บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
๓. สุธาโภชนชาดก ว่าด้วยของกินอันเป็นทิพย์ [๒๔๙] ข้าพเจ้าไม่ซื้อ ไม่ขาย อนึ่ง แม้ความสั่งสมของข้าพเจ้าก็ไม่มีในที่นี้ ภัตนี้มีนิดหน่อยทั้งหาได้แสนยาก ข้าวสุกแล่งหนึ่งนี้หาพอแก่เราสอง คนไม่. [๒๕๐] บุคคลควรแบ่งของน้อยให้ตามน้อย ควรแบ่งของส่วนกลางให้ตามส่วน กลาง ควรแบ่งของมากให้ตามมาก การไม่ให้ย่อมไม่ควร ดูกรโกสิย เศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่ทางของ พระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียวย่อม ไม่ได้ความสุข. [๒๕๑] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้ว บริโภคโภชนะผู้เดียว พลีกรรมของผู้นั้นย่อมไร้ผล ทั้งความเพียรแสวงหาทรัพย์ของผู้นั้นก็ไร้ประโยชน์ ดูกรโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่ทางแห่งพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข. [๒๕๒] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้ว ไม่บริโภคโภชนะแต่ผู้เดียว พลีกรรมของผู้นั้น ย่อมมีผลจริง ทั้งความเพียรแสวงหาทรัพย์ของผู้นั้นก็มีประโยชน์จริง ดูกรโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่ ทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียว ย่อมไม่ได้ความสุข. [๒๕๓] บุรุษเข้าไปสู่สระแล้ว บูชาที่แม่น้ำชื่อพหุกาก็ดี ที่สระชื่อคยาก็ดี ที่ท่า น้ำชื่อโทณะก็ดี ที่ท่าน้ำชื่อติมพรุก็ดี ที่ห้วงน้ำใหญ่มีกระแสเชี่ยวก็ดี การบูชาและความเพียรของเขาในที่นั้นๆ ย่อมมีผล ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้ว ไม่บริโภคโภชนะแต่ผู้เดียว จะกล่าวว่าไร้ผลนั้นไม่ได้ ดูกรโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่ทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข. [๒๕๔] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้ว บริโภคโภชนะแต่ผู้เดียว ผู้นั้นเปรียบเหมือนกลืน เบ็ดอันมีสายยาว พร้อมทั้งเหยื่อ ดูกรโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่ทางของพระอริยเจ้า จงให้ทาน และจงบริโภค เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข. [๒๕๕] พราหมณ์เหล่านี้มีผิวพรรณงามจริงหนอ เพราะเหตุไร สุนัขของท่านนี้จึง เปล่งรัศมีสีต่างๆ ได้ ข้าแต่พราหมณ์ ท่านทั้งหลาย ใครเล่าหนอ จะบอกแก่ข้าพเจ้าได้. [๒๕๖] ท่านทั้งสองนี้ คือ จันทเทพบุตรและสุริยเทพบุตร ส่วนผู้นี้ คือ มาตลีเทพสารถี ส่วนเราเป็นท้าวสักกะจอมเทพชาวไตรทศ และสุนัข ตัวนี้เรียกว่า ปัญจสิขเทพบุตร. [๒๕๗] ฉิ่ง ตะโพน และเปิงมาง ย่อมปลุกเทพบุตรผู้หลับแล้ว ให้ตื่นและ ตื่นแล้วย่อมเพลิดเพลินใจ. [๒๕๘] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีความตระหนี่เหนียวแน่น มักบริภาษสมณ- พราหมณ์ทั้งหลาย ชนเหล่านั้น ทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้แล้ว เมื่อตาย แล้วย่อมไปสู่นรก ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง หวังสุคติตั้งอยู่ในธรรม คือ ความสำรวมและการแจกทาน ชนเหล่านั้นทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ แล้ว เมื่อตายไป ย่อมไปสู่สุคติ. [๒๕๙] ท่านนั้นชื่อโกสิยเศรษฐี มีความตระหนี่ มีธรรมอันลามกในชาติก่อน เป็นญาติของพวกเรา พวกเรามาแล้วในที่นี้ เพื่อประโยชน์แก่ท่าน เท่านั้น ด้วยคิดว่า โกสิยะนี้ อย่าได้มีธรรมอันลามกไปนรกเลย. [๒๖๐] ก็ท่านเหล่านั้น เป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่ข้าพเจ้าโดยแท้ เพราะมาพร่ำ สอนข้าพเจ้าอยู่เนืองๆ ข้าพเจ้านั้นจักทำตามคำที่ท่านทั้งหลายผู้แสวงหา ประโยชน์กล่าวแล้วทุกประการ ข้าพเจ้านั้นจักของดเว้นจากความเป็น คนตระหนี่เสียในวันนี้แหละ อนึ่ง ข้าพเจ้าจะไม่พึงทำบาปกรรมอะไรๆ ขึ้นชื่อว่าการไม่ให้อะไรๆ จะไม่มีแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้ แล้วจะไม่ขอดื่มน้ำ ข้าแต่ท้าววาสวะ ก็เมื่อข้าพเจ้าให้อยู่อย่างนี้ตลอด กาลทั้งปวง แม้โภคสมบัติของข้าพเจ้าจักสิ้นไป แต่นั้น ข้าพเจ้าจักละ กามทั้งหลายตามส่วนที่มีอยู่แล้วจักบวช. [๒๖๑] เทพธิดาเหล่านั้น อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดารักษาแล้ว ย่อม บันเทิงอยู่ ณ ภูเขาคันธมาทน์อันเป็นภูเขาประเสริฐสุด ครั้งนั้น นารท- ดาบสผู้ประเสริฐกว่าฤาษี ผู้ไปได้ในโลกทั้งปวง ได้มาถือเอากิ่งไม้อัน ประเสริฐ มีดอกบานดีแล้ว ดอกไม้นั้นสะอาด มีกลิ่นหอม เทพยดา ชาวไตรทศ กระทำสักการะ เป็นดอกไม้สูงสุด อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐ กว่าอมรเทพเสพแล้ว แต่พวกมนุษย์และพวกอสูรไม่ได้ เว้นไว้แต่พวก เทวดา เป็นดอกไม้มีประโยชน์ สมควรแก่เทวดาเหล่านั้น ลำดับนั้น นางเทพนารี ๔ องค์ คือ นางอาสา นางศรัทธา นางสิริ และนางหิริ ผู้มีผิวพรรณเปรียบด้วยทองคำ เป็นใหญ่กว่านางเทพนารีผู้รื่นเริง ต่าง ลุกขึ้นกล่าวกะนารทมุนี ผู้เป็นพราหมณ์ผู้ประเสริฐว่า ข้าแต่ท่านมหามุนี ผู้ประเสริฐ ถ้าดอกปาริฉัตตะนี้ พระคุณเจ้าไม่เจาะจงแล้ว ก็ขอจงให้ แก่พวกดิฉันเถิด คติทั้งปวงจงสำเร็จแก่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจง ให้แก่พวกดิฉันเถิด เหมือนท้าววาสวะ ฉะนั้นเถิด นารทดาบสเห็น นางธิดาทั้ง ๔ มาขอดอกไม้ จึงกล่าวว่า ท่านพูดด้วยคำชวนทะเลาะ เราไม่มีความต้องการด้วยดอกไม้เหล่านี้สักน้อยหนึ่ง บรรดาเจ้าทั้ง ๔ ผู้ ใดประเสริฐกว่า ผู้นั้นจงประดับดอกไม้นั้นเถิด. [๒๖๒] ข้าแต่ท่านนารทะผู้อุดม พระคุณเจ้านั่นแลจงพิจารณาดูพวกดิฉัน พระ คุณเจ้าปรารถนาให้แก่นางใด ก็จงให้แก่นางนั้น ก็บรรดาพวกดิฉัน พระคุณเจ้าจักให้แก่นางใด นางนั้นแหละ จักเป็นผู้อันดิฉันทั้งหลาย ยกย่องว่าประเสริฐสุด. [๒๖๓] ดูกรนางผู้มีตัวงาม คำนี้ไม่สมควร ใครเป็นพราหมณ์ ใครกล่าวการ ทะเลาะ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่ง ภูตเถิด ถ้าท่านทั้งหลายไม่ทราบในที่นี้ว่า ตนสูงสุดหรือว่าธรรมสูงสุด. [๒๖๔] นางเทพธิดาเหล่านั้น อันนารทดาบสกล่าวแล้ว เป็นผู้โกรธแค้นอย่างยิ่ง เป็นผู้มัวเมาในผิวพรรณ พากันไปสู่สำนักของท้าวสหัสสนัยน์ แล้ว ทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งภูตว่า ใครหนอเป็นผู้ประเสริฐ. [๒๖๕] ท้าวปุรินททะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา ผู้อันเทวดากระทำอัญชลี ทรงเห็น นางเทพธิดาทั้ง ๔ นั้น ผู้มีใจริษยา จึงตรัสว่า ดูกรเจ้าผู้งามเลิศ เจ้าทั้งปวงเป็นเช่นเดียวกัน จงยกไว้ก่อน ใครเล่าหนอได้กล่าวการ ทะเลาะขึ้น. [๒๖๖] ท่านนารทมหามุนีใด ผู้เที่ยวไปในโลกทั้งปวง ผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีความ บากบั่นอย่างแท้จริง ท่านได้กล่าวกะพวกหม่อมฉัน ณ ภูเขาคันธมาทน์ อันเป็นภูเขาประเสริฐว่า ท่านทั้งหลายจงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอม แห่งภูตเถิด ถ้าท่านทั้งหลายไม่ทราบในที่นี้ว่า ตนประเสริฐหรือธรรม ประเสริฐ. [๒๖๗] ดูกรเจ้าผู้มีตัวงาม ท่านมหามุนีนามว่าโกสิยะ อยู่ในป่าใหญ่โน้น ท่านไม่ให้ก่อนแล้วย่อมไม่บริโภคภัต ท่านพิจารณาเสียก่อนแล้วจึงให้ ทาน ถ้าท่านจักให้แก่นางใด นางนั้นแลเป็นผู้ประเสริฐ. [๒๖๘] ก็ท่านโกสิยดาบสนั้นอยู่ในทิศทักษิณริมฝั่งแม่น้ำคงคา ข้างหิมวันต- บรรพตโน้น ท่านหาน้ำและโภชนะได้โดยยาก ดูกรเทพสารถี ท่าน จงนำสุธาโภชน์ไปถวายท่าน. [๒๖๙] มาตลีเทพสารถีนั้น อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดารับสั่งใช้แล้ว ได้ขึ้นรถเทียมด้วยม้าพันตัว เข้าไปยังอาศรมโดยเร็วพลัน เป็นผู้มีกาย ไม่ปรากฏ ได้ถวายสุธาโภชน์แก่มุนี. [๒๗๐] ก็เมื่อเราบำเรอไฟที่เราบูชาแล้ว ยืนอยู่ใกล้พระอาทิตย์อันมีแสงสว่าง บรรเทาความมืดในโลกเสียได้ อันสูงสุด ท้าววาสวะผู้ครอบงำภูตทั้งปวง หรือว่าใครหนอมาวางภัตอันขาวสะอาดลงในฝ่ามือของเรา ภัตนี้ขาว เปรียบดังสังข์ไม่มีสิ่งอื่นเปรียบปาน น่าดู สะอาด มีกลิ่นหอมน่ารัก ยังไม่เคยมีเลย เรายังไม่เคยเห็นด้วยตาตนเองเลย เทวดาองค์ไหน เอา สุธาโภชน์มาวางบนฝ่ามือของเรา. [๒๗๑] ข้าแต่มหามุนีผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าอันท้าวสักกะผู้เป็นจอม เทพทรงใช้แล้ว จึงได้รีบนำเอาสุธาโภชน์มาถวายพระคุณเจ้า จงรู้จัก ข้าพเจ้าว่ามาตลีเทพสารถี นิมนต์พระคุณเจ้าบริโภคภัตอันอุดม อย่าห้าม เสียเลย ก็สุธาโภชน์ที่บริโภคแล้วนั้น ย่อมขจัดบาปธรรมได้ ๑๒ ประการ คือ ความหิว ๑ ความกระหาย ๑ ความไม่ยินดี (กระสัน) ๑ ความกระวนกระวาย ๑ ความเหน็ดเหนื่อย ๑ ความโกรธ ๑ ความเข้าไปผูกโกรธ ๑ ความวิวาท ๑ ความส่อเสียด ๑ ความ หนาว ๑ ความร้อน ๑ ความเกียจคร้าน ๑ สุธาโภชน์นี้มีรสสูงสุด. [๒๗๒] ดูกรมาตลี การที่ยังไม่ให้ก่อนแล้วบริโภค ไม่สมควรแก่เรา วัตรของ เราดังนี้เป็นวัตรอันอุดม อนึ่ง การบริโภคคนเดียวพระอริยเจ้าไม่บูชา และบุคคลผู้มิได้แบ่งให้ ย่อมไม่ได้ประสบความสุข. [๒๗๓] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้ฆ่าหญิง คบหาภรรยาของชายอื่น ประทุษร้าย ต่อมิตร และด่าสมณพราหมณ์ผู้มีวัตรดีงาม ชนเหล่านั้นทั้งปวงทีเดียว มีความตระหนี่เป็นที่ ๕ เป็นคนเลวทราม เพราะเหตุนั้น