ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย มหาวรรค

หน้าที่ ๑๐๙-๑๑๑.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

                                                                 ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม

ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม๑-
[๑๖๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในอัมพ- ปาลีวันแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะไป ยังเวฬุวคามกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงเวฬุวคาม ประทับอยู่ในเวฬุวคามนั้น รับสั่ง เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจำพรรษารอบกรุง เวสาลีตามที่ที่มีเพื่อน ตามที่ที่มีคนเคยพบเห็นกัน ตามที่ที่มีคนเคยคบกัน ส่วนเรา จะจำพรรษาในเวฬุวคามนี้” พวกภิกษุทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจำพรรษารอบกรุงเวสาลีตามที่ที่มีเพื่อน ตามที่ที่มีคนเคยพบเห็นกัน ตามที่ที่มีคนเคยคบกัน ส่วนพระผู้มีพระภาคทรงจำ พรรษาในเวฬุวคามนั้น [๑๖๔] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษา ได้เกิดอาการพระประชวร อย่างรุนแรงมีทุกขเวทนา๒- อย่างแสนสาหัสจวนเจียนจะปรินิพพาน พระองค์ทรงมี สติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นไม่พรั่นพรึงทรงพระดำริว่า “การที่เราไม่บอกผู้อุปัฏฐาก ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพานนั้น ไม่เหมาะแก่เรา ทางที่ดี เราควรใช้ความเพียร๓- ขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่ต่อไป” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ความเพียรขับไล่อาการพระประชวรนั้น ทรงดำรงชีวิตสังขารอยู่ อาการพระประชวรจึงสงบ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหายจาก พระประชวร หายจากพระอาการไข้ไม่นาน ได้เสด็จออกจากพระวิหารไปประทับนั่ง บนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วในร่มเงาพระวิหาร @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๗๕/๒๒๒-๒๒๓ @ ทุกขเวทนา ในที่นี้หมายถึงความรู้สึกเจ็บปวด เป็นอาการของทุกข์ในไตรลักษณ์ซึ่งเกิดขึ้นได้แม้แก่ผู้ที่เป็น @พระอรหันต์ มิใช่ทุกข์ในปฏิจจสมุปบาทหรือในอริยสัจ พระผู้มีพระภาคทรงข่มทุกขเวทนานี้ด้วยความเพียร @(ที.ม.อ. ๑๖๔/๑๔๘-๑๔๙) @ ความเพียร ในที่นี้มี ๒ อย่าง คือ (๑) ความเพียรที่เป็นบุพภาค ได้แก่ การบริกรรมผลสมาบัติ (๒) ความเพียร @ที่ประกอบด้วยผลสมาบัติ (ที.ม.อ. ๑๖๔/๑๔๙, ที.ม.ฏีกา ๑๖๔/๑๗๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๐๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

