ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

หน้าที่ ๒๔๐-๒๔๑.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๓. สติปัฏฐานสังยุต]

                                                                 ๒. นาลันทวรรค ๘. พรหมสูตร

๘. พรหมสูตร
ว่าด้วยท้าวสหัมบดีพรหม
[๓๘๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ใต้ต้นอชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ทรงหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความรำพึงขึ้น มาว่า “ทางนี้เป็นทางเดียวเพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะ และปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุ ๑. พึงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ๒. พึงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ฯลฯ ๓. พึงพิจารณาเห็นจิตในจิต ฯลฯ ๔. พึงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ทางนี้เป็นทางเดียวเพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและ ปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบความรำพึงของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงหายตัวจากพรหมโลกมาปรากฏตรงพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค เปรียบเหมือน บุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ครั้นแล้วท้าวเธอห่มผ้าเฉวียงบ่า ข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่าง นั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทางนี้เป็นทางเดียวเพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๒๔๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๓. สติปัฏฐานสังยุต]

                                                                 ๒. นาลันทวรรค ๙. เสทกสูตร

สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุ ๑. พึงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ๒. พึงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ฯลฯ ๓. พึงพิจารณาเห็นจิตในจิต ฯลฯ ๔. พึงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ” ท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลคำนี้แล้ว จึงได้กล่าวคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า “พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเห็นธรรม อันเป็นส่วนที่สุดสิ้นแห่งชาติ ทรงอนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูล ทรงรู้จักทางอันเป็นทางเดียว ซึ่งเหล่าบัณฑิตได้ข้ามมาก่อนแล้ว จักข้าม และกำลังข้ามโอฆะได้ด้วยทางนี้”
พรหมสูตรที่ ๘ จบ
๙. เสทกสูตร
ว่าด้วยธรรมเทศนาที่เสทกนิคม
[๓๘๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวสุมภะชื่อ เสทกะ แคว้นสุมภะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัส ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว คนจัณฑาลผู้เป็นนักไต่ราว ยกไม้ไผ่ขึ้นตั้งไว้ แล้วเรียกศิษย์ชื่อเมทกถาลิกะมาบอกว่า ‘เมทกถาลิกะผู้สหาย เธอจงขึ้นราวไม้ไผ่ แล้วยืนบนคอของเราเถิด’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๒๔๑}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๒๔๐-๒๔๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=19&page=240&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=19&A=6594 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=19&A=6594#p240 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 19 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_19 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu19 https://84000.org/tipitaka/english/?index_19



จบการแสดงผล หน้าที่ ๒๔๐-๒๔๑.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]