ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

หน้าที่ ๓๕๙-๓๖๐.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

                                                                 ๖. มหากัมมวิภังคสูตร

[๓๐๐] เมื่อท่านพระอุทายีกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่ง เรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจงเห็นความนอกลู่นอกทางของ อุทายีผู้เป็นโมฆบุรุษนี้เถิด เราได้รู้บัดนี้เอง โมฆบุรุษอุทายีนี้เมื่อจะพูด ก็พูดโพล่ง ออกมาโดยไม่แยบคาย เบื้องต้นทีเดียวปริพาชกชื่อโปตลิบุตรถามถึงเวทนา ๓ ถ้าโมฆบุรุษสมิทธิผู้ถูกถามอย่างนี้จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘ท่านโปตลิบุตร บุคคลทำ กรรมที่ประกอบด้วยความจงใจทางกาย ทางวาจา และทางใจอันให้ผลเป็นสุข๑- ย่อมเสวยสุข บุคคลทำกรรมที่ประกอบด้วยความจงใจทางกาย ทางวาจา และ ทางใจอันให้ผลเป็นทุกข์๒- ย่อมเสวยทุกข์ บุคคลทำกรรมที่ประกอบด้วยความ จงใจทางกาย ทางวาจา และทางใจอันให้ผลเป็นอทุกขมสุข๓- ย่อมเสวยผลเป็น อทุกขมสุข อานนท์ โมฆบุรุษสมิทธิเมื่อตอบอย่างนี้ ชื่อว่าตอบโดยชอบแก่ปริพาชกชื่อ โปตลิบุตร แต่ว่าอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น เป็นคนโง่ ไม่ฉลาด จะเข้าใจ มหากัมมวิภังค์ของตถาคตได้อย่างไรเล่า ถ้าตถาคตจำแนกมหากัมมวิภังค์อยู่ เธอ ทั้งหลายควรฟัง” ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลสมควร ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลสมควร ที่พระผู้มีพระภาคจะทรงจำแนกมหากัมมวิภังค์ ภิกษุทั้งหลายได้สดับจากพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” @เชิงอรรถ : @ ให้ผลเป็นสุข หมายความว่ากรรมอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา คือกรรมชื่อว่าให้ผลเป็น @สุข เพราะเกิดสุขเวทนาในปฏิสนธิกาลและปวัตตกาลอย่างนี้คือ เจตนา ๔ ดวงที่ประกอบด้วย @โสมนัสสหคตจิตฝ่ายกามาวจรกุศล และเจตนาในฌาน ๓ ข้างต้น (ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน) @(ม.อุ.อ. ๓/๓๐๐/๑๘๖) @ ให้ผลเป็นทุกข์ หมายความว่า อกุศลเจตนาชื่อว่าให้ผลเป็นทุกข์ เพราะทำให้ทุกข์เท่านั้นเกิดใน @ปฏิสนธิกาลและปวัตตกาลนั้นเอง (ม.อุ.อ. ๓/๓๐๐/๑๘๖) @ ให้ผลเป็นอทุกขมสุข หมายความว่า กรรมชื่อว่าให้ผลเป็นอทุกขมสุข เพราะเกิดเวทนาที่ ๓ (อุเบกขา- @เวทนา) ในปฏิสนธิกาลและปวัตตกาลอย่างนี้ คือ เจตนา ๔ ดวงที่ประกอบด้วยอุเบกขาสหคตจิต @ฝ่ายกามาวจรกุศล และเจตนาในฌานที่ ๔ ฝ่ายรูปาวจรกุศล (ม.อุ.อ. ๓/๓๐๐/๑๘๖-๑๘๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๕๙}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

                                                                 ๖. มหากัมมวิภังคสูตร

ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรื่องนี้ว่า “อานนท์ บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวก ไหนบ้าง คือ ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิด ในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็น ผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา เป็นผู้มีจิตพยาบาท เป็น มิจฉาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิด ในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้ เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา เป็นผู้มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ ในโลกนี้ หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจาก การลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจาก การพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูด คำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ สิ่งของของเขา เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจาก การลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจาก การพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูด คำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้ไม่เพ็งเล็งอยากได้ สิ่งของของเขา เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิในโลกนี้ หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๖๐}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๓๕๙-๓๖๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=14&page=359&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=14&A=10523 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=14&A=10523#p359 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 14 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_14 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14 https://84000.org/tipitaka/english/?index_14



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๕๙-๓๖๐.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]