ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค

หน้าที่ ๗๔-๗๕.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

                                                                 ๒. ทุติยปัณณาสก์ ๓. คิลานวรรค ๘. สัมพหุลภิกขุสูตร

เป็นปัจจัยโดยอาการอื่น ฯลฯ เห็นมโนโดยอาการอื่น ฯลฯ ธรรมารมณ์ ฯลฯ มโนวิญญาณ ฯลฯ มโนสัมผัส ... เห็นแม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยโดยอาการอื่น ภิกษุ ภิกษุเมื่อรู้เห็นอย่างนี้แลจึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น”
ทุติยอวิชชาปหานสูตรที่ ๗ จบ
๘. สัมพหุลภิกขุสูตร
ว่าด้วยภิกษุหลายรูป
[๘๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุหลายรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวก อัญเดียรถีย์ปริพาชกในโลกนี้ถามข้าพระองค์ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อต้องการอะไร’ ข้าพระองค์ทั้งหลาย ถูกถามอย่างนี้จึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเราประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกำหนดรู้ทุกข์’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ จึงตอบอย่างนี้ ชื่อว่า พูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผลหรือ ไม่มีบ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าว ต่อๆ กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ จึงตอบอย่างนี้ ชื่อว่าพูดตรงตามคำที่เราพูดไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ ชื่อว่า กล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล ไม่มีที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อๆ กันมาจะ เป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้ ภิกษุทั้งหลาย เพราะเธอทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในเราเพื่อกำหนดรู้ ทุกข์ ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงถามเธอทั้งหลายว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ทุกข์ ที่พวกท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อกำหนดรู้นั้นเป็นอย่างไร’ เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ จักขุเป็นทุกข์ พวกเราประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกำหนด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๗๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

                                                                 ๒. ทุติยปัณณาสก์ ๓. คิลานวรรค ๙. โลกปัญหาสูตร

รู้จักขุที่เป็นทุกข์นั้น รูป ฯลฯ แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุข มิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยก็เป็นทุกข์ พวกเราประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกำหนดรู้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยที่เป็นทุกข์นั้น ฯลฯ มโนเป็นทุกข์ ฯลฯ แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส เป็นปัจจัยก็เป็นทุกข์ พวกเราประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกำหนดรู้ ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส เป็นปัจจัยที่เป็นทุกข์นั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลคือทุกข์ พวกเราประพฤติ พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อกำหนดรู้ทุกข์นั้น’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงตอบอัญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้นอย่างนี้”
สัมพหุลภิกขุสูตรที่ ๘ จบ
๙. โลกปัญหาสูตร
ว่าด้วยปัญหาเรื่องโลก
[๘๒] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ ตรัสว่า ‘โลก โลก’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอจึงตรัสว่า ‘โลก’ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ที่เราเรียกว่า ‘โลก’ เพราะจะต้องแตกสลาย ก็อะไรเล่าแตกสลาย คือ จักขุแตกสลาย รูปแตกสลาย จักขุวิญญาณแตกสลาย จักขุสัมผัสแตก สลาย แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะ จักขุสัมผัสเป็นปัจจัยก็แตกสลาย ฯลฯ ชิวหาแตกสลาย ฯลฯ มโนแตกสลาย ฯลฯ ธรรมารมณ์แตกสลาย ฯลฯ มโนวิญญาณแตกสลาย ฯลฯ มโนสัมผัสแตกสลาย แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะ มโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็แตกสลาย ภิกษุ ที่เราเรียกว่า ‘โลก’ เพราะจะต้องแตกสลาย”
โลกปัญหาสูตรที่ ๙ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๗๕}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๗๔-๗๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=18&page=74&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=18&A=2020 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=18&A=2020#p74 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 18 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_18 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu18 https://84000.org/tipitaka/english/?index_18



จบการแสดงผล หน้าที่ ๗๔-๗๕.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]