ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
สุทธัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๔
[๑๐๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราย่อมเห็นนรชนผู้หมดจด ว่าเป็นผู้ไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ความหมดจดดี ย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น บุคคลเมื่อรู้เฉพาะอย่างนี้ รู้แล้วว่า ความเห็นนี้เป็นเยี่ยม ดังนี้ ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาเห็นความหมดจด.
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
[๑๑๐] คำว่า เราย่อมเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง มีความว่า เราย่อมเห็นนรชนผู้หมดจด คือเราย่อมเห็น ย่อมแลดู เพ่งดู ตรวจดู พิจารณาเห็นนรชน ผู้หมดจด. คำว่า ไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง คือ ถึงความเป็นผู้ไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ถึงธรรมอันเกษม ถึงธรรมเป็นที่ต้านทาน ถึงธรรมเป็นที่เว้น ถึงธรรมเป็นสรณะ ถึงธรรมเป็นที่ไปข้างหน้า ถึงธรรมไม่มีภัย ถึงธรรมไม่เคลื่อน ถึงธรรมไม่ตาย ถึงนิพพาน เป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เราย่อมเห็นนรชนผู้หมดจด ว่าเป็นผู้ไม่มีโรค เป็นอย่างยิ่ง. [๑๑๑] คำว่า ความหมดจดดี ย่อมมีแก่นรชน เพราะความเห็น มีความว่า ความ หมดจด หมดจดวิเศษ หมดจดรอบ ความพ้น พ้นวิเศษ พ้นรอบ ย่อมมีแก่นรชน คือ นรชนย่อมหมดจด หมดจดวิเศษ หมดจดรอบ ย่อมพ้น พ้นวิเศษ พ้นรอบ เพราะความ เห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความหมดจดดีย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น. [๑๑๒] คำว่า บุคคลเมื่อรู้เฉพาะอย่างนี้ รู้แล้วว่า ความเห็นนี้เป็นเยี่ยม ดังนี้ มีความว่า บุคคลเมื่อรู้เฉพาะ คือ รู้ทั่ว รู้วิเศษ รู้วิเศษเฉพาะ แทงตลอดอยู่อย่างนี้ รู้แล้ว คือทราบแล้ว สอบสวนแล้ว พิจารณาแล้ว ตรวจตราแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า ความเห็นนี้ เป็นเยี่ยม คือ เลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นประธาน เป็นสูงสุด เป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลเมื่อรู้เฉพาะอย่างนี้ รู้แล้วว่า ความเห็นนี้เป็นเยี่ยม ดังนี้. [๑๑๓] คำว่า ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ บุคคลนั้นชื่อว่า เป็นผู้พิจารณา เห็นความหมดจด มีความว่า บุคคลใดย่อมเห็นนรชนผู้หมดจด บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้พิจารณา เห็นความหมดจด. คำว่า ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้น เป็นญาณ มีความว่า บุคคลนั้นย่อมเชื่อ ความเห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณ ว่าเป็นญาณ เป็นทาง เป็นคลอง เป็นเครื่องนำออก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ บุคคลนั้นชื่อว่า เป็นผู้พิจารณาเห็นความหมดจด. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เราย่อมเห็นนรชนผู้หมดจด ว่าเป็นผู้ไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ความหมดจดดี ย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น บุคคลเมื่อรู้เฉพาะอย่างนี้ รู้แล้วว่า ความเห็นนี้เป็นเยี่ยม ดังนี้ ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาเห็นความหมดจด. [๑๑๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า หากว่า ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนด้วยความเห็น หรือว่านรชนนั้น ย่อมละทุกข์ได้ด้วยญาณไซร้ นรชนนั้นผู้ยังมีอุปธิ ย่อมหมดจดได้ด้วย มรรคอื่น เพราะทิฏฐิย่อมบอกนรชนนั้นว่า เป็นผู้พูดอย่างนั้น.
ว่าด้วยความหมดจดเป็นต้น
[๑๑๕] คำว่า หากว่า ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนด้วยความเห็น มีความว่า หากว่า ความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้น ความพ้นวิเศษ ความพ้นรอบ ย่อมมีแก่นรชน คือ นรชนย่อมหมดจด หมดจดวิเศษ หมดจดรอบ ย่อมพ้น พ้นวิเศษ พ้นรอบ ด้วยความเห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า หากว่า ความหมดจดย่อมมีแก่นรชน ด้วยความเห็น. [๑๑๖] คำว่า หรือว่านรชนนั้นย่อมละทุกข์ได้ด้วยญาณไซร้ มีความว่า หากว่านรชน ย่อมละชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ ทุกข์คือความโศก ความร่ำไร ทุกข์กาย ทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ ได้ด้วยความเห็นรูป ด้วยจักษุวิญญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า หรือว่านรชนนั้นย่อมละทุกข์ได้ด้วยญาณไซร้. [๑๑๗] คำว่า นรชนนั้นผู้ยังมีอุปธิ ย่อมหมดจดได้ด้วยมรรคอื่น มีความว่า นรชน ย่อมหมดจด หมดจดวิเศษ หมดจดรอบ ย่อมพ้น พ้นวิเศษ พ้นรอบด้วยมรรคอื่น คือ มรรค อันไม่หมดจด ปฏิปทาผิด ทางอันไม่นำออก นอกจากสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรคมีองค์ ๘. คำว่า ผู้ยังมีอุปธิ คือ ยังมีราคะ โทสะ โมหะ มานะ ตัณหา ทิฏฐิ กิเลส อุปาทาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนนั้นผู้ยังมีอุปธิ ย่อมหมดจดได้ ด้วยมรรคอื่น. [๑๑๘] คำว่า เพราะทิฏฐิย่อมบอกนรชนนั้นว่า เป็นผู้พูดอย่างนั้น มีความว่า ทิฏฐิ นั้นแหละย่อมบอกบุคคลนั้นว่า บุคคลนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต. แม้เพราะเหตุนี้ คำว่า เป็นผู้พูดอย่างนั้น คือ เป็นผู้พูด บอก กล่าว แสดง แถลงอยู่อย่างนั้น คือ เป็นผู้พูด บอก กล่าว แสดง แถลงว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้น