ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๑

หน้าที่ ๒๔๔-๒๔๕.


                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

                                                                 ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ วินีตวัตถุ

ติดลุกโชน จนมันร้องครวญคราง กระผมมีความรู้สึกว่า น่าอัศจรรย์จริงไม่เคยปรากฏ ที่มีสัตว์เช่นนี้ มียักษ์เช่นนี้ มีเปรตเช่นนี้ มีการได้อัตภาพเช่นนี้อยู่” ภิกษุทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทนาว่า “พระมหาโมคคัลลานะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สาวกทั้งหลายที่มีจักษุญาณก็ยังมีอยู่ เพราะสาวกที่รู้ที่เห็นนี้เป็นพยานได้ เมื่อก่อน เราก็เห็นสามเณรเปรตนั้นแต่ไม่พยากรณ์ เพราะการพยากรณ์นั้นจะไม่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลซ้ำจะเป็นทุกข์ยาวนานแก่ผู้ที่ไม่เชื่อเรา ภิกษุทั้งหลาย เปรตนั้นเคยเป็น สามเณรชั่วในศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะผลกรรมนั้นจึงตกนรกหมก ไหม้อยู่หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปีแล้วได้รับอัตภาพเช่นนี้เพราะเศษกรรม ที่ยังเหลือ โมคคัลลานะกล่าวจริงจึงไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๕๕)
เรื่องเปรตมีรูปเป็นสามเณรี ๑ เรื่อง
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขต กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระลักขณะกับพระมหาโมคคัลลานะพักอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ ครั้นเวลาเช้า พระมหาโมคคัลลานะครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปหาพระ ลักขณะจนถึงที่อยู่ เชิญชวนว่า “ท่านลักขณะ มาเถิด พวกเราจะไปบิณฑบาตในกรุง ราชคฤห์ด้วยกัน” พระลักขณะรับคำแล้ว ขณะที่พระมหาโมคคัลลานะกำลังลงจากภูเขาคิชฌกูฏ ถึงสถานที่แห่งหนึ่งได้ แสดงอาการแย้ม พระลักขณะถามว่า “ท่านโมคคัลลานะ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ ท่านแสดงอาการแย้ม” พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า “ท่านลักขณะ ยังไม่ถึงเวลา ตอบปัญหานี้ เมื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคค่อยถามปัญหานี้เถิด” ครั้นท่านทั้ง ๒ เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ กลับจากบิณฑบาต หลังจาก ฉันอาหาร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร ครั้นแล้วพระลักขณะได้กล่าวขึ้นว่า “ท่านมหาโมคคัลลานะ เมื่อท่านลงจากภูเขา คิชฌกูฏ ในกรุงราชคฤห์นี้ ถึงสถานที่แห่งหนึ่งได้แสดงอาการแย้ม อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ท่านแสดงอาการแย้ม” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๒๔๔}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

                                                                 ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ วินีตวัตถุ

พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า “ท่าน เมื่อกระผมลงจากภูเขาคิชฌกูฏได้เห็น สามเณรีเปรต ลอยในอากาศ สังฆาฏิ บาตร ประคตเอว และร่างกายของมันถูกไฟ ติดลุกโชน จนมันร้องครวญคราง กระผมมีความรู้สึกว่า น่าอัศจรรย์จริงไม่เคยปรากฏ ที่มีสัตว์เช่นนี้ มียักษ์เช่นนี้ มีเปรตเช่นนี้ มีการได้อัตภาพเช่นนี้อยู่” ภิกษุทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทนาว่า “พระมหาโมคคัลลานะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สาวกทั้งหลายที่มีจักษุญาณก็ยังมีอยู่ เพราะสาวกที่รู้ที่เห็นนี้เป็นพยานได้ เมื่อก่อน เราก็เห็นสามเณรีเปรตนั้นแต่ไม่พยากรณ์ เพราะการพยากรณ์นั้นจะไม่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลซ้ำจะเป็นทุกข์ยาวนาน แก่ผู้ที่ไม่เชื่อเรา ภิกษุทั้งหลาย เปรตนั้นเคยเป็น สามเณรีชั่วในศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะผลกรรมนั้นจึงตกนรกหมก ไหม้อยู่หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปีแล้วได้รับอัตภาพเช่นนี้เพราะเศษกรรม ที่ยังเหลือ โมคคัลลานะกล่าวจริงจึงไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๕๖)
เรื่องแม่น้ำตโปทา ๑ เรื่อง
[๒๓๑] สมัยนั้น พระมหาโมคคัลลานะเรียกภิกษุทั้งหลายมาบอกว่า “ท่าน ทั้งหลาย แม่น้ำตโปทานี้ไหลมาจากสระน้ำที่ใสเย็นจืดสนิทสะอาดมีท่าเรียบ น่า รื่นรมย์ มีฝูงปลาและเต่าอาศัยอยู่มาก มีดอกบัวขนาดเท่าวงล้อบานอยู่ แต่กระนั้น แม่น้ำตโปทาก็ยังคงร้อนเดือดพล่านไหลไป” ภิกษุทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทนาว่า “ไฉนพระมหาโมคคัลลานะ พูดอย่างนั้นเล่า ท่านกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี พระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำตโปทาไหลผ่านมาระหว่าง มหานรก ๒ ขุม ดังนั้นจึงคงเดือดพล่านไหลไป โมคคัลลานะกล่าวจริง ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๕๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๒๔๕}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๔๔-๒๔๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=1&page=244&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=1&A=6946 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=1&A=6946#p244 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 1 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_1 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu1 https://84000.org/tipitaka/english/?index_1



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๔๔-๒๔๕.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]