ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

หน้าที่ ๓๖๘-๓๖๙.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

                                                                 ๗. สฬายตนวิภังคสูตร

๗. สฬายตนวิภังคสูตร
ว่าด้วยการจำแนกอายตนะ ๖ ประการ
[๓๐๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสฬายตนวิภังค์แก่เธอ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังสฬายตนวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “เธอทั้งหลายพึงทราบอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ หมวด วิญญาณ ๖ หมวดผัสสะ ๖ มโนปวิจาร๑- ๑๘ สัตตบท๒- ๓๖ ในธรรมเหล่านั้น เธอทั้งหลายอาศัยธรรมนี้แล้ว จงละธรรมนี้เสีย และพึงทราบสติปัฏฐาน ๓ ที่ พระอริยะเสพซึ่งเมื่อเสพอยู่ชื่อว่าเป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนคณะ พระอริยศาสดา นั้นอันเราเรียกว่าเป็นสารถีผู้สามารถฝึกบุรุษที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์ ผู้ฝึกทั้งหลาย นี้เป็นอุทเทสแห่งสฬายตนวิภังค์ [๓๐๕] เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบอายตนะภายใน ๖’ เพราะอาศัยเหตุ อะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ ๑. จักขวายตนะ (อายตนะคือตา) ๒. โสตายตนะ (อายตนะคือหู) ๓. ฆานายตนะ (อายตนะคือจมูก) @เชิงอรรถ : @ มโนปวิจาร แปลว่า ความนึกหน่วงทางใจ หมายถึงวิตกและวิจาร (ม.อุ.อ. ๓/๓๐๔/๑๘๙) @ สัตตบท แปลว่า ทางดำเนินไปของสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยวัฏฏะและวิวัฏฏะ ในที่นี้แบ่งออกเป็น ๒ คือ @(๑) วัฏฏบท ทางดำเนินไปสู่วัฏฏะ ๑๘ ทาง (๒) วิวัฏฏบท ทางดำเนินไปสู่วิวัฏฏะ ๑๘ ทาง รวม @วัฏฏบทกับวิวัฏฏบทเข้าด้วยกัน เรียกว่า สัตตบท ๓๖ ประการ (ม.อุ.อ. ๓/๓๐๔/๑๘๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๖๘}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

                                                                 ๗. สฬายตนวิภังคสูตร

๔. ชิวหายตนะ (อายตนะคือลิ้น) ๕. กายายตนะ (อายตนะคือกาย) ๖. มนายตนะ (อายตนะคือใจ)๑- คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พึงทราบอายตนะภายใน ๖’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ (๑) เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบอายตนะภายนอก ๖’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ ๑. รูปายตนะ (อายตนะคือรูป) ๒. สัททายตนะ (อายตนะคือเสียง) ๓. คันธายตนะ (อายตนะคือกลิ่น) ๔. รสายตนะ (อายตนะคือรส) ๕. โผฏฐัพพายตนะ (อายตนะคือสัมผัส) ๖. ธัมมายตนะ (อายตนะคือธรรมารมณ์) คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พึงทราบอายตนะภายนอก ๖’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ (๒) เรากล่าวคำนี้ไว้ว่า ‘พึงทราบหมวดวิญญาณ ๖’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เรา จึงกล่าวไว้เช่นนั้น คือ ๑. จักขุวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา) ๒. โสตวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางหู) ๓. ฆานวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางจมูก) ๔. ชิวหาวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางลิ้น) ๕. กายวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางกาย) ๖. มโนวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางใจ) คำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘พึงทราบหมวดวิญญาณ ๖’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้ (๓) @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๙/๙๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๖๙}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๓๖๘-๓๖๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=14&page=368&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=14&A=10795 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=14&A=10795#p368 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 14 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_14 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14 https://84000.org/tipitaka/english/?index_14



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๖๘-๓๖๙.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]