ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย มหาวรรค

หน้าที่ ๒๒-๓๐.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 คนชรา

เพราะคำเล่าลือว่า ‘พระราชกุมารวินิจฉัยให้คดีดำเนินไปด้วยพระญาณ’ มีปริมาณ มากขึ้น จึงเกิดมีพระสมญาว่า ‘วิปัสสี วิปัสสี’ [๔๒] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาโปรดให้สร้างปราสาท ๓ หลัง สำหรับพระ วิปัสสีราชกุมาร หลังหนึ่งสำหรับประทับในฤดูฝน หลังหนึ่งสำหรับประทับใน ฤดูหนาว หลังหนึ่งสำหรับประทับในฤดูร้อน โปรดให้บำรุงพระราชกุมารด้วย กามคุณ ๕ พระวิปัสสีราชกุมารทรงได้รับการบำรุงบำเรอด้วยดนตรีที่ไม่ปะปนด้วย บุรุษในปราสาทสำหรับประทับในฤดูฝน ไม่ได้เสด็จลงมาชั้นล่างปราสาทตลอด ๔ เดือน
ภาณวารที่ ๑ จบ
เทวทูต ๔
คนชรา
[๔๓] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเวลาล่วงไปหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระ วิปัสสีราชกุมารรับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘สหายสารถี เธอจงเทียมยานพาหนะ คันงามๆ เราจะไปอุทยานชมภูมิประเทศที่สวยงาม’ นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้ว เทียมยานพาหนะคันงามๆ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ข้าพระองค์เทียมยานพาหนะคันงามๆ ไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนด เวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’ พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานพาหนะคันงามเสด็จประพาสอุทยาน พร้อมด้วย ยานพาหนะคันงามๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน [๔๔] ขณะที่เสด็จประพาสอุทยาน พระวิปัสสีราชกุมารได้ทอดพระเนตรเห็น ชายชราผู้มีซี่โครงคดเหมือนกลอนประตู หลังงองุ้ม เดินถือไม้เท้างกๆ เงิ่นๆ กระสับกระส่าย หมดความหนุ่มแน่น จึงตรัสถามนายสารถีว่า ‘สหายสารถี ชายคนนี้ถูกใครทำอะไรให้ เส้นผมและร่างกายของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่นๆ’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 คนชรา

นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา’ ‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าคนชรา’ ‘ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา เพราะเวลานี้เขาจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน พระเจ้าข้า’ ‘ถึงเราเองก็จะต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้นกระนั้นหรือ’ ‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า’ ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’ นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่าความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มี ความแก่’ [๔๕] ต่อมา พระเจ้าพันธุมารับสั่งให้เรียกนายสารถีมาแล้วตรัสถามว่า ‘พ่อสารถีคนดี ราชกุมารยินดีในอุทยานหรือไม่ พอใจในอุทยานหรือไม่’ นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ พระราชกุมารไม่ทรงยินดีในพระอุทยาน ไม่ทรง พอพระทัยในพระอุทยาน’ ท้าวเธอตรัสถามว่า ‘ขณะเที่ยวชมอุทยาน ราชกุมารพบเห็นอะไรหรือ’ นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขณะที่เสด็จประพาสพระอุทยาน พระราชกุมารได้ทอด พระเนตรเห็นชายชรา ผู้มีซี่โครงคดเหมือนกลอนประตู หลังงองุ้ม เดินถือไม้เท้า งกๆ เงิ่นๆ กระสับกระส่าย หมดความหนุ่มแน่น จึงตรัสถามข้าพระองค์ว่า ‘สหายสารถี ชายคนนี้ถูกใครทำอะไรให้ เส้นผมและร่างกายของเขาจึงไม่เหมือนของ คนอื่นๆ’ ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา’ ‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าคนชรา’ ‘ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา เพราะเวลานี้เขาจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน พระเจ้าข้า’ ‘ถึงเราเองก็จะต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้นกระนั้นหรือ’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 คนเจ็บ

‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า’ ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’ ข้าพระองค์ทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที พระราชกุมาร เสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่า ความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มีความแก่’ พระเจ้าข้า
คนเจ็บ
[๔๖] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า ‘ขออย่าให้วิปัสสีกุมารไม่ยอม ครองราชย์เลย อย่าได้ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเลย คำทำนายของพราหมณ์ โหราจารย์อย่าได้เป็นจริงเลย’ จึงรับสั่งให้บำรุงบำเรอพระวิปัสสีราชกุมารด้วย กามคุณ ๕ มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อว่าพระวิปัสสีราชกุมารจะอยู่ครองราชย์ จะไม่ เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต และคำทำนายของพราหมณ์โหราจารย์ จะผิดพลาด พระวิปัสสีราชกุมารทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ในพระราชฐานนั้น เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระวิปัสสี- ราชกุมารรับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘สหายสารถี เธอจงเทียมยานพาหนะ คันงามๆ เราจะไปอุทยานชมภูมิประเทศที่สวยงาม’ นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้ว เทียมยานพาหนะคันงามๆ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ข้าพระองค์เทียมยานพาหนะคันงามๆ ไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนด เวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’ พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานพาหนะคันงามเสด็จ ประพาสอุทยาน พร้อมด้วยยานพาหนะคันงามๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน [๔๗] เมื่อเสด็จประพาสอุทยานอีก พระวิปัสสีราชกุมารได้ทอดพระเนตร เห็นคนเจ็บทนทุกข์ ป่วยหนัก นอนทุรนทุรายจมกองอุจจาระปัสสาวะของตน คนอื่นต้องช่วยกันพยุงให้กินอาหาร จึงตรัสถามนายสารถีว่า ‘สหายสารถี ชายคนนี้ถูก ใครทำอะไรให้ นัยน์ตาทั้งคู่และศีรษะของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่นๆ’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 คนเจ็บ

นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนเจ็บ’ ‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าคนเจ็บ’ ‘ผู้นี้ชื่อว่าคนเจ็บ เพราะเขาหายจากความเจ็บป่วยนั้นได้อย่างยากเย็น พระเจ้าข้า’ ‘ถึงเราเองก็จะต้องเจ็บป่วยเป็นธรรมดา หนีไม่พ้นกระนั้นหรือ’ ‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องเจ็บป่วยเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า’ ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’ นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่าความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มีความแก่ ความเจ็บ’ [๔๘] ต่อมา พระเจ้าพันธุมารับสั่งให้เรียกนายสารถีมาแล้ว ตรัสถามว่า ‘พ่อสารถีคนดี ราชกุมารยินดีในอุทยานหรือไม่ พอใจในอุทยานหรือไม่’ นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ พระราชกุมารไม่ทรงยินดีในพระอุทยาน ไม่ทรง พอพระทัยในพระอุทยาน’ ท้าวเธอตรัสถามว่า ‘ขณะเที่ยวชมอุทยาน ราชกุมารพบเห็นอะไรหรือ’ นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขณะที่เสด็จประพาสพระอุทยาน พระราชกุมารได้ทอด พระเนตรเห็นคนเจ็บทนทุกข์ ป่วยหนัก นอนทุรนทุรายจมกองอุจจาระปัสสาวะ ของตนคนอื่นต้องช่วยกันพยุงให้กินอาหาร จึงตรัสถามข้าพระองค์ว่า ‘สหายสารถี ชายคนนี้ถูกใครทำอะไรให้ นัยน์ตาทั้งคู่และศีรษะของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่นๆ’ ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนเจ็บ’ ‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าคนเจ็บ’ ‘ผู้นี้ชื่อว่าคนเจ็บ เพราะเขาหายจากความเจ็บป่วยนั้นได้อย่างยากเย็น พระเจ้าข้า’ ‘ถึงเราเองก็จะต้องป่วยเป็นธรรมดา หนีไม่พ้นกระนั้นหรือ’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 คนตาย

‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องเจ็บป่วยเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า’ ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’ ข้าพระองค์ทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที พระราชกุมาร เสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่า ความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มีความแก่ ความเจ็บ’ พระเจ้าข้า’
คนตาย
[๔๙] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า ‘ขออย่าให้วิปัสสีกุมารไม่ยอม ครองราชย์เลย อย่าได้ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเลย คำทำนายของพราหมณ์ โหราจารย์อย่าได้เป็นจริงเลย’ จึงรับสั่งให้บำรุงบำเรอพระวิปัสสีราชกุมารด้วย กามคุณ ๕ มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อว่าพระวิปัสสีราชกุมารจะอยู่ครองราชย์ จะไม่ เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต และคำทำนายของพราหมณ์โหราจารย์ จะผิดพลาด พระราชกุมารทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ใน พระราชฐานนั้น เมื่อเวลาล่วงไปหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระวิปัสสีราชกุมาร รับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘สหายสารถี เธอจงเทียมยานพาหนะคันงามๆ เราจะไปอุทยานชมภูมิประเทศที่สวยงาม’ นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้ว เทียมยานพาหนะคันงามๆ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ข้าพระองค์เทียมยานพาหนะคันงามๆ ไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนด เวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’ พระราชกุมารทรงยานพาหนะคันงามเสด็จประพาส อุทยาน พร้อมด้วยยานพาหนะคันงามๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน [๕๐] เมื่อพระวิปัสสีราชกุมารเสด็จประพาสอุทยานอีก ได้ทอดพระเนตรเห็น หมู่ชนประชุมกันและกำลังประดับคานหามด้วยผ้าหลากสี จึงตรัสถามนายสารถีว่า ‘สหายสารถี หมู่ชนประชุมกันและประดับคานหามด้วยผ้าหลากสีไว้ทำไม’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 คนตาย

นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนตาย’ พระวิปัสสีราชกุมารรับสั่งว่า ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทาง คนตายนั้น’ นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถไปทางคนตายนั้น พระราชกุมารทอดพระเนตรคนตาย จึงตรัสถามนายสารถีว่า ‘ทำไม เขาจึง ชื่อว่าคนตาย’ นายสารถีทูลตอบว่า ‘ผู้นี้ชื่อว่าคนตาย เพราะเวลานี้มารดาบิดาหรือ ญาติสาโลหิตอื่นๆ จะไม่ได้พบเห็นเขาอีก ตัวเขาก็จะไม่ได้พบเห็นมารดาบิดาหรือ ญาติสาโลหิตอื่นๆ อีก พระเจ้าข้า’ ‘ถึงเราเองก็จะต้องตายเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระมารดา พระบิดา หรือพระ ประยูรญาติอื่นๆ จะไม่ได้พบเห็นเรา แม้เราก็จะไม่ได้พบเห็นพระมารดา พระบิดา หรือพระประยูรญาติอื่นๆ กระนั้นหรือ’ ‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องตายเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า พระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือพระประยูรญาติอื่นๆ จะไม่ทรงพบเห็นพระองค์ แม้พระองค์ก็จะไม่ทรงพบเห็นพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือพระประยูรญาติอื่นๆ’ ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’ นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่าความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มี ความแก่ ความเจ็บ ความตาย’ [๕๑] ต่อมา พระเจ้าพันธุมารับสั่งให้เรียกนายสารถีมาแล้วตรัสถามว่า ‘พ่อสารถีคนดี ราชกุมารยินดีในอุทยานหรือไม่ พอใจในอุทยานหรือไม่’ นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ พระราชกุมารไม่ทรงยินดีในพระอุทยาน ไม่ทรงพอพระทัยในพระอุทยานครั้งนี้เลย’ ท้าวเธอตรัสถามว่า ‘ขณะที่เที่ยวชมอุทยาน ราชกุมารพบเห็นอะไรหรือ’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 คนตาย

นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขณะที่เสด็จประพาสพระอุทยาน พระราชกุมาร ได้ทอด พระเนตรเห็นหมู่ชนประชุมกันและกำลังประดับคานหามด้วยผ้าหลากสี จึงตรัสถาม ข้าพระองค์ว่า ‘สหายสารถี หมู่ชนประชุมกันและกำลังประดับคานหามด้วยผ้า หลากสีไว้ทำไม’ ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนตาย’ พระราชกุมารรับสั่งว่า ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทางคนตายนั้น’ ข้าพระองค์ทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถไปทางคนตายนั้น พระราชกุมารทอดพระเนตรคนตาย จึงตรัสถามข้าพระองค์ว่า ‘ทำไม เขาจึง ชื่อว่าคนตาย’ ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘ผู้นี้ชื่อว่าคนตาย เพราะเวลานี้มารดาบิดาหรือ ญาติสาโลหิตอื่นๆ จะไม่ได้พบเห็นเขาอีก ตัวเขาก็จะไม่ได้พบเห็นมารดาบิดาหรือ ญาติสาโลหิตอื่นๆ อีก พระเจ้าข้า’ ‘ถึงเราเองก็จะต้องตายเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระมารดา พระบิดา หรือ พระประยูรญาติอื่นๆ จะไม่ได้พบเห็นเรา แม้เราก็จะไม่ได้พบเห็นพระมารดา พระบิดา หรือพระประยูรญาติอื่นๆ กระนั้นหรือ’ ‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องตายเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า พระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือพระประยูรญาติอื่นๆ จะไม่ทรงพบเห็นพระองค์ แม้พระองค์ก็จะไม่ทรงพบเห็นพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือพระประยูรญาติอื่นๆ’ ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’ ข้าพระองค์ทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที พระราชกุมาร เสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่า ความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย’ พระเจ้าข้า’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 บรรพชิต

