ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

หน้าที่ ๑๕-๑๗.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๒. พลวรรค ๑. อนนุสสุตสูตร

๒. พลวรรค
หมวดว่าด้วยพละ
๑. อนนุสสุตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน
[๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราได้บรรลุถึงบารมีอันเป็น ที่สุดด้วยปัญญาอันยิ่งในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยสดับมาก่อน๑- จึงปฏิญญาได้ กำลัง ของตถาคต ๕ ประการนี้ ที่ตถาคตมีแล้วเป็นเหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ๒- บันลือสีหนาท๓- ประกาศพรหมจักร๔- ในบริษัท๕- กำลังของตถาคต ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. สัทธาพละ (กำลังคือศรัทธา) ๒. หิริพละ (กำลังคือหิริ) @เชิงอรรถ : @ ธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยสดับมาก่อน ในที่นี้หมายถึงอริยสัจ ๔ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๑/๔) @ ฐานะที่องอาจ (อาสภะ) อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงฐานะที่ประเสริฐที่สุด ที่สูงสุด หรือฐานะของ @พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดในปางก่อน @อนึ่ง คำว่า อาสภะ มาจากคำว่า อุสภะ ซึ่งเป็นชื่อของโคจ่าฝูงของโคจำนวนมากตั้ง ๑๐๐ ตัว ๑,๐๐๐ ตัว @๑๐๐ คอก ๑,๐๐๐ คอก มีสีขาว น่าดู มีกำลังสามารถนำภาระหนักยิ่งไปได้ ยืนหยัดด้วยเท้าทั้ง ๔ ไม่ @หวั่นไหวต่อเสียงฟ้าร้องตั้ง ๑๐๐ ครั้ง พระตถาคตเปรียบเหมือนโคอุสภะ คือประทับยืนข่มบริษัททั้ง ๘ ได้ @อย่างมั่นคงด้วยพระบาท(ฐานะ)คือเวสารัชชญาณ ๔ ประการ ไม่มีปัจจามิตรใดในโลกและเทวโลกที่ @สามารถทำให้พระองค์หวั่นไหวได้ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๘/๒๘๓, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๖) @ บันลือสีหนาท หมายถึงตรัสพระวาจาด้วยท่าทีที่องอาจดังพญาราชสีห์ไม่ทรงหวั่นเกรงผู้ใดเพราะทรงมั่น @พระทัยในศีล สมาธิ และปัญญาของพระองค์ (ที.สี.ฏีกา ๔๐๓/๔๓๒) @ พรหมจักร หมายถึงธรรมจักรอันประเสริฐ ยอดเยี่ยม บริสุทธิ์ มี ๒ ประการ คือ (๑) ปฏิเวธญาณ ได้แก่ @ญาณที่แสดงถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า (๒) เทสนาญาณ ได้แก่ ญาณที่แสดงถึงพระมหากรุณา @คุณของพระพุทธเจ้า ญาณทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่าโอรสญาณ(ญาณส่วนพระองค์) มีเฉพาะพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น @ไม่มีแก่คนทั่วไป (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๘/๒๘๔-๒๘๕, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๗) @ บริษัท หมายถึงหมู่, คณะ, ที่ประชุม ในที่นี้หมายถึงบริษัท ๘ คือ (๑) ขัตติยบริษัท (๒) พราหมณบริษัท @(๓) คหบดีบริษัท (๔) สมณบริษัท (๕) จาตุมหาราชิกาบริษัท (๖) ตาวติงสบริษัท(สวรรค์ชั้นที่ ๒ แห่ง @สวรรค์ ๖ ชั้น) (๗) มารบริษัท (๘) พรหมบริษัท (ที.สี.อ. ๔๐๓/๒๙๗, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๑๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๒. พลวรรค ๒. กูฏสูตร

๓. โอตตัปปพละ (กำลังคือโอตตัปปะ) ๔. วิริยพละ (กำลังคือวิริยะ) ๕. ปัญญาพละ (กำลังคือปัญญา) ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต ๕ ประการนี้แล ที่ตถาคตมีแล้วเป็นเหตุให้ ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
อนนุสสุตสูตรที่ ๑ จบ
๒. กูฏสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นยอดเหมือนยอดเรือน
[๑๒] ภิกษุทั้งหลาย เสขพละ๑- ๕ ประการนี้ เสขพละ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. สัทธาพละ ๒. หิริพละ ๓. โอตตัปปพละ ๔. วิริยพละ ๕. ปัญญาพละ ภิกษุทั้งหลาย เสขพละ ๕ ประการนี้แล พละที่เป็นเลิศ เป็นที่รวม เป็นศูนย์ รวมแห่งเสขพละ ๕ ประการนี้ คือ ปัญญาพละ ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เป็นเลิศ เป็นที่รวม เป็นศูนย์รวมแห่งเรือนยอด คือยอด เรือน แม้ฉันใด พละที่เป็นเลิศ เป็นที่รวม เป็นศูนย์รวมแห่งเสขพละ ๕ ประการนี้ คือปัญญาพละ ฉันนั้นเหมือนกันแล เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็น ผู้ประกอบด้วยสัทธาพละ... หิริพละ ... โอตตัปปพละ ... วิริยพละ ... ปัญญาพละ อันเป็นเสขพละ’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
กูฏสูตรที่ ๒ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑ (สังขิตตสูตร) หน้า ๑ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๑๖}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๒. พลวรรค ๔. วิตถตสูตร

๓. สังขิตตสูตร
ว่าด้วยพละโดยย่อ
[๑๓] ภิกษุทั้งหลาย พละ ๕ ประการนี้ พละ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. สัทธาพละ ๒. วิริยพละ ๓. สติพละ (กำลังคือสติ) ๔. สมาธิพละ (กำลังคือสมาธิ) ๕. ปัญญาพละ ภิกษุทั้งหลาย พละ ๕ ประการนี้แล
สังขิตตสูตรที่ ๓ จบ
๔. วิตถตสูตร
ว่าด้วยพละโดยพิสดาร
[๑๔] ภิกษุทั้งหลาย พละ ๕ ประการนี้ พละ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. สัทธาพละ ๒. วิริยพละ ๓. สติพละ ๔. สมาธิพละ ๕. ปัญญาพละ สัทธาพละ เป็นอย่างไร คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของ ตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็น สารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ นี้เรียกว่า สัทธาพละ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๑๗}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๑๕-๑๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=22&page=15&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=22&A=388 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=22&A=388#p15 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_22 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu22 https://84000.org/tipitaka/english/?index_22



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๕-๑๗.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]