ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๙. โสมนัสสชาดก
ว่าด้วยการใคร่ครวญก่อนแล้วทำ
[๒๑๖๔] ใครมาตีมาด่าท่านหรือ ทำไมท่านจึงเสียใจ น้อยใจ เศร้าโศกอยู่ วันนี้ บิดามารดาของท่านมาร้องไห้กระมัง หรือว่าวันนี้ ใครมารังแกท่านให้นอน เหนือแผ่นดิน? [๒๑๖๕] ขอถวายพระพรพระจอมภูมิบาล อาตมภาพดีใจมากที่ได้เห็นมหาบพิตร อาตมภาพเข้ามาอาศัยมหาบพิตร ไม่ได้เบียดเบียนใคร ขอถวายพระพร อาตมภาพถูกพระราชโอรสของมหาบพิตรเบียดเบียน.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๐.

[๒๑๖๖] พวกนายประตู พนักงานตำรวจดาบ และนายเพชฌฆาตทั้งหลาย จง ไปตามวิธีของตนๆ จงไปยังภายในพระราชฐาน ฆ่าเจ้าโสมนัสสกุมาร เสีย แล้วตัดเอาศีรษะมา. ทูตทั้งหลายที่พระราชาสั่งไปได้กราบทูลพระ กุมารว่า ข้าแต่พระขัตติโยรส พระองค์ถูกพระอิศราชบิดาทรงตัดขาดแล้ว พระองค์ต้องโทษถึงประหารชีวิต พระเจ้าข้า. พระราชโอรสนั้นทรงกรรแสงอยู่ ประนมนิ้วทั้งสิบขึ้นอ้อนวอนว่า แม้เรา อยากจะขอเฝ้าพระราชบิดา ผู้เป็นจอมประชาราษฎร์ ขอท่านทั้งหลาย จงนำเราผู้ยังมีชีวิตไปเฝ้าพระราชบิดาเถิด. ทูตทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสของพระราชกุมารแล้ว ได้พาพระราชโอรส ไปเฝ้าพระราชา. ฝ่ายพระโอรส ครั้นเห็นพระราชบิดาจึงกราบทูลไปแต่ไกลว่า ข้าแต่พระ- ราชบิดา ผู้เป็นจอมประชาราชษฎร์ พวกนายประตู พนักงานตำรวจดาบ และเพชฌฆาตทั้งหลาย พากันมาเพื่อจะฆ่าเกล้ากระหม่อมเสีย เกล้า กระหม่อมขอกราบทูลถาม ขอได้ทรงพระกรุณาโปรดบอกเนื้อความนั้น แก่เกล้ากระหม่อม วันนี้ เกล้ากระหม่อมมีความผิดในเรื่องนี้เป็น ประการใดหรือ พระเจ้าข้า? [๒๑๖๗] ทิพจักขุดาบสผู้ไม่ประมาท ทำกิจรดน้ำและบำเรอไฟทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ทุกเมื่อ เหตุไร เจ้าจึงเรียกทิพจักขุดาบส ผู้สำรวมอินทรีย์ เป็นพรหมจารี เช่นนั้นว่า คฤหบดี ดังนี้เล่า? [๒๑๖๘] ขอเดชะ กุลุปกดาบสผู้นี้ มีสิ่งของเก็บไว้หลายอย่าง คือ ผลสมอพิเภก เผือก มัน และผลไม้ทั้งหลาย กุลุปกดาบส ผู้นี้เป็นผู้ไม่ประมาท เก็บ รักษาสิ่งของเหล่านั้นไว้ เพราะเหตุนั้น เกล้ากระหม่อมจึงเรียกดาบส นั้นว่าคฤหบดี. [๒๑๖๙] ดูกรเจ้าโสมนัสสกุมาร เรื่องนี้เจ้าพูดจริง ดาบสผู้นี้มีสิ่งของเก็บไว้ หลายอย่าง ดาบสผู้นี้เป็นผู้ไม่ประมาท เก็บรักษาสิ่งของเหล่านั้นไว้ เพราะฉะนั้น ดาบสผู้นี้จึงชื่อว่า พราหมณคฤหบดี.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๑.