สรีระ ก็อันนั้น ... ชีพเป็นอย่างอื่น สรีระก็เป็นอย่างอื่น ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมเป็นอีก ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายย่อมไม่เป็นอีก ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้ แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะทิฏฐิย่อมบอกนรชนนั้นว่า เป็นผู้พูดอย่างนั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หากว่า ความหมดจดย่อมมีแก่นรชน ด้วยความเห็น หรือว่า นรชนนั้น ย่อมละทุกข์ได้ด้วยญาณไซร้ นรชนนั้นผู้ยังมีอุปธิ ย่อมหมดจดได้ด้วย มรรคอื่น เพราะทิฏฐิย่อมบอกนรชนนั้นว่า เป็นผู้พูดอย่างนั้น. [๑๑๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในอารมณ์ที่เห็น ในอารมณ์ที่ได้ยิน ศีลและ วัตร หรืออารมณ์ที่ทราบ โดยมรรคอื่น พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดใน บุญและบาป ละเสียซึ่งตน เรียกว่าเป็นผู้ไม่ทำเพิ่มเติมอยู่ในโลกนี้. [๑๒๐] คำว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในอารมณ์ที่เห็น อารมณ์ที่ได้ยิน ศีล และวัตร หรืออารมณ์ที่ทราบ โดยมรรคอื่น มีความว่า ศัพท์ว่า น เป็นปฏิเสธ คำว่า พราหมณ์ มีความว่า บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะลอยเสียแล้วซึ่งธรรม ๗ ประการ คือ เป็นผู้ลอย สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ มานะ. และบุคคลผู้เป็นพราหมณ์ นั้นลอยเสียแล้วซึ่งอกุศลธรรมอันลามกทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งความเศร้าหมอง ให้เกิดใน ภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ เป็นปัจจัยแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสภิยะ บุคคลใดลอยบาปทั้งปวงเสียแล้ว ปราศจากมลทิน มีจิตตั้งมั่น ด้วยดี มีตนตั้งอยู่แล้ว บุคคลนั้นเรียกว่า เป็นผู้สำเร็จกิจเพราะล่วง สงสารได้แล้ว อันตัณหาทิฏฐิไม่อาศัย เป็นผู้คงที่ เรียกว่าเป็นพราหมณ์.
ว่าด้วยการเชื่อถือว่าเป็นมงคล ไม่เป็นมงคล
คำว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจด ... โดยมรรคอื่น มีความว่า พราหมณ์ไม่กล่าว ไม่บอก ไม่พูด ไม่แสดง ไม่แถลง ซึ่งความหมดจด ความหมดจดพิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้น ความพ้นวิเศษ ความพ้นรอบ โดยมรรคอื่น คือ โดยมรรคอันไม่หมดจด ปฏิปทาผิด ทางอันไม่นำออกนอกจากสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรค มีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจด ... โดยมรรคอื่น. คำว่า ในอารมณ์ที่เห็น อารมณ์ที่ได้ยิน ศีลและวัตร หรืออารมณ์ที่ทราบ มีความว่า สมณพราหมณ์ บางพวก ปรารถนาความหมดจดด้วยการเห็นรูป สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมเชื่อถือการเห็นรูป บางอย่างว่า เป็นมงคล ย่อมเชื่อถือการเห็นรูปบางอย่างว่า ไม่เป็นมงคล. สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเชื่อถือการเห็นรูปเหล่าไหนว่าเป็นมงคล? สมณพราหมณ์ เหล่านั้น ลุกขึ้นแต่เช้า ย่อมเห็นรูปทั้งหลายที่ถึงเหตุเป็นมงคลยิ่งคือ เห็นนกแอ่นลม เห็นผล มะตูมอ่อนที่เกิดขึ้นโดยปุสสฤกษ์ เห็นหญิงมีครรภ์ เห็นคนที่ให้เด็กหญิงขึ้นคอเดินไป เห็น หม้อน้ำเต็ม เห็นปลาตะเพียน เห็นม้าอาชาไนย เห็นรถที่เทียมด้วยม้าอาชาไนย เห็นโคตัวผู้ เห็นนางโคด่าง ย่อมเชื่อถือการเห็นรูปเห็นปานนี้ว่าเป็นมงคล. สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเชื่อถือว่าความเห็นรูปเหล่าไหนว่าไม่เป็นมงคล? สมณ- *พราหมณ์เหล่านั้น เห็นกองฟาง เห็นหม้อเปรียง เห็นหม้อเปล่า เห็นนักฟ้อน เห็นสมณะ เปลือย เห็นลา เห็นยานที่เทียมด้วยลา เห็นยานที่เทียมด้วยพาหนะตัวเดียว เห็นคนตาบอด เห็นคนง่อย เป็นคนกระจอก เป็นคนเปลี้ย เห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย ย่อมเชื่อ ถือการเห็นรูปเห็นปานนี้ว่าไม่เป็นมงคล. สมณพราหมณ์เหล่านั้น ปรารถนาความหมดจดด้วย การเห็นรูป ย่อมเชื่อถือความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้น ความ พ้นวิเศษ ความพ้นรอบ ด้วยการเห็นรูป. มีสมณพราหมณ์บางพวก ปรารถนาความหมดจดด้วยการได้ยินเสียง สมณพราหมณ์ เหล่านั้น ย่อมเชื่อถือการได้ยินเสียงบางอย่างว่าเป็นมงคล ย่อมเชื่อถือการได้ยินเสียงบางอย่าง ว่าไม่เป็นมงคล. สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเชื่อถือการได้ยินเสียงเหล่าไหนว่าเป็นมงคล? สมณ- *พราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้า ย่อมได้ยินเสียงทั้งหลายที่ถึงเหตุเป็นมงคลยิ่ง คือ ย่อมได้ยิน เสียงว่าเจริญ เสียงว่าเจริญอยู่ เสียงว่าเต็มแล้ว เสียงว่าขาว เสียงไม่เศร้าโศก เสียงว่ามีใจดี เสียงว่าฤกษ์ดี เสียงว่ามงคลดี เสียงว่ามีศิริ หรือเสียงว่าเจริญด้วยศิริ ย่อมเชื่อถือการได้ยิน เสียงเห็นปานนี้ว่าเป็นมงคล. สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเชื่อถือการได้ยินเสียงเหล่าไหนว่าไม่เป็นมงคล? สมณ- *พราหมณ์เหล่านั้น ย่อมได้ยินเสียงว่าคนบอด เสียงว่าคนง่อย เสียงว่าคนกระจอก เสียงว่า คนเปลี้ย เสียงว่าคนแก่ เสียงว่าคนเจ็บ เสียงว่าคนตาย เสียงว่าถูกตัด เสียงว่าถูกทำลาย เสียงว่าไฟไหม้ เสียงว่าของหาย หรือเสียงว่าของไม่มี ย่อมเชื่อถือการได้ยินเสียงเห็นปานนี้ ว่าไม่เป็นมงคล. สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมปรารถนาความหมดจดด้วยการได้ยินเสียง ย่อมเชื่อถือความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้น ความพ้นวิเศษ ความพ้นรอบ ด้วยการได้ยินเสียง.
