ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
๕. มหาสุตโสมชาดก
ว่าด้วยพระเจ้าสุตโสมทรงทรมานพระยาโปริสาท
[๓๑๕] ดูกรพ่อครัว เพราะเหตุไรจึงทำกรรมอันร้ายกาจเช่นนี้ ท่านเป็นคนหลง ฆ่าหญิงและชายทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งเนื้อ หรือเพราะเหตุแห่งทรัพย์. [๓๑๖] ข้าแต่ท่านผู้เจริญ มิใช่เพราะเหตุแห่งตน ทรัพย์ ลูกเมียสหายและ ญาติ แต่พระจอมภูมิบาลผู้เป็นนายข้าพเจ้าพระองค์เสวยมังสะเช่นนี้. [๓๑๗] ถ้าท่านขวนขวายในกิจของเจ้านาย ทำกรรมอันร้ายกาจเช่นนี้เวลาเช้าท่าน เข้าไปถึงภายในพระราชวังแล้ว พึงแถลงเหตุนั้นแก่เราเฉพาะพระพักตร์ พระราชา. [๓๑๘] ข้าแต่ท่านกาฬหัตถี ข้าพเจ้าจักกระทำตามที่ท่านสั่ง เวลาเช้าข้าพเจ้าเข้า ไปถึงภายในพระราชวังแล้ว จะแถลงเหตุนั้นแก่ท่านเฉพาะพระพักตร์ พระราชา. [๓๑๙] ครั้นราตรีสว่างแล้ว พระอาทิตย์อุทัย กาฬหัตถีเสนาบดีได้พาคนทำเครื่อง ต้นเข้าเฝ้าพระราชาแล้ว ได้ทูลถามว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ได้ทราบด้วย เกล้าว่า พระองค์ทรงใช้พนักงานวิเสทให้ฆ่าหญิงและชาย พระองค์เสวย เนื้อมนุษย์เป็นความจริงหรือพระเจ้าข้า. [๓๒๐] จริงอย่างนั้นแหละ ท่านกาฬหัตถี เราใช้พนักงานวิเสท เมื่อเขาทำกิจเพื่อ เรา ท่านบริภาษเขาทำไม. [๓๒๑] ปลาอานนท์ผู้ติดอยู่ในรสของปลาทุกชนิด กินปลาจนหมดเมื่อบริษัท หมดไป กินตัวเองตาย พระองค์เป็นผู้ประมาทแล้วยินดีหนักในรส ถ้า ยังเป็นพาลไม่ทรงรู้สึกต่อไป จำจะต้องละทิ้งพระโอรส พระมเหสี และ พระประยูรญาติ กับเสวยพระองค์เอง เหมือนปลาอานนท์ฉะนั้น เพราะ ได้ทรงสดับเรื่องนี้ ขอความพอพระทัยของพระองค์จงคลายไป ข้าแต่พระ ราชาผู้เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ อย่าได้โปรดเสวยเนื้อมนุษย์เลย อย่าได้ทรง ทำแว่นแคว้นนี้ให้ว่างเปล่าเหมือนปลาฉะนั้นเลย. [๓๒๒] กุฎุมพีนามว่าสุชาติ โอรสผู้เกิดแต่ตนของเขาไม่ได้ชิ้นชมพู่ เขา ตายเพราะชิ้นชมพู่สิ้นไปฉันใด ดูกรท่านกาฬหัตถี เราก็ฉันนั้น ได้ บริโภคอาหารอันมีรสสูงสุดแล้ว ไม่ได้เนื้อมนุษย์ เห็นจักต้องละชีวิต ไปเป็นแน่. [๓๒๓] ดูกรมาณพ เจ้าเป็นผู้มีรูปงาม เกิดในตระกูลพราหมณ์โสตถิยะ เจ้า ไม่ควรกินสิ่งที่ไม่ควรกินนะพ่อ. [๓๒๔] บรรดารสทั้งหลาย ปาณะนี้ก็เป็นรสอย่างหนึ่ง เพราะเหตุไร คุณพ่อ จึงห้ามผม ผมจักไปในสถานที่ที่ผมจักได้รสเช่นนี้ ผมจักออกไป จัก ไม่อยู่ในสำนักของคุณพ่อ เพราะผมเป็นผู้ที่คุณพ่อไม่ยินดีจะเห็นหน้า. [๓๒๕] ดูกรมาณพ ข้าจักได้บุตรที่เป็นทายาทแม้เหล่าอื่นเป็นแน่ แน่ะเจ้าคน ต่ำทรามเจ้าจงพินาศ เจ้าจงไปเสียในสถานที่ที่ข้าจะไม่พึงได้ยิน. [๓๒๖] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์ก็เหมือนกัน ขอเชิญสดับ ถ้อยคำของข้าพระองค์ เขาจักเนรเทศพระองค์เสียจากแว่นแคว้นเหมือน อย่างมาณพนักดื่มสุราฉะนั้น. [๓๒๗] สาวกของพวกฤาษีผู้มีตนอันอบรมแล้ว นามว่าสุชาติ เขาปรารถนานาง อัปสรจนไม่กินไม่ดื่มกามของมนุษย์ในสำนักกามอันเป็นทิพย์ เท่ากับ เอาปลายหญ้าคาจุ่มน้ำมาเทียบกับน้ำในมหาสมุทร ดูกรท่านกาฬหัตถี เราได้บริโภคของกินที่มีรสอย่างสูงสุดแล้ว ไม่ได้เนื้อมนุษย์ เห็นจัก ต้องละทิ้งชีวิตไปฉะนั้น. [๓๒๘] เปรียบเหมือนพวกหงส์ธตรฐสัญจรไปทางอากาศ ถึงความตายทั้งหมด เพราะบริโภคอาหารที่ไม่ควร ฉันใด ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์ก็ฉันนั้นแลโปรดทรงสดับถ้อยคำของข้าพระองค์ พระองค์เสวย มังสะที่ไม่ควร เหตุนั้นเขาจักเนรเทศพระองค์. [๓๒๙] ท่านอันเราห้ามว่าจงหยุด