ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย มหาวรรค

หน้าที่ ๑๑-๑๕.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ๑๖ ประการ

กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ๑๖ ประการ๑-
[๑๗] ๑. ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีโพธิสัตว์๒- ทรงมีสติสัมปชัญญะตลอด ตั้งแต่จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตจนถึงเสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้ [๑๘] ๒. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตเสด็จ ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา แสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ ปรากฏขึ้นในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ล่วงเทวานุภาพของ เหล่าเทพ แม้ในช่องว่างระหว่างโลกซึ่งไม่มีอะไรคั่น มีสภาพมืดมิด หรือที่ที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ส่องแสงไปไม่ถึง ก็มีแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้น ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ เพราะแสงสว่างนั้น เหล่าสัตว์ที่เกิด ในที่นั้นๆ จึงรู้จักกันและกันว่า ‘ยังมีสัตว์อื่นเกิดในที่นี้เหมือนกัน’ และ ๑๐ สหัสสีโลกธาตุ๓- นี้สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่าง เจิดจ้าหาประมาณมิได้ก็ปรากฏขึ้นในโลก ล่วงเทวานุภาพของ เหล่าเทพ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้ [๑๙] ๓. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ พระมารดา เทพบุตร ๔ องค์๔- เข้าไปอารักขาประจำทั้ง ๔ ทิศด้วย @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๒๐๐-๒๐๗/๑๖๙-๑๗๓ @ โพธิสัตว์ หมายถึงผู้บำเพ็ญมรรค ๔ เพื่อบรรลุโพธิ (ที.ม.อ. ๑๗/๒๑) @ คำว่า “๑๐ สหัสสีโลกธาตุ” บางทีใช้ว่า โลกธาตุ ดังที่ปรากฏในมหาสมยสูตร (บาลี) ข้อ ๓๓๑/๒๑๖ ตอนหนึ่ง @ว่า “ทสหิ จ โลกธาตูหิ เทวตา” หมายถึงเหล่าเทวดาจาก ๑๐ โลกธาตุ อนึ่ง ๑๐ โลกธาตุ ในที่นี้เท่ากับ @หมื่นจักรวาล ซึ่งตรงกับ ๑๐ สหัสสีโลกธาตุ ในพระสูตรนี้ (ที.ม.อ. ๓๓๑/๒๙๓) และดูรายละเอียดใน @องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๘๑/๓๐๕-๓๐๗ @ เทพบุตร ๔ องค์ ในที่นี้หมายถึงท้าวมหาราช ๔ องค์ คือ (๑) ท้าวธตรฐ จอมคนธรรพ์ครองทิศตะวันออก @(๒) ท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ครองทิศใต้ (๓) ท้าววิรูปักษ์ จอมนาคครองทิศตะวันตก (๔) ท้าวเวสวัณ @จอมยักษ์ครองทิศเหนือ (ที.ม.อ. ๒๙๔/๒๖๐, ที.ม.ฏีกา ๑๙/๓๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ๑๖ ประการ

ตั้งใจว่า ‘มนุษย์หรืออมนุษย์ใดๆ อย่าได้เบียดเบียนพระโพธิสัตว์ หรือพระมารดาของพระโพธิสัตว์เลย’ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้ [๒๐] ๔. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ พระมารดา พระมารดามีปกติทรงศีล คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นจากการ ประพฤติผิดในกาม เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการเสพของ มึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ข้อนี้เป็น กฎธรรมดาในเรื่องนี้ [๒๑] ๕. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ พระมารดา พระมารดาของพระองค์ไม่ทรงมีความรู้สึกทาง กามารมณ์ เป็นผู้ที่บุรุษผู้มีจิตกำหนัดใดๆ ไม่สามารถล่วงเกินได้ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้ [๒๒] ๖. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ พระมารดา พระมารดาของพระองค์ทรงได้กามคุณ ๕ เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ข้อนี้เป็นกฎ ธรรมดาในเรื่องนี้ [๒๓] ๗. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ พระมารดา พระมารดาของพระองค์ไม่ทรงมีความเจ็บป่วยใดๆ ทรงมีความสุข ไม่ลำบากพระวรกาย มองเห็นพระโพธิสัตว์ อยู่ภายในพระครรภ์ มีพระอวัยวะสมบูรณ์ มีพระอินทรีย์ไม่ บกพร่อง ภิกษุทั้งหลาย เหมือนแก้วไพฑูรย์อันงดงามตาม ธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้ สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาว หรือสีนวล ร้อยอยู่ ข้างใน คนตาถึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณารู้ว่า ‘นี้ คือ แก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไน ดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาว หรือสีนวล ร้อยอยู่ข้างใน’ ฉันใด เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ๑๖ ประการ

พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระองค์ไม่ทรงมีความ เจ็บป่วยใดๆ ทรงมีความสุข ไม่ลำบากพระวรกาย มองเห็น พระโพธิสัตว์อยู่ภายในพระครรภ์ มีพระอวัยวะสมบูรณ์ มีพระอินทรีย์ ไม่บกพร่อง ฉันนั้นเหมือนกัน ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้ [๒๔] ๘. มีกฎธรรมดาดังนี้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน พระมารดา ของพระองค์สวรรคตไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ข้อนี้เป็นกฎธรรมดา ในเรื่องนี้ [๒๕] ๙. มีกฎธรรมดาดังนี้ พระมารดาของพระโพธิสัตว์ไม่ประสูติพระโอรส เหมือนสตรีทั่วไปที่จะคลอดลูกหลังจากตั้งครรภ์ได้ ๙ เดือนหรือ ๑๐ เดือน ส่วนพระมารดาของพระโพธิสัตว์ประสูติพระโอรสเมื่อ ทรงพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือนเท่านั้น ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาใน เรื่องนี้ [๒๖] ๑๐. มีกฎธรรมดาดังนี้ พระมารดาของพระโพธิสัตว์ ไม่ประสูติพระโอรส เหมือนสตรีทั่วไปซึ่งจะนั่งคลอดหรือนอนคลอดก็ได้ ส่วนพระมารดา ของพระโพธิสัตว์ประทับยืนประสูติเท่านั้น ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาใน เรื่องนี้ [๒๗] ๑๑. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของ พระมารดา ในตอนแรกเหล่าเทพจะทำพิธีต้อนรับ หลังจากนั้น เป็นหน้าที่ของมนุษย์ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้ [๒๘] ๑๒. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของ พระมารดา ยังไม่ทันสัมผัสแผ่นดิน เทพบุตร ๔ องค์ช่วยกันประคอง พระโพธิสัตว์ไปไว้เบื้องพระพักตร์ของพระมารดาแล้วกราบทูลว่า ‘โปรดพอพระทัยเถิด พระเทวี พระราชโอรสของพระองค์ที่เสด็จ อุบัติขึ้นเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่’ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้ [๒๙] ๑๓. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของ พระมารดา เสด็จออกโดยง่าย ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ เมือก เลือด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ๑๖ ประการ

