บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
จูฬสงคราม ข้อปฏิบัติของภิกษุผู้เข้าสงคราม [๑๐๘๓] อันภิกษุผู้เข้าสงครามเมื่อเข้าหาสงฆ์พึงเป็นผู้มีจิตยำเกรง มีจิตเสมอด้วยผ้า เช็ดธุลี เข้าหาสงฆ์ พึงเป็นผู้รู้จักที่นั่ง รู้จักการนั่ง ไม่เบียดภิกษุผู้เถระ ไม่ห้ามภิกษุผู้อ่อนกว่า ด้วยอาสนะ พึงนั่งอาสนะตามสมควร ไม่พึงพูดเรื่องต่างๆ ไม่พึงพูดเรื่องดิรัจฉานกถา พึง กล่าวธรรมเอง หรือพึงเชื้อเชิญภิกษุรูปอื่น ไม่พึงดูหมิ่นอริยดุษณีภาพ. อันภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ที่สงฆ์อนุมัติแล้ว มีประสงค์จะวินิจฉัยอธิกรณ์ ไม่พึงถาม ถึงอุปัชฌาย์ ไม่พึงถามถึงอาจารย์ ไม่พึงถามถึงสัทธิวิหาริก ไม่พึงถามถึงอันเตวาสิก ไม่พึงถาม ถึงภิกษุปูนอุปัชฌาย์ ไม่พึงถามถึงภิกษุปูนอาจารย์ ไม่พึงถามถึงชาติ ไม่พึงถามถึงชื่อ ไม่พึงถาม ถึงโคตร ไม่พึงถามถึงอาคม ไม่พึงถามถึงตระกูลประเทศ ไม่พึงถามถึงชาติภูมิ. เพราะเหตุไร? เพราะความรักหรือความชังจะพึงมีในบุคคลนั้น เมื่อมีความรักหรือความชัง พึงลำเอียงเพราะ ความชอบบ้าง พึงลำเอียงเพราะความชังบ้าง พึงลำเอียงเพราะความหลงบ้าง พึงลำเอียงเพราะ ความกลัวบ้าง.ข้อปฏิบัติของภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ อันภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ที่สงฆ์อนุมัติแล้ว มีประสงค์จะวินิจฉัยอธิกรณ์ พึงเป็นผู้ หนักในสงฆ์ ไม่พึงเป็นผู้หนักในบุคคล พึงเป็นผู้หนักในพระสัทธรรม ไม่พึงเป็นผู้หนักในอามิส พึงเป็นผู้ไปตามอำนาจแห่งคดี ไม่พึงเป็นผู้เห็นแก่บริษัท พึงวินิจฉัยโดยกาลอันควร ไม่พึง วินิจฉัยโดยกาลไม่ควร พึงวินัยฉัยด้วยคำจริง ไม่พึงวินิจฉัยด้วยคำไม่จริง พึงวินิจฉัยด้วยคำ สุภาพ ไม่พึงวินิจฉัยด้วยคำหยาบ พึงวินิจฉัยด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงวินิจฉัยด้วย คำไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พึงเป็นผู้มีเมตตาจิตวินิจฉัย ไม่พึงเป็นผู้มุ่งร้ายวินิจฉัย ไม่พึงเป็น ผู้กระซิบที่หู ไม่พึงคอยจับผิด ไม่พึงขยิบตา ไม่พึงเลิกคิ้ว ไม่พึงชะเง้อศีรษะ ไม่พึงทำวิการ แห่งมือ ไม่พึงแสดงปลายนิ้วมือ พึงเป็นผู้รู้จักที่นั่ง พึงเป็นผู้รู้จักการนั่ง พึงนั่งบนอาสนะ ของตน ทอดตาชั่วแอก เพ่งเนื้อความและไม่ลุกจากอาสนะไปข้างไหน ไม่พึงยังการวินิจฉัยให้ บกพร่อง ไม่พึงเสพทางผิด ไม่พึงพูดส่ายคำ พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วน ไม่ผลุนผลันไม่ดุดัน เป็นผู้ อดได้ต่อถ้อยคำ พึงเป็นผู้มีเมตตาจิต คิดเอ็นดูเพื่อประโยชน์ พึงเป็นผู้มีกรุณา ขวนขวายเพื่อ ประโยชน์ พึงเป็นผู้ไม่พูดพล่อย เป็นผู้พูดมีที่สุด พึงเป็นผู้ไม่ผูกเวร ไม่ขัดเคือง พึงรู้จักตน พึงรู้จักผู้อื่น พึงสังเกตโจทก์ พึงสังเกตจำเลย พึงกำหนดรู้ผู้โจทก์ไม่เป็นธรรม