ว่าด้วยความหมดจดด้วยศีลและวัตร
มีสมณพราหมณ์บางพวก ปรารถนาความหมดจดด้วยศีล สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อม เชื่อถือความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้น ความพ้นวิเศษ ความ พ้นรอบ ด้วยเหตุสักว่าศีล เหตุสักว่าความสำรวม เหตุสักว่าความระวัง เหตุสักว่าความไม่ ละเมิดศีล. ปริพาชกผู้เป็นบุตรนางปริพาชิกา ชื่อสมณมุณฑิกา กล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรช่างไม้ เรา ย่อมบัญญัติปุริสบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลว่า เป็นผู้มีกุศลถึงพร้อมแล้ว มีกุศล เป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้ถึงอรหัตอันอุดมที่ควรถึง เป็นสมณะ เป็นผู้อันใครๆ ต่อสู้ไม่ได้ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน? ดูกรช่างไม้ ปุริสบุคคลในโลกนี้ ย่อมไม่ทำบาปกรรมด้วยกาย ๑ ย่อมไม่ กล่าววาจาอันลามก ๑ ย่อมไม่ดำริถึงเหตุที่พึงดำริอันลามก ๑ ย่อมไม่อาศัยอาชีพอันลามกเป็นอยู่ ๑ ดูกรช่างไม้ เราย่อมบัญญัติ ปุริสบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ว่าเป็นผู้มีกุศลถึง พร้อมแล้ว มีกุศลเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้ถึงอรหัตอันอุดมที่ควรถึง เป็นสมณะ เป็นผู้อันใครๆ ต่อสู้ ไม่ได้. สมณพราหมณ์บางพวกปรารถนาความหมดจดด้วยศีล สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมเชื่อ ถือความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้น ความพ้นวิเศษ ความพ้น รอบ ด้วยเหตุสักว่าศีล เหตุสักว่าความสำรวม เหตุสักว่าความระวัง เหตุสักว่าความไม่ละเมิด ศีล อย่างนี้เทียว. มีสมณพราหมณ์บางพวก ปรารถนาความหมดจดด้วยวัตร สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็น ผู้ประพฤติหัตถีวัตร (ประพฤติอย่างกิริยาช้าง) บ้าง ประพฤติอัสสวัตรบ้าง ประพฤติโควัตรบ้าง ประพฤติกุกกุรวัตรบ้าง ประพฤติกากวัตรบ้าง ประพฤติวาสุเทววัตรบ้าง ประพฤติพลเทววัตรบ้าง ประพฤติปุณณภัททวัตรบ้าง ประพฤติมณีภัททวัตรบ้าง ประพฤติอัคคิวัตรบ้าง ประพฤตินาควัตรบ้าง ประพฤติสุปัณณวัตรบ้าง ประพฤติยักขวัตรบ้าง ประพฤติอสุรวัตรบ้าง ประพฤติคันธัพพวัตรบ้าง ประพฤติมหาราชวัตรบ้าง ประพฤติจันทวัตรบ้าง ประพฤติสุริยวัตรบ้าง ประพฤติอินทวัตรบ้าง ประพฤติพรหมวัตรบ้าง ประพฤติเทววัตรบ้าง ประพฤติทิสวัตรบ้าง. สมณพราหมณ์เหล่านั้น ปรารถนาความหมดจดด้วยวัตร ย่อมเชื่อถือความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้น ความพ้นวิเศษ ความพ้นรอบด้วยวัตร. มีสมณพราหมณ์บางพวกปรารถนาความหมดจดด้วยอารมณ์ที่ทราบ. สมณพราหมณ์ เหล่านั้น ลุกขึ้นแต่เช้าแล้ว ย่อมจับต้องแผ่นดิน จับต้องของสดเขียว จับต้องโคมัย จับต้องเต่า เหยียบข่าย จับต้องเกวียนบรรทุกงา เคี้ยวกินงาสีขาว ทาน้ำมันงาสีขาว เคี้ยวไม้สีฟันขาว อาบน้ำด้วยดินสอพอง นุ่งขาว โพกผ้าโพกสีขาว. สมณพราหมณ์เหล่านั้น ปรารถนาความหมดจด ด้วยอารมณ์ที่ทราบ ย่อมเชื่อถือความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้น ความพ้นวิเศษ ความพ้นรอบ ด้วยอารมณ์ที่ทราบ. คำว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในอารมณ์ที่เห็น อารมณ์ที่ได้ยิน ศีลและวัตร หรืออารมณ์ที่ทราบ โดยมรรคอื่น คือ พราหมณ์ไม่กล่าว ไม่บอก ไม่พูด ไม่แสดง ไม่แถลง ความหมดจดโดยความหมดจดด้วยการเห็นรูปบ้าง โดยความหมดจดด้วยการได้ยินเสียงบ้าง โดย ความหมดจดด้วยศีลบ้าง โดยความหมดจดด้วยวัตรบ้าง โดยความหมดจดด้วยอารมณ์ที่ทราบบ้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าพราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในอารมณ์ที่เห็น อารมณ์ที่ได้ยิน ศีลและ วัตร หรืออารมณ์ที่ทราบโดยมรรคอื่น.
