ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

หน้าที่ ๓๙๕-๔๐๗.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

พุทธประวัติตอนบำเพ็ญสมาบัติ
ในสำนักอาฬารดาบส๑-
[๓๒๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราชกุมาร ก่อนการตรัสรู้ แม้อาตมภาพ ยังเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลจะไม่ประสบความสุข ด้วยความสุข แต่บุคคลจะประสบความสุขได้ด้วยความทุกข์เท่านั้น’ ในกาลต่อมา อาตมภาพยังหนุ่มแน่น แข็งแรง มีเกศาดำสนิท อยู่ในปฐมวัย เมื่อพระราชมารดา และพระราชบิดาไม่ทรงปรารถนาจะให้ผนวช มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสงอยู่ จึงโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากวังบวชเป็น บรรพชิต เมื่อบวชแล้วก็แสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐคือ ความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วกล่าวว่า ‘ท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’ เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงกล่าวกับอาตมภาพว่า ‘เชิญท่านอยู่ก่อน ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วย ปัญญาอันยิ่งเอง ตามแบบอาจารย์ของตน เข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้น ไม่นาน อาตมภาพก็เรียนรู้ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัย เท่านั้น ก็กล่าวญาณวาทะ๒- และเถรวาทะ๓- ได้ ทั้งอาตมภาพและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ อาตมภาพจึงคิดว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศธรรมนี้ ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อาฬารดาบส กาลามโคตร ยังรู้ ยังเห็นธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน’ จากนั้น อาตมภาพจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่าน กาลามะ ท่านประกาศธรรมนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร’ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๗๗-๒๘๖/๓๐๐-๓๑๓ และดูข้อ ๔๗๕-๔๘๔ หน้า ๖๐๐-๖๑๒ ในเล่มนี้ @ ญาณวาทะ หมายถึงลัทธิที่ว่า ข้าพเจ้ารู้ (ม.มู.อ. ๒/๒๗๗/๗๙) @ เถรวาทะ หมายถึงลัทธิที่ว่า ข้าพเจ้าเป็นใหญ่ (ม.มู.อ. ๒/๒๗๗/๗๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๙๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

เมื่ออาตมภาพถามอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงประกาศอากิญ- จัญญายตนสมาบัติแก่อาตมภาพ อาตมภาพจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีศรัทธา แม้เราก็มีศรัทธา ... มีวิริยะ ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน อาตมภาพก็ทำให้ แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ จากนั้น อาตมภาพจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่าน กาลามะ ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ’ อาฬารดาบส กาลามโคตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เราประกาศว่า ‘ข้าพเจ้า ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’ (อาตมภาพจึงกล่าวว่า) ‘ท่านกาลามะ แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วย ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’ (อาฬารดาบส กาลามโคตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะข้าพเจ้าประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใด ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ข้าพเจ้าก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ข้าพเจ้าทราบธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด ข้าพเจ้าก็ทราบ ธรรมนั้น เป็นอันว่าข้าพเจ้าเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด ข้าพเจ้า ก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ เราทั้งสองจะอยู่ร่วมกันบริหารคณะนี้’ ราชกุมาร อาฬารดาบส กาลามโคตรทั้งที่เป็นอาจารย์ของอาตมภาพ ก็ยกย่อง อาตมภาพผู้เป็นศิษย์ให้เสมอกับตน และบูชาอาตมภาพด้วยการบูชาอย่างดี ด้วย ประการอย่างนี้ แต่อาตมภาพคิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อ คลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไป เพียงเพื่อเข้าถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ อาตภาพไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๙๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

ในสำนักอุทกดาบส
[๓๒๘] ราชกุมาร อาตมภาพนั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหา ทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตร แล้วกล่าวว่า ‘ท่านรามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’ เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงกล่าวกับอาตมภาพว่า ‘เชิญท่านอยู่ก่อน ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วย ปัญญาอันยิ่งเอง ตามแบบอาจารย์ของตนเข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน อาตมภาพก็เรียนรู้ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณวาทะและเถรวาทะได้ ทั้งอาตมภาพและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ อาตมภาพจึงคิดว่า ‘อุทกดาบส รามบุตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียง ความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่ อุทกดาบส รามบุตรยังรู้ยังเห็นธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน’ จากนั้น อาตมภาพจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุ เพียงเท่าไร’ เมื่ออาตมภาพถามอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงประกาศเนวสัญญานา- สัญญายตนสมาบัติแก่อาตมภาพ อาตมภาพจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตร เท่านั้นที่มีศรัทธา แม้เราก็มีศรัทธา ... มีวิริยะ ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มิใช่แต่ อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรเริ่มบำเพ็ญ เพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่อุทกดาบส รามบุตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วย ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน อาตมภาพก็ได้ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วย ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ จากนั้น อาตมภาพจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุ เพียงเท่านี้หรือ’ อุทกดาบส รามบุตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้ แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๙๗}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