อาตมาไม่ได้ให้ ก่อนแล้วไม่ดื่มแม้กระทั่งน้ำ อาตมาจักให้ทานที่ท่านผู้รู้สรรเสริญแล้ว แก่หญิงหรือชาย เพราะว่า ท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ บัณฑิตยกย่องว่า เป็นผู้สะอาด และ มีความสุขในโลกนี้. [๒๗๔] ลำดับนั้น นางเทพกัญญา ๔ องค์ คือ นางอาสา นางศรัทธา นางสิริ และนางหิริ ผู้มีผิวพรรณเปรียบดังทองคำ ซึ่งท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่า เทวดาทรงอนุมัติส่งไปแล้ว ได้ไปยังอาศรมอันเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบส โกสิยดาบสได้เห็นนางเทพกัญญาทั้งปวงนั้น ผู้บันเทิงอย่างยิ่ง มี ผิวพรรณงามดังเปลวเพลิง จึงได้กล่าวกะนางเทพกัญญาทั้ง ๔ ในทิศ ทั้ง ๔ ต่อหน้ามาตลีเทพสารถีว่า ดูกรเทวดาในบุรพทิศ ท่านผู้ประดับ ประดาแล้ว งดงามดังดวงดาวประกายพฤกษ์ อันประเสริฐกว่าดาวทั้งหลาย ท่านมีชื่อว่าอย่างไร จงบอกไป ดูกรเทวดาผู้มีร่างกายคล้ายกับรูปทองคำ อาตมาขอถามท่าน ท่านจงบอกแก่อาตมา ท่านเป็นเทวดาอะไร. [๒๗๕] ดิฉันชื่อว่า สิริเทวี ได้รับการบูชาในหมู่มนุษย์ เป็นผู้ไม่เสพสัตว์ลามก ทุกเมื่อ มาสู่สำนักของพระคุณเจ้า เพราะความทะเลาะกันด้วยสุธาโภชน์ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอพระคุณเจ้าจงแบ่งสุธาโภชน์ นั้นให้ดิฉันบ้าง ข้าแต่ท่านมหามุนีผู้สูงสุดกว่าผู้บูชาทั้งหลาย ดิฉัน ปรารถนาความสุขแก่นรชนใด นรชนนั้นย่อมบันเทิงด้วยกามคุณารมณ์ ทั้งปวง ขอพระคุณเจ้าจงรู้จักดิฉันว่า สิริ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้มีปัญญา อันประเสริฐ ขอได้โปรดแบ่งสุธาโภชน์นั้นให้ดิฉันบ้าง. [๒๗๖] นรชนทั้งหลายผู้ประกอบด้วยศิลปะ วิทยา จรณะ ความรู้ และการงาน ของตน มีความเพียร เป็นผู้ที่ท่านละทิ้งเสียแล้ว ย่อมไม่ได้ประโยชน์ อะไร ความขาดแคลนที่ท่านทำแล้วนั้นไม่ดีเลย อาตมาเห็นนรชนผู้เป็น คนเกียจคร้าน บริโภคมาก ทั้งมีตระกูลต่ำ มีรูปแปลก ดูกรนางสิริ บุคคลผู้มีโภคทรัพย์ มีความสุข ย่อมใช้สอยนรชนที่ท่านตามรักษาไว้ แม้จะสมบูรณ์ด้วยชาติ ให้เป็นเหมือนทาส เพราะฉะนั้น อาตมารู้จัก ท่าน (ว่าเป็น) ผู้ไม่มีสัจจะ ไม่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควร แล้วคบคนผู้ สมบูรณ์ด้วยศิลปะเป็นต้น เป็นผู้หลง นำผู้รู้ให้ตกไปตาม นางเทพ- กัญญาเช่นท่าน ย่อมไม่สมควรอาสนะและน้ำ ที่ไหนสุธาโภชน์จะ สมควรเล่า เชิญไปเสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจท่าน. [๒๗๗] ใครเป็นผู้มีฟันขาว สวมกุณฑล มีร่างกายอันวิจิตร ทรงเครื่องประดับ อันเกลี้ยงเกลา ทำด้วยทองคำ นุ่งห่มผ้ามีสีดังสายน้ำหยด ทัดช่อ ดอกไม้สีแดงดังเปลวไฟไหม้หญ้าคา ย่อมงดงาม ท่านเป็นเหมือนนาง เนื้อทรายที่นายพรานยิงผิดแล้ว มองดูอยู่เหมือนดังเขลา ฉะนั้น ดูกร ท่านผู้มีดวงตาอ่อนหวาน ในที่นี้ใครเป็นสหายของท่าน ท่านอยู่ในป่า แต่ผู้เดียว ไม่กลัวหรือ. [๒๗๘] ข้าแต่ท่านโกสิยดาบส ในที่นี้ ดิฉันไม่มีสหาย ดิฉันเป็นเทวดาชื่อว่า อาสา เกิดในดาวดึงส์พิภพ มายังสำนักของพระคุณเจ้า