ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

หน้าที่ ๖๒-๖๖.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔. เทวตาวรรค ๑๑. ปฐมนิททสสูตร

๑๑. ปฐมนิททสสูตร
ว่าด้วยนิททสวัตถุ สูตรที่ ๑
[๔๒] ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรครองอันตรวาสก ถือบาตรและ จีวร๑- เข้าไปยังกรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “การเที่ยวบิณฑบาต ในกรุงสาวัตถียังเช้านัก ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก” ครั้นแล้วจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยพอเป็น ที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกนั่งประชุมกัน สนทนากันในระหว่าง การประชุมว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกท่านผู้นั้นว่า ‘นิททสภิกษุ'๒- ท่านพระสารีบุตรไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า “เราจักรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้ มีพระภาค” ท่านพระสารีบุตรครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันจากอาหารเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและ จีวรเข้าไปยังกรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘การเที่ยวบิณฑบาต ในกรุงสาวัตถียังเช้านัก ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก’ ครั้นแล้วจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยพอเป็น ที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์ @เชิงอรรถ : @ คำว่า “ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร” นี้มิใช่ว่าก่อนหน้านี้พระสารีบุตรมิได้นุ่งสบง มิใช่พระสารีบุตร @ถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยกายส่วนบน แต่คำว่า “ครองอันตรวาสก” หมายถึงท่านผลัดเปลี่ยนสบง หรือ @ขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ คำว่า “ถือบาตรและจีวร” หมายถึงถือบาตรด้วยมือ ถือจีวรด้วยกาย คือห่มจีวร @แล้วอุ้มบาตรนั่นเอง (เทียบ วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐, ที.ม.อ. ๒/๑๕๓/๑๔๓, ม.มู.อ. ๑/๖๓/๑๖๓, ขุ.อุ.อ. ๖/๖๕) @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ สัตตกนิบาต ข้อ ๒๐ (นิททสวัตถุสูตร) หน้า ๒๙ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๖๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔. เทวตาวรรค ๑๑. ปฐมนิททสสูตร

ปริพาชกนั่งประชุมกัน สนทนากันในระหว่างการประชุมว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่าน ผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกท่านผู้นั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า ‘เราจักรู้ชัดเนื้อความ แห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาจหรือหนอที่จะ บัญญัตินิททสภิกษุไว้ในพระธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สารีบุตร ไม่อาจเลยที่จะบัญญัตินิททสภิกษุไว้ ในธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว นิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล เราทำ ให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึงประกาศไว้ นิททสวัตถุ ๗ ประการ๑- อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานสิกขา และได้ความรักใน การสมาทานสิกขาต่อไป ๒. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการใคร่ครวญธรรม และได้ความรัก ในการใคร่ครวญธรรมต่อไป ๓. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการกำจัดความอยาก และได้ความรัก ในการกำจัดความอยากต่อไป ๔. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการหลีกเร้น และได้ความรักในการ หลีกเร้นต่อไป ๕. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการปรารภความเพียร และได้ความ รักในการปรารภความเพียรต่อไป ๖. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน และได้ ความรักในสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตนต่อไป @เชิงอรรถ : @ ดูนิททสวัตถุสูตร สัตตกนิบาต ข้อ ๒๐ หน้า ๒๙-๓๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๖๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔. เทวตาวรรค ๑๒. ทุติยนิททสสูตร

๗. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการแทงตลอดด้วยทิฏฐิ และได้ความ รักในการแทงตลอดด้วยทิฏฐิต่อไป สารีบุตร นิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศไว้ ภิกษุประกอบด้วยนิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล หากประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๒๔ ปี ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติพรหม จรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๓๖ ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติ พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๔๘ ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ'
ปฐมนิททสสูตรที่ ๑๑ จบ
๑๒. ทุติยนิททสสูตร
ว่าด้วยนิททสวัตถุ สูตรที่ ๒
[๔๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปยังกรุงโกสัมพี เพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “การเที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพียังเช้านัก ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก” ครั้นแล้วจึงเข้าไปยัง อารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็น ที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกนั่งประชุมกัน สนทนากันในระหว่าง การประชุมว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกท่านผู้นั้นว่า “นิททสภิกษุ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๖๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔. เทวตาวรรค ๑๒. ทุติยนิททสสูตร

ท่านพระอานนท์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า “เราจักรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้ มีพระภาค” ท่านพระอานนท์ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพี กลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและ จีวรเข้าไปยังกรุงโกสัมพีเพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘การเที่ยวบิณฑบาต ในกรุงโกสัมพียังเช้านัก ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ ปริพาชก’ ครั้นแล้วจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนา ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกนั่งประชุมกัน สนทนากันในระหว่างการประชุมว่า ผู้มีอายุ ทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรเรียก ท่านผู้นั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ยินดี ไม่คัดค้าน ภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า ‘เราจักรู้ชัด เนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาจหรือหนอ ที่จะบัญญัตินิททสภิกษุไว้ในพระธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อานนท์ ไม่อาจเลยที่จะบัญญัตินิททสภิกษุไว้ใน ธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว นิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล เราทำ ให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึงประกาศไว้ นิททสวัตถุ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีหิริ ๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ ๔. เป็นพหูสูต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๖๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๔. เทวตาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๕. เป็นผู้ปรารภความเพียร ๖. เป็นผู้มีสติ ๗. เป็นผู้มีปัญญา อานนท์ นิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศไว้ ภิกษุประกอบด้วยนิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล หากประพฤติพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติ พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๒๔ ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๓๖ ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๔๘ ปี ก็ควรเรียก ภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ'
ทุติยนิททสสูตรที่ ๑๒ จบ
เทวตาวรรคที่ ๔ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อัปปมาทคารวสูตร ๒. หิริคารวสูตร ๓. ปฐมโสวจัสสตาสูตร ๔. ทุติยโสวจัสสตาสูตร ๕. ปฐมมิตตสูตร ๖. ทุติยมิตตสูตร ๗. ปฐมปฏิสัมภิทาสูตร ๘. ทุติยปฏิสัมภิทาสูตร ๙. ปฐมวสสูตร ๑๐. ทุติยวสสูตร ๑๑. ปฐมนิททสสูตร ๑๒. ทุติยนิททสสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๖๖}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๖๒-๖๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=23&page=62&pages=5&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=23&A=1651 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=23&A=1651#p62 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_23 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23 https://84000.org/tipitaka/english/?index_23



จบการแสดงผล หน้าที่ ๖๒-๖๖.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]