ก็เดินไม่เหลียวหลัง ดูกรท่านผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ ท่านไม่ได้หยุด แต่กล่าวว่าหยุด ดูกรสมณะ นี้ควรแก่ท่าน หรือ ท่านสำคัญดาบของเราว่าเป็นขนปีกนกตะกรุมหรือ. [๓๓๐] ดูกรพระราชา อาตมาเป็นผู้หยุดแล้วในธรรมของตน ไม่ได้เปลี่ยนนาม และโคตร ส่วนโจรบัณฑิตกล่าวว่าไม่หยุดในโลกเคลื่อนจากโลกนี้แล้ว ต้องเกิดในอบายหรือนรก ดูกรพระราชาถ้ามหาบพิตรทรงเชื่ออาตมา มหาบพิตรจงจับพระเจ้าสุตโสมผู้เป็นกษัตริย์ มหาบพิตรทรงบูชายัญด้วย พระเจ้าสุตโสมนั้นจักเสด็จไปสวรรค์ ด้วยประการอย่างนี้. [๓๓๑] ชาติภูมิของท่านอยู่ถึงในแคว้นไหน ท่านมาถึงในพระนครนี้ด้วย ประโยชน์อะไร ดูกรท่านพราหมณ์ ขอท่านจงบอกประโยชน์นั้นแก่ ข้าพเจ้า ท่านปรารถนาอะไร ข้าพเจ้าจะให้ตามที่ท่านปรารถนาในวันนี้. [๓๓๒] ข้าแต่พระจอมธรณี คาถา ๔ คาถา มีอรรถอันลึกประเสริฐนัก เปรียบ ด้วยสาคร หม่อมฉันมาในพระนครนี้เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ ขอ พระองค์โปรดทรงสดับคาถาอันประกอบด้วยประโยชน์อย่างเยี่ยมเถิด. [๓๓๓] ชนเหล่าใดมีความรู้ มีปัญญา เป็นพหูสูต คิดเหตุการณ์ได้มาก ชนเหล่า นั้นย่อมไม่ร้องไห้ การที่บัณฑิตทั้งหลายเป็นผู้บรรเทาความเศร้าโศกผู้อื่น ได้นี่แหละ เป็นที่พึ่งอย่างยอดเยี่ยมของนรชน ดูกรท่านสุตโสมพระองค์ ทรงเศร้าโศกถึงอะไร พระองค์เอง พระประยูรญาติ พระโอรส พระ มเหสี ข้าวเปลือก ทรัพย์ หรือเงินทอง ดูกรท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐ สุด หม่อมฉันขอฟังพระดำรัสของพระองค์. [๓๓๔] หม่อมฉันมิได้เศร้าโศกถึงตน โอรส มเหสี ทรัพย์และแว่นแคว้น แต่ธรรมของสัตบุรุษที่ประพฤติมาแต่เก่าก่อน หม่อมฉันผัดเพี้ยนไว้ต่อ พราหมณ์ หม่อมฉันเศร้าโศกถึงการผัดเพี้ยนนั้น หม่อมฉันดำรงอยู่ใน ความเป็นใหญ่ในแว่นแคว้นของตน ได้ทำการผัดเพี้ยนไว้กับพราหมณ์ (ถ้าพระองค์ทรงปล่อยหม่อมฉันไป หม่อมฉันได้ฟังธรรมนั้นแล้ว) จัก เป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมา. [๓๓๕] คนมีความสุขหลุดพ้นจากปากของมฤตยูแล้ว จะพึงกลับมาสู่เงื้อมมือ ของศัตรูอีก ข้อนี้หม่อมฉันยังไม่เชื่อ ดูกรท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐสุด พระองค์จะไม่เสด็จเข้าใกล้หม่อมฉันละซิ พระองค์ทรงพ้นจากเงื้อมมือ ของโปริสาท เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์แล้ว จะมัวทรง เพลิดเพลินกามคุณารมณ์ ทรงได้พระชนมชีพอันเป็นที่รักแสนหวาน ที่ไหนจักเสด็จกลับมายังสำนักของหม่อมฉันเล่า. [๓๓๖] ผู้มีศีลบริสุทธิ์พึงปรารถนาความตาย ผู้มีธรรมลามกที่นักปราชญ์ติเตียน ไม่พึงปรารถนาชีวิต นรชนใดพึงกล่าวเท็จ เพราะเหตุเพื่อประโยชน์แก่ ตนใด เหตุเพื่อประโยชน์แก่ตนนั้น ย่อมไม่รักษานรชนนั้นจากทุคติได้ เลย ถ้าแม้ลมจะพึงพัดเอาภูเขามาได้ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์จะพึง ตกลงมา ณ แผ่นดินได้ และแม่น้ำทุกสายจะพึงไหลทวนกระแสได้ ถึงอย่างนั้น หม่อมฉันก็ไม่พึงพูดเท็จเลยพระราชา. [๓๓๗] ฟ้าพึงแตกได้ ทะเลพึงแห้งได้ แผ่นดินอันทรงไว้ซึ่งภูติพึงพลิกได้ เมรุ บรรพตจะพึงเพิกถอนได้พร้อมทั้งราก ถึงอย่างนั้น หม่อมฉันก็จะไม่ กล่าวเท็จเลย. [๓๓๘] ดูกรพระสหาย หม่อมฉันจะจับดาบและหอกจะทำแม้การสาบานแก่ พระองค์ก็ได้ หม่อมฉันอันพระองค์ทรงปล่อยแล้วเป็นผู้ใช้หนี้หมดแล้ว จักเป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมา. [๓๓๙] การผัดเพี้ยนอันใด