เพราะหวังจะ ขอสุธาโภชน์ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอได้โปรดแบ่ง สุธาโภชน์นั้นให้ดิฉันบ้าง. [๒๗๙] พ่อค้าทั้งหลายผู้แสวงหาทรัพย์ ย่อมขึ้นเรือแล่นไปในทะเลด้วยความหวัง พ่อค้าเหล่านั้น ย่อมจมลงในทะเลนั้น ในกาลบางครั้ง เขาสิ้นทรัพย์ ทั้งทรัพย์อันเป็นต้นทุนก็สูญหายแล้วกลับมา ชาวนาทั้งหลายย่อมไถนา ด้วยความหวัง หว่านพืชก็กระทำโดยแยบคาย เขาไม่ได้ประสบผล อะไรๆ จากข้าวกล้านั้น เพราะเพลี้ยลงบ้าง เพราะฝนแล้งบ้าง อนึ่ง นรชนทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข มุ่งหวังเป็นเบื้องหน้า ย่อมกระทำ การงานของตนเพื่อนาย นรชนเหล่านั้นอันศัตรูเบียดเบียนแล้ว ไม่ได้ ประโยชน์อะไรๆ ย่อมพากันหนีไปสู่ทิศทั้งหลายก็เพื่อประโยชน์แก่นาย สัตว์ทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข เป็นผู้ใคร่จะไปสวรรค์ ละทิ้งธัญชาติ ทรัพย์และหมู่ญาติแล้ว บำเพ็ญตบะอันเศร้าหมองอยู่ตลอดกาลนาน เดินทางผิด ย่อมไปสู่ทุคติเพราะความหวัง เพราะฉะนั้น ความหวัง เหล่านี้เขาสมมติว่า ทำให้เคลื่อนคลาดจากความจริง ดูกรนางอาสา ท่าน จงนำความหวังสุธาโภชน์ในตนออกเสียเถิด นางเทพกัญญาเช่นท่าน ย่อมไม่สมควรอาสนะและน้ำ ที่ไหนสุธาโภชน์จะสมควรเล่า เชิญไป เสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจท่าน. [๒๘๐] ท่านรุ่งเรืองด้วยยศ มียศ เขาเรียกโดยชื่ออันน่าเกลียด เป็นเจ้าทิศ ดูกรนางผู้มีร่างกายคล้ายทองคำ อาตมาขอถามท่าน ขอท่านจงบอก อาตมา ท่านเป็นเทวดาอะไร. [๒๘๑] ดิฉันชื่อว่า ศรัทธาเทวี ได้รับการบูชาในหมู่มนุษย์ เป็นผู้ไม่คบสัตว์ลามก ทุกเมื่อ มายังสำนักของพระคุณเจ้า เพราะวิวาทกันด้วยสุธาโภชน์ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอพระคุณเจ้า โปรดแบ่งสุธา- โภชน์นั้นให้ดิฉันบ้าง. [๒๘๒] ก็ในกาลบางคราว มนุษย์ทั้งหลายถือเอาทาน การให้บ้าง ทมะ การฝึกฝน บ้าง จาคะ การบริจาคบ้าง สัญญมะ ความสำรวมบ้าง แล้วกระทำด้วย ศรัทธา แต่มนุษย์พวกหนึ่งกระทำโจรกรรมบ้าง พูดเท็จบ้าง ล่อลวง บ้าง ส่อเสียดบ้าง ท่านอย่าประกอบต่อไป บุรุษผู้มีความเพ่งเล็งใน ภรรยาทั้งหลาย ผู้สม่ำเสมอกัน ผู้ประกอบด้วยศีล ผู้มีวัตรในการปฏิบัติ สามีดี ย่อมนำความพอใจในกุลสตรีออกเสีย กลับไปทำความเชื่อตาม คำของนางกุมภทาสี ดูกรนางศรัทธา ท่านนั่นแล เป็นผู้ให้ชายอื่นคบหา ภรรยาของผู้อื่น ท่านย่อมทำบาป ละทิ้งกุศล นางเทพกัญญาเช่นท่าน ย่อมไม่สมควรอาสนะและน้ำ ที่ไหนสุธาโภชน์จะสมควรแก่ท่านเล่า เชิญท่านไปเสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจท่าน. [๒๘๓] เมื่ออรุณขึ้นไปในที่สุดแห่งราตรี นางเทพธิดาใด เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งรูปอัน อุดมปรากฏอยู่ ดูกรเทวดา ท่านเปรียบเหมือนนางเทพธิดานั้น จะพูด กะอาตมาหรือ ขอท่านจงบอกกะอาตมา ท่านเป็นนางอัปสรอะไร ท่าน มีชื่อว่าอะไร ยืนอยู่ดังเถาวัลย์ดำในฤดูร้อน และดังเปลวไฟอันห้อม ล้อมด้วยใบไม้สีแดงถูกลมพัดดูงาม ฉะนั้น ท่านดูเหมือนจะพูด