ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

หน้าที่ ๔๑๒-๔๑๔.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๑. อาหุเนยยวรรค ๒. ทุติยอาหุเนยยสูตร

ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ๑- มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ๒. ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ๓. ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ ๔. ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ๕. ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ ๖. รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติ- สัมปชัญญะอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำ มาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอัน ยอดเยี่ยมของโลก เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิตของ พระผู้มีพระภาค
ปฐมอาหุเนยยสูตรที่ ๑ จบ
๒. ทุติยอาหุเนยยสูตร๒-
ว่าด้วยพระอาหุไนยบุคคล สูตรที่ ๒
[๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้ควรแก่ของ ที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ @เชิงอรรถ : @ ไม่ดีใจ หมายถึงไม่กำหนัดยินดีในอิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา) @ไม่เสียใจ หมายถึงไม่ขัดเคืองในอนิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) สูตรนี้ตรัสถึงธรรมที่เป็น @คุณสมบัติของพระขีณาสพ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑/๙๕) @ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๕๖/๒๕๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๔๑๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๑. อาหุเนยยวรรค ๒. ทุติยอาหุเนยยสูตร

ทะลุฝากำแพง และภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้น หรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยก เหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนก บินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ ๒. ได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกล และอยู่ใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ๓. กำหนดรู้จิตของสัตว์และบุคคลอื่นได้ด้วยจิตของตน คือ จิตมีราคะก็ รู้ว่ามีราคะ หรือปราศจากราคะก็รู้ว่าปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ ว่ามีโทสะ หรือปราศจากโทสะก็รู้ว่าปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่า มีโมหะ หรือปราศจากโมหะก็รู้ว่าปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่า หดหู่ หรือฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหัคคตะ๑- ก็รู้ว่าเป็นมหัคคตะ หรือไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าไม่เป็นมหัคคตะ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่ามี จิตอื่นยิ่งกว่า หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็น สมาธิก็รู้ว่าเป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าไม่เป็นสมาธิ จิตหลุด พ้นก็รู้ว่าหลุดพ้น หรือไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น ๔. ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด วิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมาก บ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวย @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๒๓ (อุปกิเลสสูตร) หน้า ๒๘ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๔๑๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๑. อาหุเนยยวรรค ๒. ทุติยอาหุเนยยสูตร

สุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ อย่างนี้ ๕. เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและ ไม่งาม๑- เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัด ถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด ชักชวน ผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิด ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่ว่าร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์ อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล ๖. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้ควรแก่ของ ที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ทุติยอาหุเนยยสูตรที่ ๒ จบ
@เชิงอรรถ : @ งาม ในที่นี้หมายถึงมีผิวพรรณที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นผลแห่งความไม่มีโทสะ @ไม่งาม ในที่นี้หมายถึงมีผิวพรรณไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เป็นผลแห่งโทสะ (วิ.อ. ๑/๑๓/๑๖๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๔๑๔}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๔๑๒-๔๑๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=22&page=412&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=22&A=11505 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=22&A=11505#p412 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_22 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu22 https://84000.org/tipitaka/english/?index_22



จบการแสดงผล หน้าที่ ๔๑๒-๔๑๔.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]