อันพระองค์ทรงดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแว่น- แคว้นของพระองค์ ทรงทำไว้กับพราหมณ์ การผัดเพี้ยนนั้นต่อพราหมณ์ ผู้ประเสริฐ พระองค์จงทรงรักษาความสัตย์เสด็จกลับมา. [๓๔๐] การผัดเพี้ยนอันใด อันหม่อมฉันผู้ดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแว่น- แคว้นของตน ได้ทำไว้กับพราหมณ์ การผัดเพี้ยนนั้นต่อพราหมณ์ผู้ ประเสริฐ หม่อมฉันจักรักษาความสัตย์กลับมา [๓๔๑] ก็พระเจ้าสุตโสมนั้น ทรงพ้นจากเงื้อมมือของเจ้าโปริสาทแล้ว ได้เสด็จ ไปตรัสกะพราหมณ์นั้นว่า ดูกรท่านพราหมณ์ข้าพเจ้าขอฟังสตารหาคาถา ซึ่งได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ข้าพเจ้า. [๓๔๒] ข้าแต่ท่านสุตโสม การสมาคมกับสัตบุรุษคราวเดียวเท่านั้น การสมาคมนั้น ย่อมรักษาผู้นั้นไว้ การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้มากครั้งก็รักษาไม่ได้ พึง อยู่ร่วมกับสัตบุรุษ พึงกระทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะรู้ ทั่วถึงสัทธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อม ราชรถ อันวิจิตรตระการตายังคร่ำคร่าได้ และแม้สรีระก็เข้าถึงชราโดยแท้ ส่วน ธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้น รู้กันได้ ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝั่งข้างโน้นของมหาสมุทรเขากล่าวกัน ว่าไกล ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษ นัก ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่าไกลยิ่งกว่านั้น. [๓๔๓] คาถาเหล่านี้ชื่อสาหัสสิยา ควรพัน มิใช่ชื่อสตารหา ควรร้อย ดูกร พราหมณ์ เชิญท่านรีบมารับเอาทรัพย์สี่พันเถิด. [๓๔๔] คาถาควรแปดสิบและควรเก้าสิบ แม้ควรร้อยก็มี ดูกรพ่อสุตโสม พ่อ จงรู้ด้วยตนเอง คาถาชื่อสาหัสสิยา ควรพันมีที่ไหน. [๓๔๕] หม่อมฉันปรารถนาความเจริญทางศึกษาของตน สัตบุรุษทั้งหลายผู้สงบ พึงคบหาหม่อมฉัน ข้าแต่ทูลกระหม่อม หม่อมฉันไม่อิ่มด้วยสุภาษิต เหมือนดังมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยแม่น้ำฉะนั้น ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ สุด ไฟไหม้หญ้าและไม้ย่อมไม่อิ่ม และสาครก็ไม่อิ่มด้วยแม่น้ำทั้งหลาย ฉันใด แม้บัณฑิตเหล่านั้นก็ฉันนั้น ได้ฟังคำสุภาษิตแล้ว ย่อมไม่อิ่ม ด้วยสุภาษิต ข้าแต่พระทูลกระหม่อมจอมประชาชน เมื่อใดหม่อมฉัน ฟังคาถาที่มีประโยชน์ต่อทาสของตน เมื่อนั้น หม่อมฉันย่อมตั้งใจฟัง คาถานั้นโดยเคารพ ข้าแต่พระทูลกระหม่อม หม่อมฉันไม่มีความอิ่ม ในธรรมเลย. [๓๔๖] รัฐมณฑลของทูลกระหม่อมนี้ บริบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง พร้อมทั้งทรัพย์ ยวดยาน และพระธำมรงค์ ทูลกระหม่อม ทรงบริภาษ หม่อมฉัน เพราะเหตุแห่งกามทำไม หม่อมฉันขอทูลลาไปในสำนัก โปริสาท ณ บัดนี้. [๓๔๗] กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ และกองราบ ล้วนแต่เชี่ยวชาญ การธนูพอที่จะรักษาตัวได้ เราจะยกทัพไปจับศัตรูฆ่าเสีย. [๓๔๘] โปริสาทได้ทำกิจที่ทำได้แสนยาก จับหม่อมฉันได้ทั้งเป็นแล้วปล่อยมา หม่อมฉันระลึกถึงบุรพกิจเช่นนั้นอยู่ ข้าแต่พระทูลกระหม่อมจอม ประชาชน หม่อมฉันจะประทุษร้ายต่อโปริสาทนั้นได้อย่างไร. [๓๔๙] พระเจ้าสุตโสมถวายบังคมพระราชบิดา และพระราชมารดา ทรงอนุศาสน์ พร่ำสอนชาวนิคมและพลนิกรแล้ว เป็นผู้ตรัสคำสัตย์ ทรงรักษาความสัตย์ ได้เสด็จไปในสำนักของโปริสาท [๓๕๐] หม่อมฉันผู้ดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแว่นแคว้นของตนได้ทำการผลัด