แต่มิได้ เปล่งถ้อยคำออกมา แลดูอยู่ดังนางเนื้อเขลา ฉะนั้น. [๒๘๔] ดิฉันชื่อว่าหิริเทวี ได้รับการบูชาในหมู่มนุษย์ ไม่เสพสัตว์ลามกทุกเมื่อ มา ยังสำนักของพระคุณเจ้า เพราะวิวาทกันด้วยสุธาโภชน์ ดิฉันนั้นไม่ อาจจะขอสุธาโภชน์กับพระคุณเจ้า เพราะการขอของหญิง ดูเหมือนจะ เป็นกิริยาที่น่าละอาย. [๒๘๕] ดูกรท่านผู้มีร่างกายอันงดงาม ท่านจักได้ตามอุบายที่ชอบ นี้เป็นธรรม ทีเดียว ท่านจะได้สุธาโภชน์เพราะการขอก็หาไม่ เพราะฉะนั้น อาตมา พึงเชื้อเชิญท่านผู้มิได้ขอสุธาโภชน์ใดๆ อาตมาจะให้สุธาโภชน์แม้ นั้นๆ แก่ท่าน ดูกรท่านผู้มีร่างกายอันงดงามคล้ายทองคำ วันนี้ อาตมา ขอเชิญท่านไปในอาศรมของอาตมา อาตมาจะบูชาท่านด้วยรสทุกอย่าง ครั้นบูชาแล้วจึงจักให้บริโภคสุธาโภชน์. [๒๘๖] นางหิริเทพธิดานั้น ผู้ไม่คบสัตว์ลามกในกาลทุกเมื่อ อันโกสิยดาบสผู้ มีความรุ่งเรืองอนุมัติแล้ว ได้เข้าไปสู่อาศรมอันน่ารื่นรมย์ สมบูรณ์ด้วย น้ำและผลไม้ อันท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้ว ณ ที่ใกล้อาศรมนั้น มี รุกขชาติเป็นอันมาก กำลังผลิดอกออกผล คือ มะม่วง มะหาด ขนุน ทองกวาว มะรุม อีกทั้งต้นโลท บัวบก การเกต จันทน์กระพ้อ หมาก หอมควาย กำลังออกดอกสะพรั่ง ในที่ใกล้อาศรมนั้นมากไปด้วยต้นไม้ ใหญ่ๆ คือ ต้นสาละ ต้นกุ่ม ต้นหว้า ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นมะทราง ไม้ยางทราย ราชพฤกษ์ แคฝอย ต้นจิก ต้นลำเจียก มีกิ่งก้านห้อยย้อย ลงมา กำลังส่งกลิ่นหอมน่ายวนใจ ถั่วแระ อ้อแรม ถั่วป่า ต้นมะพลับ ข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วเหลืองเมล็ดเล็ก กล้วยไม่มีเมล็ด ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ราชดัด ข้าวสารที่เกิดเองมีอยู่เป็นอันมากที่อาศรมนั้น มี สระโบกขรณีที่เกิดเอง งดงามไม่ขุ่น มีท่าราบเรียบ น้ำใสจืดสนิท ไม่ มีกลิ่นเหม็น อนึ่ง ในสระโบกขรณีนั้น มีปลาต่างๆ ชนิด คือ ปลาดุก ปลากระทุงเหว ปลากราย กุ้ง ปลาตะเพียน ปลาฉลาด ปลากา ว่ายอยู่คลาคล่ำในสระโปกขรณีอันมีขอบคัน เป็นปลาที่ปล่อย มีเหยื่อมากชนิด มีนกต่างๆ ชนิด คือ หงส์ นกกระเรียน นกยูง นกจากพราก นกออก นกดุเหว่าลาย นกเงือก นกโพระดก มีอยู่ มากมาย มีขนปีกอันวิจิตร พากันจับอยู่อย่างสบาย ปลอดภัย มีอาหาร มาก มีสัตว์และหมู่เนื้อนานาชนิดมากมาย คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง ช้าง หมี เสือปลา เสือดาว แรด โคลาน กระบือ ละมั่ง กวาง เนื้อทราย หมูป่า ระมาด หมูบ้าน กวางทอง แมว กระต่าย วัวกระทิง มีอยู่มาก พื้นดินหินเขา ดาดาษงามวิจิตรด้วยดอกไม้ ทั้งฝูงนกก็ส่ง เสียงร้องกึกก้อง เป็นที่อยู่อาศัยของหมู่ปักษี. [๒๘๗] นางหิริเทพธิดานั้น ผู้มีผิวพรรณงดงาม ทัดดอกไม้เขียวเดินเข้าไปยัง อาศรม ดังสายฟ้าแลบในก้อนเมฆใหญ่ โกสิยดาบสได้จัดตั่งอันมีพนัก ที่ถักไว้เรียบร้อย สำเร็จด้วยหญ้าคา สะอาด มีกลิ่นหอม ลาดด้วยหนัง ชะมด เพื่อนางหิริเทพธิดานั้น แล้วได้กล่าวว่า ดูกรนางงาม เชิญนั่ง ที่อาสนะนี้ตามสบายเถิด ในกาลนั้น