(อาตมภาพจึงกล่าวว่า) ‘แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่าน’ (อุทกดาบส รามบุตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า พวก ข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะ(ข้าพเจ้า)รามะประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ รามะก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ รามะทราบ ธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด รามะก็ทราบธรรมนั้น เป็นอันว่า รามะเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด รามะก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ ท่านจงบริหารคณะนี้' ราชกุมาร อุทกดาบส รามบุตรทั้งที่เป็นเพื่อนพรหมจารีของอาตมภาพ ก็ยัง ยกย่องอาตมภาพไว้ในฐานะอาจารย์ และบูชาอาตมภาพด้วยการบูชาอย่างดี ด้วย ประการอย่างนี้ แต่อาตมภาพคิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลาย กำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียง เพื่อเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ อาตมภาพไม่พอใจ เบื่อหน่าย ธรรมนั้น จึงลาจากไป
ทรงบำเพ็ญเพียร
[๓๒๙] ราชกุมาร อาตมภาพนั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหา ทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า เมื่อเที่ยวจาริกไปในแคว้นมคธ โดยลำดับ ได้ไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่า น่าเพลิดเพลินใจ มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคาม อยู่โดยรอบ อาตมภาพจึงคิดว่า ‘ภูมิประเทศเป็นที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าน่าเพลิดเพลินใจ มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามอยู่โดยรอบ เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ปรารถนาจะบำเพ็ญเพียร’ อาตมภาพจึงนั่ง ณ ที่นั้นด้วยคิดว่า ‘ที่นี้เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๙๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

อุปมา ๓ ข้อ
ราชกุมาร ครั้งนั้น อุปมา ๓ ข้อ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งอาตมภาพยังไม่เคย ได้ยินมาก่อน ได้ปรากฏแก่อาตมภาพ คือ ๑. เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่แช่อยู่ในน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟ ด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’ ราชกุมาร พระองค์เข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้สดที่มี ยางซึ่งแช่อยู่ในน้ำมาทำไม้สีไฟแล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม” “ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะไม้สดนั้นมียาง ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า” “ราชกุมาร อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายและจิตยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละและมิได้ระงับ อย่างเบ็ดเสร็จในภายใน สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นแม้เสวยทุกขเวทนา ที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการ ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม นี้เป็นอุปมาข้อที่ ๑ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งอาตมภาพยังไม่เคยได้ยิน มาก่อน ได้ปรากฏแก่เรา [๓๓๐] ๒. เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่วางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้นั้น มาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’ ราชกุมาร พระองค์เข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้สดที่มียาง ซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำมาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๙๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะไม้ยังสดและมียาง แม้จะวางอยู่บนบกห่าง จากน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า” “ราชกุมาร อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละและมิได้ระงับ อย่างเบ็ดเสร็จในภายใน สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นแม้เสวยทุกขเวทนา ที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการ ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม นี้เป็นอุปมาข้อที่ ๒ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งอาตมภาพยังไม่เคยได้ยิน มาก่อน ได้ปรากฏแก่อาตมภาพ [๓๓๑] ๓. เปรียบเหมือนไม้ที่แห้งสนิทซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำมา ทำเป็นไม้สีไฟด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’ ราชกุมาร พระองค์เข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้ที่แห้งสนิท ซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำมาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม” “ได้ พระพุทธเจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะไม้แห้งสนิท ทั้งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ” “ราชกุมาร อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีกาย และจิตหลีกออกจากกามแล้ว ทั้งละและระงับความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลายได้อย่างเบ็ดเสร็จในภายในแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๐๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อัน ยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะ ความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม นี้เป็นอุปมาข้อที่ ๓ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งอาตมภาพยังไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้ปรากฏแก่อาตมภาพ ราชกุมาร นี้คืออุปมา ๓ ข้ออันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งอาตมภาพยังไม่เคยได้ ยินมาก่อน ได้ปรากฏแก่อาตมภาพ
ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา
[๓๓๒] ราชกุมาร อาตมภาพนั้นมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรกดฟัน ด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน’ อาตมภาพนั้น ก็กดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เมื่อ อาตมภาพทำดังนั้น เหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง คนที่แข็งแรงจับคนที่ อ่อนแอกว่าที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วบีบคั้นรัดไว้ให้แน่น แม้ฉันใด อาตมภาพก็ฉันนั้น เหมือนกัน เมื่อกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้ เร่าร้อน เหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง อาตมภาพปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อ อาตมภาพถูกความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของอาตมภาพก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ [๓๓๓] ราชกุมาร อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌาน อันไม่มีลมปราณเถิด’ อาตมภาพก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปาก และทางจมูก เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากและ ทางจมูก ลมก็ออกทางหูทั้ง ๒ ข้าง มีเสียงดังอู้ๆ ลมที่ช่างทองสูบอยู่มีเสียงดังอู้ๆ แม้ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากและ ทางจมูก ลมก็ออกทางหูทั้ง ๒ ข้าง มีเสียงดังอู้ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๐๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

อาตมภาพปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อ อาตมภาพถูกความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของอาตมภาพก็กระวน- กระวาย ไม่สงบระงับ อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ อาตมภาพก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทาง ช่องหู ลมอันแรงกล้าก็เสียดแทงศีรษะ คนที่แข็งแรงใช้เหล็กที่แหลมคมแทงศีรษะ แม้ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูก และทางช่องหู ลมอันแรงกล้าก็เสียดแทงศีรษะ ฉันนั้นเหมือนกัน อาตมภาพปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อ อาตมภาพถูกความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของอาตมภาพก็กระวน- กระวาย ไม่สงบระงับ อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ อาตมภาพก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทาง ช่องหู ก็มีทุกขเวทนาในศีรษะอย่างแรงกล้า คนที่แข็งแรงใช้เชือกหนังที่เหนียว ขันศีรษะ แม้ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปาก ทางจมูกและทางช่องหู ก็มีทุกขเวทนาในศีรษะอย่างแรงกล้า ฉันนั้นเหมือนกัน อาตมภาพปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อ อาตมภาพถูกความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของอาตมภาพก็กระวน- กระวาย ไม่สงบระงับ อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ อาตมภาพก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทาง ช่องหู ลมอันแรงกล้าก็บาดในช่องท้อง คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญ ใช้มีดแล่เนื้อที่คมกรีดท้อง แม้ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ก็มีลมอันแรงกล้าบาดในช่องท้อง ฉันนั้นเหมือนกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๐๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

อาตมภาพปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อ อาตมภาพถูกความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของอาตมภาพก็กระวน- กระวาย ไม่สงบระงับ อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ อาตมภาพก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทาง ช่องหู ก็มีความกระวนกระวายในร่างกายอย่างแรงกล้า คนที่แข็งแรง ๒ คนจับแขน คนที่อ่อนแอกว่าคนละข้างย่างให้ร้อนบนหลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด เมื่ออาตมภาพ กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหู ก็มีความ กระวนกระวายในร่างกายอย่างแรงกล้า ฉันนั้นเหมือนกัน อาตมภาพปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อ อาตมภาพถูกความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของอาตมภาพก็กระวน- กระวาย ไม่สงบระงับ เทวดาทั้งหลายเห็นอาตมภาพแล้วก็พากันกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดม สิ้นพระชนม์แล้ว’ บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมยังมิได้สิ้นพระชนม์ แต่กำลังจะสิ้นพระชนม์’ บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมยังไม่สิ้นพระชนม์ ทั้งจะไม่สิ้นพระชนม์ พระสมณโคดมจะเป็นพระอรหันต์ การอยู่เช่นนี้นั้น เป็นวิหาร ธรรม๑- ของท่านผู้เป็นพระอรหันต์’ [๓๓๔] ราชกุมาร อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรปฏิบัติ ด้วยการอดอาหารทุกอย่าง’ ขณะนั้น เทวดาทั้งหลายเข้ามาหาอาตมภาพแล้ว กล่าวว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านอย่าได้ปฏิบัติด้วยการอดอาหารทุกอย่าง ถ้าท่านจักปฏิบัติด้วยการอดอาหารทุกอย่าง ข้าพเจ้าทั้งหลายจะแทรกโอชาอันเป็น ทิพย์เข้าทางขุมขนของท่าน ท่านจะได้ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชานั้น’ อาตมภาพ @เชิงอรรถ : @ วิหารธรรม ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ กล่าวคือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ อันเป็นโลกิยะ (ดูประกอบ @ใน องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๔๑/๕๒๕-๕๓๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๐๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