เพี้ยนไว้กับพราหมณ์ การผัดเพี้ยนนั้นต่อพราหมณ์ผู้ประเสริฐ หม่อมฉัน เป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมาแล้ว ดูกรท่านโปริสาท เชิญท่านบูชายัญ กินเราเถิด. [๓๕๑] การกินของหม่อมฉันย่อมไม่หายไปในภายหลัง จิตกาธารนี้ก็ยังมีควันอยู่ เนื้อที่สุกบนถ่านอันไม่มีควัน ชื่อว่าสุกดีแล้ว หม่อมฉันจะขอฟัง สตารหาคาถาเสียก่อน. [๓๕๒] ดูกรท่านโปริสาท พระองค์เป็นผู้ทรงประพฤติไม่ชอบธรรม ต้องพลัดพราก จากรัฐมณฑลเพราะเหตุแห่งท้อง ส่วนคาถานี้ย่อมกล่าวสรรเสริญธรรม ธรรมและอธรรมจะลงรอยกันได้ที่ไหน คนผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม หยาบช้า มีฝ่ามือชุ่มด้วยเลือดเป็นนิตย์ ย่อมไม่มีสัจจะ ธรรมจักมีแต่ ที่ไหน พระองค์จักทรงทำประโยชน์อะไรด้วยการสดับเล่า. [๓๕๓] ผู้ใดเที่ยวล่าเนื้อเพราะเหตุแห่งมังสะ หรือผู้ใดฆ่าคนเพราะเหตุแห่งตน แม้คนทั้งสองนั้นย่อมเสมอกันในโลกเบื้องหน้า เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงประณามเฉพาะหม่อมฉันว่า ประพฤติไม่ชอบธรรม. [๓๕๔] เนื้อสัตว์ ๑๐ ชนิด อันกษัตริย์ผู้รู้ขัตติยธรรมไม่ควรเสวย ดูกรพระราชา พระองค์เสวยเนื้อมนุษย์ซึ่งเป็นเนื้อที่ไม่ควรเสวย เพราะฉะนั้น พระองค์ จึงชื่อว่าประพฤติไม่ชอบธรรม. [๓๕๕] พระองค์พ้นจากเงื้อมมือของโปริสาท เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของ พระองค์แล้ว ทรงเพลิดเพลินในกามคุณารมณ์ยังเสด็จกลับมาสู่เงื้อมมือ ของหม่อมฉันผู้เป็นศัตรูอีก พระองค์เป็นผู้ไม่ฉลาดในขัตติยธรรมเลยนะ พระราชา. [๓๕๖] ชนเหล่าใดเป็นผู้ฉลาดในขัตติยธรรม ชนเหล่านั้นต้องตกนรกโดยมาก เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงละขัตติยธรรมเป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมา ดูกรท่านโปริสาท เชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด. [๓๕๗] ปราสาทราชมณเฑียร แผ่นดิน โค ม้า หญิงที่น่ารักใคร่ ผ้าแคว้นกาสี และแก่นจันทน์ พระองค์ทรงได้ทุกสิ่งทุกอย่างในพระนครนั้น เพราะ พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงเห็นอานิสงส์อะไรด้วยความสัตย์. [๓๕๘] รสเหล่าใดมีอยู่ในแผ่นดิน สัจจะเป็นรสที่ยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่ารส เหล่านั้น เพราะว่าสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในสัจจะย่อมข้ามพ้นฝั่งแห่งชาติ และมรณะได้. [๓๕๙] พระองค์พ้นจากเงื้อมมือของโปริสาท เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของ พระองค์แล้ว ทรงเพลิดเพลินในกามคุณารมณ์ ยังเสด็จกลับมาสู่เงื้อมมือ ของหม่อมฉันผู้เป็นศัตรูอีก ข้าแต่พระจอมประชาชน พระองค์ไม่ทรงกลัว ความตายแน่ละหรือ พระองค์ผู้ตรัสคำสัตย์ไม่มีพระทัยท้อแท้ละหรือ. [๓๖๐] หม่อมฉันได้ทำกัลยาณธรรมหลายอย่าง ได้บูชายัญอันไพบูลย์ที่บัณฑิต สรรเสริญ ได้ชำระทางปรโลกบริสุทธิ์แล้ว ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่า จะกลัวตาย หม่อมฉันได้ทำกัลยาณธรรมหลายอย่าง ได้บูชายัญอันไพบูลย์ ที่บัณฑิตสรรเสริญ หม่อมฉันไม่เดือดร้อนที่จักไปยังปรโลก ดูกรท่าน โปริสาท เชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันได้บำรุง พระชนกและพระชนนีแล้ว ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรมได้ชำระทาง ปรโลกบริสุทธิ์แล้ว ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะกลัวตาย หม่อมฉันได้ บำรุงพระชนกและพระชนนีแล้ว ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม จึงไม่ เดือดร้อนที่จักไปยังปรโลก ดูกรท่านโปริสาท เชิญพระองค์บูชายัญ เสวยหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันได้กระทำอุปการกิจในพระประยูรญาติและ มิตร แล้วได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม ได้ชำระทางปรโลกบริสุทธิ์ แล้ว ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะกลัวตาย หม่อมฉันกระทำอุปการกิจ ในพระประยูรญาติและมิตรแล้ว ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม จึงไม่ เดือดร้อนที่จักไปยังปรโลก ดูกรท่านโปริสาท เชิญพระองค์บูชายัญ เสวยหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันได้ให้ทานโดยอาการเป็นมาก แก่ชนเป็น อันมาก ได้อุปถัมภ์สมณพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญ ได้ชำระทางปรโลก ให้บริสุทธิ์ ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะกลัวตาย หม่อมฉันได้ให้ ทานโดยอาการเป็นอันมาก แก่ชนเป็นอันมาก ได้อุปถัมภ์สมณพราหมณ์ ให้อิ่มหนำสำราญจึงไม่เดือดร้อนที่จักไปยังปรโลก ดูกรโปริสาท เชิญ พระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด. [๓๖๑] บุรุษรู้อยู่จะพึงกินยาพิษ หรือจับอสรพิษที่มีฤทธิ์ร้ายแรงมีเดชกล้าได้หรือ ผู้ใดพึงกินคน ผู้กล่าวคำสัตย์เช่นพระองค์ ศีรษะของผู้นั้นพึง แตก ๗ เสี่ยง. [๓๖๒] นรชนได้ฟังธรรมแล้ว ย่อมรู้แจ้งบุญและบาป ใจของหม่อมฉันจะยินดี ในธรรม เพราะได้ฟังคาถาบ้างกระมัง. [๓๖๓] ดูกรมหาราช การสมาคมกับสัตบุรุษแม้คราวเดียวเท่านั้น การสมาคมนั้น ย่อมรักษาผู้นั้นไว้ การสมาคมกับอสัตบุรุษ แม้มากครั้ง ก็รักษาไม่ได้ พึงอยู่ร่วมกับสัตบุรุษ พึงกระทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะรู้ทั่วถึง สัทธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อม ราชรถ อันวิจิตรตระการตายังคร่ำคร่าได้ และแม้สรีระก็เข้าถึงชราโดยแท้ ส่วน ธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า สัตบุรุษเท่านั้นย่อมรู้กันได้ ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝั่งข้างโน้นของมหาสมุทร เขาก็กล่าวกันว่า ไกลกัน ธรรมของสัตบุรุษ และธรรมของอสัตบุรุษ นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวว่าไกลกันยิ่งกว่านั้น. [๓๖๔] ดูกรพระสหายผู้จอมประชาชน คาถาเหล่านี้มีอรรถมีพยัญชนะดี พระองค์ ตรัสไพเราะ หม่อมฉันได้สดับแล้ว เพลิดเพลิน ปลื้มใจ ชื่นใจ อิ่มใจ หม่อมฉันขอถวายพร ๔ ประการแก่พระองค์. [๓๖๕] ดูกรท่านผู้มีธรรมอันลามก พระองค์ไม่รู้สึกความตายของพระองค์ ไม่รู้สึก ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ นรกและสวรรค์ เป็นผู้ติดในรส ตั้งมั่น ในทุจริต จะให้พรอะไร หม่อมฉันพึงทูลพระองค์ว่า ขอให้ทรงประทาน พร แม้พระองค์ประทานแล้ว จะกลับไม่ประทานก็ได้ ความทะเลาะ วิวาทนี้ อันพระองค์จะพึงเห็นเอง ใครจะเข้ามาเป็นบัณฑิตวินิจฉัย ความทะเลาะวิวาทนี้. [๓๖๖] คนเราให้พรใดแล้วจะกลับไม่ให้ ย่อมไม่ควรให้พรนั้น ดูกรพระสหาย ขอพระองค์จงทรงมั่นพระทัยรับพรเถิด แม้ชีวิตหม่อมฉันก็จะสละ ถวายได้. [๓๖๗] ศักดิ์ของพระอริยะ ย่อมเสมอกับศักดิ์พระอริยะ ศักดิ์ของผู้มีปัญญา ย่อมเสมอกับศักดิ์ผู้มีปัญญา หม่อมฉันพึงเห็นพระองค์เป็นผู้หาโรคมิได้ ตลอด ๑๐๐ ปี นี้เป็นพรข้อที่ ๑ หม่อมฉันปรารถนา. [๓๖๘] ศักดิ์ของพระอริยะ ย่อมเสมอกับศักดิ์พระอริยะ ศักดิ์ของผู้มีปัญญา ย่อมเสมอกับศักดิ์ผู้มีปัญญา