พึงกำหนดรู้ผู้ ถูกโจทไม่เป็นธรรม พึงกำหนดรู้ผู้โจทก์เป็นธรรม พึงกำหนดรู้ผู้ถูกโจทเป็นธรรม พึงกำหนดข้อ ความอันสองฝ่ายกล่าวมิให้ตกหล่น ไม่แซมข้อความอันเขาไม่ได้กล่าว พึงจำบทพยัญชนะ อัน เข้าประเด็นไว้เป็นอย่างดีสอบสวนจำเลย แล้วพึงปรับตามคำรับสารภาพ โจทก์หรือจำเลยประหม่า พึงพูดเอาใจ เป็นผู้ขลาด พึงพูดปลอบ เป็นผู้ดุ พึงห้ามเสีย เป็นผู้ไม่สะอาดพึงดัดเสีย เป็นผู้ ตรง พึงประพฤติต่อด้วยความอ่อนโยน ไม่พึงถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ พึง วางตนเป็นกลาง ทั้งในธรรม ทั้งในบุคคล. ก็แล ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ เมื่อวินิจฉัยอธิกรณ์ด้วยอาการ อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ทำ ตามคำสอนของพระศาสดา เป็นที่รักที่ชอบใจที่เคารพ ที่สรรเสริญ แห่งสพรหมจารีทั้งหลาย ผู้เป็นวิญญู.ว่าด้วยประโยชน์แห่งสูตรเป็นต้น [๑๐๘๔] สูตร เพื่อประโยชน์แก่การเทียบเคียง ข้ออุปมา เพื่อประโยชน์แก่การ ชี้ความ เนื้อความ เพื่อประโยชน์ที่ให้เขาเข้าใจ การย้อนถาม เพื่อประโยชน์แก่ความดำรงอยู่ การขอโอกาส เพื่อประโยชน์แก่การโจท การโจท เพื่อประโยชน์แก่การให้จำเลยระลึกโทษ การ ให้ระลึก เพื่อประโยชน์แก่ความเป็นผู้มีถ้อยคำอันจะพึงกล่าว ความเป็นผู้มีถ้อยคำอันจะพึงกล่าว เพื่อประโยชน์แก่การกังวล การกังวลเพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัย การวินิจฉัย เพื่อประโยชน์ แก่การพิจารณา การพิจารณาเพื่อประโยชน์แก่การถึงฐานะและมิใช่ฐานะ การถึงฐานะและมิใช่ ฐานะ เพื่อประโยชน์ข่มบุคคลผู้เก้อยาก เพื่อประโยชน์ยกย่องภิกษุมีศีลเป็นที่รัก สงฆ์เพื่อ ประโยชน์แก่การสอดส่องและรับรอง บุคคลที่สงฆ์อนุมัติแล้ว ตั้งอยู่ในตำแหน่งผู้ใหญ่ ตั้งอยู่ ในตำแหน่งผู้ไม่แกล้งกล่าวให้ผิด.ประโยชน์แห่งวินัยเป็นต้น วินัยเพื่อประโยชน์แก่ความสำรวม ความสำรวมเพื่อประโยชน์แก่ความไม่เดือดร้อน ความไม่เดือดร้อนเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์ ความปราโมทย์เพื่อประโยชน์แก่ความปีติ ความปีติเพื่อประโยชน์แก่ปัสสัทธิ ปัสสัทธิเพื่อประโยชน์แก่ความสุข ความสุขเพื่อประโยชน์ แก่สมาธิ สมาธิเพื่อประโยชน์แก่ความรู้เห็นตามเป็นจริง ความรู้เห็นตามเป็นจริงเพื่อประโยชน์ แก่ความเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายเพื่อประโยชน์แก่ความสำรอก ความสำรอกเพื่อประโยชน์ แก่วิมุตติ วิมุตติเพื่อประโยชน์แก่วิมุตติญาณทัสสนะ วิมุตติญาณทัสสนะเพื่อประโยชน์แก่ความ ดับสนิทหาปัจจัยมิได้. การกล่าววินัยมีอนุปาทาปรินิพพานนั้นเป็นประโยชน์ การปรึกษาวินัยมี อนุปาทาปรินิพพานนั้นเป็นประโยชน์ เหตุมีอนุปาทาปรินิพพานนั้นเป็นประโยชน์ ความเงี่ย โสตสดับมีอนุปาทาปรินิพพานนั้นเป็นประโยชน์ คือ ความพ้นวิเศษแห่งจิต เพราะไม่ยึดมั่น.