ว่าด้วยการละบุญบาป
[๑๒๑] คำว่า พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป มีความว่า กุศลาภิสังขารอัน ให้ปฏิสนธิในไตรธาตุ (กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ) อย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่าบุญ. อกุศล ทั้งหมดเรียกว่าบาปไม่ใช่บุญ. ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร เป็นสภาพ อันพราหมณ์ละเสียแล้ว มีมูลรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำให้ถึงความ ไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นธรรมดา ในกาลใด ในกาลนั้น พราหมณ์นั้น ชื่อว่าย่อมไม่ติด ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติด เป็นผู้ไม่ติด ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติดแล้ว เป็นผู้ออกไป สละเสีย พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องแล้ว ในบุญและบาป เป็นผู้มีจิตกระทำให้ปราศ จากแดนกิเลสอยู่ ด้วยเหตุเท่านี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและ บาป.
ว่าด้วยการละตน
[๑๒๒] คำว่า ละเสียซึ่งตน เรียกว่า เป็นผู้ไม่ทำเพิ่มเติมอยู่ในโลกนี้ มีความว่า ละเสียซึ่งตน คือ ละทิฏฐิที่ถือว่าเป็นตน หรือละความถือมั่น. อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ละเสียซึ่งตน ได้แก่ ความถือ ยึดถือ ถือมั่น ติดใจ น้อมใจไป ด้วยสามารถแห่งตัณหา ด้วยสามารถแห่ง ทิฏฐิ ความถือเป็นต้นนั้นทั้งปวง เป็นธรรมชาติอันพราหมณ์นั้นสละแล้ว สำรอก ปล่อย ละ สละคืนเสียแล้ว. คำว่า ไม่ทำเพิ่มเติมอยู่ในโลกนี้ คือ ไม่ทำเพิ่มเติม ปุญญาภิสังขาร อปุญญา- *ภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดพร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ละเสียซึ่งตน เรียกว่าเป็นผู้ไม่ทำเพิ่มเติมอยู่ในโลกนี้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในอารมณ์ที่เห็น อารมณ์ที่ได้ยิน ศีลและ วัตร หรืออารมณ์ที่ทราบ โดยมรรคอื่น พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญ และบาป ละเสียซึ่งตน เรียกว่าเป็นผู้ไม่ทำเพิ่มเติมอยู่ในโลกนี้. [๑๒๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ละต้น อาศัยหลัง ไปตามความแสวงหา ย่อมไม่ข้ามกิเลสเครื่องเกี่ยวข้องได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมจับถือ ย่อมละ เหมือนลิงจับและละกิ่งไม้เบื้องหน้า ฉะนั้น.
ว่าด้วยการจับๆ วางๆ พ้นกิเลสไม่ได้
[๑๒๔] คำว่า ละต้น อาศัยหลัง มีความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ละศาสดาต้น อาศัยศาสดาหลัง ละธรรมที่ศาสดาต้นบอก อาศัยธรรมที่ศาสดาหลัง ละหมู่คณะต้น อาศัยหมู่ คณะหลัง ละทิฏฐิต้น อาศัยทิฏฐิหลัง ละปฏิปทาต้น อาศัยปฏิปทาหลัง ละมรรคต้น อาศัย อิงอาศัย พัวพัน เข้าถึง ติดใจ น้อมใจถึงมรรคหลัง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ละต้น อาศัยหลัง. [๑๒๕] คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ไปตามความแสวงหา ย่อมไม่ข้ามกิเลสเครื่อง เกี่ยวข้องได้ มีความว่า ตัณหา เรียกว่าความแสวงหา ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. คำว่า ไปตามความแสวงหา คือ ไปตาม ไปตามแล้ว แล่นไปตาม ถึงแล้ว ตกไปตามความแสวงหา อันความแสวงหาครอบงำแล้ว มีจิตอันความ แสวงหาครอบงำแล้ว. คำว่า ย่อมไม่ข้ามกิเลสเครื่องเกี่ยวข้องได้ คือ ย่อมไม่ข้าม ไม่ข้ามขึ้น ไม่ข้ามพ้น ไม่ก้าวพ้น ไม่ก้าวล่วง ไม่ล่วงเลยซึ่งกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นไปตามความแสวงหา ย่อมไม่ข้ามกิเลสเครื่องเกี่ยวข้องได้. [๑๒๖] คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมจับถือ ย่อมละ มีความว่า สมณพราหมณ์ เหล่านั้น ย่อมถือศาสดา ละศาสดานั้นแล้ว ย่อมถือศาสดาอื่น ย่อมถือธรรมที่ศาสดาบอก ละธรรม ที่ศาสดาบอกนั้นแล้ว ย่อมถือธรรมที่ศาสดาอื่นบอก ย่อมถือหมู่คณะ ละหมู่คณะนั้นแล้วถือ หมู่คณะอื่น ย่อมถือทิฏฐิ ละทิฏฐินั้นแล้วถือทิฏฐิอื่น ย่อมถือปฏิปทา ละปฏิปทานั้นแล้วถือ ปฏิปทาอื่น ย่อมถือมรรค ละมรรคนั้นแล้วถือมรรคอื่น ย่อมถือและปล่อย คือ ย่อมยึดถือและ ย่อมละ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมจับถือ ย่อมละ. [๑๒๗] คำว่า เหมือนลิงจับและละกิ่งไม้เบื้องหน้า ฉะนั้น มีความว่า สมณพราหมณ์ เป็นอันมาก ย่อมจับถือและปล่อย คือ ย่อมยึดถือ และสละทิฏฐิเป็นอันมาก เหมือนลิงเที่ยว ไปในป่าใหญ่ย่อมจับกิ่งไม้ ละกิ่งไม้นั้นแล้วจับกิ่งอื่น ละกิ่งอื่นนั้นแล้วจับกิ่งอื่น ฉะนั้น เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนลิงจับและละกิ่งไม้เบื้องหน้า ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ละต้น อาศัยหลัง ไปตามความแสวงหา ย่อมไม่ข้ามกิเลสเครื่องเกี่ยวข้องได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมจับถือ ย่อมละ เหมือนลิงจับและละกิ่งไม้เบื้องหน้า ฉะนั้น. [๑๒๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชันตุชนสมาทานวัตรทั้งหลายเอง เป็นผู้ข้องในสัญญา ย่อมดำเนินผิดๆ ถูกๆ ส่วนบุคคลผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยความรู้ทั้งหลาย เป็นผู้มีปัญญา กว้างขวางดุจแผ่นดิน ย่อมไม่ดำเนินผิดๆ ถูกๆ.
