะอย่างหนึ่ง ของพระตถาคตอย่างหนึ่ง ท่านพระโลมสกัง ภิยะถวายพระพรว่า ดูกรมหาบพิตร สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสตินั้นแล เป็นวิหารธรรม ของพระเสขะ เป็นวิหารธรรมของพระตถาคต หามิได้ วิหารธรรมของพระเสขะอย่างหนึ่ง ของ พระตถาคตอย่างหนึ่ง. [๑๓๗๐] ดูกรมหาบพิตร ภิกษุเหล่าใดเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตผล ย่อม ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ ภิกษุเหล่านั้นย่อมละนิวรณ์ ๕ นิวรณ์ ๕ เป็นไฉน? คือ กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถิ่นมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ภิกษุเหล่าใดเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตผล ย่อมปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ ภิกษุเหล่านั้นย่อมละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้. [๑๓๗๑] ดูกรมหาบพิตร ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ มี กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระแล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว สิ้นสังโยชน์เครื่องนำไปสู่ ภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ นิวรณ์ ๕ อันภิกษุเหล่านั้นละได้แล้ว ถอนรากเสียแล้ว กระทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มี มีอันเกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา นิวรณ์ ๕ เป็นไฉน? คือกามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉา- *นิวรณ์ ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ ... หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ อันภิกษุเหล่านั้นละได้แล้ว ถอนรากเสียแล้ว กระทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้ มี มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา. [๑๓๗๒] ดูกรมหาบพิตร พระองค์พึงทราบข้อนี้ โดยปริยายที่วิหารธรรมของพระเสขะ อย่างหนึ่ง ของพระตถาคตอย่างหนึ่ง. [๑๓๗๓] ดูกรมหาบพิตร สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ ชื่อ อิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคลนคร ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่สักสามเดือน ใครๆ ไม่พึงเข้ามาหาเรา เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว ใครๆ ไม่ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว. [๑๓๗๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นโดยล่วงสามเดือนนั้นแล้ว ตรัส เรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงถามเธอ ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมอยู่จำพรรษาด้วยวิหารธรรมข้อไหนมาก? เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกนั้นอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคอยู่จำพรรษาอยู่ด้วยสมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติมาก. [๑๓๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออก ยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมรู้ชัดว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืน หายใจเข้า. [๑๓๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อกล่าวถึงสิ่งใดโดยชอบ พึงกล่าวถึงสิ่งนั้นว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของ พระตถาคตบ้าง ดังนี้ พึงกล่าวถึงสมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของ พระอริยะบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคตบ้าง ภิกษุ เหล่าใดเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตผล ย่อมปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ สมาธิ อันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเหล่านั้นเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ ความสิ้นอาสวะ? [๑๓๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระแล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นสังโยชน์ เครื่องนำไปสู่ภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อัน ภิกษุเหล่านั้นเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และ เพื่อสติสัมปชัญญะ. [๑๓๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อจะกล่าวถึงสิ่งใดโดยชอบ พึงกล่าวถึงสิ่งนั้น ว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ ของพระตถาคตบ้าง ดังนี้ พึงกล่าวถึงสมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ ของพระอริยะบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคตบ้าง. [๑๓๗๙] ดูกรมหาบพิตร พระองค์พึงทราบข้อนี้ โดยปริยายที่วิหารธรรมของพระ เสขะอย่างหนึ่ง ของพระตถาคตอย่างหนึ่ง.จบ สูตรที่ ๒ เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๗๙๕๒-๘๐๐๙ หน้าที่ ๓๓๓-๓๓๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=7952&Z=8009&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=19&A=7952&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=19&siri=310 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=1369 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=19&A=8032 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=19&A=8032 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_19 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/sn54.12/en/sujato
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]