ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค

หน้าที่ ๑๔๓-๑๔๗.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

                                                                 ๓. ตติยปัณณาสก์ ๒. โลกกามคุณวรรค ๘. ราหุโลวาทสูตร

ภิกษุชื่อว่าประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนืองๆ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายที่เป็นตัวขัดขวาง ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดวัน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายที่เป็น ตัวขัดขวางด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดปฐมยามแห่งราตรี นอนดุจราชสีห์ โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ หมายใจว่าจะลุกขึ้นตลอด มัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายที่เป็นตัวขัดขวาง ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี ภิกษุชื่อว่าประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนืองๆ เป็นอย่างนี้แล เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักเป็นผู้คุ้มครองทวารใน อินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร เป็นผู้ประกอบความเพียร เครื่องตื่นอยู่เนืองๆ’ ผู้มีอายุ ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
สารีปุตตสัทธิวิหาริกสูตรที่ ๗ จบ
๘. ราหุโลวาทสูตร
ว่าด้วยการประทานโอวาทแก่พระราหุล
[๑๒๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ ในที่สงัด ทรงเกิดความรำพึงขึ้นอย่างนี้ว่า “ธรรมเป็นเครื่องบ่มวิมุตติ๑- ของราหุล แก่กล้าแล้ว ทางที่ดี เราพึงแนะนำราหุลในธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะให้ยิ่งขึ้นไป” ครั้น @เชิงอรรถ : @ ธรรมเป็นเครื่องบ่มวิมุตติ หมายถึงธรรม ๑๕ ประการ คือ %เว้นบุคคล ๕ จำพวก% ได้แก่ คนไม่มีศรัทธา @คนเกียจคร้าน คนหลงลืมสติ คนมีจิตไม่มั่นคง และคนมีปัญญาทราม %คบบุคคล ๕ จำพวก% ได้แก่ คนมีศรัทธา @คนขยัน คนมีสติมั่นคง คนมีจิตตั้งมั่น และคนมีปัญญา %พิจารณาธรรม ๕ ประการ% คือ พระสูตรที่ @น่าเลื่อมใส สัมมัปปธานสูตร สติปัฏฐานสูตร ฌานและวิโมกข์ และญาณจริยา @อีกอย่างหนึ่ง หมายถึงธรรม ๑๕ ประการ คือ อินทรีย์ ๕ ประการ สัญญาอันเป็นส่วนแห่งธรรม @เครื่องตรัสรู้ ๕ ประการ และธรรม ๕ ประการมีกัลยาณมิตตตาเป็นต้น (สํ.สฬา.อ. ๓/๑๒๑/๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๔๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

                                                                 ๓. ตติยปัณณาสก์ ๒. โลกกามคุณวรรค ๘. ราหุโลวาทสูตร

เวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร๑- เสด็จเข้าไปยังกรุง สาวัตถีเพื่อบิณฑบาต เสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จ แล้ว รับสั่งเรียกท่านพระราหุลมาตรัสว่า “ราหุล เธอจงถือผ้านิสีทนะ๒- เราจัก เข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักผ่อนกลางวัน” ท่านพระราหุลทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ได้ถือผ้านิสีทนะตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปเบื้องพระปฤษฎางค์ สมัยนั้น เทวดาหลายพันตนก็ติดตามพระผู้มีพระภาคไปด้วยคิดว่า “วันนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงแนะนำท่านพระราหุลในธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะให้ยิ่งขึ้นไป” ต่อมา พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่ป่าอันธวัน ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ซึ่งพระราหุลปูลาด ถวายที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ฝ่ายท่านพระราหุลถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับท่านพระราหุลดังนี้ว่า “ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร จักขุเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ @เชิงอรรถ : @ คำว่า ทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร นี้ มิใช่ว่าก่อนหน้านี้พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงนุ่งสบง @มิใช่ว่าพระองค์ทรงถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยพระวรกายส่วนบน คำว่า “ครองอันตรวาสก” หมาย @ถึงพระองค์ทรงผลัดเปลี่ยนสบงหรือขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ คำว่า “ถือบาตรและจีวร” หมายถึงทรง @ถือบาตรด้วยพระหัตถ์ถือจีวรด้วยพระวรกาย คือ ห่มจีวรอุ้มบาตรนั่นเอง (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐, @ที.อ. ๒/๑๕๓/๑๔๓, ม.อ. ๑/๖๓/๑๖๓, อุทาน.อ. ๖๕) @ นิสีทนะ หมายถึงผ้าปูนั่งสำหรับภิกษุ (พระธรรมปิฎก : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, @๒๕๓๘, หน้า ๑๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๔๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

                                                                 ๓. ตติยปัณณาสก์ ๒. โลกกามคุณวรรค ๘. ราหุโลวาทสูตร

“จักขุวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “จักขุสัมผัสเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “แม้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณา เห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ “ชิวหาเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “รสเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ชิวหาวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ชิวหาสัมผัสเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “แม้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๔๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

                                                                 ๓. ตติยปัณณาสก์ ๒. โลกกามคุณวรรค ๘. ราหุโลวาทสูตร

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณา เห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ “มโนเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณา เห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “ธรรมารมณ์เที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ “มโนวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ “มโนสัมผัสเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “แม้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๔๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

                                                                 ๓. ตติยปัณณาสก์ ๒. โลกกามคุณวรรค ๘. ราหุโลวาทสูตร

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณา เห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “ราหุล อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุ ย่อม เบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน จักขุสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะ จักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน ชิวหาวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหาสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโน ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมารมณ์ ฯลฯ ย่อมเบื่อ หน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อ จิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของท่านพระ ราหุลก็หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น และธรรมจักษุ๑- อันปราศจากธุลี ปราศ จากมลทินได้เกิดแก่เทวดาหลายพันตนว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา”
ราหุโลวาทสูตรที่ ๘ จบ
@เชิงอรรถ : @ ธรรมจักษุ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๔ ผล ๔ (สํ.สฬา.อ. ๓/๑๒๑/๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๔๗}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๑๔๓-๑๔๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=18&page=143&pages=5&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=18&A=4033 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=18&A=4033#p143 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 18 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_18 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu18 https://84000.org/tipitaka/english/?index_18



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๔๓-๑๔๗.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]