จึงมีความดำริว่า ‘เราปฏิญญาว่า จะต้องอดอาหารทุกอย่าง แต่เทวดาเหล่านี้จะ แทรกโอชาอันเป็นทิพย์เข้าทางขุมขนของเรา เราจะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชานั้น การปฏิญญานั้นก็จะพึงเป็นมุสาแก่เรา’ อาตมภาพจึงกล่าวห้ามเทวดาเหล่านั้นว่า ‘อย่าเลย’ อาตมภาพมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรกินอาหารให้น้อยลงๆ เพียง ครั้งละ ๑ ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง’ อาตมภาพจึงฉันอาหารน้อยลงๆ เพียงครั้งละ ๑ ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง เมื่ออาตมภาพฉันอาหารน้อยลงๆ เพียงครั้งละ ๑ ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง กายจึงซูบผอมมาก อวัยวะน้อยใหญ่ ของอาตมภาพจึงเป็นเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมากหรือเถาวัลย์ที่มีข้อดำ เนื้อสะโพก ก็ลีบเหมือนกีบเท้าอูฐ กระดูกสันหลังก็ผุดเป็นหนามเหมือนเถาวัลย์ ซี่โครงทั้ง ๒ ข้าง ขึ้นสะพรั่ง เหมือนกลอนศาลาเก่า ดวงตาทั้ง ๒ ก็ลึกเข้าไปในเบ้าตา เหมือน ดวงดาวปรากฏอยู่ในบ่อน้ำลึก หนังบนศีรษะก็เหี่ยวหดเหมือนลูกน้ำเต้าที่เขาตัดมา ขณะยังดิบต้องลมและแดดเข้าก็เหี่ยวหดไป เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยนั้น อาตมภาพ คิดว่า ‘จะลูบพื้นท้อง’ ก็จับถึงกระดูกสันหลัง คิดว่า ‘จะลูบกระดูกสันหลัง’ ก็จับถึง พื้นท้อง เพราะพื้นท้องของอาตมภาพแนบติดจนถึงกระดูกสันหลัง อาตมภาพคิดว่า ‘จะถ่ายอุจจาระหรือถ่ายปัสสาวะ’ ก็ซวนเซล้มลง ณ ที่นั้น เมื่อจะให้กายสบายบ้าง จึงใช้ฝ่ามือลูบตัว ขนทั้งหลายที่มีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อย มนุษย์ทั้งหลายเห็นอาตมภาพแล้ว ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมดำไป’ บางพวก ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมไม่ดำเพียงแต่คล้ำไป’ บางพวกก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ไม่ดำ ไม่คล้ำ เพียงแต่พร้อยไป’ เรามีผิวพรรณบริสุทธิ์ เปล่งปลั่ง เพียงแต่เสียผิวไป เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยเท่านั้น [๓๓๕] ราชกุมาร อาตมภาพนั้นมีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่งในอดีตเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะความเพียร ทุกขเวทนานั้น อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๐๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