ว่าด้วยการดำเนินผิดๆ ถูกๆ
[๑๒๙] คำว่า ชันตุชนสมาทานวัตรทั้งหลายเอง มีความว่า สมาทานเอง คือ สมาทาน เอาเอง. คำว่า วัตรทั้งหลาย คือ ชันตุชนถือเอา สมาทานถือเอาแล้ว ถือเอาโดยเอื้อเฟื้อ สมาทานแล้ว รับเอาแล้ว ยึดมั่น ถือมั่น ซึ่งหัตถิวัตร อัสสวัตร โควัตร กุกกุรวัตร กากวัตร วาสุเทววัตร พลเทววัตร ปุณณภัททวัตร มณีภัททวัตร อัคคิวัตร นาควัตร สุปัณณวัตร ยักขวัตร อสุรวัตร ฯลฯ ทิสวัตร. คำว่า ชันตุชน คือ สัตว์ นรชน ฯลฯ มนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชันตุชน สมาทานวัตรทั้งหลายเอง. [๑๓๐] คำว่า เป็นผู้ข้องในสัญญา ย่อมดำเนินผิดๆ ถูกๆ มีความว่า จากศาสดาต้น ถึงศาสดาหลัง จากธรรมที่ศาสดาต้นบอกถึงธรรมที่ศาสดาหลังบอก จากหมู่คณะต้นถึงหมู่คณะ หลัง จากทิฏฐิต้นถึงทิฏฐิหลัง จากปฏิปทาต้นถึงปฏิปทาหลัง จากมรรคต้นถึงมรรคหลัง. คำว่า เป็นผู้ข้องในสัญญา คือ เป็นผู้ข้อง เกี่ยวข้อง ข้องทั่วไป ติดอยู่ พันอยู่ เกี่ยวพันอยู่ใน กามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา ทิฏฐิสัญญา เหมือนสิ่งของที่ข้อง เกี่ยวข้อง ข้องทั่วไป ติดอยู่ พันอยู่ เกี่ยวพันอยู่ ที่ตะปูอันตอกติดฝาหรือที่ไม้ขอ ฉะนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ข้องในสัญญา ย่อมดำเนินผิดๆ ถูกๆ.
ผู้รู้ธรรม ๗ ประการ
[๑๓๑] คำว่า ส่วนบุคคลผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยความรู้ทั้งหลาย มีความว่า มีความรู้ ได้แก่มีความรู้ คือ ถึงวิชชา มีญาณ มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเป็นเครื่อง ทำลายกิเลส. คำว่า ด้วยความรู้ทั้งหลาย มีความว่า ญาณในมรรคทั้ง ๔ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาวิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ เรียกว่าความรู้. บุคคลผู้มีความรู้นั้น ถึงที่สุด บรรลุที่สุด ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงที่สุดรอบ บรรลุที่สุดรอบ ถึงที่สิ้นสุด บรรลุที่สิ้นสุด ถึงที่ป้องกัน บรรลุที่ป้องกัน ถึงที่ลับ บรรลุที่ลับ ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึ่ง ถึงที่ไม่มีภัย บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย บรรลุที่ไม่ตาย ถึงนิพพาน บรรลุนิพพาน แห่งชาติชราและมรณะ ด้วยความรู้ทั้งหลายเหล่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง บุคคลชื่อว่า เวทคู เพราะอรรถว่า ถึงที่สุดแห่งความรู้ทั้งหลายบ้าง. เพราะอรรถว่า ถึงที่สุดด้วยความรู้ ทั้งหลายบ้าง และชื่อว่าเวทคู. เพราะเป็นผู้รู้แจ้งธรรม ๗ ประการ คือ เป็นผู้รู้แจ้งซึ่งสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ มานะ. และเป็นผู้รู้แจ้งซึ่งอกุศลธรรมอันลามก ทั้งหลาย อันทำความเศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ เป็นปัจจัยแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสภิยะ บุคคลเลือกเฟ้นเวททั้งสิ้นของพวกพราหมณ์ที่มีอยู่ เป็นผู้ ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง ล่วงเวททั้งปวงแล้ว ชื่อว่าเป็นเวทคู. คำว่า ส่วนบุคคลผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยความรู้ทั้งหลาย มีความว่า คือรู้ รู้เฉพาะซึ่งธรรม คือรู้ รู้เฉพาะซึ่งธรรมว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมี อุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมี ชราและมรณะ เพราะอวิชชาดับสังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับสฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะ ดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทาน ดับภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับชราและมรณะจึงดับ. และรู้ รู้เฉพาะซึ่ง ธรรมว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์. เหล่านี้ อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ. ธรรมเหล่านี้ ควรรู้ยิ่ง ธรรมเหล่านี้ควรกำหนดรู้ ธรรมเหล่านี้ควรละ ธรรมเหล่านี้ควรเจริญ ธรรมเหล่านี้ ควรทำให้แจ้ง. และรู้ รู้เฉพาะซึ่งธรรม คือ เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่อง สลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖. และรู้ รู้เฉพาะซึ่งธรรม คือ เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕. และรู้ รู้เฉพาะซึ่งธรรม คือเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งมหาภูตรูป ๔. และรู้ รู้เฉพาะซึ่งธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น. จึงชื่อว่า ส่วนบุคคลผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยความรู้ทั้งหลาย. [๑๓๒] คำว่า เป็นผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน ย่อมไม่ดำเนินผิดๆ ถูกๆ มีความว่า บุคคลผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน ย่อมไม่จากศาสดาต้น ถึงศาสดาหลัง ไม่จากธรรมที่ศาสดาต้นบอก ถึงธรรมที่ศาสดาหลังบอก ไม่จากหมู่คณะต้น ถึงหมู่คณะหลัง ไม่จากทิฏฐิต้น ถึงทิฏฐิหลัง ไม่จากปฏิปทาต้น ถึงปฏิปทาหลัง ไม่จากมรรคต้น ถึงมรรคหลัง. คำว่า บุคคลผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน คือมีปัญญาใหญ่ มีปัญญามาก มีปัญญาเป็นเครื่องรื่นเริง มีปัญญาไว มีปัญญาคมกล้า มีปัญญาเป็นเครื่องทำลายกิเลส. แผ่นดินตรัสว่า ภูริ. บุคคล ประกอบด้วยปัญญากว้างขวางแผ่ไปเสมอด้วยแผ่นดินนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลผู้มีปัญญา กว้างดังแผ่นดิน ย่อมไม่ดำเนินผิดๆ ถูกๆ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ชันตุชนสมาทานวัตรทั้งหลายเอง เป็นผู้ข้องในสัญญา ย่อมดำเนิน ผิดๆ ถูกๆ ส่วนบุคคลผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยความรู้ทั้งหลาย เป็นผู้มี ปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน ย่อมไม่ดำเนินผิดๆ ถูกๆ. [๑๓๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดินนั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรม ทั้งปวง คือ ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบอย่างใด อย่างหนึ่ง ใครๆ ในโลกนี้พึงกำหนดซึ่งบุคคลนั้นนั่นแหละ ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผยด้วยกิเลสอะไรเล่า.