[๒๑๗๐] บริษัททั้งหลายทั้งชาวนิคม และชาวชนบท ที่มาประชุมกันถ้วนทุกคน ขอจงฟังข้าพเจ้า พระราชาผู้เป็นจอมประชาราษฎร์นี้เป็นพาล ได้ฟังคำ ชฎิลโกงแล้วรับสั่งให้ฆ่าเราเสีย โดยหาเหตุมิได้เลย. [๒๑๗๑] เมื่อรากยังมั่นคงเจริญงอกงามแผ่ไพศาลอยู่ ไม้ไผ่ที่แตกเป็นกอใหญ่แล้ว ก็แสนยากที่จะถอนให้หมดสิ้นไปได้ ข้าแต่พระราชบิดาผู้เป็นจอมประชา- ราษฎร์ เกล้ากระหม่อมฉันขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ ขอ พระราชทานพระบรมราชานุญาตเกล้ากระหม่อม เกล้ากระหม่อมจักออก บวช พระเจ้าข้า. [๒๑๗๒] ดูกรพ่อโสมนัสสกุมาร พ่อจงเสวยโภคสมบัติอันไพบูลย์เถิด อนึ่ง ฉัน จะยกอิสริยยศทั้งหมดให้แก่พ่อ พ่อจงเป็นพระราชาของชาวกุรุรัฐใน วันนี้เถิด อย่าบวชเลย เพราะการบวชเป็นทุกข์. [๒๑๗๓] ขอเดชะ บรรดาโภคสมบัติของพระองค์ซึ่งมีอยู่ในราชธานีนี้ สิ่งไรเล่า ที่ เกล้ากระหม่อมควรบริโภคมีอยู่หรือ เมื่อชาติก่อนเกล้ากระหม่อมเคย รื่นรมย์ อยู่ในเทวโลก ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะทั้งหลาย ที่น่ารื่นรมย์ใจ. ขอเดชะ เกล้ากระหม่อมเคยบริโภคสมบัติมาแล้วใน ไตรทิพย์ เคยมีหมู่นางอัปสรแวดล้อมมาแล้ว เกล้ากระหม่อมมารู้ว่า พระองค์ทรงเขลาอันคนอื่นจะต้องนำไป แล้วจะพึงอยู่ในราชสกุล เช่นนั้นไม่ได้เลย. [๒๑๗๔] ดูกรพ่อโสมนัส ถ้าหากว่า ฉันเป็นคนเขลาอันคนอื่นจะต้องนำไป พ่อ จงงดโทษให้แก่ฉันสักครั้งหนึ่งเถิด ถ้าแม้ว่า โทษเช่นนี้จะพึงมีอีก พ่อจง กระทำตามอัธยาศัยเถิด. [๒๑๗๕] กรรมที่บุคคลใดไม่พิจารณา ให้ถี่ถ้วนเสียก่อนแล้วทำลงไป ผลชั่วร้าย ย่อมมีแก่บุคคลนั้น เหมือนความวิบัติแห่งยาแก้โรค ฉะนั้น. ส่วนกรรม ที่บุคคลใดพิจารณาถี่ถ้วนก่อนแล้วทำลงไป ผลอันเจริญก็ย่อมมีแก่บุคคล นั้น เหมือนความถึงพร้อมแห่งยาแก้โรค ฉะนั้น. คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๒.