บรรพชิต
[๕๒] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า ‘ขออย่าให้วิปัสสีกุมารไม่ยอม ครองราชย์เลย อย่าได้ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเลย คำทำนายของพราหมณ์ โหราจารย์อย่าได้เป็นจริงเลย’ จึงรับสั่งให้บำรุงบำเรอพระวิปัสสีราชกุมารด้วย กามคุณ ๕ มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อว่าพระวิปัสสีราชกุมารจะอยู่ครองราชย์ จะไม่เสด็จ ออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต และคำทำนายของพราหมณ์โหราจารย์จะ ผิดพลาด พระวิปัสสีราชกุมารทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ในพระราชฐานนั้น เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระวิปัสสีราช- กุมารรับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘สหายสารถี เธอจงเทียมยานพาหนะคันงามๆ เราจะไปอุทยานชมภูมิประเทศที่สวยงาม’ นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้ว เทียมยานพาหนะคันงามๆ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ข้าพระองค์เทียมยานพาหนะคันงามๆ ไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนด เวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’ พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานพาหนะคันงามเสด็จ ประพาสอุทยานพร้อมด้วยยานพาหนะคันงามๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน [๕๓] พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จประพาสอุทยานอีก ได้ทอดพระเนตรเห็น บุรุษศีรษะโล้นนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ จึงตรัสถามนายสารถีว่า ‘สหายสารถี ชายคนนี้ ถูกใครทำอะไรให้ ทั้งศีรษะและเครื่องนุ่งห่มของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่นๆ’ นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าบรรพชิต’ ‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าบรรพชิต’ ‘ผู้นั้นชื่อว่าบรรพชิต เพราะการประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติ สม่ำเสมอเป็นความดี การทำกุศลเป็นความดี การทำบุญเป็นความดี การไม่ เบียดเบียนเป็นความดี และการอนุเคราะห์หมู่สัตว์เป็นความดี พระเจ้าข้า’ ‘บรรพชิตนี้ดีแท้ เพราะการประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติสม่ำเสมอ เป็นความดี การทำกุศลเป็นความดี การทำบุญเป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็น ความดี และการอนุเคราะห์หมู่สัตว์เป็นความดี ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทาง บรรพชิตนั้น’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]

                                                                 มหาชนออกบวชตามเสด็จ

นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถไปทางบรรพชิตนั้น ครั้นแล้ว พระราชกุมารได้ตรัสถามบรรพชิตว่า ‘สหาย ท่านทำอะไร ศีรษะ และเครื่องนุ่งห่มของท่านจึงไม่เหมือนของคนอื่นๆ’ บรรพชิตนั้นทูลตอบว่า ‘ขอถวายพระพร อาตมภาพชื่อว่าบรรพชิต’ ‘ท่านชื่อว่าบรรพชิตหรือ’ ‘ขอถวายพระพร อาตมภาพชื่อว่าบรรพชิต เพราะการประพฤติธรรมเป็น ความดี การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การทำกุศลเป็นความดี การทำบุญ เป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี และการอนุเคราะห์หมู่สัตว์เป็นความดี’
พระโพธิสัตว์เสด็จออกผนวช
[๕๔] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พระวิปัสสีราชกุมารรับสั่งเรียกนายสารถี มาตรัสว่า ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น เธอจงนำรถกลับเข้าเมือง เราจักโกนผมและ หนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตในอุทยานนี้’ นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที ส่วนพระวิปัสสี ราชกุมารทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจาก พระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตที่อุทยานนั้นนั่นเอง
มหาชนออกบวชตามเสด็จ
[๕๕] มหาชนในกรุงพันธุมดีประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้ทราบข่าวว่า พระวิปัสสีราชกุมารทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จ ออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต จึงคิดว่า ‘พระธรรมวินัยและการบรรพชาที่ พระวิปัสสีราชกุมารได้ปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จ ออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตนั้น คงจะไม่ต่ำทราม คนระดับพระวิปัสสี ราชกุมาร ยังทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออก จากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตได้ ทำไมพวกเราจักบวชบ้างไม่ได้เล่า’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๓๐}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๒๒-๓๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=10&page=22&pages=9&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=10&A=630 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=10&A=630#p22 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 10 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_10 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu10 https://84000.org/tipitaka/english/?index_10



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๒-๓๐.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]