ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

หน้าที่ ๔๑-๔๒.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๓. อุรุเวลวรรค ๖. กุหสูตร

๕. พรหมจริยสูตร
ว่าด้วยการประพฤติพรหมจรรย์
[๒๕] ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตประพฤติพรหมจรรย์นี้มิใช่เพื่อจะลวงคน มิใช่เพื่อเกลี้ยกล่อมคน มิใช่เพื่ออานิสงส์คือลาภสักการะและชื่อเสียง มิใช่เพื่อ อานิสงส์คือการอวดอ้างวาทะ มิใช่เพื่อให้คนรู้ว่า ‘คนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้’ แท้จริง ตถาคตประพฤติพรหมจรรย์นี้เพื่อสำรวมระวัง เพื่อละ เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับทุกข์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์ ปราศจากความยึดมั่นถือมั่นแต่โบราณ ทำให้สัตว์ถึงพระนิพพานเพื่อสำรวมระวัง เพื่อละ หนทางนี้ท่านผู้ใหญ่ ผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่ดำเนินไปตามแล้ว อนึ่ง เหล่าชนผู้ปฏิบัติตามแนวทาง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
พรหมจริยสูตรที่ ๕ จบ
๖. กุหสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้หลอกลวง
[๒๖] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดหลอกลวง กระด้าง ประจบ ชอบวางท่า อวดดี มีจิตไม่ตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าไม่ใช่ผู้นับถือเรา ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้ และย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ส่วนภิกษุเหล่าใดไม่หลอก ลวง ไม่ประจบ เป็นนักปราชญ์ ไม่กระด้าง มีจิตตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้นแลชื่อว่า ผู้นับถือเรา ไม่ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้ และถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ใน ธรรมวินัยนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๔๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๓. อุรุเวลวรรค ๗. สันตุฏฐิสูตร

พวกภิกษุผู้หลอกลวง กระด้าง ประจบ ชอบวางท่า อวดดี และมีจิตไม่ตั้งมั่น ย่อมไม่งอกงามในธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว ส่วนภิกษุที่ไม่หลอกลวง ไม่ประจบ เป็นนักปราชญ์ ไม่กระด้าง และมีจิตตั้งมั่นดี ย่อมงอกงามในธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว
กุหสูตรที่ ๖ จบ
๗. สันตุฏฐิสูตร
ว่าด้วยความสันโดษด้วยปัจจัย ๔
[๒๗] ภิกษุทั้งหลาย ปัจจัย ๔ อย่างนี้มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ ปัจจัย ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ ๑. บรรดาจีวร บังสุกุลจีวร(ผ้าที่ได้มาจากกองฝุ่น) มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ ๒. บรรดาโภชนะ ปิณฑิยาโลปโภชนะ (โภชนะคือคำข้าวที่ได้มาด้วย กำลังปลีแข้ง) มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ ๓. บรรดาเสนาสนะ รุกขมูลเสนาสนะ (อยู่อาศัยโคนไม้) มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ ๔. บรรดายารักษาโรค ปูติมุตตเภสัช (ยาดองน้ำมูตรเน่า) มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ ปัจจัย ๔ อย่างนี้แลมีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัยที่มีค่าน้อยและหาได้ง่าย นี้เราจึงกล่าวว่า ‘เป็นองค์ประกอบแห่งความเป็นสมณะอย่างหนึ่ง’ ของภิกษุนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๔๒}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๔๑-๔๒. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=21&page=41&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=21&A=1203 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=21&A=1203#p41 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 21 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_21 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu21 https://84000.org/tipitaka/english/?index_21



จบการแสดงผล หน้าที่ ๔๑-๔๒.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]