เหล่าหนึ่งในอนาคตเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะ ความเพียร ทุกขเวทนานั้น อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป สมณะหรือ พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบัน เสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะความเพียร ทุกขเวทนานั้น อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป แต่เราก็ยังมิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของ มนุษย์ ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ จะพึงมีทางอื่นเพื่อการตรัสรู้บ้างไหม’ อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘เราจำได้อยู่ เมื่อคราวงานของท้าวสักกาธิบดี ซึ่งเป็นพระราชบิดา เรานั่งอยู่ใต้ต้นหว้าอันร่มเย็น ได้สงัดจากกามและอกุศลธรรม ทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ทางนั้น พึงเป็นทางแห่งการตรัสรู้หรือหนอ’ อาตมภาพมีความรู้แจ้งที่ตามระลึกด้วยสติว่า ‘ทางนั้นเป็นทางแห่งการตรัสรู้’ อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘เรากลัวความสุขที่เว้น จากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายหรือ’ อาตมภาพก็ดำริว่า ‘เราไม่กลัวความสุขที่เว้น จากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายเลย’ ราชกุมาร อาตมภาพจึงมีความดำริต่อไปว่า ‘เราผู้มีกายซูบผอมมากอย่างนี้ จะบรรลุความสุขนั้นไม่ใช่ทำได้ง่ายเลย ทางที่ดี เราควรกินอาหารหยาบ คือข้าวสุก และขนมกุมมาส’ อาตมภาพก็ฉันอาหารหยาบคือข้าวสุกและขนมกุมมาส ครั้งนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์เฝ้าบำรุงอาตมภาพ ด้วยหวังว่า ‘พระสมณโคดมบรรลุธรรมใด จักบอกธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย’ เมื่อใด อาตมภาพฉันอาหารหยาบ คือข้าวสุก และขนมกุมมาส เมื่อนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น ก็เบื่อหน่าย จากไปด้วยเข้าใจว่า ‘พระสมณโคดมมักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว’
ฌาน ๔ และวิชชา ๓
[๓๓๖] ราชกุมาร อาตมภาพฉันอาหารหยาบให้ร่างกายมีกำลัง สงัดจาก กามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิด จากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๐๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

ตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะ ละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌาน ที่ไม่มี ทุกข์ไม่มีสุขมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ อาตมภาพนั้น น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ อาตมภาพระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ ชีวประวัติอย่างนี้ อาตมภาพได้บรรลุวิชชาที่ ๑ นี้ ในปฐมยามแห่งราตรี กำจัด อวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือน บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ อาตมภาพนั้น น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่ สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ อาตมภาพได้บรรลุวิชชาที่ ๒ นี้ในมัชฌิมยามแห่ง ราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่าง ก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ อาตมภาพนั้น น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่ออาตมภาพรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจาก กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๐๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

                                                                 ๕. โพธิราชกุมารสูตร

ราชกุมาร อาตมภาพบรรลุวิชชาที่ ๓ นี้ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชา ได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่
ทรงมีความขวนขวายน้อย
[๓๓๗] ราชกุมาร อาตมภาพนั้นได้มีความดำริว่า ‘ธรรม๑- ที่เราได้บรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด บัณฑิต(เท่านั้น)จึงจะรู้ได้ ส่วนหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลิน ในอาลัย ฐานะที่หมู่สัตว์ผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย๒- ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย นี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือหลักอิทัปปัจจยตา(ความที่มีสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นปัจจัย ของสิ่งนี้) หลักปฏิจจสมุปบาท(การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมี) ถึงแม้ฐานะ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดทิ้ง อุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึง เป็นความลำบากเปล่าแก่เรา’ อนึ่งเล่า คาถาอันน่าอัศจรรย์เหล่านี้ที่ไม่เคยสดับมาก่อน ได้ปรากฏแก่เราว่า ‘บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุด้วยความลำบาก เพราะธรรมนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย แต่เป็นสิ่งที่พาทวนกระแส๓- ละเอียด ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต ผู้กำหนัดด้วยราคะ ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้๔-’ ราชกุมาร เมื่ออาตมภาพพิจารณาดังนี้ จิตก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย มิได้น้อมไป เพื่อแสดงธรรม @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๘๒/๓๐๖ @ อาลัย คือกามคุณ ๕ ที่สัตว์พัวพัน ยินดี เพลิดเพลิน (วิ.อ. ๓/๗/๑๓) เป็นชื่อเรียกกิเลส ๒ อย่าง คือ @กามคุณและตัณหาวิจริต ๑๐๘ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๑/๘๒, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗/๑๘๔) @ดู อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๙๗๓-๙๗๖/๖๒๒-๖๓๓ @ พาทวนกระแส ในที่นี้หมายถึงพาเข้าถึงนิพพาน (วิ.อ. ๓/๗/๑๔) @ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๗/๑๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๐๗}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๓๙๕-๔๐๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=13&page=395&pages=13&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=13&A=11112 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=13&A=11112#p395 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 13 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13 https://84000.org/tipitaka/english/?index_13



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๙๕-๔๐๗.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]