พระองค์พึงเห็นหม่อมฉันผู้หาโรคมิได้ ตลอด ๑๐๐ ปี นี้เป็นพรที่ ๑ หม่อมฉันขอถวาย. [๓๖๙] พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ได้นามบัญญัติว่ามูรธาภิสิต เหล่าใด ใน ชมพูทวีปนี้ พระองค์อย่าได้เสวยพระเจ้าแผ่นดินเหล่านั้น นี้เป็นพร ข้อที่ ๒ หม่อมฉันปรารถนา. [๓๗๐] พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ได้นามบัญญัติว่ามูรธาภิสิต เหล่าใด ใน ชมพูทวีปนี้ หม่อมฉันจะไม่กินพระเจ้าแผ่นดินเหล่านั้น นี้เป็นพร ข้อที่ ๒ หม่อมฉันขอถวาย. [๓๗๑] กษัตริย์ร้อยเอ็ดพระองค์ ที่พระองค์ทรงจับร้อยพระหัตถ์ไว้ ทรงกรรแสง พระพักตร์ชุ่มด้วยพระอัสสุชล ขอพระองค์ได้ทรงโปรดปล่อยกษัตริย์ เหล่านั้น ให้กลับไปในแคว้นของตนๆ นี้เป็นพรข้อที่ ๓ หม่อมฉัน ปรารถนา. [๓๗๒] กษัตริย์ร้อยเอ็ดพระองค์ ที่หม่อมฉันจับร้อยพระหัตถ์ไว้ ทรงกรรแสง พระพักตร์ชุ่มด้วยอัสสุชล หม่อมฉันจะปล่อยกษัตริย์เหล่านั้น ให้กลับ ไปยังแว่นแคว้นของตนๆ นี้เป็นพรข้อที่ ๓ หม่อมฉันขอถวาย. [๓๗๓] รัฐมณฑลของพระองค์เป็นช่อง เพราะนรชนเป็นอันมาก หวาดเสียว เพราะความกลัว หนีเข้าหาที่ซ่อนเร้น ขอพระองค์โปรดทรงงดเว้นเนื้อ มนุษย์เถิดพระราชา นี้เป็นพรข้อที่ ๔ หม่อมฉันปรารถนา. [๓๗๔] นั่นเป็นอาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมานานแล้ว หม่อมฉันเข้าป่าก็ เพราะเหตุแห่งอาหารนี้ หม่อมฉันจะพึงงดอาหารนี้ได้อย่างไร ขอ พระองค์ทรงเลือกพรข้อที่ ๔ อย่างอื่นเถิด. [๓๗๕] ดูกรพระจอมประชาชน คนเช่นพระองค์มัวพะวงอยู่ว่า นี้เป็นที่รักของ เรา ทำตนให้เหินห่างจากความดี ย่อมไม่ได้ประสบสิ่งที่รักทั้งหลาย ตนแลประเสริฐที่สุด ประเสริฐอย่างยอดเยี่ยม ด้วยว่าผู้มีตนอันอบรม แล้วจะพึงได้สิ่งที่รักในภายหลัง. [๓๗๖] เนื้อมนุษย์เป็นที่รักของหม่อมฉัน ดูกรพระเจ้าสุตโสม โปรดทรงทราบ อย่างนี้ หม่อมฉันไม่สามารถจะงดเว้นได้ เชิญพระองค์ทรงเลือกพร อย่างอื่นเถิดพระสหาย. [๓๗๗] ผู้ใดแล มัวรักษาของรักว่า นี่เป็นของรักของเรา ทำตนให้เหินห่าง จากความดี เสพของรักทั้งหลายอยู่ เหมือนนักเลงสุราดื่มสุราเจือยาพิษ ฉะนั้น ผู้นั้นย่อมได้รับทุกข์ในโลกหน้า เพราะกรรมอันลามกนั้น ส่วน ผู้ใดในโลกนี้ พิจารณาแล้วละของรักได้ เสพอริยธรรมทั้งหลายแม้ ด้วยความยาก เหมือนคนเป็นไข้ดื่มยา ฉะนั้น ผู้นั้นย่อมได้รับความสุข ในโลกหน้า เพราะกัลยาณกรรมนั้น. [๓๗๘] หม่อมฉันสู้ละทิ้งพระชนกและพระผู้ชนนี ตลอดทั้งเบญจกามคุณที่น่า เพลิดเพลินเจริญใจ เข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งเนื้อมนุษย์ หม่อมฉันจะ ถวายพรข้อนั้นแก่พระองค์ได้อย่างไร. [๓๗๙] บัณฑิตทั้งหลายไม่กล่าววาจาเป็นสอง สัตบุรุษทั้งหลายย่อมมีปฏิภาณ เป็นสัตย์โดยแท้ พระองค์ได้ตรัสกะหม่อมฉันว่า เชิญรับพรเถิดพระ สหาย พระองค์ได้ตรัสไว้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระดำรัสที่พระองค์ตรัส ย่อมไม่สมกัน. [๓๘๐] หม่อมฉันเข้าถึงการได้บาป ความเสื่อมยศ เสื่อมเกียรติ บาป ทุจริต ความเศร้าหมองเป็นอันมาก เพราะเนื้อมนุษย์เป็นเหตุ หม่อมฉันจะพึง ถวายพรนั้นแก่พระองค์ได้อย่างไร. [๓๘๑] คนเราให้พรใดแล้ว จะกลับไม่ให้ ย่อมไม่ควรให้พรนั้น ดูกรพระสหาย ขอพระองค์ทรงมั่นพระทัยรับพรเถิด แม้ชีวิตของหม่อมฉันก็ยอมสละ ถวายได้. [๓๘๒] การสละชีวิตได้นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษ สัตบุรุษทั้งหลายย่อมมีปฏิญาณ เป็นสัจจะโดยแท้ พรที่พระองค์ได้ประทานไว้แล้วขอได้โปรดประทาน เสียโดยพลันเถิด