ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย มหาวรรค

หน้าที่ ๒๕๗-๒๕๘.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]

                                                                 เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ

[๓๒๘] สมัยนั้น เหล่าสาวกของมหาโควินทพราหมณ์ผู้รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด๑- หลังจากตายไป ไปเกิดในสุคติพรหมโลก ส่วนเหล่าสาวกผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด๒- หลังจากตายไป บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นนิมมานรดี บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้ อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นดุสิต บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นยามา บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์ บางพวกเข้าถึงความเป็น ผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นจาตุมหาราช ผู้ที่ได้รับผลอย่างต่ำกว่าเขาทั้งหมด ได้เป็น หมู่คนธรรพ์ การบวชของกุลบุตรเหล่านั้นทั้งหมด จึงไม่เป็นโมฆะ ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร ด้วยประการฉะนี้แล” [๓๒๙] ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงระลึกถึง เรื่องนั้นได้อยู่หรือ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ปัญจสิขะ เรายังระลึกได้ สมัยนั้น เราเป็น มหาโควินทพราหมณ์ ได้แสดงทางแห่งความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมในพรหมโลกแก่ สาวกเหล่านั้น แต่พรหมจรรย์นั้นไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อไปเกิด ในพรหมโลกเท่านั้น ส่วนพรหมจรรย์ของเรานี้ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อ คลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน พรหมจรรย์ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น คืออะไร @เชิงอรรถ : @ ผู้รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด หมายถึงผู้ได้สมาบัติ ๘ และอภิญญา ๖ (ที.ม.อ. ๓๒๘/๒๘๕) @ ผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด หมายถึงผู้ไม่รู้สมาบัติแม้เพียงอย่างเดียว (ที.ม.อ. ๓๒๘/๒๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๕๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]

                                                                 เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ

คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) ๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) ๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) ๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) ปัญจสิขะ นี้แลคือพรหมจรรย์ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน [๓๓๐] ปัญจสิขะ เหล่าสาวกของเราผู้รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด ทำให้แจ้ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เหล่าสาวกผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด บางพวกเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจาก โลกนั้นอีก บางพวกเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และ เพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บางพวกเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความ แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า การบวชของกุลบุตรเหล่านี้ทั้งหมด จึงไม่ เป็นโมฆะ ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร ด้วยประการฉะนี้แล” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรมีใจยินดี ชื่นชม อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำ ประทักษิณแล้วหายไปจากที่นั้นเอง
มหาโควินทสูตรที่ ๖ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๒๕๘}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๒๕๗-๒๕๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=10&page=257&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=10&A=7511 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=10&A=7511#p257 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 10 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_10 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu10 https://84000.org/tipitaka/english/?index_10



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๕๗-๒๕๘.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]