ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
ปฏิปทาวรรคที่ ๒
[๑๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า ๑ ทุกขาปฏิปทาขิปปา- *ภิญญา ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว ๑ สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า ๑ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว ๑ ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ฯ [๑๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ๑ ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญาเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยปรกติเป็นคนมีราคะกล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง โดยปรกติเป็นคนมีโทสะกล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนืองๆ บ้าง โดยปรกติเป็นคนมี โมหะกล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ของเขาปรากฏว่าอ่อน เขาย่อมบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า เพราะ อินทรีย์ ๕ เหล่านี้อ่อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญาเป็นไฉน บุคคลบางคน ในโลกนี้ โดยปรกติเป็นผู้มีราคะกล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ราคะ เนืองๆ บ้าง โดยปรกติเป็นผู้มีโทสะกล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ โทสะเนืองๆ บ้าง โดยปรกติเป็นผู้มีโมหะกล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิด แต่โมหะเนืองๆ บ้าง อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ ของเขาปรากฏว่าแก่กล้า เขาย่อมบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะเร็วพลัน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สุขาปฏิปทาทันธาภิญญาเป็นไฉน บุคคลบางคนใน โลกนี้ โดยปรกติไม่เป็นคนมีราคะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ ราคะเนืองๆ บ้าง โดยปรกติไม่เป็นผู้มีโทสะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัส อันเกิดแต่โทสะเนืองๆ บ้าง โดยปรกติไม่เป็นผู้มีโมหะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกข์ โทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ ของเขาปรากฏว่าอ่อน เขาย่อมได้บรรลุคุณวิเศษเพื่อความ สิ้นอาสวะช้า เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาเป็นไฉน บุคคลบางคน ในโลกนี้ โดยปรกติไม่เป็นผู้มีราคะกล้า ไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ราคะ เนืองๆ บ้าง โดยปรกติเป็นผู้ไม่มีโทสะกล้า ไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ โทสะเนืองๆ บ้าง โดยปรกติเป็นผู้ไม่มีโมหะกล้า ไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัสอัน เกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ ของเขาปรากฏว่าแก่กล้า เขาย่อมบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะ ได้ฉับพลัน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ฯ [๑๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ๔ ประการ เป็นไฉน คือ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ๑ ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ๑ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาเป็นไฉน ภิกษุในธรรม วินัยนี้ พิจารณาเห็นในกายว่าไม่งาม มีความสำคัญในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล มีความสำคัญในโลกทั้งปวงว่าไม่น่ายินดี พิจารณาเห็นในสังขารทั้งปวงว่าไม่เที่ยง อนึ่ง มรณสัญญาของเธอตั้งอยู่ดีแล้วในภายใน เธอเข้าไปอาศัยธรรมอันเป็นกำลัง ของพระเสขะ ๕ ประการนี้ คือ สัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ ของเธอปรากฏว่าอ่อน เธอได้บรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะช้า เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญาเป็นไฉน ภิกษุในธรรม วินัยนี้ พิจารณาเห็นในกายว่าไม่งาม ... แต่อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ ของเธอปรากฏว่าแก่กล้า เธอย่อมได้บรรลุคุณวิเศษ เพื่อความสิ้นอาสวะเร็วพลัน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สุขาปฏิปทาทันธาภิญญาเป็นไฉน ภิกษุในธรรม วินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขอันเกิด แต่สมาธิอยู่ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติ สิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มี อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข ดังนี้ บรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติ บริสุทธิ์อยู่ เธออาศัยธรรมอันเป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการนี้ คือ สัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาอยู่ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ ของเธอปรากฏว่าอ่อน เธอบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะช้า เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สุขาปฏิปทา- *ทันธาภิญญา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาเป็นไฉน ภิกษุในธรรม วินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ บรรลุ ตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ เธออาศัยธรรมอันเป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการนี้ คือ สัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา ทั้งอินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ ของเธอปรากฏว่าแก่กล้า เธอย่อมได้บรรลุ คุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะเร็วพลัน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ฯ [๑๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ การปฏิบัติไม่อดทน ๑ การปฏิบัติอดทน ๑ การปฏิบัติข่มใจ ๑ การปฏิบัติ ระงับ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติไม่อดทนเป็นไฉน บุคคลบางคนใน โลกนี้ เขาด่า ย่อมด่าตอบ เขาขึ้งโกรธ ย่อมขึ้งโกรธตอบ เขาทุ่มเถียง ย่อม ทุ่มเถียงตอบ นี้เรียกว่าการปฏิบัติไม่อดทน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติอดทนเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เขาด่า ไม่ด่าตอบ เขาขึ้งโกรธ ไม่ขึ้งโกรธตอบ เขาทุ่มเถียง ไม่ทุ่มเถียงตอบ นี้เรียกว่าการปฏิบัติอดทน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติข่มใจเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อ สำรวมจักขุนทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสำรวม ในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว เป็นผู้ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึง เป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อม รักษามนินทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การปฏิบัติข่มใจ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติระงับเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่รับรอง ย่อมละ ย่อมบรรเทาซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ระงับไป กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ย่อมไม่รับรอง ย่อมละ ย่อมบรรเทาซึ่ง พยาบาทวิตก ... วิหิงสาวิตก ... ย่อมไม่รับรอง ย่อมละ ย่อมบรรเทาซึ่งธรรม อันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้ระงับไป กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการปฏิบัติระงับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ฯ [๑๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ การปฏิบัติไม่อดทน ๑ การปฏิบัติอดทน ๑ การปฏิบัติข่มใจ ๑ การปฏิบัติ ระงับ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติไม่อดทนเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่อดทนต่อหนาว ร้อน หิว ระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย ต่อถ้อยคำอันหยาบคาย ร้ายแรง เป็นผู้ไม่ อดทนต่อทุกขเวทนาทางกายอันเกิดขึ้นแล้ว กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่าชื่นใจ ไม่น่าพอใจ อาจปลงชีวิตเสียได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การปฏิบัติ ไม่อดทน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติอดทนเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการปฏิบัติ อดทน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติข่มใจเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุ ... ฟังเสียงด้วยหู ... สูดกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะ ด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว เป็นผู้ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดย อนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุ ให้ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษา มนินทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การปฏิบัติข่มใจ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติระงับเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่รับรอง ย่อมละ ย่อมบรรเทาซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้วให้ระงับไป กระทำ ให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ย่อมไม่รับรอง ย่อมละ ย่อมบรรเทาซึ่งพยาบาทวิตก ... วิหิงสาวิตก ... ธรรมอันเป็นบาปอกุศล ที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้ระงับไป กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการปฏิบัติระงับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ฯ [๑๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ๑ ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทา- *ทันธาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในปฏิปทา ๔ ประการนั้น ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา บัณฑิตกล่าวว่า เลวโดยส่วนทั้งสอง ทีเดียว คือ กล่าวว่าเลวแม้ด้วยการปฏิบัติลำบาก กล่าวว่าเลวแม้ด้วยการรู้ช้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทานี้บัณฑิตกล่าวว่าเลวโดยส่วนทั้งสองทีเดียว ทุกขา- *ปฏิปทาขิปปาภิญญา บัณฑิตกล่าวว่าเลวเพราะปฏิบัติลำบาก สุขาปฏิปทาทันธา ภิญญา บัณฑิตกล่าวว่าเลวเพราะรู้ได้ช้า สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา บัณฑิตกล่าว ว่าประณีตโดยส่วนทั้งสองทีเดียว คือ กล่าวว่าประณีตแม้ด้วยการปฏิบัติสะดวก กล่าวว่าประณีตแม้ด้วยการรู้ได้เร็ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทานี้บัณฑิตกล่าวว่า ประณีตโดยส่วนทั้งสองทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ฯ [๑๖๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะ ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตร ได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ดูกรท่านผู้มีอายุโมคคัลลานะ ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ๑ ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ๑ ดูกร ท่านผู้มีอายุ ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ จิตของท่าน หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน เพราะอาศัยปฏิปทา ข้อไหน ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุสารีบุตร ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ฯลฯ บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ จิตของผมหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน เพราะอาศัยทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ฯ [๑๖๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุสารีบุตร ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ... ดูกรท่านผู้มีอายุ บรรดา ปฏิปทา ๔ ประการนี้ จิตของท่านหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่น ด้วยอุปาทาน เพราะอาศัยปฏิปทาข้อไหน ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรท่านผู้มี อายุโมคคัลลานะ ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ... ดูกรท่านผู้มีอายุ บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ จิตของผมหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน เพราะอาศัยสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ฯ [๑๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสสังขารปรินิพพายี จะปรินิพพานด้วยต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรงในปัจจุบันเทียว บางคนเมื่อกายแตก จึงเป็นสสังขารปรินิพพายี บางคนเป็นอสังขารปรินิพพายี จะปรินิพพานด้วย ไม่ต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรงในปัจจุบัน บางคนเมื่อกายแตกจึงเป็นอสังขาร ปรินิพพายี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นสสังขารปรินิพพายีในปัจจุบันอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นในกายว่าไม่งาม มีความสำคัญในอาหารว่าปฏิกูล มีความสำคัญในโลกทั้งปวงว่าไม่น่ายินดี พิจารณาเห็นในสังขารทั้งปวงว่าไม่เที่ยง และมรณสัญญาของเธอตั้งอยู่ดีแล้วในภายใน เธออาศัยธรรมเป็นกำลังของพระ- *เสขะ ๕ ประการนี้อยู่ คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา ทั้งอินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ของเธอปรากฏว่าแก่กล้า เธอย่อมเป็นสสังขารปรินิพพายีในปัจจุบันเทียว เพราะ อินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นสสังขารปรินิพพายี ในปัจจุบันอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเมื่อกายแตกจึงเป็นสสังขารปรินิพพายีอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นในกายว่าไม่งาม ฯลฯ อินทรีย์ ๕ ประการ คือ สัทธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ ... ของเธอปรากฏว่าอ่อน เธอเมื่อกายแตก จึงเป็นสสังขารปรินิพพายี เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อกายแตกจึงเป็นสสังขารปรินิพพายีอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นอสังขารปรินิพพายีในปัจจุบันอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน เธออาศัยธรรมเป็นกำลังของพระ- *เสขะ ๕ ประการนี้ คือ ศรัทธา ... ปัญญา อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ ของเธอปรากฏว่าแก่กล้า เธอเป็นอสังขาร ปรินิพพายีในปัจจุบัน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นอสังขารปรินิพพายีในปัจจุบันอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเมื่อกายแตกจึงเป็นอสังขารปรินิพพายีอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ แต่อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ ของเธอปรากฏว่าอ่อน เธอเมื่อกายแตก จึงเป็นอสังขารปรินิพพายี เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อกายแตกจึงเป็นอสังขารปรินิพพายี อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ [๑๗๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมือง- *โกสัมพี ณ ที่นั้นแล ท่านพระอานนท์เรียกภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ย่อมพยากรณ์การบรรลุ อรหัตในสำนักของเราด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดามรรค ๔ ประการนี้ มรรค ๔ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า เมื่อเธอเจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อม- *สิ้นสุด ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า เมื่อเธอ เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป เมื่อเธอ เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพ เจริญ กระทำ ให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละ สังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ฯ อีกประการหนึ่ง ใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรม สมัยนั้น จิตนั้น ย่อมตั้งมั่น สงบ ณ ภายใน เป็นจิตเกิดดวงเดียว ตั้งมั่นอยู่ มรรคย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ เธอย่อมเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำ ให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ย่อมพยากรณ์การบรรลุอรหัต ในสำนักของเรา ด้วยมรรค ๔ ประการนี้ โดยประการทั้งปวง หรืออย่างใด อย่างหนึ่ง บรรดามรรค ๔ ประการนี้ ฯ
จบปฏิปทาวรรคที่ ๒
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๔๐๘๓-๔๒๙๙ หน้าที่ ๑๗๖-๑๘๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=21&A=4083&Z=4299&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=21&A=4083&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=21&siri=133              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=161              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=21&A=4259              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=8891              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=21&A=4259              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=8891              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_21              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i161-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i161-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.162.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.163.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.164.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.165.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.170.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/anguttara/04/an04-163.html https://suttacentral.net/an4.161/en/sujato https://suttacentral.net/an4.162/en/sujato https://suttacentral.net/an4.162/en/thanissaro https://suttacentral.net/an4.163/en/sujato https://suttacentral.net/an4.163/en/thanissaro https://suttacentral.net/an4.164/en/sujato https://suttacentral.net/an4.164/en/thanissaro https://suttacentral.net/an4.165/en/sujato https://suttacentral.net/an4.165/en/thanissaro https://suttacentral.net/an4.166/en/sujato https://suttacentral.net/an4.167/en/sujato https://suttacentral.net/an4.168/en/sujato https://suttacentral.net/an4.169/en/sujato https://suttacentral.net/an4.170/en/sujato https://suttacentral.net/an4.170/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]