ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

หน้าที่ ๑๓๓-๑๓๔.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๓. นาควรรค ๑. อัตตทันตวัตถุ

๒๓. นาควรรค
หมวดว่าด้วยช้าง
๑. อัตตทันตวัตถุ
เรื่องการฝึกตน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนท์ ดังนี้) [๓๒๐] เราจักอดกลั้นถ้อยคำล่วงเกิน เหมือนพญาช้างในสงคราม อดทนลูกศรที่ตกจากแล่ง เพราะคนจำนวนมากเป็นผู้ทุศีล [๓๒๑] คนทั้งหลายนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม พระราชาย่อมทรงราชพาหนะที่ฝึกแล้ว ในหมู่มนุษย์ คนที่อดกลั้นถ้อยคำล่วงเกินได้ ชื่อว่าเป็นผู้ฝึกตนได้แล้ว๑- เป็นผู้ประเสริฐที่สุด [๓๒๒] ม้าอัสดร ม้าอาชาไนย ม้าสินธพ ช้างใหญ่ ที่ได้รับการฝึกหัดแล้ว เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่คนที่ฝึกตนได้แล้ว ประเสริฐกว่าสัตว์พาหนะเหล่านั้น๒- @เชิงอรรถ : @ ฝึกตนได้แล้ว หมายถึงฝึกตนได้ด้วยอริยมรรค ๔ (โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค @และอรหัตตมรรค) (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓๘) @ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๐/๒๘๒, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๘/๑๑๗-๑๑๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๓๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๓. นาควรรค ๔. ปเสนทิโกสลราชวัตถุ

๒. หัตถาจริยปุพพกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เคยเป็นนายควาญช้าง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เคยเป็นนายควาญช้าง ดังนี้) [๓๒๓] แท้จริง บุคคลไม่สามารถไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไป๑- ด้วยยานเหล่านี้ แต่บุคคลผู้ฝึกตนได้แล้ว สามารถไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป ด้วยตนที่ฝึกแล้ว ที่ฝึกดีแล้ว๒-
๓. ปริชิณณพราหมณปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรของพราหมณ์ชรา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บุตร ๔ คนของพราหมณ์ชรา ดังนี้) [๓๒๔] ช้างกุญชรชื่อธนปาลกะ ตกมันจัด ห้ามได้ยาก ถูกขังไว้ ไม่ยอมกินฟ่อนหญ้า เพราะระลึกถึงแต่นาควัน๓-
๔. ปเสนทิโกสลราชวัตถุ
เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เสวยพระกระยาหารมาก ดังนี้) [๓๒๕] เมื่อใด บุคคลผู้ถูกความง่วงเหงาครอบงำ บริโภคมาก ชอบแต่นอนกลิ้งเกลือกไปมา เมื่อนั้น เขาย่อมมีปัญญาเฉื่อยชา ชอบเข้าห้องเป็นอาจิณ เหมือนสุกรอ้วนที่เขาขุนด้วยเศษอาหาร ฉะนั้น๔- @เชิงอรรถ : @ ทิศที่ยังไม่เคยไป หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓๙) @ ที่ชื่อว่า ฝึกแล้ว เพราะฝึกอินทรีย์ได้ในเบื้องต้น ที่ชื่อว่า ฝึกดีแล้ว เพราะอบรมตนได้ด้วยอริยมรรค @(ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓๙-๑๔๐) @ นาควัน หมายถึงป่าช้าง เป็นที่อยู่ของช้างพังแม่ของช้างธนปาลกะ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔๕-๑๔๖) @ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๗/๓๐๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๓๔}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๑๓๓-๑๓๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=25&page=133&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=25&A=3422 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=25&A=3422#p133 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๓๓-๑๓๔.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]