หรือสิ่งไม่สะอาดใดๆ เป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ ภิกษุทั้งหลาย เหมือน แก้วมณีที่บุคคลวางไว้ในผ้ากาสิกพัสตร์ ย่อมไม่ทำให้ผ้ากาสิกพัสตร์ แปดเปื้อน ถึงผ้ากาสิกพัสตร์ก็ไม่ทำให้แก้วมณีแปดเปื้อน ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะสิ่งทั้งสองเป็นของสะอาดบริสุทธิ์ ฉันใด เวลา ที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา เสด็จออกโดยง่าย ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ เมือก เลือด หรือสิ่งไม่สะอาดใดๆ เป็นผู้ สะอาดบริสุทธิ์ ฉันนั้นเหมือนกัน ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้ [๓๐] ๑๔. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของ พระมารดา มีธารน้ำปรากฏในอากาศ ๒ สาย คือ ธารน้ำเย็นและ ธารน้ำอุ่น เพื่อชำระล้างพระโพธิสัตว์และพระมารดา ข้อนี้เป็นกฎ ธรรมดาในเรื่องนี้ [๓๑] ๑๕. มีกฎธรรมดาดังนี้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ครู่หนึ่ง ทรงยืนได้ อย่างมั่นคงด้วยพระบาททั้งสองที่เสมอกัน ทรงผินพระพักตร์ไปทาง ทิศเหนือ ทรงดำเนินไป ๗ ก้าว ขณะที่หมู่เทวดากั้นเศวตฉัตรตาม เสด็จ ทอดพระเนตรไปยังทิศต่างๆ แล้ว ทรงเปล่งพระอาสภิวาจา (วาจาอย่างองอาจ)ว่า ‘เราคือผู้เลิศของโลก เราคือผู้เจริญที่สุด ของโลก เราคือผู้ประเสริฐที่สุดของโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก’ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้ [๓๒] ๑๖. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของ พระมารดา แสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้นในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณ- พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ แม้ใน ช่องว่างระหว่างโลกซึ่งไม่มีอะไรคั่น มีสภาพมืดมิด หรือที่ที่ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ส่องแสงไปไม่ถึง ก็มีแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้น ล่วงเทวานุภาพของ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

เหล่าเทพ เพราะแสงสว่างนั้น เหล่าสัตว์ที่เกิดในที่นั้นๆ จึงรู้จักกัน และกันว่า ‘ยังมีสัตว์อื่นเกิดในที่นี้เหมือนกัน’ และ ๑๐ สหัสสี- โลกธาตุนี้สั่นสะเทือน เลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณ มิได้ ก็ปรากฏขึ้นในโลก ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ ข้อนี้เป็นกฎ ธรรมดาในเรื่องนี้
ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ๑-
[๓๓] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระวิปัสสีราชกุมารประสูติแล้ว พวกอำมาตย์ ได้กราบทูลพระเจ้าพันธุมาว่า ‘ขอเดชะ พระราชโอรสของพระองค์ประสูติแล้ว โปรดทอดพระเนตรเถิด’ พระเจ้าพันธุมาได้ทอดพระเนตรวิปัสสีราชกุมาร แล้วรับสั่ง ให้เชิญพราหมณ์โหราจารย์มาตรัสว่า ‘พราหมณ์โหราจารย์ จงทำนายวิปัสสีราช- กุมาร’ พวกพราหมณ์โหราจารย์เห็นพระวิปัสสีราชกุมารแล้วได้กราบทูลพระเจ้าพันธุมา ว่า ‘ขอเดชะ โปรดพอพระทัยเถิด พระราชโอรสของพระองค์ที่เสด็จอุบัติขึ้นเป็นผู้มี ศักดิ์ใหญ่ นับว่าเป็นลาภอันประเสริฐของพระองค์ผู้ได้พระราชโอรสเช่นนี้อยู่ในราชตระกูล เพราะพระราชกุมารนี้สมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ที่เป็นเหตุให้ มหาบุรุษมีคติ๒- ๒ อย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์ โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็น @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๒๕๘/๘๙-๙๐, ที.ปา. ๑๑/๑๙๙-๒๐๐/๑๒๓-๑๒๕, ม.ม. ๑๓/๑๘๖/๓๖๘-๓๗๐ @ คติ มีความหมายหลายนัย คือ (๑) ที่ที่สัตว์จะไปเกิด (๒) อัธยาศัย (๓) ที่พึ่ง (๔) ความสำเร็จ ในที่นี้ @หมายถึงความสำเร็จ คือบรรลุผลตามจุดหมาย (ที.ม.อ. ๓๓/๓๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๕}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๑๑-๑๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=10&page=11&pages=5&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=10&A=306 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=10&A=306#p11 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 10 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_10 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu10 https://84000.org/tipitaka/english/?index_10



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๑-๑๕.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]