ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

หน้าที่ ๓๕๙-๓๖๑.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร]

                                                                 สังคีติหมวด ๑๐

ธรรมหมวดละ ๑๐ ประการ คืออะไร คือ
นาถกรณธรรม๑- (ธรรมเครื่องกระทำที่พึ่ง) ๑๐ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ๑. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระ (มารยาท)และโคจร(การเที่ยวไป) มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการ สังวรในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัย ในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นนาถ- กรณธรรม ๒. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลายที่มี ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบ ถ้วน แล้วทรงจำไว้ได้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ๒- แม้การที่ ภิกษุเป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม ๓. เป็นผู้มีมิตรดี๓- มีสหายดี๔- มีเพื่อนดี๕- แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม ๔. เป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทน รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วย @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๗/๓๑-๓๓ @ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิหมายถึงรู้แจ้งธรรมโดยผลและเหตุด้วยปัญญา (ที.ปา.อ. ๓๔๕/๒๔๖, @องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๒/๓๐๐) @ มิตรดี หมายถึงมิตรที่มีคุณธรรม คือ ศีล เป็นต้น (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๒) @ สหายดี หมายถึงเพื่อนร่วมงานที่ดี (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๒) @ เพื่อนดี หมายถึงเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนม รู้ใจกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน (ที.ปา.อ. ๓๔๕/๒๔๖, องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๓๕๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร]

                                                                 สังคีติหมวด ๑๐

ธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทน รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้ ก็เป็นนาถกรณธรรม ๕. เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำทั้งงานสูงและ งานต่ำ๑- ของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่อง พิจารณาอันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถทำได้ สามารถจัดได้ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะ ต้องช่วยกันทำทั้งงานสูงและงานต่ำของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ฯลฯ สามารถทำได้ สามารถจัดได้ นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม ๖. เป็นผู้ใคร่ธรรม๒- เป็นผู้ฟังและผู้แสดงธรรมอันเป็นที่พอใจ มีความ ปราโมทย์อย่างยิ่งในพระอภิธรรม๓- ในพระอภิวินัย๔- แม้การที่ภิกษุเป็น ผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟังและผู้แสดงธรรมอันเป็นที่พอใจ มีความปราโมทย์ อย่างยิ่งในพระอภิธรรม ในพระอภิวินัย นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม ๗. เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชช- บริขารตามแต่จะได้ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้ นี้ก็เป็นนาถ- กรณธรรม ๘. เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความ เข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรม เกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม @เชิงอรรถ : @ งานสูง หมายถึงงานย้อมจีวร หรืองานโบกทาพระเจดีย์ ตลอดถึงงานที่จะต้องช่วยกันทำที่โรงอุโบสถ @เรือนพระเจดีย์ เรือนต้นโพธิ์ เป็นต้น งานต่ำ หมายถึงงานเล็กน้อย มีล้างเท้า และนวดเท้า เป็นต้น @(ที.ปา.อ. ๓๔๕/๒๔๖, องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๒) @ ผู้ใคร่ธรรม ในที่นี้หมายถึงรักพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎก (ที.ปา.อ. ๓๔๕/๒๔๗, องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๒) @ พระอภิธรรม หมายถึงสัตตัปปกรณธรรม คือพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ มรรค ๔ และ @ผล ๔ (ที.ปา.อ. ๓๔๕/๒๔๗, องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๓) @ พระอภิวินัย หมายถึงขันธกบริวาร หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงธรรมที่เป็นเครื่องระงับกิเลส @(ที.ปา.อ. ๓๔๕/๒๔๗, องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๓๖๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร]

                                                                 สังคีติหมวด ๑๐

๙. เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน๑- อย่างยิ่ง ระลึกถึงสิ่งที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกถึงสิ่งที่ทำและ คำที่พูดแม้นาน นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม ๑๐. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความ เกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา เห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้น ทุกข์โดยชอบ นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
[๓๔๖] กสิณายตนะ๒- (บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์) ๑๐ ๑. บุคคลหนึ่งจำปฐวีกสิณ (กสิณคือดิน)ได้ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง ไม่มีประมาณ ๒. บุคคลหนึ่งจำอาโปกสิณ (กสิณคือน้ำ)ได้ ... ๓. บุคคลหนึ่งจำเตโชกสิณ (กสิณคือไฟ)ได้ ... ๔. บุคคลหนึ่งจำวาโยกสิณ (กสิณคือลม)ได้ ... ๕. บุคคลหนึ่งจำนีลกสิณ (กสิณคือสีเขียว)ได้ ... ๖. บุคคลหนึ่งจำปีตกสิณ (กสิณคือสีเหลือง)ได้ ... ๗. บุคคลหนึ่งจำโลหิตกสิณ (กสิณคือสีแดง)ได้ ... ๘. บุคคลหนึ่งจำโอทาตกสิณ (กสิณคือสีขาว)ได้ ... @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๓๓๑ หน้า ๓๑๓ ในเล่มนี้ @ บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ หมายถึงที่เกิดหรือที่เป็นไปแห่งธรรมทั้งหลายโดยบริกรรมกสิณ @เป็นอารมณ์ คำว่า กสิณ หมายถึงวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงใจให้เป็นสมาธิ (ที.ปา.อ. ๓๔๖/๒๔๗, @องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๕/๓๓๓, องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๒๕/๓๙๕) และดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๕/๕๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๓๖๑}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๓๕๙-๓๖๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=11&page=359&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=11&A=10265 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=11&A=10265#p359 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 11 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_11 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu11 https://84000.org/tipitaka/english/?index_11



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๕๙-๓๖๑.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]