เมื่อนางหิริเทพธิดานั่งบนตั่งแล้ว โกสิยมหามุนีผู้ทรงชฎาอันรุ่งเรือง ได้รีบนำสุธาโภชน์มาพร้อมกับน้ำ ด้วยใบบัวใหม่ๆ ด้วยตนเอง เพื่อจะให้พอความประสงค์ นางหิริเทพ ธิดามีความปลื้มใจ รับสุธาโภชน์ด้วยมือทั้งสอง แล้วได้กล่าวกะโกสิย- ดาบสผู้ทรงชฎาว่า ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ เอาละ ดิฉันเป็นผู้อันพระคุณ เจ้าบูชาแล้ว ได้ชัยชนะแล้ว จะพึงไปสู่ไตรทิพย์ในบัดนี้ นางหิริเทพธิดา นั้น เป็นผู้มัวเมาแล้ว ด้วยความเมาในผิวพรรณ อันโกสิยดาบสกล่าว อนุญาตแล้ว ได้กลับไปในสำนักของท้าวสหัสสนัยน์ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่ท้าววาสวะ นี่สุธาโภชน์ ขอพระองค์จงพระราชทานชัยชนะแก่ หม่อมฉัน แม้ท้าวสักกะก็ได้ทรงบูชานางหิริเทพธิดาในกาลนั้น เทวดา พร้อมด้วยพระอินทร์ ได้พากันบูชานางสุกัญญาผู้อุดม นางหิริเทพธิดา นั้นเข้าไปนั่งบนตั่งใหม่ ในกาลใด ในกาลนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ประคองอัญชลีบูชาแล้ว. [๒๘๘] ท้าวสหัสนัยน์ผู้เป็นจอมแห่งชาวไตรทศ ได้ตรัสกะมาตลีเทพสารถีนั้น ต่อไปว่า ท่านจงไปถามท่านโกสิยดาบสตามคำของเราว่า ข้าแต่ท่าน โกสิยะ เว้นนางอาสาเทพธิดา นางศรัทธาเทพธิดา และนางสิริเทพธิดา นางหิริเทพธิดาผู้เดียวได้สุธาโภชน์ เพราะเหตุอะไร. [๒๘๙] มาตลีเทพสารถี ขึ้นรถอันเลื่อนลอยไปตามสบาย รุ่งเรืองเช่นกับเครื่อง ใช้สอย มีงอนอันแล้วไปด้วยทองชมพูนุท มีสีแดงคล้ายทองคำ ประดับ ประดาแล้ว ประกอบไปด้วยเครื่องลาดทองคำงามวิจิตร ในรถนี้มีรูป ภาพมากมาย คือ รูปพระจันทร์ รูปช้าง รูปโค รูปม้า รูปกินนร รูป เสือโคร่ง รูปเสือเหลือง รูปเนื้อทราย ล้วนแล้วไปด้วยทองคำ และ มีรูปนกทั้งหลาย อันล้วนแล้วด้วยรัตนะต่าง ๆ ดุจกระโดดโลดเต้นอยู่ รูปเนื้อในรถนั้นจัดไว้เป็นหมู่ๆ ล้วนแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ เทพบุตรทั้ง หลายเทียมม้าอัศวราชมีสีเหลืองดังทองคำ ประมาณหมื่นตัว คล้ายดัง ช้างหนุ่มมีกำลังประดับประดาแล้ว มีเครื่องทับทรวงด้วยข่ายทองคำ มีภู่ ห้อยหู ไปโดยเสียงปกติไม่ขัดข้อง มาตลีเทพสารถีขึ้นสู่ยานอัน ประเสริฐนั้นแล้ว บันลือแล้วตลอดสิบทิศนี้ ยังท้องฟ้า ภูเขา และต้นไม้ ใหญ่อันเป็นเจ้าไพร พร้อมทั้งสาคร ตลอดทั้งเมทนีดล ให้หวั่นไหว มาตลีเทพสารถีนั้น รีบเข้าไปในอาศรมอย่างนี้แล้ว กระทำผ้าทิพ ประพารเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว กล่าวกะท่านโกสิยดาบส ผู้เป็นพหูสูต ผู้เจริญ มีวัตรอันแนะนำดีแล้ว ผู้เป็นพราหมณ์ ผู้ประเสริฐว่า ข้าแต่ ท่านโกสิยดาบส เชิญท่านฟังพระดำรัสของพระอินทร์ ข้าพเจ้าเป็นทูต ท้าวปุรินททะตรัสถามท่านว่า ข้าแต่ท่านโกสิยดาบส เว้นนางอาสา เทพธิดา นางศรัทธาเทพธิดา และนางสิริเทพธิดา นางหิริเทพธิดาผู้เดียว ได้สุธาโภชน์ เพราะเหตุอะไร. [๒๙๐] ดูกรมาตลีเทพสารถี นางสิริเทพธิดาตอบอาตมาว่า "แน่" ส่วนนาง ศรัทธาเทพธิดาตอบอาตมาว่า "ไม่เที่ยง" นางอาสา อาตมาเข้าใจว่า เป็นผู้กล่าวเคลื่อนคลาดจากความจริง