เป็นคนเกียจคร้าน ไม่ดี บรรพชิตไม่สำรวม ไม่งาม พระราชาไม่ทรง ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำลงไป ไม่ดี บัณฑิตมีความโกรธเป็นเจ้าเรือน ก็ไม่ดี ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งทิศ กษัตริย์ทรงใคร่ครวญเสียก่อน แล้วจึงควรทำ ยังไม่ทรงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วไม่ควรทำ พระเกียรติยศ ของพระราชาผู้ทรงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำลงไป ย่อมเจริญ. ข้าแต่ พระจอมภูมิบาล อิสรชนควรใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงลงอาชญากรรม ที่ทำด้วยความรีบร้อนย่อมให้เดือดร้อน อนึ่ง ความตั้งตนไว้โดยชอบ และประโยชน์ของนรชน ย่อมไม่ตามเดือดร้อนในภายหลัง. แท้จริง ชนเหล่าใด จำแนก แจกแจง (เลือกเฟ้น) แล้ว กระทำกรรมทั้งหลายที่ ไม่ตามเดือดร้อนภายหลังในโลก กรรมของชนเหล่านั้น ท่านผู้รู้สรรเสริญ มีความสุขเป็นกำไร อันพระพุทธเจ้าอนุมัติแล้ว. ขอเดชะ ข้าแต่ พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน นายประตู ตำรวจดาบ และพวกเพชฌฆาต พากันไปจะฆ่าเกล้ากระหม่อมฉัน พวกนั้นรุมกันฉุดคร่าเกล้ากระหม่อม ฉัน ผู้กำลังนั่งอยู่บนพระเพลาแห่งพระราชมารดามาโดยพลัน. ข้าแต่ พระราชบิดา แท้จริง เกล้ากระหม่อมฉันถึงแล้วซึ่งมรณภัยอันเผ็ดร้อน คับแคบ ฝืดเคืองเหลือเกิน วันนี้ เกล้ากระหม่อมฉันได้มีชีวิตอันเป็น ที่รักหวานซาบซึ้งใจ รอดพ้นจากการถูกประหารมาได้แสนยาก จึงน้อม ใจต่อบรรพชาอย่างเดียว. [๒๑๗๖] ดูกรสุธรรมาเทวี พ่อโสมนัสสกุมารโอรสของเธอนี้ ยังรุ่นหนุ่ม น่าเอ็นดู วันนี้ ฉันอ้อนวอนเขาไว้ ก็ไม่ได้สมปรารถนา แม้เธอก็ควรจะอ้อนวอน โอรสของเธอดูบ้าง. [๒๑๗๗] ดูกรพระลูกรัก เจ้าจงยินดีด้วยภิกขาจาริยวัตรเถิด จงใคร่ครวญในธรรม ทั้งหลายแล้ว ละเว้นบรรพชาของคนมิจฉาทิฏฐิเสียเถิด เจ้าจงวาง อาชญาในสรรพสัตว์ ไม่ถูกติเตียนแล้ว จงเข้าถึงพรหมสถานเถิด. ดูกรสุธรรมาเทวี เธอพูดคำเช่นใด คำเช่นนั้น น่าอัศจรรย์จริงหนอ ฉัน

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๘๓.

ได้รับทุกข์อยู่แล้ว เธอยังกลับเพิ่มทุกข์ให้อีก ฉันขอร้องเธอให้ช่วย อ้อนวอนลูก เธอกลับสนับสนุนให้โสมนัสสกุมารเกิดอุตสาหะยิ่งขึ้น. [๒๑๗๘] พระอริยเจ้าเหล่าใด พ้นวิเศษแล้ว บริโภคปัจจัยอันหาโทษมิได้ ดับรอบ แล้ว เที่ยวไปในโลกนี้ หม่อมฉันไม่อาจจะห้ามโอรสผู้ดำเนินไปตาม มรรคาของพระอริยเจ้าเหล่านั้นได้. [๒๑๗๙] ชนเหล่าใด มีปัญญา เป็นพหูสูต ตรึกตรองเหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก พระ- นางสุธรรมาเทวีนี้ เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ปราศจากความโศกเศร้า ได้สดับคำสุภาษิตของชนเหล่าใด ชนเหล่านั้นควรจะคบหาแท้ทีเดียว.
จบ โสมนัสสชาดกที่ ๙.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ บรรทัดที่ ๘๖๑๓-๘๗๐๕ หน้าที่ ๓๗๙-๓๘๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=8613&Z=8705&pagebreak=1 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=27&A=8613&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=27&siri=505              ศึกษาอรรถกถาชาดกได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2164              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=27&A=9110              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=1986              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=27&A=9110              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=1986              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja505/en/rouse

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]