ว่าด้วยมารเสนา
[๑๓๔] คำว่า บุคคลผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดินนั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือ ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบอย่างใดอย่างหนึ่ง มีความว่า มารเสนาเรียกว่า เสนา กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ ฯลฯ อภิสังขารคือ อกุศลกรรมทั้งปวง ชื่อว่ามารเสนา. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า กิเลสกาม เรากล่าวว่าเป็นมารเสนาที่ ๑ ของท่าน ความไม่ยินดี เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๒ ของท่าน ความหิวกระหาย เรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๓ ของท่าน ตัณหา เรากล่าวเป็นเสนาที่ ๔ ของท่าน ความง่วงเพราะหาวนอน เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๕ ของท่าน ความขลาด เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๖ ของท่าน ความลังเลใจ เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๗ ของท่าน ความลบหลู่และความกระด้าง เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๘ ของท่าน ลาภ ความสรรเสริญ สักการะ และยศที่ได้โดยทางผิด เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๙ ของท่าน ความยกตนและข่มผู้อื่น เรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๑๐ ของท่าน ดูกรพระยามาร เสนาของท่านเหล่านี้ เป็นผู้มี ปกติกำจัดผู้มีธรรมดำ คนไม่กล้าย่อมไม่ชนะเสนานั้นได้ ส่วนคนกล้า ย่อมชนะได้ ครั้นชนะแล้วย่อมได้สุข ดังนี้. เมื่อใด มารเสนาทั้งหมดและกิเลสอันทำความเป็นปฏิปักษ์ทั้งหมด อันบุคคลผู้มีปัญญา กว้างขวางดังแผ่นดินนั้นชนะแล้ว ให้แพ้แล้ว ทำลายเสีย กำจัดเสีย ทำให้ไม่สู้หน้าแล้วด้วย อริยมรรค ๔ เมื่อนั้นบุคคลผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดินนั้น เรียกว่า เป็นผู้กำจัดเสนา. บุคคลนั้นเป็นผู้กำจัดเสนาในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ อารมณ์ที่รู้แจ้ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดินนั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือในรูป ที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบอย่างใดอย่างหนึ่ง. [๑๓๕] คำว่า ซึ่งบุคคลนั้นนั่นแหละ ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผย มีความว่า ซึ่งบุคคล นั้นนั่นแหละ ผู้เห็นธรรมอันหมดจด เห็นธรรมอันหมดจดวิเศษ เห็นธรรมอันหมดจดรอบ เห็นธรรมอันขาว เห็นธรรมอันขาวรอบ. อีกอย่างหนึ่ง ผู้มีความเห็นอันหมดจด มีความเห็น อันหมดจดวิเศษ มีความเห็นอันหมดจดรอบ มีความเห็นอันขาว มีความเห็นอันขาวรอบ. คำว่า เปิดเผย มีความว่าเครื่องปิดบัง คือ ตัณหา กิเลส อวิชชา. เครื่องปิดบังเหล่านั้น อันบุคคลนั้น เปิดเผยแล้ว กำจัดเลิกขึ้น เปิดขึ้น ละ ตัดขาด สงบ ระงับ ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้นเผาเสียแล้ว ด้วยไฟ คือญาณ. คำว่าผู้ประพฤติ คือ ผู้ประพฤติ ผู้เที่ยวไป เป็นไป หมุนไป รักษา ดำเนินไป ให้อัตภาพดำเนินไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ซึ่งบุคคลนั้นนั่นแหละ ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผย. [๑๓๖] คำว่า ใครๆ ในโลกนี้ พึงกำหนด ... ด้วยกิเลสอะไรเล่า มีความว่า คำว่า กำหนด ได้แก่ความกำหนด ๒ อย่าง คือ ความกำหนดด้วยตัณหา ๑ ความกำหนดด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยทิฏฐิ. บุคคลนั้นละความ กำหนดด้วยตัณหา สละคืนความกำหนดด้วยทิฏฐิแล้ว เพราะเป็นผู้ละความกำหนดด้วยตัณหา สละคืนความกำหนดด้วยทิฏฐิแล้ว ใครๆ จะพึงกำหนดบุคคลนั้นด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย อะไรเล่าว่า เป็นผู้กำนัด ขัดเคือง หลง ผูกพัน ถือมั่น ถึง ความฟุ้งซ่าน ถึงความไม่ตกลง หรือถึงโดยเรี่ยวแรง. กิเลสเครื่องปรุงแต่งเหล่านั้นอันบุคคล นั้นละแล้ว เพราะเป็นผู้ละกิเลสเครื่องปรุงแต่งเหล่านั้นแล้ว ใครๆ จะพึงกำหนดคติแห่งบุคคล นั้นด้วยกิเลสอะไรเล่าว่า เป็นผู้เกิดในนรก เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน เกิดในเปรตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นสัตว์มีรูป เป็นสัตว์ไม่มีรูป เป็นสัตว์มีสัญญา เป็นสัตว์ไม่มีสัญญา หรือเป็น สัตว์มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่. บุคคลนั้นไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีการณะ อันเป็น เครื่องกำหนด กำหนดวิเศษ ถึงความกำหนดแห่งใครๆ. คำว่า ในโลก คือ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ใครๆ ในโลกนี้ พึง กำหนด ... ด้วยกิเลสอะไรเล่า. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลมีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดินนั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบอย่างใดอย่างหนึ่ง ใครๆ ในโลกนี้ พึงกำหนดซึ่งบุคคลนั้นนั่นแหละ ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผย ด้วยกิเลสอะไรเล่า. [๑๓๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิไว้ในเบื้อง หน้า สัตบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดส่วนเดียว สัตบุรุษเหล่านั้นละกิเลสเป็นเครื่องถือมั่น ผูกพัน ร้อยรัดแล้ว ไม่ทำ ความหวังในที่ไหนๆ ในโลก.