                                                                 ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม

ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อ ข้าพระองค์ได้เห็นพระสุขภาพของพระองค์แล้ว ได้เห็นพระองค์ทรงอดทนต่อทุกข- เวทนาแล้ว ทำให้ร่างกายของข้าพระองค์อ่อนเปลี้ยประดุจคนเมา ข้าพระองค์รู้สึก มืดทุกด้าน แม้ธรรม๑- ก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์อีกแล้ว เพราะพระอาการไข้ของ พระผู้มีพระภาค แต่ข้าพระองค์ก็ยังเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า ‘พระผู้มีพระภาคจะยัง ไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ปรารภภิกษุสงฆ์แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใด อย่างหนึ่ง” [๑๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังจะหวังได้อะไรในเรา อีกเล่า ธรรมที่เราแสดงแล้วไม่มีในไม่มีนอก๒- ในเรื่องธรรมทั้งหลาย ตถาคตไม่มี อาจริยมุฏฐิ๓- ผู้ที่คิดว่า เราเท่านั้น จักเป็นผู้บริหารภิกษุสงฆ์ต่อไป หรือว่า ภิกษุสงฆ์ จะต้องยึดเราเท่านั้นเป็นหลัก ผู้นั้นจะต้องปรารภภิกษุสงฆ์แล้วกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นแน่ แต่ตถาคตไม่คิดว่า เราเท่านั้น จักเป็นผู้บริหารภิกษุสงฆ์ต่อไป หรือว่า ภิกษุสงฆ์จะต้องยึดเราเท่านั้นเป็นหลัก แล้วทำไมตถาคตจะต้องปรารภภิกษุสงฆ์ กล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งอีกเล่า บัดนี้ เราเป็นผู้ชรา แก่ เฒ่า ล่วงกาลมานาน ผ่านวัยมามาก เรามีวัย ๘๐ ปี ร่างกายของตถาคตประหนึ่งแซมด้วยไม้ไผ่ ยังเป็น ไปได้ ก็เหมือนกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ฉะนั้น ร่างกายของตถาคตสบาย ขึ้นก็เพราะในเวลาที่ตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทุกอย่าง และ เพราะดับเวทนาบางอย่างได้เท่านั้น @เชิงอรรถ : @ ธรรม ในที่นี้หมายถึงสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น (ที.ม.อ. ๑๖๔/๑๔๙) @ ไม่มีในไม่มีนอก หมายถึงไม่แบ่งเป็น ๒ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นการแบ่งธรรมหรือแบ่งบุคคล(ผู้ฟัง) เช่น ผู้ที่คิดว่า @เราจะไม่แสดงธรรมประมาณเท่านี้แก่บุคคลอื่น ซึ่งว่าทำธรรมให้มีใน แต่จะแสดงธรรมประเภทเท่านี้ @แก่บุคคลอื่น ชื่อว่าทำธรรมให้มีนอก ส่วนผู้ที่คิดว่า เราจะแสดงแก่บุคคลนี้ ชื่อว่าทำบุคคลให้มีใน ไม่แสดง @แก่บุคคลอื่น ชื่อว่าทำบุคคลให้มีนอก (ที.ม.อ. ๑๖๕/๑๔๙) @ อาจริยมุฏฐิ แปลว่า กำมือของอาจารย์ อธิบายว่า มือที่กำไว้ ใช้เรียกอาการของอาจารย์ภายนอก @พระพุทธศาสนาที่หวงวิชา ไม่ยอมบอกแก่ศิษย์ขณะที่ตนเองยังหนุ่ม แต่จะบอกแก่ศิษย์ที่ตนรัก ขณะที่ตน @ใกล้จะตายเท่านั้น แต่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงถือตามคติเช่นนี้ (ที.ม.อ. ๑๖๕/๑๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๑๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]

                                                                 ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม

อานนท์ เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ๑- มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มี สิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ ๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ ๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้๒- ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรม เป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล อานนท์ ภิกษุเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่ว่าจะในบัดนี้หรือเมื่อเราล่วงไปแล้ว จะเป็น ผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุเหล่านั้นจักอยู่ในความเป็นผู้เลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้ใคร่ต่อ การศึกษา”๓-
คามกัณฑ์ ในมหาปรินิพพานสูตร จบบริบูรณ์
ภาณวารที่ ๒ จบ
@เชิงอรรถ : @ มีตนเป็นเกาะ ในที่นี้หมายถึงทำตนให้พ้นจากห้วงน้ำ คือ โอฆะ ๔ เหมือนกับเกาะกลางมหาสมุทรที่ @น้ำท่วมไม่ถึง (ที.ม.อ. ๑๖๕/๑๕๐, ที.ม.ฏีกา ๑๖๕/๑๘๐) @ ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๗๔/๓๙๐ @ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๘๐/๔๙, ๑๐๙/๖๗, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๗๙/๒๓๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๑๑}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๑๐๙-๑๑๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=10&page=109&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=10&A=3172 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=10&A=3172#p109 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 10 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_10 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu10 https://84000.org/tipitaka/english/?index_10



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๐๙-๑๑๑.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]