อนุโยควัตร [๑๐๘๕] เธอจงพิจารณาวัตร คือ การซักถาม อนุโลมแก่สิกขาบท อัน พระพุทธเจ้าผู้เฉียบแหลม มีพระปัญญา ทรงวางไว้ ตรัสไว้ดีแล้วอย่าให้ เสียคติที่เป็นไปในสัมปรายภพ. ภิกษุใดไม่รู้ วัตถุ วิบัติ อาบัติ นิทาน คำต้น คำหลัง สิ่งที่ ทำแล้ว และยังไม่ได้ทำโดยเสมอ และเป็นผู้ไม่เข้าใจอาการ ภิกษุผู้เช่น นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่ควรเลือก. อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้กรรม อธิกรณ์ และไม่เข้าใจสมถะ เป็นผู้ กำหนัดขัดเคืองและหลงย่อมลำเอียงเพราะกลัว เพราะหลง ไม่เข้าใจใน สัญญัติ ไม่ฉลาดในการพินิจ เป็นผู้ได้พรรคพวกไม่มีความละอาย มีกรรม ดำ ไม่เอื้อเฟื้อ ภิกษุผู้เช่นนั้นๆ แลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่ควรเลือก. ภิกษุใดรู้วัตถุ วิบัติ อาบัติ นิทาน คำต้น คำหลัง สิ่งที่ทำแล้ว และยังไม่ได้ทำ โดยเสมอและเป็นผู้เข้าใจอาการ ภิกษุผู้เช่นนั้นๆ แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ควรเลือก. อนึ่ง ภิกษุใดรู้กรรม อธิกรณ์ และเข้าใจสมถะ เป็นผู้ไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง และไม่หลง ไม่ลำเอียง เพราะกลัว เพราะหลง เข้าใจใน สัญญัติ ฉลาดในการพินิจ เป็นผู้ได้พรรคพวก มีความละอาย มีกรรม ขาว มีความเคารพ ภิกษุผู้เช่นนั้นๆ แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ควร เลือก.จูฬสงคราม จบ ----------------------------------------------------- หัวข้อประจำเรื่อง [๑๐๘๖] มีจิตยำเกรง ๑ ถาม ๑ หนักในสงฆ์ มิใช่ในบุคคล ๑ สูตรเพื่อประโยชน์ แก่การเทียบเคียง ๑ วินัยเพื่ออนุเคราะห์ ๑ หัวข้อตามที่กล่าวนี้มีอุเทศอย่างเดียว ท่านจัดไว้ใน จูฬสงครามแล.----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๘ บรรทัดที่ ๙๖๙๕-๙๗๗๖ หน้าที่ ๓๗๑-๓๗๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=8&A=9695&Z=9776&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=8&A=9695&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=8&siri=98 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=8&i=1083 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=8&A=8179 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=11319 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=8&A=8179 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=11319 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_8 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-pvr14/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-pvr14/en/horner-brahmali
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]