ว่าด้วยคุณลักษณะของสัตบุรุษ
[๑๓๘] คำว่า สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิไว้ในเบื้อง หน้า มีความว่า คำว่า กำหนด ได้แก่ ความกำหนด ๒ อย่าง คือ ความกำหนดด้วยตัณหา ๑ ความกำหนดด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยทิฏฐิ สัตบุรุษเหล่านั้นละความกำหนดด้วยตัณหา สละคืนความกำหนดด้วยทิฏฐิแล้ว เพราะเป็นผู้ละ ความกำหนดด้วยตัณหา สละคืนความกำหนดด้วยทิฏฐิแล้ว สัตบุรุษเหล่านั้น จึงไม่กำหนดซึ่ง ความกำหนดด้วยตัณหา หรือความกำหนดด้วยทิฏฐิ คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดพร้อม ไม่ให้ บังเกิด ไม่ให้บังเกิดเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่กำหนด คำว่า ย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิ ไว้ในเบื้องหน้า มีความว่า ความทำไว้ในเบื้องหน้า ๒ อย่าง คือ ความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วย ตัณหา ๑ ความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิ สัตบุรุษเหล่านั้น ละความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วย ตัณหา สละคืนความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิแล้ว เพราะเป็นผู้ละความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วย ตัณหา สละคืนความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิแล้ว จึงไม่กระทำตัณหาและทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้าด้วย เที่ยวไป คือ เป็นผู้ไม่มีตัณหาเป็นธงชัย ไม่มีตัณหาเป็นธงยอด ไม่มีตัณหาเป็นใหญ่ ไม่มี ทิฏฐิเป็นธงชัย ไม่มีทิฏฐิเป็นธงยอด ไม่มีทิฏฐิเป็นใหญ่ เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่แวดล้อม เที่ยวไป เพราะฉะนั้น. จึงชื่อว่า สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิ ไว้ในเบื้องหน้า. [๑๓๙] คำว่า สัตบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดส่วนเดียว มีความ ว่า สัตบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่กล่าว ไม่บอก ไม่พูด ไม่แสดง ไม่แถลง ซึ่งความไม่หมดจด ส่วนเดียว ความหมดจดจากสงสาร ความหมดจดโดยอกิริยาทิฏฐิวาทะว่า สัตว์สังขารเที่ยง ว่า เป็นความหมดจดส่วนเดียว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่กล่าวว่าเป็นความ หมดจดส่วนเดียว. [๑๔๐] คำว่า สัตบุรุษเหล่านั้น ละกิเลสเป็นเครื่องถือมั่น ผูกพันร้อยรัดแล้ว มี ความว่า กิเลสเป็นเครื่องผูกพัน ได้แก่กิเลสเป็นเครื่องผูกพัน ๔ อย่าง คือ กิเลสเป็นเครื่อง ผูกพันทางกาย คือ อภิชฌา พยาบาท ลีลัพพตปรามาส ความยึดมั่นว่าสิ่งนี้จริง. ความกำ หนัด ความเพ่งเล็งด้วยทิฏฐิของตน เป็นกิเลสเครื่องผูกพันทางกาย. ความอาฆาต ความไม่ ยินดี ความพยาบาท ในถ้อยคำของชนอื่น. สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดถือศีล หรือวัตร หรือทั้งศีลและวัตรของตน. ความเห็น ความยึดถือว่าสิ่งนี้จริงของตน เป็นกิเลสเครื่องผูกพัน ทางกาย. เพราะเหตุไรจึงเรียกว่าเป็นกิเลสเครื่องถือมั่น ผูกพัน เพราะสัตว์ทั้งหลาย ย่อมถือ เข้าไป ถือ จับ ถือมั่น ยึดมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร วัฏฏะ ด้วยกิเลสเป็นเครื่องผูกพันเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า เป็นกิเลสเครื่องถือ มั่น ผูกพัน. คำว่า ละคือสลัด ละกิเลสเป็นเครื่องผูกพันทั้งหลาย. อีกอย่างหนึ่ง สัตบุรุษเหล่านั้น แก้ละ กิเลสทั้งหลายที่ผูกพัน ร้อยรัด รัดรึง พัน ตรึง เหนี่ยวรั้ง ติด ข้อง เกี่ยวพัน พันอยู่ เหมือนชนทั้งหลายทำความปลดปล่อย ไม่กำหนด วอ รถ เกวียน รถมีเครื่องประดับ ฉะนั้น เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตบุรุษเหล่านั้น ละกิเลสเป็นเครื่องถือมั่น ผูกพัน ร้อยรัดแล้ว. [๑๔๑] คำว่า ย่อมไม่ทำความหวังในที่ไหนๆ ในโลก มีความว่า ตัณหา เรียกว่า ความหวัง ได้แก่ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. คำว่า ย่อมไม่ ทำความหวัง คือ ย่อมไม่ทำความหวัง ไม่ให้ความหวังเกิด ไม่เกิดพร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้ บังเกิดเฉพาะ. คำว่า ในที่ไหนๆ คือในที่ไหนๆ ในที่ใดที่หนึ่งทุกๆ แห่ง ในภายใน ภายนอก หรือทั้งภายในภายนอก. คำว่า ในโลก คือ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก เพราะฉะนั้น. จึงชื่อ ว่า ย่อมไม่ทำความหวังในที่ไหนๆ ในโลก. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า. สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำ ตัณหาและทิฏฐิไว้ใน เบื้องหน้า สัตบุรุษเหล่านั้นย่อมไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดส่วนเดียว สัตบุรุษเหล่านั้น ละกิเลสเป็นเครื่องถือมั่น ผูกพัน ร้อยรัดแล้ว ไม่ ทำความหวังในที่ไหนๆ ในโลก. [๑๔๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระอรหันต์นั้นล่วงแดนแล้ว ลอยบาปแล้ว รู้และเห็นแล้ว มิได้มีความ ยึดถือ มิได้มีความกำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด มิได้กำหนัดใน สมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด มิได้มีความยึดถือว่า สิ่งนี้ยอดเยี่ยม.