ดูกรพระราชาผู้ประเสริฐสุด พระองค์จงทรงสมบูรณ์ ด้วยธรรมข้อนั้นเถิด นรชนพึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะอัน ประเสริฐ เมื่อจะรักษาชีวิตไว้ พึงสละอวัยวะ เมื่อระลึกถึงธรรม พึง สละทั้งอวัยวะ ทั้งทรัพย์ และแม้ชีวิตทั้งหมด. [๓๘๓] บุรุษพึงรู้แจ้งธรรมจากผู้ใด และชนเหล่าใด เป็นสัตบุรุษกำจัดความ สงสัยของบุรุษนั้นได้ ข้อนั้นเป็นที่พึ่งที่พำนักของบุรุษนั้น ผู้มีปัญญา ไม่พึงทำลายไมตรีจากบุคคลนั้น. [๓๘๔] นั่นเป็นอาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมานานแล้ว หม่อมฉันเข้าป่าก็เพราะ เหตุแห่งอาหารนี้ ดูกรพระสหาย ถ้าแหละพระองค์ตรัสขอเรื่องนี้ กะหม่อมฉัน หม่อมฉันยอมถวายพรข้อนี้แด่พระองค์. [๓๘๕] พระองค์เป็นศาสดาของหม่อมฉัน และเป็นพระสหายของหม่อมฉันด้วย ดูกรพระสหาย หม่อมฉันได้กระทำตามพระดำรัสของพระองค์ แม้ พระองค์ก็ขอได้ทรงโปรดกระทำตามคำของหม่อมฉัน เราทั้งสองจะได้ ปลดปล่อยด้วยกัน. [๓๘๖] หม่อมฉันเป็นศาสดาของพระองค์ และเป็นพระสหายของพระองค์ด้วย ดูกรพระสหาย พระองค์ได้ทรงกระทำตามคำของหม่อมฉัน แม้หม่อมฉัน ก็จะทำตามพระดำรัสของพระองค์ เราทั้งสองจะได้ปลดปล่อยด้วยกัน. [๓๘๗] พระองค์ทั้งหลาย ไม่พึงประทุษร้ายแก่พระราชานี้ด้วยความแค้นว่า เรา ทั้งหลายเป็นผู้ถูกเจ้ากัมมาสบาท (คนตีนแดง) เบียดเบียน ถูกร้อย ฝ่ามือร้องไห้หน้าชุ่มด้วยน้ำตา ขอพระองค์ทั้งหลายจงทรงรับสัจจปฏิญาณ ต่อหม่อมฉัน. [๓๘๘] หม่อมฉันทั้งหลายจะไม่ประทุษร้ายแก่พระราชานี้ ด้วยความแค้นว่า เรา ทั้งหลายเป็นผู้ถูกเจ้ากัมมาสบาทเบียดเบียน ถูกร้อยฝ่ามือร้องไห้หน้าชุ่ม ด้วยน้ำตา หม่อมฉันทั้งหลายขอรับสัจจปฏิญาณต่อพระองค์. [๓๘๙] บิดาหรือมารดาเป็นผู้มีความกรุณา ปรารถนาประโยชน์แก่บุตรฉันใด แม้ พระราชาพระองค์นี้ก็จงเป็นเหมือนพระชนกชนนีของท่านทั้งหลาย และ ท่านทั้งหลายก็จงเป็นเหมือนโอรสฉันนั้น. [๓๙๐] บิดาหรือมารดาเป็นผู้มีความกรุณา ปรารถนาประโยชน์แก่บุตรฉันใด แม้พระราชาพระองค์นี้ ขอจงเป็นเหมือนพระชนกชนนีของหม่อมฉัน ทั้งหลาย แม้หม่อมฉันทั้งหลายก็จะเป็นเหมือนโอรส ฉันนั้น. [๓๙๑] พระองค์เคยเสวยกระยาหารอันโอชารส ล้วนแต่เนื้อสัตว์ ๔ เท้าและนก ที่พวกวิเสทปรุงให้สำเร็จเป็นอย่างดี ดังท้าวสักกรินท์เทวราชเสวยสุธา โภชน์ฉะนั้น ไฉนจะทรงละไปยินดีอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียวเล่า นางกษัตริย์เหล่านั้นล้วนแต่เอวบางร่างเล็กสะโอดสะองประดับประดา แล้ว แวดล้อมบำเรอพระองค์ให้เบิกบานพระทัย ดังเทพอัปสรแวดล้อม พระอินทร์ในทิพยสถานฉะนั้น ไฉนจะทรงละไปยินดีอยู่ในป่าแต่พระองค์ เดียวเล่า พระแท่นบรรทมพนักแดง โดยมากปูลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ล้วนลาดด้วยเครื่องลาดอันงดงามประดับด้วยเครื่องอลังการอันวิจิตร พระองค์เคยทรงบรรทมสำราญพระทัยบนท่ามกลางพระแท่นบรรทมเช่น นั้น ไฉนจะทรงละไปยินดีอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียวเล่า เวลาพลบค่ำมีการ ฟ้อนรำส่งสำเนียงเสียงตะโพนสำทับดนตรี รับประสานเสียงล้วนแต่ สตรีไม่มีบุรุษเจือปน การขับและการประโคมก็ล้วนแต่ไพเราะ ไฉน จะทรงละไปยินดีอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียวเล่า พระราชอุทยานนามว่า มิคชินวัน บริบูรณ์ด้วยบุบผชาติเป็นอันมาก พระนครของพระองค์ ประกอบด้วยพระราชอุทยานเช่นนี้ เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจยิ่งนัก ทั้งสมบูรณ์ ด้วยม้า รถและคชสาร ไฉนจะทรงละไปยินดีอยู่ในป่าแต่พระองค์ เดียวเล่า. [๓๙๒] ในกาฬปักษ์ พระจันทร์ย่อมเสื่อมลงทุกวันๆ ฉันใด ดูกรพระราชา การคบอสัตบุรุษย่อมเปรียบเหมือนกาฬปักษ์ ฉะนั้น หม่อมฉันก็เหมือน กัน อาศัยคนครัวเครื่องต้นเป็นคนชั่วเลวทราม ได้ทำบาปกรรมอันเป็น เหตุให้ไปสู่ทุคติ ในสุกรปักษ์ พระจันทร์ย่อมเจริญขึ้นทุกวันๆ ฉันใด การคบสัตบุรุษย่อมเปรียบเหมือนสุกรปักษ์ฉะนั้น ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม ขอจงทรงทราบว่า หม่อมฉันก็เหมือนกัน อาศัยพระองค์จักกระทำกุศล กรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ ข้าแต่พระจอมประชาชน น้ำฝนตกลงใน ที่ดอนย่อมไม่คงที่ ไม่ขังอยู่ได้นาน ฉันใด แม้การคบอสัตบุรุษของ หม่อมฉันก็ย่อมไม่คงที่ เหมือนน้ำในที่ดอนฉันนั้น ข้าแต่พระจอม ประชาชน ผู้เป็นนระผู้กล้าหาญอย่างประเสริฐสุด น้ำฝนตกลงในสระย่อม ขังอยู่ได้นาน ฉันใด แม้การสมาคมกับสัตบุรุษของหม่อมฉัน ก็ย่อม ตั้งอยู่ได้นานเหมือนน้ำในสระ ฉันนั้น การสมาคมกับสัตบุรุษย่อมไม่ รู้จักเสื่อม ย่อมเป็นอยู่อย่างนั้น แม้ตลอดเวลาที่ชีวิตยังตั้งอยู่ ส่วนการ สมาคมกับอสัตบุรุษย่อมเสื่อมเร็ว เพราะเหตุนั้น ธรรมดาของสัตบุรุษ ย่อมไกลจากอสัตบุรุษ. [๓๙๓] พระราชาใดชนะคนที่ไม่ควรชนะ พระราชานั้นไม่ชื่อว่าเป็นพระราชา ผู้ใดเอาชนะเพื่อน ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นเพื่อน ภรรยาใดย่อมไม่กลัวเกรง สามี ภรรยานั้นไม่ชื่อว่าเป็นภรรยา บุตรเหล่าใด ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ผู้แก่แล้ว บุตรเหล่านั้นไม่ชื่อว่าเป็นบุตร ในที่ประชุมใดไม่มีสัตบุรุษ ที่ประชุมนั้นไม่ชื่อว่าสภา ชนเหล่าใดไม่พูดเป็นธรรม ชนเหล่านั้นไม่ ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ คนผู้ละราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว พูดเป็นธรรม นั่นแล ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ บัณฑิตผู้อยู่ปะปนกับคนพาล เมื่อไม่พูด ใครๆ ก็ไม่รู้ว่าเป็นบัณฑิต แต่ว่าบัณฑิตเมื่อพูดแสดงอมตธรรม ใครๆ จึงจะรู้ว่าเป็นบัณฑิต เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงกล่าวธรรมให้กระจ่าง พึงยกธงของพวกฤาษี ฤาษีทั้งหลาย มีคำสุภาษิตเป็นธง ธรรมแล เป็นธงของฤาษีทั้งหลาย.
จบ มหาสุตโสมชาดกที่ ๕
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในอสีตินิบาตนี้ คือ
๑. จุลลหังสชาดก ๒. มหาหังสชาดก ๓. สุธาโภชนชาดก ๔. กุณาลชาดก ๕. มหาสุตโสมชาดก.
จบ อสีตินิบาตชาดก.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ บรรทัดที่ ๒๒๕๘-๒๖๐๖ หน้าที่ ๘๘-๑๐๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=28&A=2258&Z=2606&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=28&A=2258&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=28&siri=12              ศึกษาอรรถกถาชาดกได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=315              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=28&A=2687              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=8275              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=28&A=2687              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=8275              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja537/en/francis

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]