ส่วนนางหิริเทพธิดาตั้งอยู่ในคุณ อันประเสริฐ. [๒๙๑] นางกุมารีก็ดี หญิงที่สกุลรักษาแล้วก็ดี หญิงหม้ายก็ดี หญิงมีสามีก็ดี รู้ฉันทราคะ ที่เกิดแรงกล้าในบุรุษทั้งหลายแล้ว ห้ามกันจิตของตนได้ ด้วยหิริ เปรียบเหมือนบรรดาพวกนักรบผู้แพ้ในสนามรบ ที่ต่อสู้กันด้วย ลูกศรและหอกแล้วล้มลงและกำลังหนีไป นักรบเหล่าใดยอมสละชีวิต กลับมาได้ด้วยหิริ นักรบเหล่านั้นเป็นคนละอายใจ ย่อมมารับนายอีก ฉะนั้น นางหิริเทพธิดานี้ เป็นผู้ห้ามนรชนเสียจากบาป เปรียบเหมือน ทำนบเป็นที่กั้นกระแสน้ำเชี่ยวไว้ได้ ฉะนั้น ดูกรเทพสารถี เพราะ เหตุนั้น ท่านจงกราบทูลแด่พระอินทร์ว่า นางหิริเทพธิดานั้น อันท่าน ผู้ประเสริฐบูชาแล้วในโลกทั้งปวง. [๒๙๒] ข้าแต่ท่านโกสิยดาบสผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ท้าวมหาพรหม ท้าว มหินทร์ หรือท้าวปชาบดี ใครเล่าเข้าใจความเห็นนี้ของพระคุณเจ้า นางหิริเทพธิดานี้เป็นธิดาของท้าวมหินทร์ ได้รับยกย่องว่า เป็นผู้ ประเสริฐสุดแม้ในเทวดาทั้งหลาย. [๒๙๓] ขอเชิญพระคุณเจ้ามาขึ้นรถอันเป็นของข้าพเจ้านี้ ไปสู่ไตรทิพย์ ในกาล บัดนี้เถิด ข้าแต่ท่านผู้มีโคตรเสมอด้วยพระอินทร์ ทั้งพระอินทร์ก็ทรง หวังพระคุณเจ้าอยู่ ขอพระคุณเจ้าจงถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์ ในวันนี้เถิด. [๒๙๔] สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่กระทำบาปกรรม ย่อมหมดจดได้ด้วยอาการอย่างนี้ อนึ่ง ผลของกรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมไม่เสื่อมสูญสัตว์เหล่าใด เหล่าหนึ่งได้เห็นสุธาโภชน์แล้ว สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดทีเดียว ถึงความ เป็นสหายกับพระอินทร์. [๒๙๕] นางหิริเทพธิดาเป็นนางอุบลวรรณา โกสิยดาบสเป็นภิกษุเจ้าของทาน ปัญจสิขเทพบุตรเป็นพระอนุรุทธ มาตลีเทพสารถีเป็นพระอานนท์ สุริยเทพบุตรเป็นพระกัสสป จันทเทพบุตรเป็นพระโมคคัลลานะ นารท- ดาบสเป็นพระสารีบุตร ท้าววาสวะเป็นพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนี้แล.จบ สุธาโภชนชาดกที่ ๓. เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ บรรทัดที่ ๑๕๙๘-๑๘๙๖ หน้าที่ ๖๓-๗๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=28&A=1598&Z=1896&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=28&A=1598&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=28&siri=10 ศึกษาอรรถกถาชาดกได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=249 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=28&A=1808 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=5778 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=28&A=1808 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=5778 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_28 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja535/en/francis
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]