ว่าด้วยพระอรหันต์
[๑๔๓] คำว่า พระอรหันต์นั้นผู้ล่วงแดนแล้ว ลอยบาปแล้ว รู้และเห็นแล้ว มิได้มี ความยึดถือ มีความว่า แดน ได้แก่ แดน ๔ อย่าง คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรา- *มาส อนุสัย คือทิฏฐิ อนุสัยคือวิจิกิจฉา และเหล่ากิเลสที่ตั้งอยู่ฝ่ายเดียวกัน นี้เป็นแดนที่ ๑. สังโยชน์คือกามราคะ สังโยชน์คือปฏิฆะ อนุสัยคือกามราคะ อนุสัยคือปฏิฆะ ส่วนหยาบๆ และเหล่ากิเลสที่ตั้งอยู่ฝ่ายเดียวกัน นี้เป็นแดนที่ ๒. สังโยชน์คือกามราคะ สังโยชน์คือปฏิฆะ อนุสัยคือกามราคะ อนุสัยคือปฏิฆะ ส่วนละเอียด และเหล่ากิเลสที่ตั้งอยู่ฝ่ายเดียวกัน นี้เป็น แดนที่ ๓ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา อนุสัยคือมานะ อนุสัยคือภวราคะ อนุสัยคืออวิชชา และเหล่ากิเลสที่ตั้งอยู่ฝ่ายเดียวกัน นี้เป็นแดนที่ ๔. เมื่อใด พระอรหันต์นั้น เป็นผู้ก้าวล่วง ก้าวล่วงด้วยดี ล่วงเลยแดน ๔ อย่างเหล่านี้ด้วยอริยมรรค ๔ เมื่อนั้น พระ อรหันต์นั้น จึงเรียกว่าเป็นผู้ล่วงแดนแล้ว. คำว่า ผู้ลอยบาปแล้ว คือ ชื่อว่าผู้ลอยบาป เพราะเป็น ผู้ลอยแล้วซึ่งธรรม ๗ ประการ ฯลฯ เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว เป็นผู้คงที่ ชื่อว่า เป็นพราหมณ์. คำว่านั้น ได้แก่พระอรหันต์ผู้ขีณาสพ. คำว่า รู้แล้ว คือรู้แล้วด้วยปรจิตญาณ หรือด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คำว่า เห็นแล้ว คือเห็นแล้วด้วยมังสจักษุ หรือด้วยทิพยจักษุ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันต์นั้นผู้ล่วงแดนแล้ว ลอยบาปแล้ว รู้แล้ว และเห็นแล้ว มิได้มี (ความยึดถือ). คำว่า ความยึดถือ คือ พระอรหันต์นั้น (มิได้มี) ความถือ ถือมั่น ยึดมั่น ติดใจ น้อมใจไปว่า สิ่งนี้ยอดเยี่ยม เลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นใหญ่ สูงสุด บวร. คำว่า ไม่มี คือ ย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้. ความยึดถือนั้น อันพระอรหันต์นั้นละ ตัดขาด สงบ ระงับ ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันต์นั้นผู้ล่วงแดนแล้ว ลอยบาปแล้ว รู้และเห็นแล้ว มิได้มีความยึดถือ. [๑๔๔] คำว่า มิได้มีความกำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด มิได้กำหนัดในสมาบัติเป็น ที่คลายกำหนัด มีความว่า ชนเหล่าใด กำหนัด รักใคร่ หลงใหล ติดใจ ลุ่มหลง ข้อง เกี่ยว พัวพัน ในกามคุณ ๕ ชนเหล่านั้น เรียกว่ากำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด. ชนเหล่าใด กำ หนัด รักใคร่ หลงใหล ติดใจ หลุ่มหลง ข้อง เกี่ยว พัวพัน ในรูปาวจรสมาบัติ และ อรูปาวจรสมาบัติ ชนเหล่านั้น เรียกว่ากำหนัดแล้วในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด. คำว่า มิได้มี ความกำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด มิได้กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด คือ เมื่อใด กามราคะ รูปราคะ และอรูปราคะ เป็นกิเลสอันพระอรหันต์นั้นละ ตัดมูลรากขาดแล้ว ทำไม่ให้ มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี ทำให้ไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เมื่อนั้น พระอรหันต์นั้น ชื่อว่ามิได้มีความกำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด มิได้กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด โดย เหตุเท่านั้น. [๑๔๕] คำว่า มิได้มีความยึดถือว่าสิ่งนี้ยอดเยี่ยม มีความว่า คำว่านั้น คือ พระ อรหันต์ผู้ขีณาสพ. พระอรหันต์นั้นมิได้มี ความถือ ถือมั่น ยึดมั่น ติดใจ น้อมใจไปว่า สิ่ง นี้ยอดเยี่ยม เลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นใหญ่ สูงสุด บวร. คำว่า ไม่มี คือย่อมไม่มี ไม่ ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ ความยึดถือนั้น อันพระอรหันต์นั้นละ ตัดขาด สงบ ระงับ ทำไม่ให้ ควรเกิดขึ้นเผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มิได้มีความยึดถือว่าสิ่งนี้ยอดเยี่ยม. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระอรหันต์นั้น ผู้ล่วงแดนแล้ว ลอยบาปแล้ว รู้ และเห็นแล้ว มิได้มีความยึดถือ มิได้มีความกำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด มิได้กำ หนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด มิได้มีความยึดถือว่า สิ่งนี้ยอดเยี่ยม ดังนี้.
จบ สุทธัฏฐกสุตตนิเทสที่ ๔.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๑๘๒๒-๒๒๓๙ หน้าที่ ๗๗-๙๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=1822&Z=2239&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=29&A=1822&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=29&siri=4              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=109              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=29&A=1962              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=4910              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=29&A=1962              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=4910              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_29

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]